การตรวจ โรคหัวใจ มีวิธีไหนบ้าง ใครบ้างควรตรวจโรคหัวใจ การตรวจเพื่อวินิจฉัยโรค กับตรวจสุขภาพทั่วไปต่างกันอย่างไร การตรวจโรคหัวใจเจ็บไหม การตรวจหัวใจด้วยวิธี ECHO และ CT Scan แตกต่างกันอย่างไร หากยังไม่มีอาการ ไม่จำเป็นต้องตรวจโรคหัวใจจริงหรือไม่…บทความนี้รวบรวมข้อสงสัยและเรื่องเข้าใจผิดเกี่ยวกับการตรวจโรคหัวใจมาฝาก
สารบัญ
- 1. การตรวจโรคหัวใจมีวิธีไหนบ้าง
- 2. ใครบ้างควรตรวจโรคหัวใจ
- 3. การตรวจหัวใจสำหรับวินิจฉัยโรค ต่างจากการตรวจสุขภาพทั่วไปอย่างไร
- 4. การตรวจโรคหัวใจ เจ็บไหม
- 5. การตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจ บอกอะไรได้บ้าง
- 6. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ บอกอะไรได้บ้าง
- 7. การตรวจหัวใจด้วยวิธี ECHO และ CT Scan แตกต่างกันอย่างไร
- 8. ก่อนตรวจหัวใจ ควรถามอะไรแพทย์บ้าง
- 9. หากยังไม่มีอาการต้องตรวจโรคหัวใจไหม
- 10. การฉีดสารทึบรังสี หรือฉีดสี เพื่อตรวจโรคหัวใจ น่ากลัวและเสี่ยงอันตรายไหม
- 11. การตรวจหัวใจต้องนอนค้างที่โรงพยาบาลไหม
- 12. การตรวจโรคหัวใจราคาเท่าไหร่
1. การตรวจโรคหัวใจมีวิธีไหนบ้าง
ตอบ: การตรวจโรคหัวใจทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับอาการป่วยและดุลยพินิจของแพทย์ โดยวิธีการตรวจที่เป็นที่นิยม ได้แก่
1. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiography: EKG, ECG)
เป็นการตรวจจับสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจ เพื่อวิเคราะห์การเต้นและจังหวะของหัวใจ ว่ามีภาวะผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นผิดจังหวะหรือหัวใจขาดเลือดหรือไม่ การตรวจด้วยวิธีนี้ใช้เวลาไม่นาน ประมาณ 5-10 นาที ไม่เจ็บปวด และใช้ประเมินปัญหาเบื้องต้นเกี่ยวกับหัวใจ
2. การตรวจคราบหินปูนในหลอดเลือดหัวใจด้วยเครื่องเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT Calcium Scoring)
เป็นการใช้เทคโนโลยี CT Scan เพื่อวัดระดับแคลเซียมในหลอดเลือดหัวใจ การสะสมของแคลเซียมในหลอดเลือด ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ การตรวจนี้ช่วยประเมินโอกาสในการเกิดโรคหัวใจวายในอนาคตได้
3. การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (Exercise Stress Test: EST)
หรือที่เรียกว่าการวิ่งสายพาน เป็นการทดสอบหัวใจขณะออกกำลังกาย โดยผู้ป่วยจะวิ่งบนสายพานหรือปั่นจักรยาน เพื่อดูว่าสมรรถภาพของหัวใจเป็นอย่างไรเมื่ออยู่ในภาวะที่ต้องการออกแรงสูง การตรวจนี้ใช้เพื่อประเมินภาวะหลอดเลือดหัวใจตีบที่อาจไม่แสดงอาการในขณะพัก
4. การตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงสะท้อนความถี่สูง (Echocardiogram: Echo)
เป็นการใช้คลื่นเสียงความถี่สูงเพื่อตรวจโครงสร้างและการทำงานของหัวใจ โดยสามารถเห็นภาพของกล้ามเนื้อหัวใจ ลิ้นหัวใจ และการไหลเวียนของเลือดในห้องหัวใจ การตรวจนี้ช่วยประเมินการทำงานของหัวใจและความผิดปกติต่างๆ เช่น หัวใจล้มเหลวหรือการทำงานของลิ้นหัวใจที่ไม่ปกติ
รวมวิธีการตรวจคัดกรองโรคหัวใจ ขั้นตอนเป็นยังไง เหมาะกับใครบ้าง อ่านต่อคลิกเลย
2. ใครบ้างควรตรวจโรคหัวใจ
ตอบ: การตรวจโรคหัวใจ เริ่มตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป และควรหมั่นตรวจวัดความดันโลหิต ระดับน้ำตาลในเลือด และคอเลสเตอรอลอย่างสม่ำเสมอด้วย เพราะค่าเหล่านี้จะมีผลต่อการทำงานของหัวใจโดยภาพรวม
นอกจากนี้ผู้ที่มีปัจจัยเสี่ยงหรืออาการที่เกี่ยวข้องกับปัญหาหัวใจดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจโรคหัวใจอย่างเฉพาะเจาะจง
- ผู้ที่มีอาการเจ็บหน้าอก หากมีอาการเจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก หรือปวดร้าวไปยังแขน คอ หรือกราม อาจเป็นสัญญาณของโรคหลอดเลือดหัวใจ
- ผู้ที่มีอาการใจสั่น เหนื่อยง่าย หรือหายใจไม่อิ่ม อาการเหล่านี้อาจเกี่ยวข้องกับภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ หรือภาวะหัวใจล้มเหลว
- ผู้ที่มีประวัติครอบครัวเป็นโรคหัวใจ หากมีสมาชิกในครอบครัวที่เคยเป็นโรคหัวใจหรือมีภาวะหัวใจวาย ควรได้รับการตรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงส่วนบุคคล
- ผู้ที่มีความดันโลหิตสูง เบาหวาน หรือคอเลสเตอรอลสูง โรคเหล่านี้เป็นปัจจัยเสี่ยงสำคัญที่ทำให้เกิดโรคหัวใจ การตรวจหัวใจเป็นประจำจะช่วยป้องกันปัญหาในอนาคต
- ผู้ที่มีพฤติกรรมเสี่ยงต่อโรคหัวใจ เช่น การสูบบุหรี่ ไม่ออกกำลังกาย หรือมีน้ำหนักเกิน ควรได้รับการตรวจเพื่อประเมินสุขภาพหัวใจและลดความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ
3. การตรวจหัวใจสำหรับวินิจฉัยโรค ต่างจากการตรวจสุขภาพทั่วไปอย่างไร
ตอบ: การตรวจหัวใจสำหรับโรคหัวใจ จะมุ่งเน้นไปที่การวินิจฉัยโรคหัวใจหรือความผิดปกติที่เฉพาะเจาะจง เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจตีบ หัวใจวาย หรือภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ มักจะใช้วิธีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG/ECG) การตรวจ CT Calcium Scoring การตรวจหัวใจด้วย ECHO และ การตรวจสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย (EST) โดยผลการตรวจต้องวิเคราะห์โดยผู้ชำนาญการและอาจนำไปสู่การรักษาหรือการติดตามผลที่เฉพาะเจาะจง
ส่วนการตรวจเพื่อสุขภาพทั่วไปนั้น มุ่งเน้นไปที่การตรวจสุขภาพหัวใจในกรณีที่ไม่มีอาการผิดปกติหรือโรคหัวใจที่ชัดเจน โดยมักใช้เพื่อประเมินความเสี่ยงหรือสุขภาพหัวใจโดยรวม มักจะใช้วิธีการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (EKG/ECG) เพื่อประเมินความผิดปกติของการเต้นของหัวใจ และการตรวจคอเลสเตอรอลและความดันโลหิต เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
4. การตรวจโรคหัวใจ เจ็บไหม
ตอบ: โดยทั่วไปแล้ว การตรวจโรคหัวใจไม่ทำให้เจ็บปวด นอกจากนี้ยังมีความเสี่ยงต่ำ และเป็นขั้นตอนที่ปลอดภัยสำหรับการประเมินสุขภาพหัวใจ
อย่างไรก็ตาม การตรวจโรคหัวใจแต่ละวิธีอาจให้ความรู้สึกที่แตกต่างกัน ดังนี้
- การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ ต้องใช้แผ่นตรวจไฟฟ้าติดที่ผิวหนัง เพื่อบันทึกสัญญาณไฟฟ้าของหัวใจ การติดแผ่นตรวจอาจรู้สึกระคายเคืองเพียงเล็กน้อย แต่ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ
- การตรวจ CT Scan อาจทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่สบายเล็กน้อยจากการต้องนอนอยู่บนเตียง CT Scan และบางครั้งอาจมีการฉีดสารทึบรังสี ซึ่งอาจทำให้รู้สึกอุ่นๆ หรือร้อนวูบวาบ
- การตรวจ Echo จะมีการทาเจลเย็นๆ ที่ผิวหนังเพื่อช่วยในการส่งคลื่นเสียง ซึ่งอาจรู้สึกเย็นหรือไม่สบายบ้าง แต่ไม่ทำให้รู้สึกเจ็บ
5. การตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจ บอกอะไรได้บ้าง
ตอบ: การตรวจเลือดเพื่อวินิจฉัยโรคหัวใจ สามารถบอกข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับสุขภาพหัวใจและหลอดเลือดได้หลายด้าน โดยการตรวจเลือดแต่ละประเภทจะช่วยประเมินความเสี่ยงและสภาวะต่างๆ เช่น
- คอเลสเตอรอลและไขมันในเลือด (LDL, HDL, Triglycerides) ช่วยวัดความเสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
- โปรตีน C-reactive (CRP) บ่งชี้ถึงการอักเสบที่เกี่ยวข้องกับโรคหัวใจ
- Troponin ใช้วินิจฉัยหัวใจวายเฉียบพลัน
- Lipoprotein (a) หรือ Lp(a) ตรวจความเสี่ยงโรคหัวใจทางพันธุกรรม
- น้ำตาลในเลือดและ HbA1c ตรวจความเสี่ยงเบาหวานที่สัมพันธ์กับโรคหัวใจ
- การตรวจการทำงานของไต เพื่อประเมินความเสี่ยงต่อโรคหัวใจผ่านการทำงานของไต
- BNP หรือ NT-proBNP เพื่อประเมินภาวะหัวใจล้มเหลว
6. การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ บอกอะไรได้บ้าง
ตอบ: การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram หรือ EKG/ECG) เป็นการตรวจที่ช่วยประเมินการทำงานของหัวใจในหลายด้าน เช่น การเต้นของหัวใจ ซึ่งสามารถบอกได้ว่าหัวใจเต้นเร็วเกินไป ช้าเกินไป หรือเป็นปกติ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจจับจังหวะการเต้นของหัวใจว่ามีความผิดปกติหรือไม่ เช่น ภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ
การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจยังช่วยให้แพทย์เห็นภาพของขนาดและความหนาของกล้ามเนื้อหัวใจ ซึ่งเป็นสัญญาณบ่งบอกถึงภาวะหัวใจโตหรือกล้ามเนื้อหัวใจหนาขึ้น รวมถึงช่วยตรวจสอบการไหลเวียนของเลือดไปยังหัวใจ เพื่อบ่งชี้ถึงการขาดเลือดที่อาจเกิดจากหลอดเลือดหัวใจตีบได้อีกด้วย
7. การตรวจหัวใจด้วยวิธี ECHO และ CT Scan แตกต่างกันอย่างไร
ตอบ: การตรวจ CT Scan เป็นการฉายภาพเช่นเดียวกับ ECHO แต่มีจุดประสงค์แตกต่างกัน โดย CT Scan มุ่งเน้นที่การตรวจหลอดเลือดหัวใจและโครงสร้างของหลอดเลือด โดยการสร้างภาพที่ละเอียดของหลอดเลือดหัวใจ
ส่วน ECHO มุ่งเน้นที่การประเมินการทำงานและโครงสร้างของกล้ามเนื้อหัวใจ รวมถึงลิ้นหัวใจและการไหลเวียนของเลือดภายในห้องหัวใจ
หากการตรวจ ECHO พบความผิดปกติที่เป็นไปได้ แพทย์มักจะใช้ CT Scan เพื่อยืนยันผล เนื่องจาก CT Scan ให้ความละเอียดสูงและสามารถแสดงรายละเอียดของหลอดเลือดหัวใจได้อย่างชัดเจน ซึ่งช่วยให้การวินิจฉัยและการตัดสินใจในการรักษามีความแม่นยำมากขึ้น
8. ก่อนตรวจหัวใจ ควรถามอะไรแพทย์บ้าง
ตอบ: การสอบถามแพทย์ก่อนการตรวจหัวใจเป็นสิ่งสำคัญ เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยเข้าใจการรักษา พร้อมทั้งเตรียมตัวและวางแผนได้อย่างถูกต้อง
- ทำไมถึงต้องตรวจด้วยวิธีนี้ เพื่อให้เข้าใจเหตุผลและความจำเป็นในการตรวจ
- ต้องเตรียมตัวอย่างไรบ้าง เพื่อเตรียมตัวให้พร้อม เช่น งดอาหารหรือเครื่องดื่มบางประเภท
- การตรวจมีความเสี่ยงหรือผลข้างเคียงหรือไม่ เพื่อทราบถึงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการตรวจ
- การตรวจใช้เวลานานแค่ไหน เพื่อเตรียมตัวให้พร้อมและจัดการตารางชีวิตหหรือการทำงาน
- หากพบความผิดปกติ ต้องทำอย่างไร ต้องตรวจเพิ่มเติมหรือไม่ เพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับการตรวจอื่นๆ ที่อาจตามมา และวางแผนทางการเงินได้อย่างถูกต้อง
- มีวิธีการตรวจอื่นๆ ที่ควรพิจารณาหรือไม่ เพื่อใช้เปรียบเทียบวิธีการตรวจที่แตกต่างกัน
- ค่าใช้จ่าย เพื่อให้รู้ข้อมูลเกี่ยวกับค่าใช้จ่ายและวางแผนเกี่ยวกับประกันสุขภาพ
9. หากยังไม่มีอาการต้องตรวจโรคหัวใจไหม
ตอบ: การตรวจโรคหัวใจสามารถทำได้ตั้งแต่อายุ 20 ปีขึ้นไป โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการ การตรวจสุขภาพหัวใจเป็นประจำ ถือเป็นการประเมินความเสี่ยงและการป้องกันปัญหาหัวใจในอนาคต โดยการตรวจเชิงป้องกันนี้อาจช่วยให้เราเจอปัญหาตั้งแต่ในระยะเริ่มต้น และช่วยให้รักษา หรือปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างทันท่วงที
10. การฉีดสารทึบรังสี หรือฉีดสี เพื่อตรวจโรคหัวใจ น่ากลัวและเสี่ยงอันตรายไหม
ตอบ: การฉีดสีมีความเสี่ยงที่ค่อนข้างต่ำและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด แม้ว่าผู้ป่วยบางรายอาจเกิดภาวะแทรกซ้อน เช่น ภาวะแพ้สี ทำให้มี ผื่นคัน หายใจลำบาก หรือบวม แต่พบได้น้อย หรือภาวะเลือดออก อาจเกิดขึ้นบริเวณตำแหน่งที่แทงเข็ม แต่ก็พบได้น้อยเช่นกัน
หากมีความเสี่ยงและโอกาสเกิดผลข้างเคียง แพทย์มักจะให้คำแนะนำในการเตรียมตัวและตรวจสอบสุขภาพก่อนเสมอ เพื่อให้การฉีดสีเป็นไปอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ
11. การตรวจหัวใจต้องนอนค้างที่โรงพยาบาลไหม
ตอบ: การตรวจหัวใจไม่จำเป็นต้องนอนค้างโรงพยาบาลเสมอไป ขึ้นอยู่กับประเภทของการตรวจ หากเป็นการตรวจ EKG, ECHO และ Exercise Stress Test มักใช้เวลาไม่นานและไม่จำเป็นต้องนอนค้างโรงพยาบาล
ส่วนการตรวจ CT Scan โดยทั่วไปไม่จำเป็นต้องนอนค้างโรงพยาบาล แต่ในบางกรณีที่ต้องติดตามผลหรือมีปัญหาสุขภาพอื่นๆ ร่วมด้วย แพทย์อาจพิจารณาให้ได้รับการดูแลในโรงพยาบาลเพิ่มเติม สำหรับการนอนค้างโรงพยาบาลอาจจำเป็นในกรณีที่มีการตรวจที่ซับซ้อนหรือมีปัญหาสุขภาพที่ต้องการการดูแลอย่างใกล้ชิด
12. การตรวจโรคหัวใจราคาเท่าไหร่
ตอบ: การตรวจโรคหัวใจมีค่าใช้จ่ายที่แตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับประเภทของการตรวจและสถานพยาบาล อย่างไรก็ตาม หากเป็นการตรวจ EKG และ ECHO มักมีค่าใช้จ่ายที่ไม่สูงมากและบางครั้งประกันสุขภาพบางประเภทก็สามารถครอบคลุมค่าใช้จ่ายได้ด้วย ขึ้นอยู่กับเงื่อนไขกรมธรรม์แต่ละฉบับ
เริ่มมีอาการคล้ายโรคหัวใจ เจ็บหน้าอก แน่นหน้าอก รู้สึกกังวลใจ อยากตรวจให้แน่ชัด ทักแอดมินได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจรักษาโรคหัวใจ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย