โรคต้อกระจก (Cataract) เป็นปัญหาทางสายตาที่มักเกิดกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป แต่ก็อาจพบในคนที่อายุน้อยได้เช่นกัน อาการหลักๆ คือ สายตาพร่ามัว ข้างใดข้างหนึ่ง หรือทั้งสองข้าง ไม่มีอาการเจ็บหรือระคายเคือง แต่หากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการผ่าตัด ก็อาจร้ายแรงถึงตาบอดได้
เพื่อให้ทราบถึงอันตรายและเข้าใจวิธีการดูแลรักษาอย่างละเอียด หากโรคต้อกระจกเกิดขึ้นกับคนใกล้ตัวหรือผู้สูงอายุภายในบ้าน HDmall.co.th ได้รวบรวม ข้อมูลโรคต้อกระจก มาฝากกัน
สารบัญ
- ต้อกระจกคืออะไร?
- ต้อกระจกเกิดจากอะไร?
- การผ่าตัดต้อกระจกคืออะไร?
- การผ่าตัดต้อกระจกมีกี่แบบ?
- ข้อดีและข้อเสียของการผ่าตัดต้อกระจกแต่ละแบบ
- เลนส์แก้วตาเทียมมีกี่ชนิด
- ผ่าตัดต้อกระจกเหมาะกับใคร?
- ผ่าตัดต้อกระจกไม่เหมาะกับใคร?
- การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต้อกระจก
- ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจก
- การดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดต้อกระจก
- ผลลัพธ์หลังการผ่าตัดต้อกระจก
- ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัดต้อกระจก
- ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดต้อกระจก
ต้อกระจกคืออะไร?
ต้อกระจก เป็นโรคที่เกิดจากเลนส์แก้วตาเสื่อมสภาพจนมีความขุ่นมัวเกิดขึ้น ทำให้บดบังแสงที่จะผ่านเข้าไปในตา แสงจึงส่งผ่านไปยังประสาทตาได้ไม่เต็มที่ ทำให้การมองเห็นไม่ชัดเจนหรือมีอาการตาพร่ามัวมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งอาจใช้เวลาเป็นปีหรือหลายปี จนในที่สุดเมื่อแก้วตาขุ่นขาวทั้งหมดเรียกว่า ต้อสุก ก็จะมองไม่เห็น โดยต้อกระจกในผู้สูงอายุมักเป็นที่ตาทั้ง 2 ข้าง แต่จะสุกไม่พร้อมกัน โดยสาเหตุหลักคือ ความเสื่อมของเลนส์แก้วตาตามวัย แต่อาจพบในกลุ่มผู้ที่มีอายุน้อยได้เช่นกัน
ต้อกระจกเกิดจากอะไร?
ต้อกระจกเกิดจากหลายสาเหตุ แต่เกือบร้อยละ 80-90 เกิดจากอาการเสื่อมตามวัย โดยพบว่าผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป จะเป็นต้อกระจกแทบทุกราย แต่อาจเป็นมากน้อยต่างกันไป เรียกว่า ต้อกระจกในผู้สูงอายุ (Senile Cataract)
นอกจากนี้ ต้อกระจกยังเกิดจากสาเหตุอื่นๆ เช่น
- เป็นมาแต่กำเนิด ซึ่งจะพบในทารกที่เป็นหัดเยอรมันแต่กำเนิด
- ได้รับบาดเจ็บ หรือกระทบกระเทือนที่ตาอย่างรุนแรง
- ความผิดปกติของตา เช่น ม่านตาอักเสบ ต้อหิน
- การใช้ยากลุ่มสเตียรอยด์เป็นเวลานาน เช่น ยาหยอดตาที่มีส่วนผสมของสเตียรอยด์ หรือกินสเตียรอยด์นานๆ
- การกินยาลดความอ้วนบางชนิด
- การถูกรังสีที่บริเวณตานานๆ เช่น ผู้ที่เป็นมะเร็งที่เบ้าตาเมื่อรักษาด้วยรังสีบ่อยๆ
- ถูกแสงแดดหรือแสงอัลตราไวโอเลต
- มีโรคประจำตัวบางชนิดที่ส่งเสริมให้เกิดต้อกระจกได้ เช่น เบาหวาน ต่อมไทรอยด์ทำงานผิดปกติ เป็นต้น
- ภาวะขาดอาหาร การมีคอเลสเตอรอลสูง การสูบบุหรี่ และการดื่มแอลกอฮอล์จัด ก็อาจทำให้เกิดต้อกระจกได้เร็วกว่าปกติ
การผ่าตัดต้อกระจกคืออะไร?
การผ่าตัดต้อกระจก (Cataract Surgery) ถือเป็นวิธีหลักในการรักษาต้อกระจก เพราะปัจจุบันยังไม่สามารถรักษาให้หายได้ด้วยยา โดยการผ่าตัดต้อกระจกเองก็มีหลายวิธี แพทย์จะเป็นผู้วินิจฉัยและเลือกวิธีการผ่าตัดที่เหมาะสมกับระยะอาการและงบประมาณของผู้ป่วยแต่ละราย
การผ่าตัดต้อกระจกมีกี่แบบ?
การผ่าตัดต้อกระจกที่นิยมใช้กันในปัจจุบัน มี 3 วิธีหลักๆ คือ
- การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง (Extracapsular Cataract Extraction) เป็นวิธีดั้งเดิม ที่ผ่าตัดเอาเลนส์ตาออก เหลือถุงหุ้มเลนส์ไว้ แล้วใส่เลนส์แก้วตาเทียมเข้าไปแทน ซึ่งแพทย์จะเลือกใช้วิธีนี้ในกรณีที่ผู้ป่วยมีต้อกระจกสุกแล้ว หรือมีต้อขุ่นขาวและแข็งมากเนื่องจากเป็นมาระยะเวลานาน ส่งผลให้ไม่สามารถรักษาด้วยวิธีการสลายต้อด้วยเครื่องคลื่นความถี่สูงได้
- การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง (Phacoemulsification) วิธีการผ่าตัดชนิดนี้จะใช้คลื่นเสียงความถี่สูงหรืออัลตร้าซาวด์เข้าไปสลายต้อกระจก ทำให้ต้อมีขนาดเล็กลงและกลายเป็นชิ้นส่วนย่อยแล้วหลุดออกมา จากนั้นแพทย์จะใส่เลนส์ตาเทียมเข้าไปแทนเลนส์เก่าในถุงหุ้มเลนส์
- การสลายต้อกระจกด้วยเลเซอร์ (Femtosecond Laser Assisted Phacoemulsification) เป็นเทคโนโลยีล่าสุดที่นำมาช่วยให้การผ่าตัดต้อกระจกของแพทย์มีความแม่นยำมากขึ้น เป็นการใช้เครื่องเลเซอร์ที่มีอัตราความเร็วสูงในการตัดเนื้อเยื่อที่ตาแทนใบมีด โดยใช้คอมพิวเตอร์ควบคุมการทำงานและประมวลผล จึงทำให้การผ่าตัดมีความแม่นยำและปลอดภัยสูง
ข้อดีและข้อเสียของการผ่าตัดต้อกระจกแต่ละแบบ
การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง
ข้อดี
- ใช้ได้ผลดีในผู้ป่วยที่มีต้อเป็นระยะเวลานาน อาการขุ่นมัวลามเป็นวงกว้าง หรือ ต้อสุกแล้ว
- เลนส์ที่เปลี่ยนใหม่สามารถใช้ได้ตลอดชีวิตของผู้ป่วย
ข้อเสีย
- เนื่องจากมีแผลกว้าง ผู้ป่วยต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลนาน 5-7 วัน
- ผู้ป่วยต้องใช้ระยะเวลาในการปรับตัวเพื่อให้ตากลับมามองชัดเหมือนเดิมประมาณ 4-6 สัปดาห์
การผ่าตัดต้อกระจกด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง
ข้อดี
- สามารถผ่าตัดได้เลยในระยะเริ่มต้นไม่ต้องรอจนต้อสุก
- รอยแผลหลังผ่าตัดมีขนาดเล็ก ไม่จำเป็นต้องเย็บ
- ผู้ป่วยสามารถออกจากโรงพยาบาลได้ทันทีหลังผ่าตัด
- ผู้ป่วยใช้เวลาปรับตัวเพื่อให้ตากลับมามองชัดได้เหมือนเดิม 2-3 วันเท่านั้น
- เลนส์ที่เปลี่ยนใหม่สามารถใช้ได้ตลอดชีวิตของผู้ป่วย
ข้อเสีย
- กรณีผู้ป่วยมีต้อกระจกในระยะอาการขุ่นมัวลามเป็นวงกว้างและขนาดใหญ่ จะต้องใช้คลื่นเสียงที่มีความแรงสูงขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อเซลล์ดวงตารอบข้างและทำลายเซลล์ดวงตาบริเวณอื่นได้
- เลนส์แก้วตาเทียมที่ใส่เข้าไปในจอตาจะไม่ยืดหยุ่นนัก การปรับเลนส์ตาจะไม่สามารถปรับได้เท่าเดิม ดังนั้นผู้ป่วยอาจยังต้องใส่แว่นตา และจะมีระยะสายตายาวตามวัย แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยไปวัดสายตาและตัดแว่นในระยะหลังผ่าตัด 1-2 เดือน เพื่อรอจนกว่าสายตาจะเริ่มคงที่
- ค่าใช้จ่ายสูงกว่าแบบเปิดแผลกว้าง
การสลายต้อกระจกด้วยเลเซอร์
ข้อดี
- มีความแม่นยำและมีความปลอดภัยสูง
- ใช้เวลาน้อยในการสลายต้อ
- ช่วยลดพลังงานจากเครื่องสลายต้อคลื่นเสียงความถี่สูง จึงช่วยลดผลกระทบต่อเนื้อเยื่อข้างเคียงได้
- มองเห็นได้ดีในเวลารวดเร็ว เนื่องจากเลนส์แก้วตาเทียมถูกจัดวางในตำแหน่งได้อย่างเหมาะสมและแม่นยำ
- ลดโอกาสเกิดสายตาเอียงที่อาจเกิดจากแผลการผ่าตัด
- เลนส์ที่เปลี่ยนใหม่สามารถใช้ได้ตลอดชีวิตของผู้ป่วย
ข้อเสีย
- ค่าใช้จ่ายสูงมาก จึงต้องพิจารณาในแง่ของความคุ้มค่า
- ไม่เหมาะสำหรับผู้ป่วยที่รูม่านตาไม่ขยาย และผู้ที่ช่องเปิดระหว่างเปลือกตาบนและเปลือกตาล่างแคบมาก
เลนส์แก้วตาเทียมมีกี่ชนิด
เมื่อผู้ป่วยได้รับการผ่าตัดสลายต้อกระจกแล้ว แพทย์จะนำเลนส์แก้วตาเทียมใส่เข้าไปแทนที่เลนส์ตาเดิม เลนส์แก้วตาเทียมนี้จะทำหน้าที่โฟกัสภาพให้ตกลงพอดีที่จอตาแทนเลนส์ตาธรรมชาติ ซึ่งชนิดของเลนส์แก้วตาเทียมที่ใช้กันแพร่หลาย มี 2 ชนิดด้วยกัน คือ
1. เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับได้
เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับได้ สามารถแบ่งย่อยได้เป็นอีกหลายแบบ ดังนี้
- เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับได้ที่มีระยะโฟกัสระยะไกลเพียงระยะเดียว (Monofocal lenses) จะช่วยผู้ป่วยมองได้ชัดเจนในระยะไกล แต่ในระยะใกล้ต้องใช้แว่นสายตาช่วยในการมองเห็น
- เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับได้ที่มีระยะโฟกัสหลายระยะ ทั้งระยะไกล ระยะกลาง และ ระยะใกล้ (Multifocal Lenses) ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถมองเห็นได้ทั้ง 3 ระยะ จึงจะช่วยลดการใช้แว่นสายตา แต่อาจมีปัญหาเรื่องแสงรบกวน หรือความคมชัดในการมองเห็นของผู้ป่วยบางราย
- เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับได้แก้ไขสายตาเอียง (Toric lenses) สำหรับผู้ป่วยที่มีสายตาเอียงร่วมด้วย โดยมีทั้งชนิดที่โฟกัสเฉพาะระยะไกลเพียงระยะเดียว และหลายระยะ ซึ่งการเลือกใช้เลนส์ชนิดใดขึ้นกับความเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละราย โดยการตัดสินใจร่วมกันระหว่างแพทย์กับผู้ป่วย
2. เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับไม่ได้
เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับไม่ได้ นิยมใช้ในการผ่าตัดด้วยวิธีแบบเปิดแผลกว้าง เนื่องจากเป็นการผ่าตัดที่เปิดแผลค่อนข้างกว้างจึงไม่มีความจำเป็นต้องใส่เลนส์แบบพับได้
ทั้งนี้ ผู้ป่วยผ่าตัดต้อกระจกจะเหมาะกับเลนส์แก้วตาเทียมชนิดไหน ขึ้นอยู่กับค่าสายตาก่อนการเป็นต้อกระจก การใช้งานสายตาและงบประมาณเป็นหลัก โดยแพทย์จะแนะนำเลนส์ที่เหมาะสมที่สุดให้กับผู้ป่วย
ผ่าตัดต้อกระจกเหมาะกับใคร?
เนื่องจากการผ่าตัดต้อกระจกมีความปลอดภัย และมีผลข้างเคียงน้อยมาก คนทั่วไปจึงสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้โดยไม่พบปัญหา เช่น
- ผู้ที่เป็นต้อกระจกและแพทย์วินิจฉัยว่าสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้
- ผู้ที่เป็นต้อกระจกแม้ยังไม่มาก แต่รู้สึกรำคาญ และต้องการมีตาที่ปกติ
- ผู้ที่ต้อกระจกรบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ในการทำงาน หรือกิจกรรมทั่วไป
โดยแพทย์จะประเมินและวินิจฉัยว่าผู้ป่วยแต่ละรายสามารถเข้ารับการผ่าตัดต้อกระจกได้หรือไม่ และควรจะผ่าตัดแบบไหน อย่างไร
ผ่าตัดต้อกระจกไม่เหมาะกับใคร?
อย่างไรก็ตาม อาจมีผู้ป่วยต้อกระจกบางรายที่แพทย์วินิจฉัยว่าไม่สามารถผ่าตัดต้อกระจกได้ เพราะอาจจะทำให้เกิดอันตรายหรือผลข้างเคียงแทรกซ้อนได้ เช่น
- ผู้ป่วยที่มีเนื้อเยื่อบริเวณแก้วตาไม่แข็งแรง หรือเสื่อมสภาพทรุดโทรม อ่อนแอ ผิดปกติ
- ผู้ป่วยเคยประสบอุบัติเหตุรุนแรงที่เกี่ยวข้องกับแก้วตา ซึ่งการผ่าตัดอาจเกิดผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์หลายอย่างได้
- จอประสาทตาของผู้ป่วยมีอาการผิดปกติ
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดต้อกระจก
สิ่งที่ต้องทำเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผ่าตัดต้อกระจก มีดังนี้
- หากมีโรคประจำตัว เช่น โรคหัวใจ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง หอบหืด โรคเลือดหรือโรคอื่นๆ ควรดูแลให้อยู่ในเกณฑ์ปกติและปรึกษาแพทย์ก่อน เพื่อให้สามารถผ่าตัดต้อกระจกได้อย่างปลอดภัย
- หากมีประวัติการใช้ยาละลายลิ่มเลือด เช่น แอสไพริน (Aspirin) และยาต้านการแข็งตัวของเลือด เช่น วอร์ฟาริน (Warfarin) ควรปรึกษาแพทย์ผู้สั่งยา เพื่อหยุดยาก่อนผ่าตัดอย่างน้อย 7-10 วัน ขึ้นอยู่กับชนิดของยา
- หากมียาชนิดอื่นที่รับประทานเป็นประจำ รวมถึงวิตามิน สมุนไพร และอาหารเสริมที่อาจมีผลต่อการแข็งตัวของเลือด เช่น วิตามินอี น้ำมันปลา ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ เนื่องจากบางกรณีอาจต้องมีการหยุดยาก่อน และนำยาที่ใช้ประจำมาในวันผ่าตัดด้วย
- หากเคยมีอาการแพ้ยาใดๆ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบด้วย
- แพทย์อาจให้มีการตรวจหาค่าต่างๆ เพิ่มเติม เช่น ตรวจร่างกายพื้นฐาน ตรวจความดันโลหิตของลูกตา ตรวจปัสสาวะ ถ่ายภาพรังสีทรวงอก ตรวจหาระดับน้ำตาลในเลือด เป็นต้น
- ฝึกนอนหงายโดยมีผ้าคลุมบริเวณใบหน้านานประมาณ 20-30 นาที เพื่อให้หายใจใต้ผ้าคลุมจนชิน เนื่องจากตอนผ่าตัดผู้ป่วยจะต้องนอนคลุมผ้าในลักษณะดังกล่าว
- หากมีอาหารผิดปกติเกิดขึ้นก่อนวันผ่าตัด เช่น ตาแดง เคืองตา มีขี้ตา หรือเป็นหวัด ไอ จาม ต้องแจ้งแพทย์เพื่อรักษาให้หายก่อนเข้ารับการผ่าตัด
- อาบน้ำสระผม ล้างหน้า ทำความสะอาดรอบดวงตา งดใช้แป้ง ครีม เครื่องสำอาง หรือแต่งหน้า และตัดเล็บให้สั้นในวันที่มาผ่าตัดต้อกระจก
- รับประทานอาหารเช้าที่ย่อยง่าย และไม่มากจนเกินไปในวันที่มาผ่าตัดต้อกระจก
- ไม่สวมเครื่องประดับใดๆ และหากผู้ป่วยมีฟันปลอมให้ถอดเก็บไว้
- ควรมีญาติหรือเพื่อนมาด้วยอย่างน้อย 1 คน เนื่องจากผู้ป่วยจะต้องปิดตาข้างที่ผ่าตัดกลับบ้าน
ขั้นตอนการผ่าตัดต้อกระจก
ในการผ่าตัดต้อกระจกทั้ง 3 แบบ แพทย์จะเริ่มจากการให้ยาชา โดยการฉีดหรือการหยอด หรือให้ดมยาสลบ ในกรณีที่ผู้ป่วยมีปัญหาในการฉีดยาชาหรือมีอาการกลัว โดยมีขั้นตอนสำหรับการผ่าตัดต้อกระจกแต่ละแบบดังนี้
- การผ่าตัดต้อกระจกแบบเปิดแผลกว้าง แพทย์จะเริ่มจากการฉีกปลอกหุ้มแก้วตาออก เพื่อให้มีช่องว่างสำหรับใส่เครื่องมือเข้าไปนำเลนส์ตาออกมา เหลือถุงหุ้มเลนส์ไว้ เพื่อนำเลนส์ใหม่ใส่เข้าไป แล้วจึงเย็บแผล
- การผ่าตัดต้อกระจกแบบใช้คลื่นเสียง แพทย์จะใช้เครื่องมือที่เป็นท่อขนาดเล็กมีเส้นผ่าศูนย์กลางประมาณ 2.5 มิลลิเมตร ส่งผ่านคลื่นเสียงความถี่สูงไปตามท่อ โดยปลายท่อจะแตะที่แก้วตาส่งผ่านคลื่นพลังงานไปสลายต้อให้กลายเป็นชิ้นส่วนย่อยๆ พร้อมกับดูดเอาเศษชิ้นส่วนเหล่านั้นออกมาจากบริเวณแก้วตา เมื่อทำการดูดเยื่อต้อออกมาหมด แพทย์จะนำแก้วตาเทียมชนิดพับใส่เข้าไปแทนที่
- การผ่าตัดต้อกระจกแบบใช้เลเซอร์ แพทย์จะใช้เลเซอร์เปิดแผลบริเวณขอบตาดำ แล้วเปิดถุงหุ้มเลนส์ ใช้เลเซอร์ตัดเลนส์ตาเป็นชิ้นเล็กชิ้นน้อย จากนั้นก็ดูดชิ้นส่วนเลนส์ออกมา แล้วจึงใส่เลนส์แก้วตาเทียมชนิดพับเข้าไปแทน
การดูแลตัวเองหลังการผ่าตัดต้อกระจก
หลังการผ่าตัด ผู้ป่วยควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด กินยาและหยอดตาให้ครบตามที่แพทย์สั่ง เพื่อป้องกันผลข้างเคียงต่างๆ ที่อาจตามมา และเข้าพบแพทย์ตามนัดหมาย เพื่อตรวจสอบอาการ หากมีอาการผิดปกติ แพทย์จะได้แก้ไขให้ทัน
โดยทั่วไปการดูแลตัวเองภายหลังรับการผ่าตัด มีข้อปฏิบัติเบื้องต้น ดังนี้
- หลังผ่าตัด ควรนอนหลับพักผ่อนให้มาก ไม่ควรขยับตัวมาก โดยเฉพาะในช่วงวันแรกของการผ่าตัด ควรนอนหมอนสูง ห้ามนอนตะแคงด้านที่เพิ่งผ่าตัดต้อกระจก
- ในช่วง 3 สัปดาห์แรกหลังการผ่าตัด ผู้ป่วยควรหลีกเลี่ยงการทำงานหนักหรือการขยับตัวที่กระทบ กระเทือนร่างกาย ไม่ควรออกกำลังกายหนัก ไม่ยกของหนัก และไม่ก้มศีรษะต่ำกว่าเอวอย่างน้อย 1 เดือน
- หากจะไอหรือจาม ควรพยายามให้เบาที่สุด เท่าที่ทำได้
- ในระยะนี้ ผู้ป่วยสามารถใช้สายตาแบบเบาๆ ได้ เช่นการอ่านหนังสือ แต่ควรหลีกเลี่ยงการเพ่งจอคอมพิวเตอร์หรือจอมือถือติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน
- ในระยะเวลา 1 เดือนหลังผ่าตัด ยังไม่ควรให้ลูกตาโดนน้ำโดยเด็ดขาด การดูแลความสะอาดใบหน้าควรเปลี่ยนมาใช้วิธีการใช้ผ้าเช็ดหน้าแทน เพราะหากน้ำเข้าในดวงตาอาจจะนำเชื้อโรคเข้าไปก่อให้เกิดอาการติดเชื้อได้ (ระยะเวลาอาจแตกต่างกันไปตามคำแนะนำของแพทย์และวิธีการผ่าตัดที่แตกต่างกัน)
- หลีกเลี่ยงการกระทบกระแทกดวงตา โดยเฉพาะการขยี้ตารุนแรงในช่วงระยะประมาณ 1 เดือนหลังการผ่าตัด และในช่วงเวลานอนหลับควรจะใส่ที่ครอบตาเพื่อป้องกันไม่ให้มือไปโดนตา หรือเผลอไปขยี้ตาโดยไม่รู้ตัว
- ในระยะช่วง 4-5 เดือนแรกเป็นอย่างน้อย ผู้ป่วยควรสวมแว่นตากันแดด ป้องการแสงแดดเป็นประจำ
- ผู้ป่วยต้องเคร่งครัดในการทำความสะอาดดวงตาทุกวันอย่างถูกวิธี เพราะแม้แผลจากการผ่าตัดต้อกระจกจะเล็กมาก แต่ก็เป็นแผลผ่าตัดที่มีความเสี่ยงในการติดเชื้อ จึงอาจเกิดอาการแทรกซ้อน หรือเกิดข้อผิดพลาดได้หากดูแลดวงตาไม่ดีหลังผ่าตัด
- กรณีถ้าก่อนผ่าตัดงดยาประจำตัว ต้องรอให้แพทย์เป็นผู้แจ้งให้กลับมาใช้ได้เหมือนเดิม
ผลลัพธ์หลังการผ่าตัดต้อกระจก
ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะสามารถฟื้นฟูสายตาให้กลับมามองได้ชัดเจนในระดับคนปกติตามระยะเวลาการปรับตัวของประเภทการผ่าตัด และมีค่าสายตาสั้น สายตายาว เท่ากับก่อนผ่าตัด ซึ่งสายตาข้างที่ได้รับการผ่าตัดไปแล้วจะไม่กลับมาเกิดต้อกระจกอีก และภาพที่มองเห็นจากการใช้เลนส์แก้วตาเทียมจะมีคุณภาพที่ใกล้เคียงกับภาพจริง จึงทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่พอใจและปรับตัวได้ค่อนข้างง่าย
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัดต้อกระจก
ผู้ป่วยบางรายเมื่อผ่าตัดต้อกระจกแล้วมองไม่ชัด ตามัว หรือมีผลข้างเคียง หรือมีปัญหาสายตา อาจมีปัจจัยมาจากการดูแล หรือปัญหาด้านอื่นๆ เกี่ยวกับโรคจอประสาทตาเสื่อมร่วมด้วย เช่น โรคต้อหิน โรคถุงหุ้มเลนส์ขุ่น หรือโรคกลุ่มเบาหวาน ความดันสูง เป็นต้น
โดยอาการข้างเคียงที่อาจพบได้หลังการผ่าตัด ได้แก่ อาการจุดรับภาพบวม ซึ่งจะส่งผลให้ตามัว ภาพเบี้ยว และจะมีอาการตาอักเสบร่วมด้วย มักเกิดหลังจากผ่าตัด 1-2 สัปดาห์ แต่สามารถหายเองได้หลังจากนั้นประมาณ 6 เดือน
นอกจากนี้ หากผู้ป่วยมีอาการผิดปกติใดๆ เช่น ตาอักเสบ รู้สึกปวดตา แม้ว่าทานยาแก้ปวดก็ไม่หาย ตากลับมามองไม่เห็น หรือเบลอมัว มองไม่ชัด ตาแดง หรือรู้สึกคลื่นไส้อาเจียน มีอาการไอจามที่รุนแรงเป็นพิเศษ เกิดขี้ตาสีเหลือง หรือหากเกิดความผิดปกติกับดวงตา มองภาพไม่ชัด ภาพซ้อนเอียง ควรแจ้งแพทย์และนัดพบโดยเร็วที่สุด
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดต้อกระจก
แม้การผ่าตัดต้อกระจกจะมีความแม่นยำและปลอดภัยสูง และพบผลข้างเคียงน้อยมาก แต่ในผู้ป่วยบางราย ก็อาจมีความเสี่ยงบางประการที่อาจเกิดขึ้นได้ เช่น
- การอักเสบติดเชื้อหลังผ่าตัด อาจเกิดจากกรณีผู้ป่วยไม่รักษาความสะอาด หรือทำความสะอาดไม่ดีพอ ทำให้รู้สึกเจ็บ มีอาการบวมแดง ขี้ตาเยอะกว่าปกติ ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้รีบพบแพทย์
- ภาวะเลือดออกในน้ำวุ้นตา ลูกตา หรือเบ้าตา ขึ้นอยู่กับโรคประจำตัวของผู้ป่วย เช่น ความดันโลหิตสูง โรคเลือด การรับประทานยาละลายลิ่มเลือด
- กระจกตาขุ่นมัวจากการที่เซลล์ตาไม่แข็งแรง
- จอประสาทตาหลุดลอก อาจพบได้ในคนที่มีค่าสายตาสั้นมากหรือเบาหวานขึ้นตา
- การเคลื่อนหรือเลื่อนหลุดของเลนส์แก้วตาเทียม
- ปวดตา ตามีความไวต่อแสง เกิดแสงจ้า
- เปลือกตาหย่อน หรือ เปลือกตาตก
- ถุงหุ้มเลนส์ขุ่น อาจจะเกิดเมื่อผ่าตัดไปแล้วหลายปี ทำให้มองเห็นไม่ชัดเหมือนเดิม ภาพขุ่นมัวลง ซึ่งถือเป็นอาการแทรกซ้อนที่พบมากที่สุด หากเกิดอาการนี้ให้ไปพบแพทย์ โดยแพทย์จะทำการรักษาโดยการใช้ Yag Laser ยิงที่ดวงตาให้แสงเข้าไปในตาได้ดีขึ้น ใช้เวลาการยิงเลเซอร์เพียง 5 นาที แล้วให้ผู้ป่วยพักสายตาและหยอดยาประมาณ 1-2 วัน ก็สามารถกลับมาใช้สายตาได้ตามปกติ
โดยความเสี่ยงเหล่านี้ พบได้ยากมาก และสามารถรักษาได้ในทางการแพทย์หรือด้วยการผ่าตัดเพิ่มเติม เช็กราคาผ่าต้อกระจก