สำหรับผู้ป่วยโรคไต ไตวายเรื้อรังระยะท้ายๆ หนึ่งในวิธีการรักษาและประคับประคองร่างกายที่มีประสิทธิภาพ และใช้อย่างแพร่หลาย คือการฟอกไตทางหลอดเลือด หรือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม โดยหนึ่งในกระบวนการสำคัญก่อนที่จะเริ่มฟอกเลือดได้นั้น คือการทำเส้นฟอกไต ซึ่งก็ต้องมีการดูแลรักษาที่เหมาะสม เพื่อยืดอายุการใช้งานให้ได้ยาวนานที่สุด
การดูแลรักษาเส้นฟอกไต หรือเส้นฟอกเลือดมีรายละเอียดอย่างไร ติดตามได้จากบทความนี้เลย
สารบัญ
ทำความรู้จักเส้นฟอกเลือดแต่ละรูปแบบ
เส้นฟอกเลือด หรือ เส้นฟอกไต (Vascular Access) มีด้วยกัน 3 รูปแบบหลักๆ โดยแพทย์จะเป็นผู้ประเมินว่าร่างกายผู้ป่วยเหมาะกับการผ่าตัดทำเส้นฟอกไตรูปแบบใด โดยมีรายละเอียดดังนี้
1. การผ่าตัดทำเส้นฟอกไตชนิดเส้นเลือดจริง (Arteriovenous Fistula: AVF)
เป็นการผ่าตัดเปิดแผลบริเวณแขนของผู้ป่วย อาจเป็นบริเวณข้อมือหรือข้อศอก หาตำแหน่งหลอดเลือดแดงและดำ จากนั้นเชื่อมต่อเส้นเลือดทั้งสองเข้าด้วยกัน เพื่อให้เลือดจากหลอดเลือดแดง ไหลเข้าไปยังหลอดเลือดดำ ทำให้เส้นเลือดดำโป่งพอง มีขนาดใหญ่ขึ้น และแข็งแรงเพียงพอที่จะใช้เป็นเส้นทางในการนำเลือดเข้าสู่เครื่องไตเทียม
แพทย์มักแนะนำวิธีนี้ให้ผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรังเป็นวิธีแรก เนื่องจากเป็นการใช้หลอดเลือดตัวเอง ทำให้ภาวะแทรกซ้อนต่ำ โอกาสติดเชื้อน้อย เพราะไม่มีสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในร่างกาย รวมทั้งอัตราการตีบตันของเส้นเลือดต่ำ อายุการใช้งานเฉลี่ยประมาณ 5-10 ปี
2. การผ่าตัดทำเส้นฟอกไตชนิดเส้นเลือดเทียม (Arteriovenous Graft : AVG)
เทคนิคนี้แพทย์จะฝังหลอดเลือดเทียมเข้าไปที่แขนของผู้ป่วย ซึ่งหลอดเลือดเทียมนี้ จะทำหน้าที่เป็นสะพานเชื่อมระหว่างหลอดเลือดดำกับหลอดเลือดแดง และเป็นส่วนที่เชื่อมกับเครื่องฟอกไต ทำให้เวลาฟอกไต ไม่ต้องเจาะเส้นเลือดจริง
แพทย์มักแนะนำวิธีนี้ให้ผู้ป่วยที่ไม่สามารถผ่าตัดโดยใช้เส้นเลือดของผู้ป่วยเองได้ เช่น มีขนาดเล็กเกินไป หรือ เส้นเลือดอยู่ลึกมาก
วิธีนี้มีโอกาสติดเชื้อ และเส้นเลือดอุดตันมากกว่าวิธีแรก และเส้นฟอกไตมีอายุการใช้งานเฉลี่ยน้อยกว่าคือ 1-3 ปี
3. การผ่าตัดใส่สายฟอกไตกึ่งถาวรที่คอ (Permanent Catheter)
