Default fallback image

นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เสี่ยงโรคอะไรบ้าง

หลายคนอาจเข้าใจว่า การนอนกรน เป็นเรื่องปกติที่พบได้ทั่วไป มีผลเพียงแค่ก่อให้เกิดความรำคาญต่อบุคคลใกล้ชิดเท่านั้น แต่จริงๆ แล้วการนอนกรน อาจเป็นสัญญาณบอกภาวะที่อันตรายกว่า อย่าง ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ซึ่งภาวะนี้สามารถเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคที่มีอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพกายและสุขภาพจิต หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธีอาจเป็นเหตุให้เสียชีวิตได้ 

แล้วนอนกรนแบบไหนที่อันตราย ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เสี่ยงเป็นโรคอะไรบ้าง บทความนี้จะมาพาเจาะลึกในเรื่องที่คุณควรรู้กัน

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ คืออะไร?

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เป็นความผิดปกติของการนอนที่ทำให้ผู้ป่วยหยุดหายใจช่วงสั้นๆ และกลับมาหายใจใหม่ ซึ่งเกิดซ้ำกันหลายๆ ครั้ง ขณะนอนหลับ ถือเป็นภาวะร้ายแรงซึ่งเป็นสาเหตุของการเสียชีวิตได้

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับแบ่งออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่

  1. Obstructive Sleep Apnea (OSA) เป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เกิดจากกล้ามเนื้อในช่องคอหย่อนคล้อยลงมาปิดกั้นทางเดินหายใจ อากาศจึงไม่เข้าไปยังปอดของผู้ป่วย ซึ่งเป็นประเภทที่พบบ่อยที่สุด
  2. Central Sleep Apnea (CSA) เป็นภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่เกิดจากสมองไม่ส่งสัญญาณไปยังกล้ามเนื้อต่างๆ ที่ควบคุมการหายใจ
  3. Complex Sleep Apnea ภาวะหยุดภายในขณะหลับประเภทนี้เกิดเมื่อผู้ป่วยได้รับการวินิจฉัยว่ามีภาวะ OSA จากนั้นเมื่อทำการรักษา กลับเปลี่ยนไปสู่ภาวะ CSA

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับทำให้ผู้ป่วยได้รับอากาศหายใจไม่เพียงพอ ระดับออกซิเจนในเลือดจึงต่ำลง

ตามปกติเมื่อสมองจับสัญญาณได้ว่าร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอก็จะสั่งร่างกายให้ตื่นขึ้นเพื่อเปิดทางเดินหายใจด้วยวิธีต่างๆ อาจแสดงออกมาเป็นการหายใจครืดคราด สำลัก หรือหายใจทางปาก โดยการตื่นนี้ใช้เวลาสั้นมากจนผู้ป่วยอาจจำไม่ได้

วงจรที่ว่านี้อาจเกิดซ้ำๆ 5-30 ครั้ง ในแต่ละชั่วโมง ทำให้ผู้ป่วยไม่สามารถเข้าสู่ภาวะหลับลึก ซึ่งเป็นภาวะที่ทำให้ร่างกายได้พักผ่อนอย่างแท้จริง และถ้าหากไม่ได้รักษา ภาวะหยุดหายใจขณะหลับนี้ก็อาจส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิต เช่น รู้สึกนอนไม่เต็มอิ่ม ไม่สดชื่น ขาดสมาธิ และอาจเป็นต้นเหตุทำให้เกิดโรคร้ายแรงอื่นๆ ตามมา

กรนแบบไหน เสี่ยงมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ?

อาการนอนกรน กับ ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ไม่ใช่สิ่งเดียวกัน ไม่ใช่ว่าคนนอนกรนทุกคนจะต้องมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ แต่ผู้มีภาวะหยุดภายใจขณะหลับ มักมีอาการกรนเป็นอาการสำคัญ

ลักษณะอาการกรนที่น่าสงสัยว่าจะมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ได้แก่

  • กรนเสียงดังมาก
  • ลมหายใจขาดช่วงไปขณะนอนหลับ โดยอาจพบด้วยการใส่อุปกรณ์ติดตามการนอน หรือสังเกตเห็นโดยบุคคลใกล้ชิด หรือผู้มีภาวะนี้จะรู้สึกตัวตื่นขึ้นมาเองหลายครั้งในตอนกลางคืน
  • เมื่อรู้สึกตัวกลางดึกพบว่าตัวเองนอนอ้าปาก หรืออาจตื่นด้วยอาการสำลัก ตื่นมาแล้วรู้สึกปากแห้ง
  • เจ็บบริเวณหน้าอกในตอนกลางคืน
  • เมื่อตื่นมาตอนเช้ามีอาการปวดศีรษะ เจ็บคอ
  • รู้สึกง่วงมากผิดปกติในระหว่างวัน หรือต้องนอนกลางวัน
  • รู้สึกไม่ค่อยมีสมาธิ ไม่จดจ่อ จนอาจรบกวนประสิทธิภาพการเรียนหรือการทำงาน

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับสามารถตรวจได้ด้วยวิธีตรวจการนอน (Sleep test) ซึ่งปัจจุบันมีทั้งตรวจที่โรงพยาบาลและตรวจที่บ้าน 

ผู้รับการตรวจจะถูกติดอุปกรณ์ตามร่างกาย เพื่อติดตามสัญญาณต่างๆ เช่น คลื่นสมอง การหายใจเข้า-ออก ค่าออกซิเจน ค่าคาร์บอนไดออกไซด์ แรงตึงตัวข้องกล้ามเนื้อ ฯลฯ อาจมีการบันทึกภาพการเคลื่อนไหวระหว่างนอนหลับ เพื่อนำมาวิเคราะห์ผลการตรวจด้วย

การตรวจการนอนช่วยให้แพทย์ตรวจพบหรือประเมินความรุนแรงของภาวะหยุดหายใจขณะหลับที่ผู้ป่วยเป็นอยู่ เพื่อจะได้แนะนำการรักษาที่เหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละคนต่อไป

อาการกรน ที่คุณเป็นอยู่ แค่กรนธรรมดาหรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ อยากตรวจเพิ่มเติมให้มั่นใจ ปรึกษาแอดมิน หาแพ็กเกจตรวจ Sleep Test ราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่

นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เสี่ยงโรคอะไรบ้าง?

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับแบบ OSA ซึ่งพบได้บ่อยที่สุด เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเหล่านี้

โรคความดันโลหิตสูง

การตื่นขึ้นมาบ่อยๆ ระหว่างนอนหลับ ส่งผลให้ร่างกายเกิดความเครียด จนหลั่งฮอร์โมนบางชนิดออกมามากเกินปกติ ซึ่งฮอร์โมนนี้จะส่งผลให้ระดับความดันเลือดสูงขึ้น

นอกจากนี้ เมื่อหายใจได้ไม่ค่อยดี ระดับออกซิเจนในเลือดก็จะลดต่ำลง หัวใจก็ต้องทำงานหนักขึ้น บีบตัวแรงขึ้น เพื่อสูบฉีดเลือดไปยังอวัยวะต่างๆ ให้อวัยวะเหล่านั้นได้รับออกซิเจนเพียงพอ

โรคหัวใจ

เมื่อหัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงสมองและอวัยวะต่างๆ ในขณะที่ผู้ป่วยมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ บ่อยครั้งเข้า กล้ามเนื้อหัวใจก็จะเสื่อมสภาพลง ความสามารถในการสูบฉีดเลือดก็จะลดน้อยกว่าที่เคย นำไปสู่ความเสี่ยงภาวะหัวใจวาย โรคหลอดเลือดสมอง ไปจนถึงหัวใจเต้นผิดจังหวะ ซึ่งภาวะและโรคเหล่านี้เป็นอันตรายถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้

ภาวะเมตาบอลิกซินโดรม

ภาวะเมทาบอลิกซินโดรม (Metabolic Syndrome) คือ ภาวะที่เกิดจากระบบการเผาผลาญของร่างกายทำงานผิดปกติไป ประกอบด้วยหลายๆ อาการ โดยถ้ามีอย่างน้อย 3 อาการเหล่านี้ จะถือว่าเป็นภาวะเมตาบอลิกซินโดรม

  • น้ำตาลในเลือดสูง
  • มีคอเลสเตอรอลตัวดี (HDL) ต่ำ
  • มีไตรกลีเซอไรด์สูง
  • มีไขมันรอบเอวปริมาณมาก
  • ความดันโลหิตสูง

เมตาบอลิกซินโดรมเป็นอีกภาวะที่สัมพันธ์กับภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากทางเดินหายใจถูกอุดกั้น ภาวะดังกล่าวนี้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคหัวใจ เบาหวาน และหลอดเลือดสมอง

โรคอ้วน

อย่างที่ทราบว่าผู้มีภาวะน้ำหนักเกิน หรือเป็นโรคอ้วน มักมีไขมันสะสมบริเวณลำคอ จนอุดกั้นทางเดินหายใจ เป็นสาเหตุหนึ่งของการกรนเสียงดังและภาวะหยุดหายใจขณะหลับ 

แต่ขณะเดียวกันภาวะหยุดหายใจขณะหลับก็ทำให้ผู้เป็นโรคอ้วน ยิ่งลดน้ำหนักยากขึ้นหรืออ้วนง่ายขึ้นได้ด้วย

เนื่องจาก ภาวะหยุดหายใจขณะหลับส่งผลให้ร่างกายหลั่งฮอร์โมนเกรลิน (Ghrelin) ออกมามากขึ้น ฮอร์โมนนี้ออกฤทธิ์ให้รู้สึกอยากแป้งและน้ำตาล และเนื่องจากผู้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับมักจะรู้สึกอ่อนเพลียตลอดเวลา ไม่ค่อยอยากเคลื่อนไหวร่างกาย ดังนั้นการรับประทานอาหารกับการเผาผลาญพลังงานจึงไม่สมดุล ทำให้ยิ่งลดน้ำหนักยากขึ้นไปอีก

โรคตับ

ผู้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ มักมีค่าตับที่ไม่ค่อยดี เมื่อเทียบกับผู้ที่ไม่มีภาวะนี้ โดยมักแสดงสัญญาณของโรคไขมันพอกตับให้เห็น

โรคความจำเสื่อม

เมื่อสมองขาดออกซิเจนบ่อยๆ แม้ว่าจะเป็นเวลาสั้นๆ แต่เกิดซ้ำเป็นเวลายาวนาน เซลล์และเส้นใยประสาทของสมองจะเกิดอาการเสื่อม ประสิทธิภาพการทำงานของสมองจึงลดลง การเรียนรู้ช้า ไม่มีสมาธิ และความสามารถในการจดจำลดต่ำลง

มีงานศึกษาพบว่า ผู้มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับนั้นมีความเสี่ยงที่จะพัฒนาภาวะสมองเสื่อมระดับต้น (Mild Cognitive Impairment: MCI) เร็วกว่าผู้ที่ไม่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

นอกจากนี้ การนอนไม่พอในตอนกลางคืนยังทำให้เกิดความเหนื่อยล้าในเวลากลางวัน ซึ่งหลายคนอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่ความจริงแล้วความรู้สึกง่วงหรือเพลียกว่าปกติที่เกิดอยู่เป็นประจำ ต่อเนื่อง สามารถส่งผลต่อการมีสมาธิจดจ่อต่องานที่ทำ ทำให้ประสิทธิภาพการทำงานลดลง เกิดอารมณ์แปรปรวน ไปจนถึงมีผลต่อภาวะซึมเศร้าได้ด้วย

ไม่เพียงเท่านั้นภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อคนใกล้ชิด โดยเสียงกรนอาจรบกวนผู้ที่นอนร่วมห้อง ทำให้ไม่สามารถเข้าสู่ภาวะหลับลึกได้เป็นเวลานานต่อเนื่อง มีความเสี่ยงเป็นโรคที่เกิดจากปัญหาการนอนได้เช่นกัน

สำหรับใครที่สงสัยว่าตัวเองมีนอนกรน หรือมีภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ควรรับการตรวจวินิจฉัยเพิ่มเติม พร้อมวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม เพื่อให้คุณและคนรอบข้าง มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น

นอนกรนเสียงดัง ตื่นมาปวดหัว เพลียตอนกลางวัน ทำงานไม่ค่อยมีสมาธิ จะมาจากภาวะหยุดหายใจขณะหลับไหมนะ? ลองปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจ Sleep Test จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top