ภาวะกระดูกพรุนตรวจคัดกรองได้ด้วยการตรวจมวลกระดูก ซึ่งเทคโนโลยีอย่าง DEXA scan ถือเป็นการตรวจที่มีประสิทธิภาพสูงและปลอดภัย และยังช่วยวินิจฉัยปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ได้ด้วย
มาเจาะลึกกันว่าการตรวจ DEXA scan นี้คืออะไร ใครควรตรวจมวลกระดูก ก่อนตรวจต้องเตรียมตัวอย่างไร และในระหว่างตรวจมีขั้นตอนอะไรบ้าง ไปดูกัน!
สารบัญ
DEXA scan คืออะไร
DEXA scan หรือ DXA scan (Dual-energy x-ray absorptiometry) เป็นเครื่องมือตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก มวลกล้ามเนื้อ และมวลไขมัน โดยใช้รังสีเอกซ์พลังงานต่ำช่วยทำให้เกิดภาพถ่ายร่างกายหรือกระดูกในจุดที่ต้องการออกมา
โดยทั่วไปจะนิยมใช้เครื่อง DEXA scan ในการวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุน ตรวจสอบกระดูกที่แตกหัก เปราะบาง ติดตามการเปลี่ยนแปลงหรือความผิดปกติของมวลกระดูกขณะรับการรักษา รวมถึงใช้ตรวจหรือประกอบการวินิจฉัยปัญหาสุขภาพอื่น ๆ ด้วย เช่น
- ภาวะกระดูกบาง (Osteopenia)
- ภาวะกระดูกแข็งหรือกระดูกหิน (Osteopetrosis)
- ปัญหาการได้รับฟลูออไรด์เป็นเวลานาน
- ภาวะการดูดซึมผิดปกติ
- ภาวะการกินผิดปกติ
- โรคเกี่ยวกับมวลกล้ามเนื้อและไขมัน
- โรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคมะเร็ง โรคหัวใจ
DEXA scan เหมาะกับใครบ้าง
DEXA scan มักถูกนำมาใช้ตรวจคัดกรองภาวะกระดูกพรุน โดยเฉพาะผู้หญิงวัยหมดประจำเดือน ผู้หญิงอายุ 65 ปีขึ้นไป และผู้ชายอายุ 70 ปีขึ้นไป
นอกจากนี้ คนที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคกระดูกพรุนอาจได้รับคำแนะนำให้เข้ารับการตรวจด้วย เช่น
- ผู้หญิงที่หมดประจำเดือนเร็ว หรือผ่าตัดรังไข่ออกทั้ง 2 ข้างก่อนช่วงอายุ 45 ปี และไม่ได้รับฮอร์โมนทดแทน
- ผู้หญิงที่มีประวัติประจำเดือนผิดปกตินานกว่า 1 ปีหรือก่อนอายุ 42 ปี
- คนที่มีน้ำหนักตัวน้อย ส่วนสูงลดลงครึ่งนิ้วขึ้นไปภายใน 1 ปี มีประวัติกระดูกหักก่อนอายุ 50 ปี หรือคนในครอบครัวเคยมีประวัติกระดูกพรุน
- ผู้ป่วยโรคที่ส่งผลให้มวลกระดูกลดลง เช่น โรคข้ออักเสบ โรคเบาหวาน โรคไตวาย โรคระบบต่อมไร้ท่อ โรคทางภูมิคุ้มกัน ภาวะขาดวิตามินดี ภาวะการกินผิดปกติ และโรคพิษสุราเรื้อรัง รวมถึงผู้ที่ต้องเข้าเฝือกเป็นเวลานานหรือผู้ที่ปลูกถ่ายอวัยวะ
- ผู้ป่วยที่ใช้ยาบางชนิดติดต่อกันนานกว่า 3 เดือน เช่น ยาแก้อักเสบสเตียรอยด์ ยารักษามะเร็ง ยากดภูมิคุ้มกัน ยากันชัก ยาฮอร์โมน ยาลดกรดกลุ่ม PPIs หรือยาต้านการแข็งตัวของเลือดอย่างเฮพาริน (Heparin)
- ผู้ป่วยภาวะกระดูกพรุนที่ต้องติดตามอาการขณะใช้ยารักษากระดูกพรุน
กรณีตั้งครรภ์หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์อยู่แล้วมีความเสี่ยงข้างต้น แพทย์อาจไม่แนะนำให้ตรวจด้วยเครื่อง DEXA scan เนื่องจากรังสีจากตัวเครื่องอาจกระทบการเจริญเติบโตของทารกในครรภ์ได้
เช็กราคาแพ็กเกจตรวจคัดกรองกระดูกพรุน จากรพ. ใกล้คุณ จองปุ๊บ รับโปรปั๊บ ไม่ต้องรอ!
หลักการทำงานของ DEXA scan
ตัวเครื่อง DEXA scan จะปล่อยคลื่นรังสีเอ็กซ์ที่มี 2 ค่าพลังงานผ่านร่างกายภายนอกไปภายในของร่างกาย คือ ไขมัน กล้ามเนื้อ และกระดูก รังสีที่ถูกปล่อยไปจะถูกดูดกลืนพลังงานจากกระดูกและเนื้อเยื่อที่มีความหนาแน่นไม่เท่ากัน
จากนั้นเครื่องจะวิเคราะห์ผลออกมาแล้วเอามาเทียบกับปริมาณรังสีที่ใช้ในการตรวจ ทำให้รู้ถึงความหนาแน่นของกระดูกหรือมวลกระดูก รวมถึงมวลไขมันและมวลกล้ามเนื้อด้วย ว่ามีอยู่มากน้อยแค่ไหน
DEXA scan เป็นการตรวจที่ไม่รุกล้ำร่างกาย ใช้เวลารวดเร็ว ไม่ก่อให้เกิดความเจ็บปวด มีความปลอดภัยสูง เพราะปริมาณรังสีพลังงานค่อนข้างต่ำ และยังให้ผลลัพธ์ที่แม่นยำ
เตรียมตัวก่อนตรวจ DEXA scan อย่างไร
ก่อนการตรวจด้วยเครื่อง DEXA scan ไม่ต้องเตรียมตัวอะไรเป็นพิเศษ ผู้เข้ารับการตรวจสามารถทานอาหาร ดื่มน้ำ และยาประจำตัวได้ตามปกติ แต่ให้งดทานอาหารเสริมแคลเซียมก่อนตรวจ 24–48 ชั่วโมง และพักผ่อนให้เพียงพอ
วันที่เข้ารับการตรวจควรสวมเสื้อผ้าที่ใส่สบายและถอดได้ง่าย และไม่ใส่เครื่องประดับทุกชนิด โดยเฉพาะวัสดุที่ทำจากโลหะ
หากมีโรคประจำตัว ปัญหาสุขภาพ หรือสภาวะใด ๆ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนตรวจ เช่น มีอุปกรณ์โลหะฝังในร่างกาย อย่างสะโพกเทียมหรือเครื่องกระตุ้นหัวใจ กำลังตั้งครรภ์ วางแผนตั้งครรภ์ หรือสงสัยว่าตั้งครรภ์ เพิ่งเอกซเรย์โดยใช้สารทึบรังสีหรือแป้งแบเรียมมาไม่เกิน 1 สัปดาห์
ขั้นตอนการตรวจ DEXA scan
การตรวจ DEXA scan มีอยู่ 2 ชนิด ได้แก่
การตรวจบริเวณกระดูกแกนกลางร่างกาย (Central DEXA scan) มักใช้สแกนกระดูกสันหลังส่วนล่าง สะโพก และลำตัว เจ้าหน้าที่จะให้ผู้เข้ารับการตรวจนอนนิ่ง ๆ เหยียดขาตรง ราบไปกับเตียงตรวจ แล้วใช้แขนโค้งที่ติดอยู่กับตัวเครื่อง สแกนกระดูกบริเวณสะโพกและกระดูกสันหลังพร้อมกัน ผลที่ได้จะมีความละเอียดสูงกว่า กินเวลาประมาณ 10–30 นาที
การตรวจบริเวณกระดูกแขนขา (Peripheral DEXA scan) มักใช้กับข้อมือ มือ นิ้วมือ และเท้าโดยเฉพาะ ลักษณะตัวเครื่องเป็นสี่เหลี่ยมขนาดเล็ก ผู้เข้ารับการตรวจจะต้องสอดอวัยวะส่วนที่ต้องการตรวจเข้าไปในเครื่อง การตรวจใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีก็เสร็จสิ้น ผลที่ได้อาจละเอียดไม่เท่าแบบแรก แต่ก็ช่วยประเมินความเสี่ยงของกระดูกหักได้
ผลการตรวจ DEXA scan แบบไหนปกติ ไม่ปกติ
ผลลัพธ์ที่ได้จากการตรวจ DEXA scan จะนำไปเปรียบเทียบกับค่าเฉลี่ยมวลกระดูกของคนสุขภาพดี อายุ 20–30 ปี เรียกกันว่า ค่า T–Score หากนำไปเทียบกับค่าเฉลี่ยมวลกระดูกในผู้ที่มีอายุเท่ากันจะเรียกว่า ค่า Z–Score
โดยค่า T–Score จะแปรผลดังนี้
- ค่า T–Score สูงกว่า –1 หมายถึง มวลกระดูกอยู่ในระดับปกติ
- ค่า T–Score อยู่ระหว่าง –1 ถึง –2.5 หมายถึง มวลกระดูกลดลงเล็กน้อย อาจมีภาวะกระดูกบาง (Osteopenia) และเสี่ยงต่อภาวะกระดูกพรุนในอนาคต
- ค่า T–Score อยู่ –2.5 หรือต่ำกว่า หมายถึง มีภาวะกระดูกพรุนหรือกระดูกอ่อนแอ เสี่ยงจะเกิดปัญหากระดูกหักได้สูง
สำหรับ ค่า Z–Score มักใช้ในเด็กและคนอายุต่ำกว่า 30 ปี หากมีค่าต่ำกว่า –2.0 จะหมายถึง มวลกระดูกน้อยกว่าคนทั่วไปในวัยเดียวกัน โดยอาจมีสาเหตุจากการใช้ยาหรือปัญหาสุขภาพ
แพทย์อาจแนะนำให้คนที่มีความเสี่ยงสูงต่อโรคกระดูกพรุนตรวจมวลกระดูกทุก 2 ปี คนที่มีความเสี่ยงปานกลางแนะนำให้ตรวจทุก 3–5 ปี และคนที่มีความเสี่ยงต่ำ แนะนำให้ตรวจทุก 10–15 ปี แต่ก็ขึ้นอยู่กับสุขภาพของแต่ละบุคคลด้วย
ค่าใช้จ่ายการตรวจ DEXA scan จะขึ้นอยู่ตำแหน่งและจำนวนที่ต้องการตรวจ เริ่มต้นจากหลักพันต้น ๆ ที่จะตรวจจุดใดจุดหนึ่ง ไปจนถึงหลักหมื่นที่จะตรวจครอบคลุมทุกจุดตามต้องการ และอาจมีค่าบริการอื่น ๆ เพิ่มเติม แล้วแต่สถานพยาบาล
DEXA scan เป็นวิธีมาตรฐานในการวินิจฉัยภาวะกระดูกพรุน มีประสิทธิภาพมากในการตรวจวัดความหนาแน่นของมวลกระดูก ถ้าคาดว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อโรคกระดูกพรุน สามารถปรึกษาแพทย์ถึงการตรวจได้ เพื่อวางแผนการป้องกันโรคในอนาคต
มวลกระดูกตัวเองหนาแน่นมากน้อยแค่ไหน เสี่ยงไหมนะ ไม่รู้ไม่เป็นไร เพราะที่ HDmall.co.th มี แพ็กเกจตรวจคัดกรองกระดูกพรุน มาฝาก พร้อมโปรโมชั่นคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม