โรคต่อมลูกหมากโต ถือเป็นโรคที่ไม่ได้อันตรายร้ายแรง แต่มักส่งผลกระทบต่อการปัสสาวะ ไม่ว่าจะเป็นปัสสาวะบ่อยขึ้น ปัสสาวะไม่สุด ไหลช้า ไม่พุ่ง กลั้นปัสสาวะไม่ได้ ปัสสาวะไม่ออกเฉียบพลัน หรือมีเลือดปน
อย่างไรก็ตาม โรคนี้สามารถรักษาได้หลายแนวทาง ซึ่งในบทความนี้เราจะมาเจาะลึกวิธีการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตที่นิยมในปัจจุบัน พร้อมเปรียบเทียบข้อได้เปรียบและความแตกต่างที่คุณควรรู้
สารบัญ
- 1. วิธีรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการกินยา
- 2. วิธีรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ
- 3. วิธีรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดยิงเลเซอร์ PVP
- การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดยิงเลเซอร์ PVP เหมาะกับใคร?
- ข้อดีของการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดยิงเลเซอร์ PVP
- ข้อจำกัดของการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดยิงเลเซอร์ PVP
- ผลข้างเคียงของการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดยิงเลเซอร์ PVP
- ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดยิงเลเซอร์ PVP
- 4. วิธีรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง
1. วิธีรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการกินยา
การใช้ยา เป็นหนึ่งในวิธีพื้นฐานสำหรับการรักษาโรคต่อมลูกหมากโต โดยตัวยาจะออกฤทธิ์ช่วยลดขนาดต่อมลูกหมาก ร่วมกับบรรเทาอาการที่เกิดจากโรคต่อมลูกหมากโต ซึ่งผู้ป่วยแต่ละรายก็จะมีอาการแตกต่างกันไป โดยทั่วไปมักเกี่ยวข้องกับการปัสสาวะเป็นหลัก ทั้งนี้ยาที่นิยมใช้ในผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโต เช่น
- ยายับยั้งการสร้างฮอร์โมนเพศชายซึ่งกระตุ้นให้ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ขึ้น
- ยาลดการหดเกร็งของกล้ามเนื้อต่อมลูกหมาก (Alpha-Blockers)
- ยารักษาการลดหย่อนสมรรถภาพทางเพศ (5-Alpha Reductase Inhibitors)
การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยวิธีกินยา เหมาะกับใคร?
โดยทั่วไปการรักษาด้วยวิธีกินยา นิยมใช้ในผู้ป่วยที่อาการไม่รุนแรงมาก หรือผู้ที่เคยรักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น ดื่มน้ำหรือดื่มเครื่องดื่มคาเฟอีนให้น้อยลง แต่อาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์ก็อาจจ่ายยาให้กินเพิ่มเติมด้วย
ข้อดีของการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยวิธีกินยา
เป็นวิธีที่ง่าย และสะดวกที่สุด ผู้ป่วยไม่รู้สึกเจ็บปวดใดๆ และไม่ต้องกังวลเรื่องอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัด นอกจากนี้สำหรับผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ซึ่งทำให้ใช้วิธีผ่าตัดรักษาไม่ได้ ยังมีโอกาสหายจากโรคนี้
ข้อจำกัดของการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยวิธีกินยา
การรักษาด้วยวิธีกินยาอาจเห็นผลช้า บางรายอาจใช้เวลาอย่างน้อยถึง 6 เดือน หรือบางรายก็ไม่เห็นผลการรักษาที่ชัดเจน ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับระดับอาการและการตอบสนองต่อยาในผู้ป่วยแต่ละรายด้วย
หากรักษาด้วยวิธีกินยาและยังไม่ดีขึ้น แพทย์มักจะแนะนำให้ผู้ป่วยเปลี่ยนไปใช้วิธีรักษาอื่นๆ แทน
ผลข้างเคียงของการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยวิธีกินยา
ยารักษาโรคต่อมลูกหมากโต อาจทำให้เกิดอาการข้างเคียงที่ได้ ซึ่งอาการก็จะแตกต่างกันไปตามตัวยาและการตอบสนองต่อยาในผู้ป่วยแต่ละราย โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- ปวดศีรษะ
- อ่อนเพลีย
- ปากแห้ง
- อาการบวมที่ใบหน้า ลิ้น คอ
- ท้องเสีย
- เจ็บบริเวณหน้าอก เต้านม
- ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ
ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยวิธีกินยา
ค่าใช้จ่ายสำหรับการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการกินยาจะขึ้นอยู่กับชนิด จำนวนยา ระยะเวลาการรักษา รวมถึงค่าบริการทางการแพทย์ในแต่ละสถานพยาบาล
2. วิธีรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ
การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เห็นผลค่อนข้างดี คือการใช้ความร้อนจากไอน้ำช่วยลดขนาดของต่อมลูกหมาก มีขั้นตอนการรักษาหลักๆ ดังต่อไปนี้
- แพทย์ให้ยาระงับความเจ็บปวด เช่น ยาชาเฉพาะที่ หรือยาสงบประสาท
- แพทย์สอดกล้องและอุปกรณ์ปล่อยไอน้ำผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปยังต่อมลูกหมาก
- แพทย์ฉีดไอน้ำอุณหภูมิประมาณ 103 องศาเซลเซียสเข้าไปยังต่อมลูกหมากประมาณ 4-6 ครั้ง ครั้งละ 9 วินาที
- ความร้อนจากไอน้ำจะเข้าไปทำลายเซลล์ต่อมลูกหมากที่ทำให้ต่อมขยายตัว
- แพทย์ใส่สายสวนปัสสาวะชนิดโฟเลย์ คาไว้ จากนั้นผู้ป่วยสามารถเดินทางกลับบ้านได้เลย ระยะเวลาในการใส่สายสวนคาไว้ จะขึ้นอยู่กับขนาดของต่อมลูกหมาก โดยส่วนมากมักอยู่ที่ประมาณ 5-7 วัน
เมื่อระยะเวลาผ่านไป ร่างกายจะค่อยๆ ทำลายเซลล์ที่ตายจากพลังงานความร้อนออก และทำให้ต่อมลูกหมากยุบตัวลง หลังจากนั้นท่อปัสสาวะของผู้ป่วยกลับมามีขนาดกว้างขึ้น และสามารถปัสสาวะได้ตามปกติอีกครั้ง
การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ เหมาะกับใคร?
- ผู้ป่วยโรคต่อมลูกหมากโตที่อายุ 50 ปีขึ้นไป และมีขนาดต่อมลูกหมากอยู่ที่ประมาณ 30-80 กรัม
- ผู้ป่วยที่เคยรักษาด้วยวิธีกินยา แต่อาการยังไม่ดีขึ้น หรือได้รับผลข้างเคียงจากยา
- ผู้ป่วยที่ไม่อยากรักษาด้วยวิธีกินยาในระยะยาว
- ผู้ป่วยที่มีโรคประจำตัวอื่นๆ ทำให้ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีกินยา และวิธีผ่าตัดซึ่งต้องวางยาสลบได้
ข้อดีของการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ
- ไม่ต้องวางยาสลบ แต่ใช้เพียงยาสงบประสาท หรือยาชาเฉพาะที่
- หลังการรักษา ผู้ป่วยไม่ต้องนอนค้างที่โรงพยาบาล
- ใช้เวลารักษาไม่นาน
- มีโอกาสเสียเลือดน้อย และฟื้นตัวหลังผ่าตัดเร็ว
- ลดโอกาสเกิดภาวะอวัยวะเพศชายไม่แข็งหลังการรักษาได้
- ใช้รักษาในกลุ่มผู้ป่วยที่อาการของโรคอยู่ในระดับที่ต้องผ่าตัด แต่ไม่สามารถผ่าตัดได้
ข้อจำกัดของการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ
การฉีดไอน้ำเพื่อรักษาโรคต่อมลูกหมากโตมีข้อจำกัดไม่สามารถรักษาในผู้ป่วยบางกลุ่มได้ เช่น
- ผู้ป่วยที่ใส่หูรูดทางเดินปัสสาวะเทียม
- ผู้ป่วยที่ใส่แกนองคชาตเทียม หรืออวัยวะเพศชายเทียม
- ผู้ป่วยที่มีภาวะติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และยังรักษาไม่หาย
ผลข้างเคียงของการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ
หลังการรักษาด้วยไอน้ำ ผู้ป่วยอาจมีอาการข้างเคียงบางประการเกิดขึ้นได้ แต่โดยส่วนมากมักจะดีขึ้นภายใน 2 สัปดาห์ และอาการจะหายไปภายใน 6 สัปดาห์ โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่
- รู้สึกแสบร้อนระหว่างปัสสาวะ
- ปัสสาวะบ่อย
- ปัสสาวะไม่ออก
- ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ
- มีเลือดปนในปัสสาวะและน้ำอสุจิ
- หลั่งน้ำอสุจิได้น้อยลง
ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำ
ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยไอน้ำจะเริ่มต้นอยู่ที่ 130,000-180,000 บาท ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้บริการของแต่ละสถานพยาบาล หรือสอบถามข้อมูลกับทางแอดมินของ HDcare ได้เลย
ฉี่ไม่ออก ฉี่ไม่สุด ฉี่มีเลือดปน การปัสสาวะเปลี่ยนไป ไม่รู้ว่าเป็นต่อมลูกหมากโตหรือไม่ ทักหาแอดมิน HDcare เพื่อนัดปรึกษากับคุณหมอผู้เชี่ยวชาญได้เลย จะคุยออนไลน์หรือนัดพบที่โรงพยาบาลก็ได้ทั้งนั้น
3. วิธีรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดยิงเลเซอร์ PVP
เลเซอร์ PVP (Photoselective Vaporization of Prostate) เป็นนวัตกรรมพลังงานเลเซอร์ที่สามารถทำลายเซลล์เนื้อเยื่อส่วนเกินของต่อมลูกหมากได้ หรือในบางกรณี แพทย์ก็อาจใช้พลังงานเลเซอร์ผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมด ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
ขั้นตอนการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยเลเซอร์ PVP โดยหลัก ๆ มีดังต่อไปนี้
- แพทย์ให้ยาระงับความรู้สึกกับผู้ป่วย โดยอาจเป็นยาชาเฉพาะที่ ยาชาเข้าทางไขสันหลัง หรือการวางยาสลบ
- แพทย์สอดอุปกรณ์ ซึ่งเป็นลำกล้องผ่าตัดขนาดเล็ก เพื่อยิงพลังงานเลเซอร์เข้าไปละลายเนื้อเยื่อส่วนเกินที่ต่อมลูกหมาก
- หลังการรักษา ผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องคาสายสวนปัสสาวะเอาไว้ก่อนประมาณ 24 ชั่วโมงขึ้นไป ขึ้นอยู่กับระดับความรุนแรงของโรค
การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดยิงเลเซอร์ PVP เหมาะกับใคร?
การรักษาด้วยเลเซอร์ PVP นิยมใช้ในผู้ป่วยที่ทางเดินปัสสาวะทำงานผิดปกติจากต่อมลูกหมากที่โตขึ้นเป็นหลัก เช่น
- ผู้ป่วยที่เป็นผู้สูงอายุ
- ผู้ที่ปัสสาวะไม่ออก
- ผู้ที่ทางเดินปัสสาวะติดเชื้อและอักเสบ
- ผู้ที่พบนิ่วในทางเดินปัสสาวะ
- ผู้ป่วยโรคไตเสื่อมจากการสะสมของน้ำปัสสาวะที่อุดตันอยู่ภายใน
- ผู้ที่มีโรคประจำตัวซึ่งไม่สามารถหยุดยาละลายลิ่มเลือดก่อนผ่าตัดได้
ข้อดีของการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดยิงเลเซอร์ PVP
- พลังงานเลเซอร์สีเขียวมีความยาวคลื่นที่สม่ำเสมอ มีการกระจายตัวน้อย จึงสามารถรักษาตำแหน่งที่ทางเดินปัสสาวะอุดตันได้แม่นยำ ลดโอกาสที่เลเซอร์จะไปทำลายเซลล์เนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงให้เสียหาย
- เสียเลือดน้อย
- โอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนน้อยกว่า และฟื้นตัวเร็ว
- ใช้เวลารักษาไม่นาน โดยส่วนมากอยู่ที่ 20-50 นาที ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของโรค
ข้อจำกัดของการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดยิงเลเซอร์ PVP
- เลเซอร์ PVP เป็นเลเซอร์ที่ใช้รักษาโรคต่อมลูกหมากโตผ่านการทำลายเซลล์เนื้อเยื่อส่วนเกินเท่านั้น แต่จะไม่สามารถเก็บเนื้อเยื่อ เพื่อนำไปตรวจทางกล้องจุลทรรศน์เพิ่มเติมได้ จึงไม่เหมาะกับผู้ที่แพทย์ต้องการส่งตรวจเซลล์มะเร็งเพิ่มเติม
- ผู้ป่วยที่ต่อมลูกหมากมีขนาดรวมมากกว่า 250 ลูกบาศก์เซนติเมตร อาจไม่เหมาะต่อการรักษาด้วยวิธีนี้
ผลข้างเคียงของการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดยิงเลเซอร์ PVP
โดยทั่วไปการยิงเลเซอร์ PVP มักจะทำให้เกิดอาการข้างเคียงได้ค่อนข้างน้อย อย่างไรก็ตาม การรักษารูปแบบนี้ก็ยังมีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนบางอย่างได้ เช่น
- ปัสสาวะมีเลือดปนเล็กน้อย
- มีอาการแสบขัดเล็กน้อยระหว่างปัสสาวะ
- เมื่อมีเพศสัมพันธ์ น้ำอสุจิอาจจะหลั่งเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะแทนการออกทางท่อปัสสาวะ
ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดยิงเลเซอร์ PVP
ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยเลเซอร์ PVP จะเริ่มต้นอยู่ที่ประมาณ 300,000 บาท ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้บริการในแต่ละสถานพยาบาล
4. วิธีรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง
การผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยการส่องกล้อง (Transurethral Resection: TUR) เป็นการใช้ลำกล้องผ่าตัดขนาดเล็กในการสอดเข้าตัดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากส่วนเกินที่ไปกดเบียดทางเดินปัสสาวะ นับเป็นวิธีที่นิยมใช้มากขึ้น พัฒนามาจากการผ่าตัดแบบเปิด ที่อาจจำเป็นต้องมีการวางยาสลบ ที่ต้องเปิดแผลขนาดใหญ่กว่า ทำให้ผู้ป่วยเสียเลือดมากกว่า และมีโอกาสติดเชื้อหรือเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่า
ทั้งนี้การผ่าตัดต่อมลูกหมากแบบส่องกล้อง ยังแบ่งได้ 2 รูปแบบหลัก ๆ ได้แก่
- การผ่าตัดต่อมลูกหมากผ่านทางกล้องส่องกระเพาะปัสสาวะ (Transurethral Resection of the Prostate: TUR-P) เป็นการผ่าตัดด้วยการใส่ลำกล้องผ่าตัดคล้ายท่อขนาดเล็กเข้าไป และใช้อุปกรณ์ลวดไฟฟ้าแบบประจุเดียวโมโนโพลาร์ตัดหรือขูดเนื้อเยื่อส่วนเกินของต่อมลูกหมากออกมาเป็นชิ้นเล็ก ๆ โดยอุปกรณ์ดังกล่าวจะสามารถตัดและหยุดเลือดพร้อมกันได้
- การผ่าตัดขูดต่อมลูกหมากโตผ่านกล้องส่องทางท่อปัสสาวะ (Transurethral Resection – Vaporized of the Prostate: TUR-V) เป็นวิธีผ่าตัดที่คล้ายกับแบบแรก แต่จะเปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ลวดไฟฟ้าแบบประจุคู่ไบโพลาร์แทน ซึ่งมีจุดเด่นในการเก็บรักษาเนื้อเยื่อใต้เนื้อเยื่อส่วนที่ถูกตัดไว้ไม่ให้ไหม้เกรียมเกินไป
การผ่าตัดต่อมลูกหมากด้วยการส่องกล้อง มีขั้นตอนดังต่อไปนี้
- วิสัญญีแพทย์ระงับความรู้สึกเฉพาะช่วงล่างของผู้ป่วย แต่ผู้ป่วยจะยังรู้สึกตัวตลอดระยะเวลาผ่าตัด
- แพทย์สอดท่อผ่าตัดขนาดเล็กเข้าทางอวัยวะเพศของผู้ป่วย จนถึงตำแหน่งต่อมลูกหมาก
- แพทย์ใช้เส้นลวดไฟฟ้าตัดเนื้อเยื่อต่อมลูกหมากส่วนเกินออก พร้อมห้ามเลือดในเวลาเดียวกัน
- แพทย์ทำความสะอาดบริเวณที่ผ่าตัด จากนั้นย้ายผู้ป่วยไปนอนพักฟื้นสังเกตอาการแทรกซ้อนประมาณ 1 ชั่วโมง
วิธีรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง เหมาะกับใคร?
แพทย์นิยมใช้วิธีรักษาด้วยการผ่าตัดในผู้ป่วยที่ระยะของโรคต่อมลูกหมากโตค่อนข้างรุนแรงแล้ว และมีอาการที่ส่งผลต่อคุณภาพชีวิตเป็นอย่างมาก เช่น
- ปัสสาวะไม่ได้
- มีเลือดออกที่ท่อปัสสาวะ
- ไตเสียหายอย่างหนัก
- มีการติดเชื้อที่ทางเดินปัสสาวะแบบเรื้อรัง
- มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ
ข้อดีของการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง
- อุปกรณ์ลวดไฟฟ้าสามารถตัดเนื้อเยื่อและหยุดเลือดได้ในเวลาเดียวกัน ทำให้มีความปลอดภัยในการผ่าตัดมากขึ้น
- เห็นผลการรักษาค่อนข้างเร็ว โดยหลังถอดสายสวนปัสสาวะออก ผู้ป่วยจะอาการดีขึ้นภายใน 2-4 สัปดาห์
ข้อจำกัดของการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง
การรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดส่องกล้องมีข้อจำกัดในผู้ป่วยบางกลุ่ม เนื่องจากมีโอกาสเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตรายได้ เช่น
- ผู้ป่วยที่ติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะ และยังไม่ได้รับการรักษา
- ผู้ป่วยโรคท่อปัสสาวะตีบ
- ผู้ป่วยโรคทางระบบประสาท เช่น โรคพาร์กินสัน โรคปลอกประสาทเสื่อมแข็ง
ผลข้างเคียงของการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง
- ภาวะแผลติดเชื้อ
- ภาวะแพ้ยาชา ยาสลบ
- แผลมีเลือดออก
- กลั้นปัสสาวะไม่ได้หรือท่อปัสสาวะตีบ
- ภาวะหย่อนสมรรถภาพทางเพศ อวัยวะเพศไม่แข็งตัว
- ภาวะมีบุตรยาก
- เมื่อมีเพศสัมพันธ์ น้ำอสุจิหลั่งย้อนเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะแทนออกทางท่อปัสสาวะ
- หูรูดกระเพาะปัสสาวะแคบลงหรือไม่ยืดหยุ่น ทำให้การปัสสาวะยากลำบากขึ้น
ค่าใช้จ่ายในการรักษาโรคต่อมลูกหมากโตด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง
ค่าใช้จ่ายในการผ่าตัดต่อมลูกหมากแบบส่องกล้องจะเริ่มต้นอยู่ที่ 30,000 บาทขึ้นไป ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขการให้บริการในแต่ละสถานพยาบาล หรือหากสนใจสอบถามข้อมูลเพิ่มเติม สามารถแอดไลน์คุยกับแอดมิน HDcare ได้เลย
วิธีรักษาโรคต่อมลูกหมากโตในปัจจุบันมีหลากหลายวิธี ซึ่งทุกๆ วิธีมีความปลอดภัยสูง และให้ผลลัพธ์ค่อนข้างดี ดังนั้นเมื่อไรก็ตามที่สังเกตเห็นสัญญาณของโรคต่อมลูกหมากโต ไม่ต้องกังวลใจ ควรปรึกษาแพทย์ทันที เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี และหายจากความิดปกติได้เร็วที่สุด
อยากเช็กให้ชัวร์ อาการแบบนี้ใช่ต่อมลูกหมากโตมั้ย ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรคต่อมลูกหมากโต จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย