pci treatment process

ทำบอลลูนหัวใจ คืออะไร เจ็บไหม พักฟื้นกี่วัน ราคา

การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด (PCI) เป็นหนึ่งในวิธีการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบที่มีประสิทธิภาพสูง บทความนี้จะพามาทำความเข้าใจขั้นตอนการรักษา และข้อควรรู้ต่างๆ ที่หลายคนสงสัย

การทำบอลลูนหัวใจและใส่ขดลวด PCI คืออะไร?

การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและการใส่ขดลวด (Percutaneous Coronary Intervention: PCI) เป็นการรักษาโรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตันโดยไม่ต้องผ่าตัด แพทย์จะใช้บอลลูนขยายหลอดเลือดตีบแคบ และใส่ขดลวด (Stent) เพื่อให้หลอดเลือดคงสภาพเปิดกว้าง ช่วยให้เลือดไหลเวียนไปเลี้ยงหัวใจได้ดีอีกครั้ง

นับเป็นวิธีที่ได้รับความนิยมค่อนข้างสูง เพราะใช้เวลารักษาไม่นาน ไม่ต้องวางยาสลบ ระยะพักฟื้นสั้น ให้ผลการรักษาที่ดี ประสิทธิภาพสูง ป้องกันการตีบซ้ำของหลอดเลือกหัวใจได้ดี และมีความเสี่ยงต่ำ

การขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูน

คลิกที่นี่เพื่อดูภาพขนาดใหญ่

การทำบอลลูนหัวใจและใส่ขดลวดเหมาะกับใคร?

การทำบอลลูนหัวใจและใส่ขดลวด เหมาะกับผู้ป่วยที่มีภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อการไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจและการทำงานของหัวใจ โดยเฉพาะในกรณีดังต่อไปนี้

  1. ผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอกบ่อยๆ มักเกิดจากการขาดออกซิเจนไปยังกล้ามเนื้อหัวใจ
  2. ผู้ที่มีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ซึ่งอาจนำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจวาย
  3. ผู้ที่ตรวจพบการตีบของหลอดเลือดหัวใจ 
  4. ผู้ที่รักษาด้วยยาแล้วไม่เห็นผล ผู้ป่วยบางราย แม้จะได้รับการรักษาด้วยยาแล้ว แต่ยังคงมีอาการเจ็บหน้าอก หรือมีความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจวาย ที่ไม่สามารถควบคุมได้ด้วยการใช้ยาเพียงอย่างเดียว แพทย์อาจแนะนำให้ทำบอลลูนหัวใจ
  5. ผู้ที่มีภาวะแทรกซ้อนจากหลอดเลือดหัวใจตีบ เช่น ภาวะหัวใจวายที่เกิดจากการตีบของหลอดเลือดหัวใจที่สำคัญ ซึ่งไม่สามารถรักษาได้ด้วยวิธีการอื่น

อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจรักษาด้วยการทำ PCI นั้น ขึ้นอยู่กับการประเมินของแพทย์

ขั้นตอนการทำบอลลูนหัวใจและใส่ขดลวดเป็นอย่างไร?

  1. แพทย์หรือพยาบาล ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณขาหนีบหรือข้อมือ ที่จะทำการสอดสายสวนหัวใจ
  2. แพทย์จะให้ยาชาเฉพาะที่ เมื่อยาชาออกฤทธิ์ จึงเปิดแผลขนาดเล็กบริเวณขาหนีบหรือข้อมือ 
  3. ใส่สายสวนหัวใจชนิดพิเศษเข้าไปในหลอดเลือด แล้วฉีดสารทึบรังสี เพื่อดูว่าหลอดเลือดส่วนไหนที่ตีบแคบ พร้อมประเมินความรุนแรง
  4. จากนั้นแพทย์จะสอดสายสวนหัวใจที่มีบอลลูนติดปลายเข้าไปตรงจุดที่ตีบแคบ ซึ่งบอลลูนจะถูกหุ้มด้วยขดลวดตาข่าย (Stent) ที่เคลือบตัวยาช่วยป้องกันการตีบซ้ำของหลอดเลือดหัวใจไว้ 
  5. เมื่อได้ตำแหน่งที่ต้องการ จึงใช้เครื่องมือขยายบอลลูนให้พองขึ้น เพื่อเปิดหลอดเลือดที่ตีบแคบให้กว้างขึ้น 
  6. จากนั้นทำบอลลูนให้แฟ่บเหมือนเดิม แล้วดึงสายสวนออกมาพร้อมกับบอลลูน แต่ขดลวดตาข่ายจะยังคงทำหน้าที่ค้ำยันหลอดเลือดเอาไว้อยู่ 
  7. จากนั้นฉีดสารทึบรังสี เพื่อประเมินผลการขยายหลอดเลือดหัวใจอีกครั้ง

ตลอดกระบวนการทำบอลลูน ใช้เวลาประมาณ 1-2 ชั่วโมง และหลังทำเสร็จผู้ป่วยจะต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน เพื่อติดตามอาการ

การเตรียมตัวก่อนทำบอลลูนหัวใจ

  1. ตรวจประเมินความเสี่ยงตามแพทย์แนะนำ 
  2. แจ้งประวัติโรคประจำตัว ยาที่รับประทานเป็นประจำ การแพ้ยา แพ้อาหาร และผลการตรวจอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องให้แพทย์ทราบโดยละเอียด 
  3. งดการสูบบุหรี่อย่างน้อย 3-6 สัปดาห์ก่อนทำบอลลูนหัวใจ
  4. แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด เช่น แอสไพริน หรือ โคลพิโดเกรล 5-7 วันก่อนเข้ารับการรักษา
  5. งดรับประทานอาหารและดื่มน้ำอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ก่อนทำบอลลูนหัวใจ

การดูแลตัวเองหลังการรักษา

  • หลีกเลี่ยงการยกของหนัก การออกแรงมาก และการนั่งงอข้อสะโพก ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก
  • รับประทานยาตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด โดยเฉพาะยาต้านเกร็ดเลือด (Clopidogrel) ซึ่งต้องรับประทานอย่างน้อย 1 เดือน เพื่อป้องกันการเกิดลิ่มเลือดในขดลวด
  • ปรับเปลี่ยนการใช้ชีวิต เช่น หลีกเลี่ยงอาหารไขมันสูง อาหารรสเค็ม และแอลกอฮอล์ หมั่นออกกำลังกายสม่ำเสมอ และลดความเครียด
  • ตรวจสุขภาพตามนัดและรายงานอาการผิดปกติให้แพทย์ทราบทันที

ข้อดีของการทำบอลลูนหัวใจ

  • ฟื้นฟูการไหลเวียนของเลือดได้ทันทีหลังทำเสร็จ โดยอาการเจ็บหน้าอกจะลดลง และเพิ่มกำลังในการทำกิจกรรมต่างๆ ของผู้ป่วย
  • ลดความเสี่ยงต่อการเกิดภาวะหัวใจวาย เนื่องจากหลอดเลือดเปิดกว้างและเลือดไหลเวียนได้ดีขึ้น จึงช่วยลดโอกาสการสะสมของไขมันในผนังหลอดเลือด และการสะสมของลิ่มเลือดที่ขวางการไหลเวียนของเลือด ซึ่งเป็นปัจจัยที่นำไปสู่การเกิดภาวะหัวใจวาย
  • ฟื้นตัวเร็วกว่าเมื่อเทียบกับการผ่าตัดบายพาสหัวใจ โดยทั่วไปจะใช้เวลาพักฟื้นเพียง 1-2 สัปดาห์ ต่างจากการผ่าตัดบายพาสหัวใจที่ต้องใช้เวลาพักฟื้นนานกว่า
  • เจ็บปวดน้อยกว่า การทำบอลลูนหัวใจ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องดมยมสลบ จะได้รับยาชาเฉพาะ และมีการกรีดเปิดแผลขนาดเล็กเท่านั้น ทำให้เจ็บน้อยกว่า เมื่อเทียบกับการผ่าตัดเปิดหัวใจ
  • คุณภาพชีวิตดีขึ้น ช่วยลดอาการเจ็บหน้าอก หายใจไม่ออก และอาการเหนื่อยล้า ทำให้ผู้ป่วยสามารถกลับมาใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ

ข้อจำกัดของการทำบอลลูนหัวใจ

  • ลักษณะการตีบของหลอดเลือดบางอย่าง ไม่สามารถทำบอลลูนหัวใจได้ ต้องให้แพทย์พิจารณา
  • มีโอกาสกลับมาตีบซํ้าได้ 

ทำบอลลูนหัวใจเจ็บไหม?

ในขั้นตอนการทำบอลลูนหัวใจ ผู้ป่วยจะได้รับยาชาเฉพาะที่บริเวณขาหนีบหรือข้อมือ ซึ่งเป็นตำแหน่งที่แพทย์จะใส่สายสวนไปยังหลอดเลือดหัวใจ ซึ่งจะช่วยระงับความเจ็บปวด 

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกไม่สบายตัวบริเวณที่ใส่สายสวน หรือมีการบีบแน่นที่หน้าอกในระหว่างที่ขยายหลอดเลือด โดยแพทย์จะคอยตรวจสอบอย่างใกล้ชิด เพื่อให้มั่นใจว่าไม่มีอาการผิดปกติรุนแรง

ทำบอลลูนหัวใจต้องพักฟื้นกี่วัน?

หลังการขยายหลอดเลือดหัวใจและใส่ขดลวด ผู้ป่วยจะต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาลประมาณ 1-2 วัน เพื่อติดตามดูคลื่นไฟฟ้าหัวใจและสัญญาณชีพอย่างใกล้ชิด หากไม่มีภาวะแทรกซ้อนใดๆ เกิดขึ้น สามารถกลับไปพักผ่อนที่บ้านได้ โดยแพทย์มักจะแนะนำให้พักผ่อนต่อเนื่องอีกประมาณ 1 สัปดาห์ก่อนกลับไปทำกิจวัตรประจำวันตามปกติ

ทั้งนี้ ควรหลีกเลี่ยงการยกของหนัก หรือทำกิจกรรมที่ต้องออกแรงมากในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังการรักษา เพื่อให้ร่างกายฟื้นตัวอย่างสมบูรณ์

ผลข้างเคียงจากการทำบอลลูนหัวใจ

  • ความเสี่ยงทั่วไปที่พบได้จากการผ่าตัด เช่น การติดเชื้อ อักเสบ แพ้ยาชา เลือดออก
  • รู้สึกปวดบริเวณที่ใส่สายสวนหัวใจ
  • อาการแทรกซ้อนอื่นๆ ซึ่งพบได้น้อยมาก ได้แก่ แพ้สารทึบแสง อาจส่งผลให้เกิดภาวะช็อกได้ ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ภาวะหลอดเลือดหัวใจ หรือกล้ามเนื้อหัวใจทะลุระหว่างสอดสายสวนหัวใจ หรือภาวะลิ่มเลือดอุดตันสมอง

อย่างไรก็ตาม การทำบอลลูนหัวใจภายใต้ความดูแลของแพทย์เฉพาะทาง จะช่วยลดความเสี่ยงเหล่านี้ได้

ทำบอลลูนหัวใจราคาเท่าไหร่

การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและการใส่ขดลวด (PCI) ราคาเริ่มต้นสำหรับโรงพยาบาลเอกชนอยู่ที่ประมาณ 100,000 บาท ขึ้นอยู่กับสถานพยาบาลและจำนวนขดลวดที่ใช้

การขยายหลอดเลือดหัวใจด้วยบอลลูนและใส่ขดลวด ถือเป็นตัวเลือกการรักษาที่มีประสิทธิภาพสูง เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ต้องการผ่าตัด อย่างไรก็ตาม การตัดสินใจเลือกวิธีรักษานั้น ควรได้รับคำแนะนำจากแพทย์เฉพาะทาง

รักษาโรคหัวใจด้วยการทำบอลลูนดีไหม? วิธีนี้เหมาะกับเราหรือเปล่า? นัดคุยกับคุณหมอเฉพาะทาง ผ่านทีม HDcare สะดวกรวดเร็ว ทันใจ หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาโรคหัวใจ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top