ต้อเนื้อ (Pterygium) เป็นโรคที่เกิดจากความเสื่อมของเยื่อบุตาขาว จนทำให้เนื้อเยื่อบางส่วนพัฒนาผิดปกติ เกิดเป็นพังผืดสีขาวเหลืองหรือสีชมพูอ่อน รูปทรงสามเหลี่ยมปรากฎขึ้นบริเวณตาขาว ซึ่งเป็นโรคที่สามารถพบได้ทุกเพศทุกวัย แต่จะพบมากในผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง และมีอายุมากกว่า 40 ปี
คนส่วนใหญ่มักจะคิดว่า ต้อเนื้อไม่ใช่โรคอันตรายอะไร แต่จริงๆ แล้ว มันส่งผลต่อการใช้ชีวิตจนทำให้ไม่สามารถทำกิจวัตรประจำวันได้ตามปกติ และวิธีรักษาโดยยาหยอดตาก็ใช้เพียงเพื่อช่วยลดอาการอักเสบเท่านั้น ไม่สามารถรักษาต้อเนื้อให้หายได้
การผ่าตัดจึงเป็นวิธีเดียวที่จะรักษาอาการเรื้อรังของต้อเนื้อได้ และยังเป็นการป้องกันผลข้างเคียงที่อาจเกิดจากการใช้ยาหยอดตาได้ด้วย เพราะส่วนใหญ่ยาหยอดตาจะมีส่วนผสมของสเตียรอยด์ หากใช้ติดต่อกันเป็นเวลานานจะส่งผลกระทบที่อันตรายทำให้เป็นต้อกระจกหรือต้อหินตามมาได้
สารบัญ
- การผ่าตัดต้อเนื้อคืออะไร?
- การผ่าตัดต้อเนื้อมีกี่วิธี?
- ทำไมถึงควรผ่าตัดต้อเนื้อ?
- ใครควรผ่าตัดต้อเนื้อ?
- ใครไม่ควรผ่าตัดต้อเนื้อ?
- การเตรียมตัวก่อนลอกต้อเนื้อ
- ขั้นตอนการผ่าตัดต้อเนื้อ
- การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดต้อเนื้อ
- ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดต้อเนื้อ
- ไม่ผ่าตัดต้อเนื้อได้ไหม?
- ผ่าตัดต้อเนื้อใช้เวลานานไหม?
- ผ่าตัดต้อเนื้อเจ็บไหม?
- ผ่าตัดต้อเนื้อพักฟื้นกี่วัน?
การผ่าตัดต้อเนื้อคืออะไร?
การผ่าตัดต้อเนื้อ (Pterygium Excision) หรือการลอกต้อเนื้อ คือการผ่าเอาก้อนต้อเนื้อที่ตาขาว รวมถึงส่วนที่คลุมตาดำออก ซึ่งต้องทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น เพราะเป็นการผ่าตัดที่ไม่ใช้ยาสลบ
และเนื่องจากต้อเนื้อเป็นโรคที่อาจกลับมาเป็นซ้ำได้อีก ในบางกรณีแพทย์จึงอาจต้องนำเนื้อเยื่อจากรก หรือเยื่อบุตาของผู้รับบริการ มาปลูกถ่ายลงบริเวณที่ลอกต้อเนื้อออกไป ซึ่งจะลดโอกาสกลับมาเป็นต้อเนื้อซ้ำลงได้
การผ่าตัดต้อเนื้อมีกี่วิธี?
การผ่าตัดรักษาต้อเนื้อมีด้วยกันทั้งหมด 2 วิธี ดังนี้
1. ผ่าตัดลอกต้อเนื้อแบบปกติ (Bare Sclera)
เป็นการผ่าตัดลอกต้อเนื้อที่เนื้อเยื่อบุตาขาวส่วนที่ผิดปกติออก โดยไม่มีการนำเนื้อเยื่ออื่นมาเย็บติดแทนที่เนื้อเยื่อบุตาขาวที่ถูกลอกออกไปพร้อมกับต้อเนื้อ โดยเนื้อเยื่อบุตาขาวจะงอกกลับขึ้นมาเองเมื่อเวลาผ่านไป วิธีนี้ใช้เวลาผ่าตัดเพียง 10-15 นาที แต่โอกาสที่ต้อเนื้อจะกลับมาเป็นซ้ำมีมาก ส่วนใหญ่จะใช้กับผู้ป่วยที่มีอายุมากๆ หรือผู้ป่วยที่ต้อเนื้อไม่มีการอักเสบ และพื้นที่ของต้อเนื้อไม่มาก
ข้อดีของการผ่าตัดลอกต้อเนื้อแบบปกติ
สามารถทำได้ง่ายและรวดเร็ว เพราะไม่มีการเย็บติดเนื้อเยื่อบุตาขาว จักษุแพทย์จะปล่อยให้ร่างกายสร้างเนื้อเยื่อบุตาขาวฟื้นฟูตัวเองขึ้นมาทดแทนส่วนที่ถูกลอกออกไป ทำให้มีการระคายเคืองหลังผ่าตัดน้อยกว่า
ข้อเสียของการผ่าตัดลอกต้อเนื้อแบบปกติ
มีโอกาสที่เนื้อเยื่อบุตาขาวที่งอกขึ้นใหม่จะกลับมาเป็นต้อเนื้อซ้ำได้มาก
2. การผ่าตัดลอกต้อเนื้อพร้อมปลูกเนื้อเยื่อ (Conjunctival Graft)
เป็นการผ่าตัดที่จะปลูกเนื้อเยื่อลงไปแทนที่เนื้อเยื่อบุตาขาวที่ถูกลอกออกไปพร้อมกับต้อเนื้อ เนื้อเยื่อที่ใช้ปลูกถ่ายจะเป็นเนื้อเยื่อจากรก หรือจะเป็นเนื้อเยื่อบุตาขาวบริเวณใกล้กับแผลผ่าตัดของผู้รับการผ่าตัดเองก็ได้ และเย็บด้วยไหมหรือใช้กาว Fibrin Glue เชื่อมระหว่างเนื้อเยื่อที่ปลูกใหม่กับเนื้อเยื่อบุตาขาว ซึ่งจะทำให้หลังผ่าตัดมีการระคายเคืองน้อยกว่าการเย็บด้วยไหม และค่าผ่าตัดก็จะราคาสูงกว่าการเย็บด้วยไหมด้วยเช่นกัน
ในการลอกต้อเนื้อและนำเนื้อเยื่อหุ้มรกมาแปะนั้น จะใช้ในกรณีที่ไม่สามารถใช้เนื้อเยื่อบุตาขาวได้ เช่น เนื้อเยื่อบุตามีแผลเป็นมาก หรือเป็นต้อหิน จำเป็นต้องเก็บเนื้อเยื่อบุตาขาวไว้เพื่อการผ่าตัดต้อหินในอนาคต หรือในกรณีที่ต้อเนื้อมีขนาดใหญ่มากๆ ซึ่งถ้าจะใช้เนื้อเยื่อบุตาขาวธรรมชาติอาจจะไม่พอ
ข้อดีของการผ่าตัดลอกต้อเนื้อพร้อมปลูกเนื้อเยื่อ
มีโอกาสเกิดต้อเนื้อใหม่ซ้ำน้อยมาก และแผลจากการผ่าตัดหายได้เร็วขึ้น
ข้อเสียของการผ่าตัดลอกต้อเนื้อพร้อมปลูกเนื้อเยื่อ
การผ่าตัดลอกต้อเนื้อพร้อมปลูกถ่ายเนื้อเยื่อจะใช้เวลาผ่าตัดนานกว่า และหลังผ่าตัดผู้เข้ารับการผ่าตัดจะรู้สึกระคายเคืองมากกว่าการผ่าตัดลอกต้อเนื้อแบบปกติ เนื่องจากไหมเย็บหรือกาวติดเนื้อเยื่อบุตาขาวก่อให้เกิดความรู้สึกระคายเคือง แล้วต้องกลับมาตัดไหมที่โรงพยาบาลในอีกประมาณ 7-10 วัน
ทำไมถึงควรผ่าตัดต้อเนื้อ?
ต้อเนื้อแม้จะไม่อันตราย แต่ถ้าปล่อยให้ลามไปจนถึงตาดำจะมีผลกับการมองเห็น ทำให้ภาพมัวลงจนใช้สายตาตามปกติได้ยาก และก้อนต้อยังไปจำกัดการเคลื่อนไหวของลูกตา ดึงรั้งตาจนทำให้เกิดอาการสายตาเอียง
นอกจากนี้ยังสร้างความรำคาญ และการอักเสบเป็นระยะๆ จากการระคายเคือง และบางครั้งการขยี้ตามากเกินไป อาจทำให้เกิดแผลในกระจกตาหรือทำให้เกิดการติดเชื้อที่ดวงตาได้ ซึ่งการรักษาต้อเนื้อด้วยยาหยอดตา เป็นเพียงลดการระคายเคืองและอาการอักเสบของดวงตาไม่สามารถทำให้ก้อนต้อเนื้อหายไปได้ การรักษาต้อเนื้อให้หายขาดจึงจำเป็นต้องเข้ารับการผ่าตัดเท่านั้น
ใครควรผ่าตัดต้อเนื้อ?
