เบาหวานขณะตั้งครรภ์ เป็นปัญหาสุขภาพที่บรรดาคุณแม่ท้องต้องรู้ เพราะภาวะนี้ส่งผลต่อสุขภาพของคุณแม่ และเจ้าตัวน้อยในท้องได้ไม่น้อยหากละเลย วันนี้เรารวบรวมหลายเรื่องเกี่ยวกับเบาหวานขณะตั้งครรภ์ที่คุณแม่ท้องควรรู้มาให้ได้อ่านกัน
สารบัญ
- 1. เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร?
- 2. ทำไมเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทั้งที่ไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อน?
- 3. เป็นเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว สามารถมีลูกได้ไหม?
- 4. การตรวจเบาหวานในคนท้องทำอย่างไร?
- 5. น้ำตาลในเลือดสูงแค่ไหนถึงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เหมือนน้ำตาลในเลือดสูงในคนปกติไหม?
- 6. เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรดูแลเรื่องไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า?
- 7. เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์คลอดด้วยวิธีไหนดี?
- 8. ทารกที่เกิดจากคุณแม่เป็นเบาหวาน สุขภาพจะแข็งแรงไหม ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษหรือเปล่า?
- 9. เบาหวานขณะตั้งครรภ์จะหายไปเองไหมหลังคลอดลูก?
1. เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร?
เบาหวานขณะตั้งครรภ์เป็นชนิดหนึ่งของโรคเบาหวาน มักไม่ทำให้เกิดอาการผิดปกติชัดเจน แต่คุณแม่บางคนอาจมีอาการปัสสาวะบ่อย กระหายน้ำ และคลื่นไส้ ซึ่งคล้ายคลึงกับอาการคนท้อง
โดยในช่วงที่คุณแม่ตั้งครรภ์จะเกิดจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนหลายตัว ส่งผลให้ร่างกายของคุณแม่จัดการกับน้ำตาลในเลือดได้ไม่ดีหรือไม่มีประสิทธิภาพ ถ้าไม่มีการควบคุมที่ดีจะเกิดภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งก็คือภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์นั่นเอง
เบาหวานขณะตั้งครรภ์แบ่งได้เป็น 2 ประเภท คือ
- เบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยก่อนการตั้งครรภ์ (Pregestational diabetes mellitus หรือ Overt diabetes mellitus) เป็นภาวะเบาหวานที่เป็นมาตั้งแต่ก่อนตั้งครรภ์
- เบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกขณะตั้งครรภ์ (Gestational diabetes mellitus) เป็นเบาหวานที่ได้รับการวินิจฉัยครั้งแรกขณะตั้งครรภ์ พบได้มากกว่าแบบแรก หรือร้อยละ 90 ของเบาหวานที่พบในคุณแม่ตั้งครรภ์
2. ทำไมเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ทั้งที่ไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อน?
ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ไม่ได้เกิดขึ้นกับคุณแม่ทุกคน สาเหตุมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในร่างกาย หนึ่งในฮอร์โมนสำคัญคือ ‘อินซูลิน’ (Insulin) ที่มีหน้าที่จัดการกับน้ำตาลในเลือด เพื่อเปลี่ยนมาเป็นพลังงาน ทำให้ร่างกายคุณแม่ตอบสนองต่ออินซูลินได้ไม่ดีหรือผลิตได้น้อยลง
นอกจากนี้ ถ้าคุณแม่มีน้ำหนักตัวมาก เป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ โรคความดันสูง มีประวัติครรภ์ผิดปกติในครั้งก่อน หรือคนในครอบครัวมีประวัติโรคเบาหวาน จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงของเบาหวานขณะตั้งครรภ์มากขึ้น
ด้วยร่างกายและฮอร์โมนที่เปลี่ยนไปนี้เอง ถึงแม้คุณแม่จะไม่เคยเป็นเบาหวานมาก่อน ก็อาจเกิดเบาหวานระหว่างตั้งครรภ์ขึ้นได้ แต่คุณแม่ไม่ต้องกังวลไป เพราะคุณหมอจะตรวจคัดกรองโรคเบาหวานในช่วงที่คุณแม่ไปฝากครรภ์
3. เป็นเบาหวานอยู่ก่อนแล้ว สามารถมีลูกได้ไหม?
คุณแม่ที่เป็นโรคเบาหวานมาก่อนตั้งครรภ์สามารถมีลูกได้ แต่ต้องสามารถควบคุมอาการของโรคได้เป็นอย่างดี ร่วมกับการปรึกษาและการดูแลจากคุณหมออย่างใกล้ชิด
นั่นเป็นเพราะคุณแม่ที่เป็นเบาหวานมีความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะแทรกซ้อนรุนแรงจนเป็นอันตรายต่อทั้งคุณแม่และทารกในครรภ์ เช่น ทารกตัวโตกว่าปกติจนอาจคลอดได้ยาก ทารกเสี่ยงพิการแต่กำเนิด คุณแม่เสี่ยงภาวะครรภ์เป็นพิษ เกิดเบาหวานซ้ำ คลอดก่อนกำหนด ไปจนถึงอาจเกิดการแท้ง
ดังนั้น คุณแม่ที่เป็นเบาหวานหรือมีความเสี่ยงจะเป็นเบาหวาน ควรปรึกษาคุณหมอ เพื่อขอคำแนะนำและช่วยวางแผนในการตั้งครรภ์ คุณแม่ที่ไม่แน่ใจในสุขภาพตัวเอง สามารถตรวจสุขภาพก่อนตั้งครรภ์ได้ เพื่อตรวจเช็กความเสี่ยงของโรคเบาหวานและโรคอื่น ๆ
4. การตรวจเบาหวานในคนท้องทำอย่างไร?
ถ้าคุณแม่ไม่ได้มีปัจจัยเสี่ยงของภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เช่น น้ำหนักตัวมาก เป็นโรคอ้วน โรคหัวใจ หรือปัจจัยอื่น ๆ คุณหมอจะแนะนำให้ตรวจคัดกรองเบาหวานในช่วงไตรมาสที่ 2 หรืออายุครรภ์ 24–28 สัปดาห์
ยกเว้นคุณแม่อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง คุณหมอจะตรวจเลือดคัดกรองเบาหวานตั้งแต่การฝากครรภ์ในครั้งแรก เพื่อวางแผนในการดูแลครรภ์ต่อไป
การตรวจคัดกรองภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะใช้การตรวจแบบ 2 ขั้นตอน คือ
(1) การตรวจ GCT (Glucose challenge test)
เป็นการดื่มสารละลายที่มีกลูโคส 50 กรัม แล้วเจาะเลือดตรวจระดับกลูโคสหลังจากนั้น 1 ชั่วโมง โดยไม่ต้องงดอาหารก่อนตรวจ ถ้าค่าที่ได้มากกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าผิดปกติ และควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม โดยใช้วิธี OGTT
(2) การตรวจ OGTT (Glucose tolerance test)
เป็นการดื่มสารละลายที่มีกลูโคส 100 กรัม แล้วเจาะเลือดตรวจระดับกลูโคสหลังจากนั้น 1, 2 และ 3 ชั่วโมงตามลำดับ โดยต้องงดอาหารก่อนตรวจอย่างน้อย 8 ชั่วโมง ถ้าค่าที่ได้สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดตั้งแต่ 2 ค่าขึ้นไป จะถือว่าเป็น ‘เบาหวานขณะตั้งครรภ์’ โดยเกณฑ์ระดับน้ำตาลที่ใช้วินิจฉัยคือ
- ก่อนมื้ออาหาร ระดับน้ำตาลควรน้อยกว่า 95 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- หลังมื้ออาหาร 1 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลควรน้อยกว่า 180 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- หลังมื้ออาหาร 2 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลควรน้อยกว่า 155 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
- หลังมื้ออาหาร 3 ชั่วโมง ระดับน้ำตาลควรน้อยกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
5. น้ำตาลในเลือดสูงแค่ไหนถึงเป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เหมือนน้ำตาลในเลือดสูงในคนปกติไหม?
วิธีการตรวจระดับน้ำตาลและเกณฑ์ระดับน้ำตาลของคนทั่วไปและคุณแม่ตั้งครรภ์จะต่างกัน ดังนี้
คนทั่วไป จะตรวจด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งต่อไปนี้
- การตรวจระดับน้ำตาลหลังจากอดอาหาร อย่างน้อย 8 ชั่วโมง ได้ค่าตั้งแต่ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป ถือว่าเป็นเบาหวาน
- การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ณ เวลาใดก็ได้ ได้ค่าตั้งแต่ 200 มิลลิกรัม/เดซิลิตร ขึ้นไป ร่วมกับมีอาการของภาวะน้ำตาลในเลือดสูงชัดเจน ถือว่าเป็นเบาหวาน
- การตรวจน้ำตาลสะสม เรียกว่า HbA1c (Hemoglobin A1c) ได้ค่าตั้งแต่ 6.5% ขึ้นไป ถือว่าเป็นเบาหวาน
การตรวจด้วยวิธีทั้งหมดข้างต้นจำเป็นต้องมีการตรวจซ้ำอย่างน้อย 1 ครั้ง ด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งอีกครั้งหนึ่ง เพื่อยืนยันผล
คุณแม่ตั้งครรภ์ จะตรวจด้วย 2 ขั้นตอน (เหมือนในข้อ 4) คือ
- การตรวจ GCT ถ้าค่าที่ได้มากกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ถือว่าผิดปกติ และต้องตรวจด้วยวิธี OGTT เพิ่มเติม
- การตรวจ OGTT ถ้าค่าที่ได้สูงกว่าเกณฑ์ที่กำหนดตั้งแต่ 2 ค่าขึ้นไป จะถือว่าเป็น เบาหวานขณะตั้งครรภ์ คือ 95, 180, 155 และ 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร ก่อนมื้ออาหาร และหลังมื้ออาหารในชั่วโมงที่ 1, 2 และ 3 ตามลำดับ
6. เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรดูแลเรื่องไหนเป็นพิเศษหรือเปล่า?
โดยปกติคุณหมอจะแนะนำให้คุณแม่ดูแลตัวเองเป็นอย่างดีอยู่แล้วในทุกด้าน เพื่อความแข็งแรงของคุณแม่และทารก คุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์ก็เช่นเดียวกัน เพียงแค่ต้องใส่ใจเรื่องอาหารการกินมากเป็นพิเศษ
คุณแม่ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ เน้นผักผลไม้ อาหารและเครื่องดื่มน้ำตาลน้อย ให้พลังงานที่เหมาะสม ควรออกกำลังกายเบา ๆ หรือเคลื่อนไหวร่างกายอย่างน้อยวันละ 15–20 นาที เพื่อเพิ่มการเผาผลาญ ควบคุมน้ำหนักตัวให้เหมาะสม และใช้ยาเบาหวานตามที่คุณหมอแนะนำอย่างเคร่งครัด
7. เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์คลอดด้วยวิธีไหนดี?
คุณแม่ที่เป็นเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีความเสี่ยงที่ลูกน้อยในครรภ์จะมีน้ำหนักตัวมาก และตัวใหญ่ ทำให้อาจจำเป็นต้องผ่าคลอด แต่ถ้าคุณแม่ควบคุมภาวะเบาหวานได้ดี คุณหมอจะพิจารณาวิธีการคลอดอื่นที่เหมาะสม และตัดสินใจร่วมกับคุณแม่
8. ทารกที่เกิดจากคุณแม่เป็นเบาหวาน สุขภาพจะแข็งแรงไหม ต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษหรือเปล่า?
ทารกที่เกิดจากคุณแม่เป็นเบาหวานมักมีความเสี่ยงของภาวะแทรกซ้อนหลายอย่าง ทั้งไม่อันตราย และเป็นอันตราย เช่น
- ทารกตัวโตกว่าปกติ
- ปอดของทารกพัฒนาช้ากว่าปกติ ทำให้มีปัญหาการหายใจตั้งแต่แรกคลอด หายใจลำบาก
- โรคดีซ่านในรายที่คุณแม่มีน้ำตาลในเลือดสูงตลอดการตั้งครรภ์
- ภาวะน้ำตาลในเลือดต่ำตั้งแต่แรกเกิด และอาจทำให้เกิดอาการชัก
- โรคอ้วนเมื่อเด็กโตขึ้น
- โรคเบาหวานชนิดที่ 2 ตอนโตเป็นผู้ใหญ่
- เสียชีวิตหลังคลอดหรือพิการแต่กำเนิด
คุณแม่ควรดูแลตัวเองตามคุณหมอแนะนำในระหว่างที่ตั้งครรภ์ เพื่อลดความเสี่ยงเหล่านั้น และกรณีที่ทารกแรกเกิดมีปัญหาหลังคลอด จะต้องได้รับการดูแลเป็นพิเศษในแผนกทารกแรกเกิด
9. เบาหวานขณะตั้งครรภ์จะหายไปเองไหมหลังคลอดลูก?
ส่วนใหญ่ภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มักหายเองได้หลังจากที่คุณแม่คลอดทารก แต่คุณแม่ที่ควบคุมภาวะเบาหวานได้ไม่ดีในช่วงตั้งครรภ์ อาจมีความเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ต่อเนื่องไปได้ คุณแม่ควรดูแลตัวเองระหว่างตั้งครรภ์ให้ดี ร่วมกับการปรึกษาคุณหมอ
ตอนนี้คุณแม่ และว่าที่คุณแม่ก็น่าจะทราบเกี่ยวกับภาวะเบาหวานขณะตั้งครรภ์มากขึ้นแล้ว ถ้าคุณแม่มีข้อกังวลอื่น หรือพบกับปัญหาสุขภาพ อย่ารอช้าที่จะเข้าไปพบคุณหมอ เพื่อความปลอดภัยของคุณแม่ และเจ้าตัวน้อยในครรภ์
เช็กแพ็กเกจตรวจเบาหวานก่อนและระหว่างตั้งครรภ์ ได้ที่ HDmall.co.th ในราคาสบายใจ อย่าปล่อยให้ความสงสัยกวนใจคุณแม่