งูสวัดไม่เพียงแค่ทำให้เกิดผื่นตามตัวเท่านั้น หากเชื้องูสวัดกระจายไปที่ดวงตาอาจก่อให้เกิดการอักเสบที่ดวงตา หรืองูสวัดขึ้นตา ตามมาด้วยปัญหาบริเวณดวงตา และกระทบต่อการมองเห็นในระยะยาวได้
มารู้จักงูสวัดขึ้นตาให้มากขึ้น ทั้งสาเหตุ อาการ วิธีการรักษา และการป้องกันไม่ให้อาการลุกลาม แล้วใครบ้างเป็นกลุ่มเสี่ยงกัน
สารบัญ
งูสวัดขึ้นตา คืออะไร
งูสวัดขึ้นตา งูสวัดเข้าตา (Herpes zoster ophthalmicus หรือ Ophthalmic zoster) เป็นการติดเชื้อไวรัสงูสวัดที่ลามไปยังดวงตา หรือเป็นภาวะแทรกซ้อนจากโรคงูสวัด สามารถพบได้ประมาณ 10–25% ของคนที่เป็นโรคงูสวัดทั้งหมด
งูสวัดขึ้นตาจะก่อให้เกิดปัญหาเกี่ยวกับดวงตา เช่น ปวดตา แสบร้อนดวงตา คันตา ตาพร่ามัว หากไม่ได้รับการรักษาอย่างเหมาะสมอาจรุนแรงขึ้นขั้นตาบอด
งูสวัดขึ้นตา เกิดได้อย่างไร
โรคงูสวัด (Shingles) เกิดจากการติดเชื้อไวรัสวาริเซลลา ซอสเตอร์ (Varicella zoster virus: VZV) ซึ่งเป็นเชื้อตัวเดียวกับโรคอีสุกอีใส หลังหายจากโรคอีสุกอีใสแล้ว เชื้อจะซ่อนตัวอยู่ในปมประสาทของร่างกาย เมื่อภูมิคุ้มกันร่างกายอ่อนแอ เชื้อจะกลับมาก่อโรคงูสวัดขึ้นภายหลัง
เชื้องูสวัดกระทบกับร่างกายได้หลายส่วน ขึ้นอยู่กับว่าเชื้อลุกลามไปตามเส้นประสาทแขนงใด กรณีงูสวัดขึ้นตาเป็นผลมาจากการติดเชื้องูสวัดบริเวณเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (Trigeminal nerve) ซึ่งควบคุมกล้ามเนื้อและความรู้สึกบนใบหน้า รวมถึงเชื่อมโยงกับดวงตาด้วย
งูสวัดขึ้นตา อาการเป็นอย่างไร
อาการงูสวัดขึ้นตามักเป็นซีกใดซีกหนึ่ง อาจเกิดกับดวงตาข้างเดียวหรือกระทบต่อใบหน้าร่วมด้วย อาการเริ่มจากรู้สึกปวดแสบปวดร้อนบริเวณผิวหนังตามเส้นประสาทใบหน้า ผิวระคายเคือง บวม แดง ไวต่อความรู้สึก
ตามมาด้วยผื่นแดงรอบดวงตาและเปลือกตา อาจลามไปที่หน้าผาก ปลายจมูก ปีกจมูก ด้านข้างของจมูก (Hutchison’s sign) และภายในดวงตา ต่อมาผื่นจะกลายเป็นตุ่มน้ำแล้วแตกเป็นแผลพุพอง มักจะมีอาการปวดตาตุบ ๆ ตาแดง ตาพร่ามัว น้ำตาไหล คันตา ตาไวต่อแสง
หากเชื้อลุกลามเข้าสู่ดวงตาหรือเกิดการติดเชื้อนาน อาจก่ออันตรายต่อดวงตาในส่วนอื่น เช่น
- เยื่อบุตาอักเสบ (Conjunctivitis) เป็นภาวะพบบ่อย ทำให้เยื่อบุตาอักเสบ บวม แดง
- การอักเสบติดเชื้อชั้นเนื้อเยื่อบนสุดของกระจกตา (Epithelial keratitis) พบได้มากถึง 50% ของคนติดเชื้องูสวัดรอบดวงตา โดยจะพบจุด ๆ หรือเส้นที่แตกกิ่งบนผิวกระจกตา
- การอักเสบติดเชื้อชั้นกลางของกระจกตา (Stromal keratitis) พบได้ประมาณ 5% มักเกิดช่วงเกิดผื่นและตุ่มน้ำเริ่มแห้งยุบ อาการคล้ายกับการติดเชื้อไวรัสเริม แต่อาการมักเรื้อรัง และตอบสนองได้ดีต่อยาหยอดตากลุ่มคอร์ติโคสเตียรอยด์ (Corticosteroids)
- การอักเสบในช่องลูกตา (Uveitis) ทั้งการอักเสบในส่วนหน้าหรือส่วนหลังของตา
- จอประสาทตาอักเสบ (Retinitis) เป็นภาวะอักเสบของจอประสาทตาอย่างรุนแรง มักพบในคนที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ
นอกจากนี้ อาจมีอาการงูสวัดทั่วไปร่วมด้วย เช่น มีไข้ ปวดเมื่อยตัว รู้สึกป่วยคล้ายเป็นไข้หวัด ปวดศีรษะ หากสงสัยว่าเป็นงูสวัดขึ้นตา ควรไปพบแพทย์ทันที เพื่อตรวจตาให้ละเอียด การได้รับวินิจฉัยโรคเร็วจะส่งผลดีต่อการรักษามากขึ้น
ปัจจัยเพิ่มความเสี่ยงเป็นงูสวัดขึ้นตา
ปัจจัยที่ทำให้การติดเชื้อไวรัสงูสวัดลุกลามมาที่ดวงตาได้มากขึ้น คือ
- การติดเชื้องูสวัดลามไปถึงบริเวณด้านข้างและปลายจมูกหรือ Hutchinson’s sign มักเสี่ยงต่อการลุกลามของเชื้อเข้าไปถึงในลูกตา
- อายุ 50–60 ปี เป็นช่วงอายุที่มักเกิดโรคงูสวัด อาการมักรุนแรงและยาวนานกว่าปกติ
- ภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่องเพิ่มโอกาสเกิดโรคงูสวัดที่รุนแรง จนอาจกระทบไปถึงดวงตา
งูสวัดขึ้นตารักษาอย่างไร รักษาหายไหม
การรักษางูสวัดขึ้นตาไม่ต่างจากการรักษางูสวัดบริเวณอื่น หลัก ๆ คือ การใช้ยาต้านไวรัส นาน 7–10 วัน เพื่อลดความรุนแรงและระยะเวลาในการติดเชื้อ ช่วยให้แผลหายดี ลดการแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่น และลดภาวะแทรกซ้อนต่อดวงตา โดยเฉพาะการใช้ยาใน 72 ชั่วโมงแรกหลังเกิดผื่น
ยาต้านไวรัส มีทั้งรูปแบบยาน้ำและยาเม็ด เช่น
- ยาอะไซโคลเวียร์ (Acyclovir) 800 มิลลิกรัม รับประทาน 5 ครั้งต่อวัน
- ยาแฟมไซโคลเวียร์ (Famciclovir) 250–500 มิลลิกรัม รับประทานวันละ 3 ครั้ง
- ยาวาลาไซโคลเวียร์ (Valacyclovir) 1 กรัม รับประทานวันละ 3 ครั้ง
กรณีเกิดการอักเสบที่ดวงตา แพทย์อาจจ่ายน้ำตาเทียมช่วยให้ดวงตาชุ่มชื้น ยาหยอดตาสเตียรอยด์รักษาอาการติดเชื้อและลดการอักเสบของดวงตา ซึ่งต้องใช้ภายใต้การควบคุมของแพทย์อย่างเคร่งครัด และยาแก้ปวด เพื่อบรรเทาอาการปวดตามเส้นประสาท
นอกจากนี้ หากเกิดภาวะแทรกซ้อนจากงูสวัดขึ้นตา เช่น แผลเรื้อรังที่กระจกตา อักเสบเรื้อรังที่ช่องหน้าลูกตา และการเสื่อมของเส้นประสาทที่เลี้ยงกระจกตา อาจมีการรักษาอื่นเพิ่มเติมกับจักษุแพทย์
วิธีป้องกันโรคงูสวัด ลดโอกาสงูสวัดขึ้นตา
การป้องกันการเกิดโรคงูสวัดจะลดโอกาสที่เชื้ออาจลุกลามไปถึงดวงตาจนเป็นงูสวัดที่ตา สามารถทำได้โดยการดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรง นอนหลับให้เพียงพอ รับประทานอาหารให้หลากหลายและมีประโยชน์ ออกกำลังกายเป็นประจำ หลีกเลี่ยงการคลุกคลีกับผู้ป่วยโรคงูสวัด
อีกวิธีที่ช่วยป้องกันการเกิดโรคงูสวัด และงูสวัดขึ้นตาได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การฉีดวัคซีนป้องกันโรคงูสวัด แนะนำให้ฉีดในคนอายุ 50 ปีขึ้นไป และคนอายุ 19 ปีขึ้นไปที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันอ่อนแอ เพื่อลดความรุนแรงของโรคหากเกิดการติดเชื้อ และลดโอกาสการเกิดโรคซ้ำ