ป้องกันการตั้งครรภ์ชั่วคราว ด้วยการใส่ห่วงคุมกำเนิด

ปัจจุบันการคุมกำเนิดมีหลายวิธีให้เลือกตามความเหมาะสมของแต่ละบุคคล ทั้งการคุมกำเนิดแบบถาวร และการคุมกำเนิดแบบชั่วคราว ซึ่งแต่ละวิธีให้ผลแตกต่างกัน การใส่ห่วงคุมกำเนิด เป็นหนึ่งในวิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลาย เนื่องจากมีประสิทธิภาพสูง และมีผลข้างเคียงน้อย

สำหรับผู้ที่กำลังสนใจและต้องการคุมกำเนิดด้วยวิธีนี้ HDmall.co.th ได้รวบรวมข้อมูลการใส่ห่วงคุมกำเนิด ทั้งชนิดของห่วงอนามัยที่นิยมใช้ ใครเหมาะหรือไม่เหมาะกับการใส่ห่วงบ้าง รวมถึงข้อดี ข้อเสีย การเตรียมตัว และผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ

ใส่ห่วงคุมกำเนิดคืออะไร?

การใส่ห่วงคุมกำเนิด หรือห่วงอนามัย (Intrauterine Device: IUD) นั้นมีใช้มานานมากกว่า 100 ปี โดยห่วงคุมกำเนิดเป็นอุปกรณ์ขนาดเล็กใช้ใส่เข้าไปในโพรงมดลูกเพื่อป้องกันการตั้งครรภ์ มีชนิดเคลือบสารทองแดงและชนิดเคลือบฮอร์โมนโพรเจสติน แตกต่างกันที่ประสิทธิภาพ ระยะเวลาการคุมกำเนิด และความเหมาะสมของแต่ละคน

หลักการทำงานของห่วงคุมกำเนิด คือ ห่วงจะปล่อยสารที่มีอยู่ออกมาทีละน้อย เพื่อก่อให้เกิดการอักเสบที่เยื่อบุมดลูก ส่งผลให้ไข่ที่ตกออกมาไม่สามารถปฏิสนธิได้ และทำให้มดลูกมีสภาพไม่เหมาะต่อการฝังตัวของไข่ จึงไม่เกิดการตั้งครรภ์ ซึ่งการใส่ห่วงนับเป็นวิธีป้องกันการตั้งครรภ์ชั่วคราวได้ดี มีความปลอดภัยสูงและมีผลข้างเคียงน้อย

ห่วงคุมกำเนิดมีกี่แบบ?

ห่วงอนามัยมีหลายชนิดและมีรูปร่างแตกต่างกัน โดยมีแกนเป็นพลาสติกหรือโลหะขดเป็นวง ชนิดที่ใช้กันมากจะเป็นแกนพลาสติกและใส่สารแบเรียมซัลเฟต (Barium Sulphate) สารทึบรังสีที่ช่วยในการตรวจหาตำแหน่งของห่วงด้วยการเอกซเรย์ หากเกิดกรณีที่มีการเคลื่อนที่ของห่วงอนามัย

ส่วนตรงปลายแกนแนวตั้งอาจทำเป็นปุ่มเพื่อกันไม่ให้ห่วงอนามัยหลุดจากปากมดลูก และปลายแกนอีกด้านหนึ่งจะมีเส้นด้ายไนลอน 1 หรือ 2 เส้น เหลือไว้สำหรับผูก เมื่อใส่ห่วงเข้าในโพรงมดลูกพอดีแล้ว เส้นด้ายไนลอนจะยื่นพ้นปากมดลูกเข้าไปในช่องคลอดประมาณ 2-3 เซนติเมตร เพื่อช่วยในการตรวจหาตำแหน่งห่วงอนามัยและการเอาห่วงออกในภายหลัง โดยห่วงอนามัยที่ใช้กันมากมีรูปร่างลักษณะ 3 แบบ ดังนี้

  • แบบอักษรตัวที (T-shaped IUD) มีความกว้าง 28-32 มิลลิเมตร ความยาว 30-36 มิลลิเมตร
  • แบบอักษรตัวยู (U-shaped IUD) คล้ายร่ม มีความกว้าง 18-24 มิลลิเมตร ความยาวใกล้เคียงกับชนิดที่มีรูปร่างคล้ายอักษรตัวที
  • แบบอักษรตัววาย (Y-shaped IUD) ความกว้าง 18-24 มิลลิเมตร ความยาวใกล้เคียงกับชนิดที่มีรูปร่างคล้ายอักษรตัวทีเช่นกัน

ปัจจุบันชนิดของห่วงอนามัยจะแบ่งเป็นชนิดที่ไม่มีสารออกฤทธิ์ และชนิดที่มีสารออกฤทธิ์ โดยชนิดที่มีสารออกฤทธิ์จะมีประสิทธิภาพสูงและนิยมใช้มากกว่า ซึ่งสารออกฤทธิ์ที่ใช้กัน มีดังนี้

1. ห่วงคุมกำเนิดที่เคลือบสารทองแดง

โดยสารทองแดงเป็นสารออกฤทธิ์ ช่วยในการคุมกำเนิด ซึ่งสารจะอยู่ในรูปประจุถูกปล่อยออกจากห่วงทีละน้อย แกนห่วงอนามัยโค้งงอได้โดยไม่หัก ส่วนใหญ่ทำจากพลาสติกและรอบนอกเป็นทองแดงทั้งที่เป็นเส้นลวดพันรอบแกนหรือปลอกหุ้มแกน มีพื้นที่ผิวทองแดงตั้งแต่ 200-380 ตารางมิลลิเมตร ระยะเวลาใช้คุมกำเนิด 3-10 ปี หรืออาจนานถึง 12 ปี ขึ้นกับชนิดของห่วงและปริมาณพื้นที่ผิวทองแดง ที่นิยมใช้กันแพร่หลาย ได้แก่ มัลติโหลด Cu250 มีพื้นที่ผิวทองแดง 250 ตารางมิลลิเมตร อายุการใช้งาน 3 ปี และมัลติโหลด Cu375 มีพื้นที่ผิวทองแดง 375 ตารางมิลลิเมตร อายุการใช้งาน 5 ปี โดยอายุการคุมกำเนิดจะสัมพันธ์กับปริมาณพื้นที่ผิวทองแดง คือ ปริมาณพื้นที่ผิวทองแดงมาก อายุการคุมกำเนิดจะยาวขึ้นตาม

ผู้ใส่ห่วงอนามัยชนิดนี้ จะทำให้ระดับสารทองแดงในเลือดสูงกว่าปกติเล็กน้อย แต่ไม่มีผลทำให้เกิดอาการผิดปกติต่อร่างกาย

ทั้งนี้ห่วงคุมกำเนิดเคลือบสารทองแดง นอกจากใช้คุมกำเนิดแล้ว ยังสามารถใช้คุมกำเนิดฉุกเฉินในกรณีมีเพศสัมพันธ์ไม่พึงประสงค์ โดยต้องใส่ห่วงอนามัย ภายใน 5 วัน หลังมีเพศสัมพันธ์

ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด หากมีการตรวจสอบห่วงสม่ำเสมอ พบว่ามีโอกาสตั้งครรภ์ในปีแรก 0.6% หลังปีที่ 7 อยู่ที่ 1.4-1.6% และภายหลังปีที่ 8 และ 12 จะมีประมาณ 2.2% โดยประสิทธิภาพในการคุมกำเนิดจะลดลงเมื่อปริมาณพื้นที่ผิวทองแดงมีน้อยกว่า 380 ตารางมิลลิเมตร

2. ห่วงคุมกำเนิดที่เคลือบฮอร์โมน

เป็นห่วงคุมกำเนิดชนิดที่ใช้กันแพร่หลายในปัจจุบัน โดยมีการเคลือบฮอร์โมนโพรเจสติน หรือฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล (Levonorgestrel) ที่เป็นกลุ่มฮอร์โมนสังเคราะห์ขึ้นและมีฤทธิ์เลียนแบบโพรเจสเตอโรน (Progesterone) ในร่างกาย

ห่วงอนามัยชนิดนี้ แกนทำจากพลาสติกโค้งงอได้โดยไม่หัก รอบแกนกลางเก็บฮอร์โมนในปริมาณแตกต่างกัน ซึ่งจะสัมพันธ์กับระยะเวลาใช้คุมกำเนิด เช่น จำนวนฮอร์โมน 13.5 มิลลิกรัม ใช้คุมกำเนิดนาน 3 ปี จำนวน 19.5 มิลลิกรัม ใช้คุมกำเนิดนาน 5 ปี และ 52 มิลลิกรัม ใช้คุมกำเนิดนานไม่น้อยกว่า 5 ปี

ทั้งนี้ห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมน 52 มิลลิกรัมนี้ นอกจากใช้คุมกำเนิดแล้ว ยังใช้รักษาความผิดปกติอื่น ได้แก่ ภาวะมีประจำเดือนมาก ภาวะปวดประจำเดือน ประจำเดือนมาไม่สม่ำเสมอ และลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งเยื่อบุโพรงมดลูก

ประสิทธิภาพในการคุมกำเนิด ในปีแรกจะมีโอกาสตั้งครรภ์ได้ประมาณ 0.41% และภายในระยะเวลา 3 ปี โอกาสการตั้งครรภ์เพียง 0.9% เท่านั้น

3. ห่วงอนามัยชนิดไม่มีสารออกฤทธิ์ ไม่เคลือบสารหรือฮอร์โมน

ห่วงอนามัยชนิดไม่มีสารออกฤทธิ์ที่ใช้กันมานาน คือ ห่วงลิปปีส (Lippes Loop) ทำจากพลาสติกหรือสเตนเลส เคลือบด้วยสารแบเรียมซัลเฟต เพียงเพื่อให้มองเห็นได้จากการถ่ายภาพเอกซเรย์ โดยมีอายุการใช้งานคุมกำเนิดต่อเนื่องได้อย่างไม่มีกำหนด และไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนห่วงอนามัย แต่มีประสิทธิภาพการคุมกำเนิดต่ำกว่าห่วงคุมกำเนิดชนิดเคลือบสารออกฤทธิ์

ใส่ห่วงคุมกำเนิดเหมาะกับใคร?

การใส่ห่วงคุมกำเนิดเป็นการป้องกันการตั้งครรภ์ชั่วคราว จึงเหมาะกับผู้ที่ต้องการจะกลับมาตั้งครรภ์อีกครั้ง เพียงยืดระยะเวลาการตั้งครรภ์ออกไประยะหนึ่ง ดังนั้นการใส่ห่วงจะเหมาะกับผู้ที่ต้องการคุมกำเนิด ดังนี้

  • ผู้ที่ต้องการคุมกำเนิดในระยะอย่างน้อย 2 ปีขึ้นไป หรือต้องการเว้นช่วงมีบุตรมากกว่า 3-5 ปี
  • ผู้ที่มีปัญหาการรับประทานยาคุมกำเนิด หรือลืมรับประทานเป็นประจำ
  • ผู้มีความเสี่ยงต่ำในการติดต่อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
  • ผู้ที่มีข้อห้าม มีปัจจัยเสี่ยงจากการรับประทาน หรือจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงการคุมกำเนิดด้วยวิธีที่มีฮอร์โมนเอสโตรเจน หรือโพรเจสติน เช่น มีน้ำหนักตัวเพิ่มมากขึ้น
  • ผู้ที่อยู่ระหว่างให้นมบุตร แม้ห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรลทำให้ปริมาณน้ำนมน้อยลง แต่ไม่ส่งผลกระทบทั้งคุณภาพและปริมาณน้ำนม แต่ชนิดห่วงอนามัยหุ้มทองแดงจะไม่กระทบเรื่องดังกล่าว
  • ผู้ที่มีความจำเป็นต้องใช้ห่วงอนามัยชนิดหุ้มทองแดง เพื่อการคุมกำเนิดแบบฉุกเฉิน เช่น การมีเพศสัมพันธ์ไม่พึงประสงค์

ใครห้ามใส่ห่วงคุมกำเนิด?

ผู้ที่ห้ามใส่ห่วงคุมกำเนิด ทั้งสองแบบ ได้แก่

  • ผู้ที่สงสัยว่าจะตั้งครรภ์ ก่อนใส่ห่วงคุมกำเนิดจึงต้องตรวจการตั้งครรภ์ให้แน่ชัดเสียก่อน
  • ผู้ที่แพ้สารหรือส่วนประกอบของห่วงอนามัย
  • ผู้ที่เคยใส่ห่วงและยังไม่ได้นำห่วงออก
  • ผู้มีภาวะโรคติดเชื้อในทางเดินระบบสืบพันธุ์ เช่น ปากมดลูกอักเสบ ช่องคลอดอักเสบ หรือมีการติดเชื้อบริเวณระบบสืบพันธุ์
  • ผู้เคยมีประวัติการอักเสบในอุ้งเชิงกรานบ่อยครั้ง หรือมีการติดเชื้อในอวัยวะอุ้งเชิงกราน เช่น ภาวะอุ้งเชิงกรานอักเสบ เยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบ ปากมดลูกอักเสบเป็นหนอง วัณโรคในอุ้งเชิงกราน กรณีมีการติดเชื้อ ต้องรักษาให้หายแล้วอย่างน้อย 3 เดือน จึงพิจารณาใส่ห่วงอนามัย และควรใส่ห่วงอนามัยชนิดที่มีฮอร์โมน
  • ผู้เคยมีภาวะแท้งเพราะติดเชื้อ หรือภาวะเยื่อบุโพรงมดลูกอักเสบหลังคลอด ในช่วง 3 เดือนที่ผ่านมา
  • ผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคมะเร็ง โรคเนื้องอกในมดลูกหรือปากมดลูก
  • ผู้มีภาวะเลือดออกจากโพรงมดลูกผิดปกติ หรือเลือดออกทางช่องคลอดกะปริดกะปรอย โดยไม่ทราบสาเหตุ ซึ่งต้องได้รับการตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัดก่อน
  • ผู้มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดการติดเชื้อในโพรงมดลูกได้
  • ผู้เป็นโรคหัวใจ โดยเฉพาะโรคของลิ้นหัวใจ
  • ผู้มีมดลูกผิดปกติมาแต่กำเนิด ส่วนมากเกิดจากความผิดปกติด้านโครงสร้างของโพรงมดลูก เช่น ปากมดลูกตีบ กล้ามเนื้อมดลูกที่ทำให้โพรงมดลูกผิดรูปร่าง ซึ่งทำให้ยากหรือเป็นอุปสรรคในการใส่ห่วง และมีโอกาสที่ห่วงอนามัยจะหลุด หรือทำให้ไม่สามารถใส่ห่วงให้อยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสมได้
  • ข้อห้ามเพิ่มเติมเฉพาะสำหรับการใส่ห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล ได้แก่ ผู้เป็นหรือสงสัยว่าเป็นโรคมะเร็งเต้านม หรือผู้ที่อยู่ระหว่างการบำบัดรักษาโรคมะเร็ง หรือผู้เป็นโรคเนื้องอกตับหรือโรคมะเร็งตับ
  • ข้อห้ามเพิ่มเติมเฉพาะสำหรับการใส่ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง ได้แก่ ผู้เป็นโรควิลสัน (Wilson disease) ซึ่งเป็นโรคทางพันธุกรรม และมีการสะสมของทองแดงมากที่อวัยวะสำคัญหลายแห่ง

ข้อดีของการใส่ห่วงคุมกำเนิด

  • ทำได้ง่าย สะดวก ปลอดภัย และประหยัดค่าใช้จ่ายในระยะยาว
  • ประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงและมีระยะเวลานาน ประมาณ 3-10 ปี ขึ้นอยู่กับชนิดของห่วงที่ใส่
  • ผลกระทบต่อระบบในร่างกายน้อย เพราะระดับสารออกฤทธิ์คุมกำเนิดในเลือดต่ำ และไม่มีอาการข้างเคียงจากการใช้ฮอร์โมนคุมกำเนิด เหมือนการรับประทานยาคุมกำเนิดหรือการยาฉีดคุมกำเนิด เช่น การคลื่นไส้ อาเจียน เป็นฝ้า น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เป็นต้น
  • ไม่ทำให้ความรู้สึกในมีเพศสัมพันธ์เปลี่ยนไปหรือน้อยลง เหมือนการคุมกำเนิดด้วยการใส่ถุงยางอนามัย
  • ประจำเดือนมาทุกเดือนตามปกติ
  • สามารถถอดห่วงออก เมื่อต้องการกลับมามีบุตรอีกครั้ง และกลับมาตั้งครรภ์ได้เร็วกว่าการคุมกำเนิดแบบฉีดยาหรือรับประทานยาคุมกำเนิด

ข้อเสียของการใส่ห่วงคุมกำเนิด

  • ไม่สามารถป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้
  • มีอาการเจ็บและเลือดออกเล็กน้อยเมื่อใส่ห่วงและนำห่วงออก
  • มีอาการปวดและเกร็งหน้าท้องในช่วงที่มีประจำเดือน โดยผู้ที่ใส่ห่วงหุ้มทองแดงอาจทำให้ประจำเดือนมามากและนานผิดปกติ ส่วนผู้ที่ใส่ห่วงลาโวเนอร์เจสเตรลอาจมีน้อยหรือไม่มีประจำเดือน
  • สายไนลอนในช่องคลอดอาจรบกวนการมีเพศสัมพันธ์
  • อาจเกิดการติดเชื้อ การอักเสบของอุ้งเชิงกราน หรือมดลูกทะลุจากห่วงอนามัย ซึ่งพบในอัตราน้อยมาก

การเตรียมตัวก่อนใส่ห่วงคุมกำเนิด

การเตรียมตัวใส่ห่วงอนามัยทำได้ไม่ยุ่งยาก ดังต่อไปนี้

  • ปรึกษากับแพทย์ แจ้งประวัติด้านการรักษาและยา ให้แพทย์ทราบ
  • ตรวจร่างกายเพื่อให้แน่ใจว่าไม่มีข้อห้ามของการใส่ห่วง ได้แก่ ตั้งครรภ์หรือสงสัยว่ากำลังตั้งครรภ์ เป็นโรคติดเชื้อในอุ้งเชิงกรานหรือมีความเสี่ยงต่อภาวะนี้ มีเลือดออกจากโพรงมดลูกโดยไม่ทราบสาเหตุ มีความผิดปกติด้านโครงสร้างของมดลูกภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ
  • รับฟังการอธิบายจากแพทย์ ถึงชนิดของห่วงคุมกำเนิด วิธีการใส่และความรู้สึกในขณะใส่ห่วง อาการข้างเคียง อาการผิดปกติที่ควรมาพบแพทย์ รวมถึงการตรวจติดตามผลในภายหลัง
  • ก่อนเข้ารับการใส่ห่วง ควรถ่ายปัสสาวะและทำความสะอาดบริเวณอวัยวะสืบพันธุ์ภายนอกให้สะอาด

ขั้นตอนการใส่ห่วงคุมกำเนิด

โดยทั่วไปการใส่ห่วงใช้เวลาประมาณ 1-2 นาที โดยไม่ต้องฉีดยาชาหรือดมยาสลบ ซึ่งมีขั้นตอนการใส่ห่วง ดังต่อไปนี้

  1. แพทย์ทำความสะอาดบริเวณปากมดลูก ด้วยน้ำยาฆ่าเชื้อ แล้วตรวจภายในเพื่อดูตำแหน่งของมดลูก
  2. แพทย์ค่อยๆ สอดห่วงคุมกำเนิดผ่านปากมดลูกเข้าในโพรงมดลูก ขณะใส่ห่วงบางคนอาจจะรู้สึกเสียว หรือปวดตรงท้องน้อยเล็กน้อย
  3. แพทย์จะเหลือปลายข้างที่มีสายด้ายไนลอนของห่วงอนามัย ยื่นจากปากมดลูกมาอยู่ที่ช่องคลอด และผูกไว้ ประมาณ 2-3 เซนติเมตร สำหรับตรวจห่วงหลังใส่ห่วงเสร็จแล้ว
  4. แพทย์เช็ดทำความสะอาดบริเวณปากมดลูกอีกครั้ง ด้วยสำลีชุบน้ำยาฆ่าเชื้อ และกดบริเวณรอยแผลให้เลือดหยุดไหล
  5. พักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 10-15 นาที และกลับบ้านได้
  6. แพทย์นัดติดตามผลหลังจากใส่ห่วงอนามัยประมาณ 1-2 เดือน หรือหลังใส่ครบ 3 เดือน เพื่อตรวจดูห่วงว่าอยู่ในตำแหน่งบริเวณยอดโพรงมดลูก หรือมีอาการแทรกซ้อนหรือไม่ ถ้าใส่ไปได้ 3-4 เดือนแล้วห่วงไม่หลุดเลย โอกาสหลุดจากนี้ก็มีน้อยลง
  7. กลับมาพบแพทย์ กรณีมีอาการผิดปกติ เช่น เลือดไหลมาก ปวดท้องมาก หรือสงสัยว่าห่วงจะหยุด หรือเคลื่อนไปอยู่ในจุดไม่เหมาะสม เป็นต้น
  8. แพทย์นัดตรวจห่วงหากห่วงอยู่ในสภาพเรียบร้อยดี จะนัดตรวจมะเร็งปากมดลูกเป็นประจำทุกปีต่อไป

การดูแลตัวเองหลังใส่ห่วงคุมกำเนิด

ภายหลังใส่ห่วงคุมกำเนิดสามารถทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ แต่ในช่วง 2-3 วันแรก อาจมีเลือดออกเล็กน้อยซึ่งถือเป็นอาการปกติ แต่อาจต้องมีการดูแลตัวเองหลังใส่ห่วงเสร็จควบคู่ไปด้วย ดังนี้

  • งดมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 7 วันแรกหลังใส่ห่วง
  • งดสวนล้างช่องคลอดหลังใส่ห่วง แต่ดูแลรักษาความสะอาดบริเวณอวัยวะเพศภายนอกได้ตามปกติ
  • ตรวจห่วงอนามัยด้วยตัวเองสม่ำเสมอทุกเดือนหลังหมดประจำเดือน โดยล้างมือให้สะอาดแล้วสอดนิ้วเข้าไปในช่องคลอดพร้อมคลำหาสายด้ายไนลอนที่อยู่บริเวณปากมดลูก เพราะห่วงอาจหลุดออกมาพร้อมกับประจำเดือนได้
  • หากมีตกขาวหรือประจำเดือนมากกว่าปกติ ในระยะ 1-3 เดือนหลังการใส่ห่วง อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น หรือมีอาการปวดประจำเดือนก็สามารถรับประทานยาแก้ปวดบรรเทาอาการได้ แต่หากเป็นไข้ ปวดท้องมาก ตกขาวมีกลิ่นเหม็น และคลำหาสายห่วงไม่พบ หรือพบว่าห่วงอนามัยหลุดออกมา พร้อมกับมีเลือดออกทางช่องคลอด ให้รีบกลับไปพบแพทย์
  • หากมีอาการปวดท้องน้อยหลังใส่ห่วงอนามัยไปได้ระยะหนึ่ง ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจว่ามีการติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน มีการตั้งครรภ์นอกมดลูก ห่วงอนามัยหลุดหรือมดลูกทะลุหรือไม่
  • หากมีอาการปวดประจำเดือนสำหรับผู้ใส่ห่วงอนามัยหุ้มทองแดง ถ้าปวดไม่มากให้รับประทานยาลดการอักเสบ ถ้าไม่ดีขึ้นแพทย์อาจให้เปลี่ยนไปใส่ห่วงอนามัยชนิดเคลือบฮอร์โมนหรือเปลี่ยนวิธีการคุมกำเนิดแบบอื่นแทน
  • หากมีการติดเชื้อในอวัยวะสืบพันธุ์ระหว่างการใส่ห่วง ควรพบแพทย์ เพื่อขอรับประทานยาปฏิชีวนะประมาณ 2 สัปดาห์ และนำห่วงอนามัยออก
  • ควรตรวจภายในอย่างน้อยปีละหนึ่งครั้ง เพื่อเช็กห่วงว่าอยู่ในตำแหน่งที่เหมาะสม และเป็นการตรวจมะเร็งปากมดลูกไปด้วย
  • ควรจดบันทึกประจำเดือน ถ้าประจำเดือนไม่มาเกิน 1 สัปดาห์ ควรรีบไปพบแพทย์เพื่อตรวจการตั้งครรภ์

ผลข้างเคียงของการใส่ห่วงคุมกำเนิด

ผลข้างเคียงหรืออาการแทรกซ้อนหลังการใส่ห่วงอนามัยเกิดขึ้นได้น้อยมาก โดยอาการผิดปกติเพียงเล็กน้อยที่อาจเกิดขึ้น ได้แก่

  • เลือดออกทางช่องคลอดกะปริบกะปรอย
  • ปวดประจำเดือนมากขึ้น และประจำเดือนมามากกว่าปกติ
  • ตกขาวมากกว่าปกติ เนื่องจากมีสายห่วงที่อยู่ในช่องคลอด
  • ปวดถ่วงบริเวณท้องน้อย หรือมีอาการปวดหลัง สามารถรับประทานยาแก้ปวดบรรเทาอาการได้
  • เสี่ยงต่อการเกิดการอักเสบติดเชื้อในอุ้งเชิงกราน สำหรับหญิงที่มีภูมิคุ้มกันต้านทานโรคบกพร่อง
  • ผลข้างเคียงจากห่วงอนามัยที่มีฮอร์โมน (Levonorgestrel) เช่น ปวดศีรษะ อารมณ์แปรปรวน เป็นสิว น้ำหนักตัวเพิ่ม มีภาวะขนดก เจ็บคัดตึงเต้านม
  • ห่วงอนามัยเคลื่อนไปในตำแหน่งไม่เหมาะสม ทำให้มีอาการปวดบีบท้องน้อย ประจำเดือนมามากผิดปกติ แพทย์อาจให้นำห่วงออก
  • กรณีคลำหาสายห่วงไม่พบ ห่วงอนามัยอาจหลุดอยู่ในโพรงมดลูก แพทย์จะเอกซเรย์ช่องท้องและอุ้งเชิงกราน และสามารถใส่ห่วงอันใหม่ได้ทันที หรือกรณีห่วงอนามัยแตกหัก หากไม่ได้นำชิ้นส่วนที่แตกหักออก จะมีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อ ปวดท้องน้อยเรื้อรัง ตกขาวผิดปกติ และภาวะมีบุตรยาก แพทย์จะเอกซเรย์ อัลตราซาวด์ หรือส่องกล้องภายในโพรงมดลูก เพื่อหาชิ้นส่วนที่แตกหักออกมา
  • มดลูกทะลุระหว่างใส่ห่วง พบได้เพียง 0.1% ซึ่งปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้มดลูกทะลุ เกิดจากเทคนิคการใส่ห่วง มีจุดเปราะบางที่ผนังกล้ามเนื้อมดลูก ทำให้ปวดท้อง เลือดออกผิดปกติทางช่องคลอด แพทย์จะเอกซเรย์หรือทำอัลตราซาวด์ หากพบห่วงอนามัยอยู่นอกโพรงมดลูก จะให้รับประทานยาปฏิชีวนะ และนำห่วงออก

ใส่ห่วงคุมกำเนิดเจ็บไหม?

การใส่ห่วงคุมกำเนิดทำให้มีอาการเจ็บน้อยมาก หรือแทบไม่มีอาการเจ็บเลย โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีประจำเดือน เนื่องจากเป็นช่วงที่ปากมดลูกเปิดมากที่สุดเพื่อให้ประจำเดือนไหลออก แต่บางคนที่มีความรู้สึกไวก็อาจมีอาการเจ็บเล็กน้อย และอาจมีการบีบตัวแรงของมดลูก ซึ่งทำให้ปวดท้องมาก จนบางครั้งแพทย์ต้องนำห่วงคุมกำเนิดออกเพื่อให้อาการปวดท้องหายไป

ซึ่งโดยปกติแล้วหลังการใส่ห่วงในช่วงวันแรก ผู้รับการใส่ห่วงจะมีอาการปวดท้อง ก็สามารถรับประทานยาแก้ปวดบรรเทาอาการได้ และในช่วง 2-3 วัน จะยังมีเลือดออกกะปริบกะปรอยทางช่องคลอด จากนั้นจะค่อยๆ หยุดหายไปเอง เมื่อเลือดหยุดไหลแล้ว ก็จะสามารถมีเพศสัมพันธ์ได้ตามปกติ

อย่างไรก็ตาม เมื่อร่างกายคุ้นเคยและสามารถปรับตัวจากการใส่ห่วงประมาณ 5 วัน อาการต่างๆ จะหายไปในที่สุด แต่หากมีอาการใดนานผิดปกติควรรีบกลับไปพบแพทย์

ใส่ห่วงคุมกำเนิดแล้วอ้วนไหม?

หลายคนเชื่อว่า การใส่ห่วงคุมกำเนิดมีผลต่อการเพิ่มของน้ำหนักตัว เพราะมีส่วนผสมของฮอร์โมนโพรเจสติน หรือฮอร์โมนเลโวนอร์เจสเตรล ซึ่งเป็นกลุ่มฮอร์โมนสังเคราะห์ขึ้นและมีฤทธิ์เลียนแบบโพรเจสเตอโรนในร่างกาย ซึ่งมีส่วนเกี่ยวข้องกับน้ำหนักตัว แต่ระดับฮอร์โมนในร่างกายที่ได้รับจากห่วงอนามัยมีปริมาณเพียงเล็กน้อย และไม่กระทบต่อระดับฮอร์โมนปกติของร่างกาย เมื่อเปรียบเทียบกับการกินหรือการฉีดฮอร์โมนเข้าไปในร่างกาย ซึ่งส่งผลต่อกระบวนการเผาผลาญที่ก่อให้เกิดการหิวและกระหายเพิ่มขึ้น

แต่อย่างไรก็ตาม หากผู้รับบริการกังวลว่าห่วงคุมกำเนิดจะทำให้น้ำหนักตัวเพิ่ม ก็สามารถปรึกษาแพทย์ถึงความเป็นไปได้ หรือเลือกใช้ห่วงหุ้มทองแดงแทนได้

โดยสรุปแล้ว การใส่ห่วงคุมกำเนิดถือเป็นวิธีคุมกำเนิดแบบชั่วคราวที่มีประสิทธิภาพสูงในการป้องกันการตั้งครรภ์สำหรับผู้หญิงวัยเจริญพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ที่เคยมีบุตรมาแล้วหรือไม่ก็ตาม แต่มีการวางแผนในอนาคตไว้แน่ชัดที่ต้องการจะมีบุตร จึงเลือกการใส่ห่วงอนามัย แทนการทำหมันแบบถาวร

Scroll to Top