บางครั้งอาจเรียกว่า Perm Cath แพทย์จะผ่าตัดเปิดแผลบริเวณคอ และที่หน้าอกประมาณ 1-2 เซนติเมตร และใส่สายขนาดใหญ่เข้าไปในหลอดเลือดดำใหญ่ของผู้ป่วย เพื่อให้สามารถนำเลือดเข้าเครื่องฟอกเลือดหรือเครื่องไตเทียมได้รวดเร็ว
เป็นเทคนิคสำหรับผู้ป่วยที่ผ่าตัดเส้นฟอกไตที่แขนไม่ได้หรือ ผู้ป่วยที่มีปัญหาความดันต่ำ วิธีนี้มีโอกาสติดเชื้อ และเส้นเลือดอุดตันได้บ่อยกว่าสองวิธีแรก มีอายุการใช้งานเฉลี่ยน้อยกว่าคือ 1-3 ปี
การดูแลรักษา ยืดอายุเส้นฟอกไต ไม่ให้ตีบ ติดเชื้อ บวม แตก ตัน
การดูแลรักษาเส้นฟอกไตทั้ง 3 รูปแบบ โดยมากมีรายละเอียดที่คล้ายคลึงกัน โดยแบ่งเป็น 2 ระยะ ได้แก่ ระยะหลังการผ่าตัด และระยะการใช้งาน ดังนี้
การดูแลเส้นฟอกไตระยะหลังผ่าตัด
- ช่วง 7 วันแรกหลังการผ่าตัด ห้ามแผลเปียกน้ำ เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หากเปียกน้ำ ต้องรีบมาโรงพยาบาลหรือคลินิกเพื่อเปลี่ยนผ้าปิดแผลโดยเร็ว
- ไม่ควรแกะ เกาบริเวณรอบๆ แผล เพราะอาจทำให้เกิดการอักเสบหรือติดเชื้อได้
- ระมัดระวังอย่าให้แผลผ่าตัดกระทบกระแทกของแข็งหรือของมีคม ระวังการทำกิจกรรมต่างๆ ที่อาจส่งผลกดทับเส้นเลือด
- ห้ามนอนทับแขน หรือนอนทับเส้นฟอกไต
- หมั่นสังเกตว่ามีเลือดออกมากผิดปกติ ผิวหนังบวม โป่ง หรือ มีเลือดซึมไม่หยุดหรือไม่ หากมีอาการดังกล่าวควรปรึกษาแพทย์ทันที
- ช่วง 7 วันแรกหลังจากการผ่าตัด ถ้าบริเวณที่ผ่าตัดมีอาการบวม แดง ร้อน กดเจ็บ พร้อมกับมีไข้ มักเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ ควรรีบพบแพทย์
- กรณีผ่าตัดทำเส้นฟอกไตที่แขน ในช่วง 2-3 วันแรกหลังผ่าตัด ควรยกแขนให้สูง เพื่อป้องกันไม่ให้มีเลือดหรือน้ำเหลืองคั่งใต้ผิวหนังรอบๆ แผลผ่าตัด
- กรณีผ่าตัดทำเส้นฟอกไตที่คอ ไม่ควรใส่เสื้อชนิดสวมศีรษะ ควรเป็นเสื้อติดกระดุมด้านหน้า เพื่อสะดวกเวลาถอด และป้องกันไม่ให้เกิดการดึงรั้งเส้นที่คอซึ่งอาจทำให้มีเลือดออกได้
การดูแลเส้นฟอกไตระยะใช้งาน
โดยทั่วไปการดูแลเส้นฟอกไตระยะใช้งานในทั้ง 3 รูปแบบมีรายละเอียดที่เหมือนกันได้แก่
- หมั่นดูแลรักษาความสะอาด สุขอนามัยบริเวณเส้นฟอกไต
- ระมัดระวังไม่ให้บริเวณที่ทำเส้นฟอกไตได้รับความกระทบกระเทือน
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก แต่สามารถออกกำลังกายได้ตามปกติ เช่น การเดิน การวิ่ง แต่หลีกเลี่ยงการเล่นกีฬาที่เสี่ยงเกิดความกระทบกระเทือนต่อเส้นฟอกไต เช่น บาสเกตบอล วอลเลย์บอล
ขณะเดียวกันการดูแลเส้นฟอกไตที่แขน และเส้นฟอกไตที่คอ ก็มีรายละเอียดต่างกันบ้าง ดังนี้
กรณีผ่าตัดทำเส้นฟอกไตที่แขน
- ห้ามเจาะเลือด วัดความดัน หรือแทงเข็ม เพื่อให้น้ำเกลือหรือยาบริเวณแขนข้างที่ทำการผ่าตัด
- ควรออกกำลังฝ่ามือ แขน โดยวิธีกำลูกเทนนิส หรือ ลูกบอลลูกเล็กๆ ประมาณ 400 ครั้งต่อวัน
- หลีกเลี่ยงการยกของหนัก โดยเฉพาะแขนข้างที่ทำเส้นฟอกไต
- ไม่นอนทับแขน ไม่งอแขน ไม่ใส่นาฬิกา กำไล แขนข้างที่ทำเส้น
- ห้ามแกะ เกา รอยสะเก็ดบริเวณที่แทงเข็มเพื่อฟอกไต เพื่อป้องกันการติดเชื้อ หรืออักเสบ
- หลังจากการแทงเข็มเพื่อฟอกไต อาจมีอาการเลือดซึม ให้ใช้ผ้าก๊อซกดไว้จนกว่าเลือดจะหยุด แต่หากซึมนานเกิน 10 นาที
- หากบริเวณที่แทงเข็ม เกิดอาการบวมเขียวช้ำ ใน 24 ชั่วโมงแรก ให้ประคบด้วยความเย็น หลังจากนั้นประคบด้วยความร้อน
- พลาสเตอร์ที่ปิดแผลบริเวณแทงเข็ม ให้แกะออกได้หลังจากฟอกเลือด 6 ชั่วโมง หากเปียกน้ำให้เปลี่ยนใหม่
- หากมีการบวมแดงร้อน หรือมีหนองบริเวณแนวเส้น ให้รีบมาโรงพยาบาลโดยเร็ว
- คลำการสั่นของเส้นฟอกไต ถ้าพบว่าการสั่นเบาลงหรือคลำไม่พบเส้น ควรปรึกษาแพทย์
กรณีผ่าตัดทำเส้นฟอกไตที่คอ
- หลีกเลี่ยงการนอนตะแคงด้านที่ทำเส้นฟอกไต
- ระมัดระวังอย่าให้สายฟอกไตขยับออกจากดำแหน่งเดิม
- ถ้าสายฟอกไตหลุด ให้กดผิวหนังบริเวณที่ใส่สายฟอกไตให้แน่นด้วยมือหรือผ้าขนหนูที่สะอาด และติดต่อแพทย์หรือห้องฉุกเฉินของโรงพยาบาล
- หากมีอาการเจ็บ ปวด บวม บริเวณรอบสายที่โผล่ออกจากผิวหนัง หรือตัวร้อนมีไข้ หรือพบว่าสายเลื่อนหลุดออกมา ให้รีบปรึกษาแพทย์ทันที
จะเห็นได้ว่าการดูแลเส้นฟอกไตนั้น ต้องอาศัยความใส่ใจมากเป็นพิเศษ แต่หัวใจสำคัญที่สุดคือความสะอาด และพยายามไม่ให้เส้นฟอกไตไ้ด้รับความกระทบกระเทือนหรือแรงกระแทก เพื่อป้องกันการติดเชื้อ อักเสบ ตีบตัน บวม หรือแตก รวมทั้งยืดอายุการใช้งานให้ใช้ได้ยาวนานมากที่สุด
อยากเรียนรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับการทำเส้นฟอกไต การเตรียมร่างกาย และการดูแลกับคุณหมอเฉพาะทางปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคไต จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย