“มีลูกยากแต่อยากมีลูก” อายุก็ย่างเข้าเลข 4 แล้วอย่าปล่อยให้อายุมากไปกว่านี้เพราะอาจทำให้โอกาสในการตั้งครรภ์ลดน้อยลง ปัจจุบันมีวิธีช่วยให้ผู้ที่มีลูกยากสามารถตั้งครรภ์ได้หลายวิธี
ในบทความนี้จะพามาเจาะลึกเรื่องการทำ IVF หรือที่รู้จักในชื่อ “เด็กหลอดแก้ว” ถึงความเป็นไปได้ ความเหมาะสม และโอกาสตั้งครรภ์สำเร็จ
สารบัญ
IVF คืออะไร?
IVF ย่อมาจากคำเรียกเต็มว่า “In vitro fertilization” เป็นการผสมเทียมเพื่อช่วยให้ผู้ที่มีลูกยากสามารถตั้งครรภ์ได้ ในไทยอาจคุ้นเคยกับคำว่า “เด็กหลอดแก้ว”
กระบวนการทำ IVF คือ การนำไข่ที่สุกเต็มที่ออกมาจากรังไข่ผู้หญิง และนำเชื้ออสุจิจากผู้ชายมาผสมกันบนจานแก้ว หรือหลอดทดลองในห้องปฎิบัติการ
เมื่อไข่และอสุจิเกิดการปฎิสนธิขึ้นจนเกิดเป็นตัวอ่อน (Embryo) จึงส่งกลับเข้าไปไว้ในมดลูกเพื่อให้ตัวอ่อนฝังตัวบนผนังมดลูกและเติบโตตามปกติเหมือนการตั้งครรภ์ด้วยการมีเพศสัมพันธ์
IVF เหมาะกับใคร?
IVF สามารถใช้ได้กับผู้ที่มีลูกยากจากหลายสาเหตุ ดังนี้
- ผู้ที่มีท่อนำรังไข่อุดตัน ทำให้ไข่ที่สุกแล้วไม่สามารถเคลื่อนไปฝังตัวที่ผนังมดลูกได้
- ผู้ที่มีปัญหาเกี่ยวกับการตกไข่ เช่น มีจำนวนไข่ตกน้อยเกินไปอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้มีลูกยาก
- ผู้มีอายุเกิน 40 ปี ที่ไม่สามารถตั้งครรภ์ได้ภายใน 6 เดือนแม้จะมีเพศสัมพันธ์สม่ำเสมอโดยไม่ได้ป้องกัน
- ผู้ที่เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่ (Endometriosis) คือ การมีเนื้อเยื่อเติบโตขึ้นนอกมดลูก ส่งผลกระทบต่อรังไข่ มดลูก และท่อนำรังไข่
- ผู้ที่มีเนื้องอกมดลูก (Uterine fibroids) คือ เนื้องอกที่เติบโตขึ้นบริเวณผนังมดลูก มักเกิดกับผู้หญิงอายุ 30-40 ปี และอาจส่งผลต่อกระบวนการฝังตัวของตัวอ่อนในมดลูก
- ผู้ที่เคยทำหมันแล้วอยากมีลูกอีกครั้ง หากก่อนหน้านี้คุณเคยทำหมันโดยการตัดท่อนำรังไข่ หรือทำให้ท่อนำรังไข่อุดตันไปแล้ว IVF เป็นอีกทางเลือกที่สามารถนำไข่ออกมาปฎิสนธีภายนอกได้
- ผู้ที่เชื้ออสุจิไม่แข็งแรง ทำให้ประสบปัญหาในการเข้าไปปฎิสนธิกับไข่ เช่น อสุจิเคลื่อนที่ช้า อสุจิมีจำนวนน้อย รูปทรงอสุจิผิดปกติ เป็นต้น
- ผู้ที่มีลูกยากโดยไม่ทราบสาเหตุ กรณีนี้อาจมีตัวเลือกหลายวิธี ควรปรึกษาแพทย์ว่า IVF เป็นทางเลือกที่ดีที่สุดหรือไม่
- ผู้ที่มีโอกาสส่งต่อโรคทางพันธุกรรม ผู้ที่เสี่ยงจะส่งต่อโรคทางพันธุกรรมสู่ลูกอาจได้รับคำแนะนำให้ตรวจสอบพันธุกรรม ซึ่งเป็นหนึ่งในขั้นตอนของการทำ IVF หลังจากนำไข่ออกมาปฎิสนธิแล้ว แพทย์จะทำการตรวจหาความผิดปกติทางพันธุกรรมได้บางส่วนหนึ่งก่อนส่งกลับไปฝังตัวในมดลูก
- ผู้ที่กำลังจะรับการรักษาโรคมะเร็ง เช่น การฉายแสง การให้เคมีบำบัด อาจได้รับคำแนะนำให้นำไข่ออกมาแช่แข็งก่อน หลังจากรักษาจนหายดีแล้ว ค่อยนำไข่นั้นกลับมาทำ IVF และส่งเข้าไปฝังตัวในมดลูกตามปกติ
ทั้งหมดที่กล่าวมาเป็นส่วนหนึ่งในสาเหตุของผู้ที่มีลูกยาก และสามารถแก้ไขได้ด้วยการทำ IVF แต่สาเหตุข้างต้นที่กล่าวมานั้น ไม่ได้หมายความว่าต้องแก้ไขด้วยวิธี IVF เท่านั้น
บางปัจจัยอาจมีวิธีแก้ไขได้หลายวิธี ควรพิจารณาร่วมกับแพทย์เพื่อให้แน่ใจว่า IVF คือ วิธีที่เหมาะสมที่สุดสำหรับคุณ
IVF มีอัตราการสำเร็จมากแค่ไหน?
จากข้อมูลของ American pregnancy association เผยว่า อัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ของผู้หญิงอายุต่ำกว่า 35 ปีที่ทำ IVF อยู่ที่ประมาณ 41-43%
อัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์จะลดลงเรื่อยๆ เมื่ออายุมากขึ้น และอาจเหลือเพียง 13-18% ในผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไป
แต่แพทย์ที่ทำ IVF มักจะนำไข่ออกมาจากรังไข่และปฎิสนธิจำนวนหลายใบเพื่อเพิ่มโอกาสความสำเร็จ ในทางกลับกันหากทำ IVF แล้วมีไข่ฝังตัวในมดลูกมากกว่า 1 ใบ ก็อาจทำให้มีลูกแฝดได้ด้วยเช่นกัน
ส่วนอัตราความสำเร็จที่ลูกจะเกิดมาแข็งแรงนั้นขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ เหตุผลที่มีลูกยาก
แต่อย่างไรก็ตาม อัตราการแท้งลูกของการทำ IVF มีมากกว่าการตั้งครรภ์ตามธรรมชาติประมาณ 15-25% และอาจมากขึ้นเมื่อทำ IVF ตอนอายุมาก
ข้อเสียและข้อควรระวังของการทำ IVF
หากคุณเริ่มสนใจการมีบุตรด้วยวิธี IVF สิ่งเหล่านี้เป็นข้อเสียและข้อควรระวังที่ต้องพิจารณาร่วมกับแพทย์
- มีโอกาสเกิดลูกแฝด อย่างที่กล่าวไปข้างต้นว่า ไข่อาจฝังตัวที่ผนังมดลูกมากกว่า 1 ใบ จึงมีโอกาสเกิดลูกแฝด และมักเกิดมาน้ำหนักน้อยกว่าปกติ
- มีโอกาสคลอดก่อนกำหนด
- มีโอกาสที่น้ำหนักตัวของทารกอาจน้อยกว่าปกติได้
- มีโอกาสเกิดโรครังไข่ การทำ IVF จะต้องมีการกระตุ้นรังไข่ให้ผลิตไข่มากขึ้นเพื่อนำออกมาครั้งละหลายฟอง ในบางกรณีอาจทำให้เกิดการผลิตมากเกินไปจนรังไข่บวม เจ็บ และเป็นโรครังไข่ได้ แต่กรณีนี้พบได้ไม่บ่อย
- มีโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อน การทำ IVF จะต้องใช้เข็มเจาะดูดเอาไข่ออกมาจากรังไข่ จึงมีโอกาสที่จะเลือดออก ติดเชื้อ หรือเกิดบาดเจ็บภายในอื่นๆ
- มีโอกาสตั้งครรภ์นอกมดลูก คือความผิดปกติที่ไข่เกิดไปฝังตัวบริเวณท่อนำรังไข่แทนที่จะเป็นมดลูก กรณีนี้จะไม่สามารถตั้งครรภ์ต่อไปได้ แต่มีโอกาสเกิดอยู่ที่ประมาณ 2-5% เท่านั้น
อย่างไรก็ตาม แม้การทำ IVF จะมีข้อเสียและข้อควรระวังหลายข้อ แต่ก็เช่นเดียวกับหลายๆ วิธีที่มีข้อดีข้อเสียแตกต่างกัน จึงยังไม่ควรกังวลจนเกินไป
การทำ IVF ถือเป็นบริการที่สำคัญมากกับทั้งผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ การปรึกษาพูดคุยร่วมกันจะช่วยเพิ่มความมั่นใจและโอกาสในการทำสำเร็จมากยิ่งขึ้น
การเตรียมตัวก่อนทำ IVF
การทำ IVF ต้องใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ เนื่องจากมีหลายขั้นตอน และบางคนอาจต้องทำมากกว่า 1 ครั้ง เมื่อตัดสินใจใช้วิธี IVF แล้ว แพทย์อาจให้ทำตามขั้นตอนดังต่อไปนี้
- ตรวจสอบรังไข่ แพทย์อาจตรวจปริมาณฮอร์โมนเอสโตรเจน (Estrogen) ร่วมกับอัลตราซาวด์ (Ultrasound) ในช่วงวันแรกๆ ของการเป็นประจำเดือน เพื่อประเมินว่ารังไข่จะตอบสนองต่อยากระตุ้นได้ดีหรือไม่
- ตรวจมดลูก แพทย์อาจใช้วิธี Sonohysterography ซึ่งคล้ายกับการอัลตราซาวด์เพื่อตรวจดูโพรงมดลูก หรือการส่องกล้อง Hysteroscopy เพื่อเป็นข้อมูลในการตัดสินใจเลือกวิธีที่ดีที่สุดในการผสมเทียม
- ตรวจความสมบูรณ์ของอสุจิ การตรวจความสมบูรณ์ของอสุจิจะดูทั้งรูปทรง ขนาด และปริมาณของอสุจิ เพื่อช่วยให้ตัดสินใจเลือกวิธีการผสมเทียมได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
- ตรวจหาโรคติดต่อ แพทย์จะให้ตรวจโรคติดต่อที่อาจส่งผลกระทบกับเด็กได้ เช่น เชื้อ HIV
- จำลองการส่งตัวอ่อนเข้ามดลูก โดยแพทย์อาจพิจารณาความลึกของโพรงมดลูก เพื่อวางแผนก่อนการทำ IVF จริง
นอกจากนี้ยังอาจมีการตรวจเชิงลึกมากขึ้นหากแพทย์พบความผิดปกติจากการตรวจเบื้องต้น หรือตามที่แพทย์เห็นสมควร
ขั้นตอนการทำ IVF
ขั้นตอนการทำ IVF มีความซับซ้อนพอสมควร ดังนั้นเพื่อให้เข้าใจได้ง่ายๆ อาจแบ่งเป็น 4 ขั้นตอนหลักๆ ดังนี้
1. กระตุ้นรังไข่
เมื่อตรวจความเช็กความพร้อมแล้ว แพทย์อาจใช้ฮอร์โมนสังเคราะห์ (Synthetic hormones) เพื่อกระตุ้นให้รังไข่ผลิตไข่ออกมามากกว่า 1 ฟอง
เนื่องจากไม่ใช่ไข่ทุกใบจะสามารถปฎิสนธิได้ แพทย์จึงนำไข่ออกมาใช้หลายๆ ฟองในการทำ IVF เพื่อเพิ่มโอกาสสำเร็จให้มากที่สุด
ฮอร์โมน หรือยาที่แพทย์ให้อาจมีดังนี้
- ฟอลลิเคิล สติมิวเลติง ฮอร์โมน (Follicle-stimulating hormone: FSH) เป็นฮอร์โมนกระตุ้นการเจริญเติบโตของไข่
- ลูทิไนซิง ฮอร์โมน (Luteinizing hormone: LH) เป็นฮอร์โมนกระตุ้นให้เกิดการตกไข่
- ฮิวแมน โคริโอนิค โกนาโดโทรพิน (Human chorionic gonadotropin: HCG) เป็นฮอร์โมนที่อาจมีส่วนช่วยในการกระตุ้นการตกไข่และสร้างอสุจิ โดยปกติจะพบในคนที่ตั้งครรภ์แล้ว
นอกจากนี้ยังอาจมียาที่ช่วยป้องกันไม่ให้ไข่ตกก่อนเวลาที่ต้องการ ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้อธิบายตามความเหมาะสม
เมื่อแพทย์ทำการกระตุ้นรังไข่แล้ว จะทำการตรวจเลือดเพื่อดูระดับฮอร์โมนเอสโตรเจน หากระดับฮอร์โมนถึงเกณฑ์ แสดงว่ารังไข่ตอบสนองต่อฮอร์โมนได้ดี และสามารถทำ IVF ได้
2. การนำไข่ออกมาจากรังไข่
เมื่อการกระตุ้นไข่เป็นไปด้วยดี แพทย์จะเริ่มการนำไข่ออกมาจากรังไข่ อาจมีขั้นตอนดังนี้
- แพทย์จะให้ยาระงับความรู้สึกก่อนเริ่มการดึงไข่
- แพทย์จะใช้เครื่องมืออัลตร้าซาวด์ขนาดเล็กสอดเข้าทางช่องคลอด เพื่อให้เห็นภาพรังไข่และสามารถนำไข่ออกมาได้
- จากนั้นแพทย์จะสอดเข็มผ่านเครื่องอัลตราซาวด์เข้าไปเพื่อเข้าไปดึงไข่ออกมา แต่หากไม่สามารถสอดอัลตราซาวด์ผ่านทางช่องคลอดได้ แพทย์อาจใช้การดึงไข่ผ่านหน้าท้องแทน ขั้นตอนนี้อาจใช้เวลาประมาณ 20 นาที
- ไข่ที่สุกแล้วจะถูกนำไปแช่ไว้ในของเหลวสำหรับเพาะเลี้ยง (Nutritive liquid) เพื่อรอผสมกับอุสจิจนเกิดเป็นตัวอ่อน
ในระหว่างและหลังจากดึงไข่ออกมาแล้ว ผู้รับบริการอาจรู้สึกหน่วงๆ เหมือนถูกกดทับบ้าง หากรู้สึกเจ็บมากจนผิดปกติควรแจ้งแพทย์ให้ทราบ
3. การนำอสุจิออกมาเตรียมปฎิสนธิ
การนำอสุจิออกมานั้นมี 2 วิธีหลักๆ ขึ้นอยู่กับปัจจัยของผู้ใช้บริการ ดังนี้
- หากต้องการใช้อสุจิของคู่รัก และคู่รักยังสามารถหลั่งอสุจิได้ตามปกติ แพทย์อาจให้สำเร็จความใคร่ด้วยตนเองในเช้าวันที่ทำการดึงไข่ เพื่อให้มีอุสจิเตรียมพร้อมรอปฎิสนธิเลย
- หากไม่สามารถหลั่งอสุจิได้ หรือด้วยเหตุผลด้านสุขภาพบางประการ อาจต้องใช้วิธีที่เรียกว่า “ทีซ่า (Testicular Sperm Aspiration: TESA)” หรือการใช้เข็มเจาะเข้าอัณฑะเพื่อดูดอสุจิออกมาโดยตรง
เมื่อนำอสุจิออกมาแล้ว แพทย์จะนำเข้าห้องปฎิบัติการเพื่อทำการแยกตัวเชื้ออสุจิกับน้ำอสุจิต่อไป
4. การปฎิสนธิและส่งกลับเข้ามดลูก
หากการดึงไข่เรียบร้อยดี และอสุจิที่ดึงออกมาแข็งแรงดี แพทย์อาจนำมาผสมภายในวันเดียวกันเลย แต่หากพบว่า เชื้ออสุจิมีจำนวนน้อยเกินไป แพทย์อาจใช้กล้องกำลังขยายสูงคัดเลือกอสุจิมาเพียงตัวเดียวเพื่อฉีดเข้าไปในไข่โดยตรง (ICSI)
จากนั้นแพทย์จะนำไปเพาะเลี้ยงเป็นเวลา 5-6 วัน เพื่อให้เกิดเป็นตัวอ่อน และรอจนตัวอ่อนแข็งแรงพอจะฝังตัวในมดลูกได้
แพทย์จะสอดตัวอ่อนเข้าทางช่องคลอด และปล่อยตัวอ่อนเข้าสู่มดลูกเพื่อให้เกิดการฝังตัวตามธรรมชาติต่อไป โดยจะทราบผลว่าสำเร็จหรือไม่ภายใน 6-10 วัน จากการตรวจเลือด
หากเกิดการตั้งครรภ์สำเร็จ ก็จะสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ควรงดกิจกรรมหนักๆ บางประเภทที่อาจกระทบต่อรังไข่