Default fallback image

รู้จัก “หมอนนท์” คุณหมอกระดูกเฉพาะทางด้านเวชศาสตร์กีฬา กับประสบการณ์ดูแลนักกีฬาแบบเกาะติดข้างสนาม

ตามส่องชีวิตหมอออร์โธปิดิกส์เฉพาะทางด้านเวชศาสตร์กีฬา ผู้คอยรักษาและอยู่เคียงข้างนักกีฬาแบบเกาะติดข้างสนาม กับหมอนนท์ นายแพทย์ชานนท์ กนกวลีวงศ์ แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านศัลยกรรมกระดูและข้อ มีความชำนาญด้านเวชศาสตร์กีฬา การผ่าตัดส่องกล้องและการผ่าตัดแผลเล็ก

สวัสดีครับ หมอนนท์นะครับ นพ. ชานนท์ กนกวลีวงศ์ ปัจจุบันเป็นแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ หรือการศัลยกรรมกระดูกและข้อ มีความเชี่ยวชาญด้านเวชศาสตร์กีฬา และยังมีความชำนาญด้านการผ่าตัดส่องกล้อง และการผ่าตัดแผลเล็กครับ

สารบัญ

แนะนำประวัติและประสบการณ์ทำงานที่ผ่านมา

หมอเรียนจบแพทยศาสตรบัณฑิตจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ครับ และได้ใช้ทุนต่อที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติเช่นกัน จากนั้นก็ได้เรียนต่อเฉพาะทางด้านกระดูกและข้อที่คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รวมถึงเรียนจบด้านการผ่าตัดเวชศาสตร์กีฬา และการผ่าตัดส่องกล้องจากที่นี่เช่นกัน

จากนั้นหมอก็ได้ไปศึกษาต่อและฝึกอบรมพิเศษที่ Tokyo Sports & Orthopaedic Clinic  ซึ่งเป็นศูนย์ดูแลเฉพาะทางให้กับนักกีฬาที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่นด้วยครับ

แพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ คืออะไร?

คำว่า “ออร์โธ” ในภาษากรีกโบราณจะแปลว่า “Correct” หรือ “Straight” ซึ่งแปลว่า “แก้ไข” หรือ “ตั้งตรง” ครับ ส่วนคำว่า “ปิดิกส์” ในภาษากรีกโบราณเช่นกันก็จะแปลว่า “เด็ก” ดังนั้นนิยามของแพทย์ออร์โธปิดิกส์ในสมัยก่อนก็คือ แพทย์ซึ่งทำหน้าที่รักษาภาวะโครงกระดูกผิดรูปตั้งแต่กำเนิด 

แต่ในปัจจุบัน แพทย์ออร์โธปิดิกส์ จะหมายถึง แพทย์เวชศาสตร์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลกระดูกและข้อ รวมถึงกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นต่าง ๆ ของร่างกายด้วยครับ

การดูแลคนไข้ของแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ ครอบคลุมแค่กระดูกใช่หรือไม่?

จริง ๆ ไม่ใช่แค่นั้นครับ นอกจากกระดูกและข้อ หมอยังดูแลครอบคลุมไปถึงเนื้อเยื่อที่อยู่โดยรอบไขข้อต่าง ๆ ด้วย รวมถึงกล้ามเนื้อและเส้นเอ็นต่าง ๆ ด้วยครับ

จุดเริ่มต้นของการเป็นหมอด้านเวชศาสตร์กีฬามาจากไหน?

ก่อนอื่นก็ตั้งแต่สมัยยังเด็ก หมอเป็นเด็กชอบเล่นกีฬาอยู่แล้วครับ มีความสนใจด้านกีฬา ชอบดูการแข่งกีฬาด้วย ซึ่งพอโตขึ้นก็อยากทำงานเป็นหมอ และอยากเป็นหมอที่ดูแลนักกีฬาโดยเฉพาะ ก็คือเราได้ทำในสิ่งที่ชอบ และเป็นงานที่อยู่ในวงการกีฬาไปพร้อมกันครับ

ความเหมือนและความต่างของการดูแลคนไข้ธรรมดากับการดูแลนักกีฬา เป็นอย่างไร?

ส่วนตัวหมอมองว่าไม่ต่างกันมากนะครับ เพราะเราต้องดูแลและให้ข้อมูลการรักษากับคนไข้อย่างครบถ้วนก่อนทั้ง 2 กลุ่มอยู่แล้ว หลัก ๆ หมอโฟกัสไปที่การสื่อสารซึ่งสำคัญมากกว่าครับ แต่ในส่วนของการดูแลคนไข้ 2 กลุ่มนี้ไม่ได้แตกต่างกันมากครับ

เล่าประสบการณ์ผ่าตัดที่ยากและประทับใจ

หมอขอเล่าเคสที่ยากก่อนแล้วกันครับ เคสนี้เป็นเคสคนไข้ที่ประสบอุบัติเหตุมา ทำให้เอ็นหัวเข่าขาดหลายเส้นเลย และต้องมีการผ่าตัดทำเส้นเอ็นใหม่ทั้งหมด ซึ่งหมอมองว่า การผ่าตัดที่ยากแบบนี้เราต้องสื่อสารกับคนไข้ให้ชัดตั้งแต่แรกว่า สิ่งที่จะเกิดขึ้นมีอะไรบ้าง อาการแทรกซ้อนที่อาจจะเกิดขึ้นตามมามีอะไร เพื่อเป็นข้อมูลให้คนไข้เข้าใจและสบายใจตั้งแต่ก่อนเริ่มการรักษาครับ

ส่วนเคสคนไข้ที่หมอประทับใจ คือหมอก็ได้มีโอกาสดูแลนักกีฬามืออาชีพในทุกระดับมาแล้วครับ ซึ่งกรณีที่เจอได้บ่อยที่สุดก็จะเป็นเอ็นไขว้หน้าหัวเข่าขาดมา โดยเฉพาะในกีฬาประเภทฟุตบอลซึ่งเป็นที่นิยมในบ้านเรา อย่างมีเคสคนหนึ่งที่เราก็ได้รับมาดูแลและผ่าตัดรักษาให้ ทุกวันนี้หมอก็ยังเห็นเขาเล่นฟุตบอลอยู่ในลีกระดับสูงสุดอยู่ และยังมีการติดต่อพูดคุยกับน้องคนนี้อยู่ด้วยครับ

รวมถึงนักกีฬาคนอื่น ๆ ที่หมอเคยรักษาให้และทำให้เขากลับไปเล่นกีฬาได้เหมือนเดิม สามารถกลับไปอยู่ในเส้นทางอาชีพของเขาได้ หมอก็รู้สึกภูมิใจและประทับใจกับงานตรงนี้ด้วยครับ

สิ่งที่คนมักเข้าใจผิดเกี่ยวกับแพทย์เฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์

อย่างที่หมอได้กล่าวถึงความหมายของคำว่า “ออร์โธปิดิกส์” ไปครับ ซึ่งหมายถึงแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านกระดูกและข้อ จึงทำให้หลายคนเข้าใจว่า หมอรักษาแค่อาการกระดูกหักหรือเปล่านะ แต่ความจริงไม่ใช่แค่นั้นครับ แต่หมอดูแลทั้งเส้นเอ็น ข้อต่อ เนื้อเยื่อเกี่ยวพัน และกล้ามเนื้อต่าง ๆ ทั้งหมดเลย

แชร์เทคนิคการทำงานของคุณหมอ

สำหรับเคล็ดลับการทำงานของหมอ หมอรู้สึกว่าสิ่งสำคัญในการทำงาน คือ การสื่อสารกับคนไข้ครับ เราต้องให้ข้อมูลกับคนไข้ให้ครบถ้วน ให้คนไข้มีส่วนในการตัดสินใจอะไรก็ตามที่เกี่ยวข้องกับร่างกายของเขา เพราะการสื่อสารที่ดีจะนำมาซึ่งความเข้าใจที่ตรงกันระหว่างหมอกับคนไข้ครับ และยังช่วยลดความกังวลต่อการรักษาในตัวคนไข้ได้ หมอคิดว่านี่เป็นสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญอย่างมากครับ

ในส่วนของงานแพทย์ผู้ดูแลนักกีฬา คุณหมอต้องทำหน้าที่อะไรบ้าง?

บทบาทของแพทย์เวชศาสตร์กีฬาเพื่อดูแลการบาดเจ็บของนักกีฬา เราจะแบ่งออกเป็น 2 รูปแบบครับ แบบแรก คือ หมอจะเป็นฝ่ายตั้งรับอยู่ที่โรงพยาบาล เมื่อนักกีฬามาด้วยอาการบาดเจ็บ เราก็จะให้คำแนะนำ ช่วยผ่าตัดรักษา หรือส่งตัวไปทำกายภาพบำบัด แล้วแต่อาการบาดเจ็บไป

และอีกแบบก็คือ เป็นแพทย์อยู่ข้างสนามครับ เป็นการดูแลนักกีฬาแบบระยะประชิดระหว่างการแข่งขัน หมอก็จะติดตามนักกีฬาไปที่แคมป์ฝึกด้วย อย่างตอนนี้หมอก็ได้มีโอกาสดูแลนักกีฬาประเภทฟุตบอล เวลาเขาไปทัวร์นาเมนต์แข่งที่ไหนเราก็จะติดตามนักกีฬาไปด้วย ไปดูแลนักกีฬา และได้มีโอกาสทำงานร่วมกับทีมโค้ชเพื่อช่วยวางแผนกลยุทธ์กัน

อย่างเช่น นักกีฬาบาดเจ็บอยู่ควรจะลงเล่นต่อไหม หรือเล่นต่อไม่ได้ รวมถึงต้องมีการตัดสินใจในระหว่างการแข่งขันด้วยว่า ถ้ามีนักกีฬาบาดเจ็บขึ้นมา เราต้องเข้าไปรักษาให้ทันท่วงทีอย่างไร รักษาแบบไหน รักษาแล้วเล่นต่อได้เลยหรือไม่

มีครั้งไหนที่ไปทัวร์นาเมนต์และได้เจอเคสที่คาดไม่ถึงไหม?

ถ้าตอนนี้ยังไม่มีนะครับ เพราะปกติหมอก็จะวางแผนและประชุมทีมล่วงหน้าก่อนแข่งขันตลอด แต่สิ่งที่หมอคิดว่ามันท้าทาย คือ การดูแลนักกีฬาที่บาดเจ็บข้างสนามเนี่ย เราต้องมีการตัดสินใจว่าเขาจะเล่นต่อได้หรือไม่ได้ โดยเราต้องให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของกีฬาเป็นหลักก่อน ส่วนผลการแข่งขันนั้นเป็นเรื่องรองลงมา ซึ่งการตัดสินใจเหล่านี้จะมีเวลาในการตัดสินใจไม่มากนัก

การทำงานเวชศาสตร์กีฬา คุณหมอเครียดและกดดันบ้างหรือไม่?

เรื่องความเครียดและความกดดันก่อนลงสนาม ช่วงแรก ๆ ก็มีบ้างครับ แต่ด้วยเพราะความชอบ และพอหมอได้อยู่กับวงการฟุตบอลไปนาน ๆ เข้า ก็เริ่มรู้สึกสบายใจและผ่อนคลายมากขึ้น นอกจากนี้พวกสตาฟและทีมโค้ชก็ให้เกียรติหมอด้วย ทุกวันนี้ก็ทำงานอย่างสบายใจและมีความสุขมากครับ

บริการ HDcare ในมุมมองของคุณหมอเป็นอย่างไร?

ในมุมของหมอ หมอรู้สึกว่าทุกวันนี้โลกสังคมออนไลน์มันเติบโตขึ้นมากเลยครับ ดังนั้นการหาข้อมูลเกี่ยวกับอาการบาดเจ็บ การเจ็บป่วย รวมถึงวิธีรักษานั้นทำได้ง่ายขึ้นมากแล้ว และบริการ HDCare ก็เป็นเหมือนศูนย์กลางที่ช่วยเชื่อมต่อให้คนไข้สามารถติดต่อกับคุณหมอและเข้าถึงการรักษาได้ง่ายขึ้น

นอกจากนี้ HDcare ก็ยังมีบริการ Telemedicine ซึ่งคนไข้สามารถปรึกษาหมอผ่านการวิดีโอคอลได้ ไม่ต้องเดินทางไปโรงพยาบาลให้เสียเวลาเลยด้วย

ซึ่งการที่หมอได้มีโอกาสเข้าร่วมกับ HDcare ได้ ก็เพราะหมอมีเพื่อนหมอด้วยกันที่รู้จักกันตั้งแต่สมัยเรียนครับ และเพื่อนของหมอเองก็ได้เข้าร่วมกับบริการ HDcare ด้วยเหมือนกัน ก็เลยชวนให้หมอลองมาเข้าร่วมกับบริการนี้ดูด้วย 

ซึ่งตัวหมอเองก็มองว่า ถ้าเราสามารถลดช่องว่างด้านการสื่อสารหากันระหว่างหมอกับคนไข้ลงได้ โดยมี HDcare เป็นตัวเชื่อมต่อ มันก็น่าจะทำให้กระบวนการรักษาสะดวกรวดเร็วยิ่งขึ้น ทำให้คนไข้เข้าถึงหมอและบริการทางการแพทย์ได้ง่ายขึ้น เลยคิดว่ามันน่าสนใจและตัดสินใจเข้าร่วมกับบริการนี้ครับ

สอบถามทุกประเด็นเกี่ยวกับการผ่าตัดที่สงสัย กับทางทีมของ HDcare จนกว่าจะมั่นใจ และหากต้องการผู้ช่วยประสานงานด้านใดในโรงพยาบาล หรืออยากสอบถามข้อมูลเกี่ยวกับบริการ HDcare สามารถพูดคุยผ่านทางไลน์ @HDcare ได้เลย

Scroll to Top