ผู้ที่จักษุแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นต้อเนื้อและควรรับการรักษาด้วยการผ่าตัด ซึ่งเป็นผู้ที่มีอาการส่งผลกระทบกับการมองเห็นดังต่อไปนี้
- ผู้ที่มีอาการตาแดง แสบตา คันตา ระคายตา เคืองตา จนมีน้ำตาไหลออกมา
- ผู้ที่เห็นภาพซ้อน
- ผู้ที่มีอาการตามัว เหมือนมีม่านมาบดบัง
- ผู้ที่มีค่าสายตาเปลี่ยน สายตาเอียงมาก
ใครไม่ควรผ่าตัดต้อเนื้อ?
เนื่องจากการผ่าตัดต้อเนื้อไม่ใช่การผ่าตัดใหญ่ เป็นการลอกเนื้อเยื่อบุตาขาวชั้นบนออกไปบางส่วนเท่านั้น และการผ่าตัดต้อเนื้อส่วนใหญ่ไม่ใช้ยาสลบ ดังนั้นโดยทั่วไปผู้ที่เป็นโรคต้อเนื้อจึงสามารถเข้ารับการรักษาด้วยวิธีการผ่าตัดได้ทุกคน แต่สำหรับในกรณีผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดมีโรคประจำตัว เช่น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ และโรคความดันโลหิตสูง ควรให้ข้อมูลกับจักษุแพทย์ เพื่อตรวจร่างกายเพิ่มเติมเพื่อป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด
การเตรียมตัวก่อนลอกต้อเนื้อ
- ผู้ที่รับประทานยาประจำควรแจ้งจักษุแพทย์ ถ้ายาตัวใดมีผลต่อการผ่าตัด จักษุแพทย์จะให้หยุดยาก่อนผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์
- ผู้ที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือด เช่น Aspirin ให้งดยาดังกล่าวอย่างน้อย 1 สัปดาห์ก่อนการผ่าตัด
- หยอดน้ำตาเทียมอย่างสม่ำเสมอ เพื่อลดการอักเสบ และเพิ่มความชุ่มชื้นให้ดวงตา
- ไม่ต้องงดน้ำและอาหารก่อนทำการผ่าตัดต้อเนื้อ ยกเว้นในกรณีที่ต้องดมยาสลบขณะผ่าตัด ต้องงดน้ำและอาหารอย่างน้อย 6 ชั่วโมง
- วันที่มาผ่าตัดควรมีญาติมาด้วย เพราะหลังจากผ่าตัดผู้เข้ารับการรักษาต้องปิดตาจึงไม่สามารถกลับบ้านเองได้
- ล้างหน้าและสระผมให้สะอาดก่อนมาที่โรงพยาบาล เนื่องจากหลังผ่าตัดห้ามโดนน้ำบริเวณดวงตา 7 วัน
- งดแต่งหน้า หรือทาครีมที่ใบหน้าในวันผ่าตัด
- ผู้เข้ารับการรักษาที่มีอาการกังวลหรือเครียดมากสามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ได้ อาจจะมียาแก้ปวดและยาลดความวิตกกังวลให้รับประทานก่อนเข้าห้องผ่าตัด ซึ่งขึ้นอยู่กับจักษุแพทย์ที่ทำการรักษา
ขั้นตอนการผ่าตัดต้อเนื้อ
ขั้นตอนการผ่าตัดต้อเนื้อ แบ่งตามวิธีการผ่าตัด ดังนี้
ขั้นตอนการผ่าตัดลอกต้อเนื้อแบบปกติ
การผ่าตัดลอกต้อเนื้อแบบปกติจะใช้เวลาประมาณ 10-15 นาทีเท่านั้น โดยมีขั้นตอนหลักๆ ดังต่อไปนี้
- ผู้รับบริการได้รับการทำความสะอาดรอบดวงตา หยดน้ำตาเทียม หยอดยาชาและยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ผู้รับบริการได้รับการฉีดยาชาอีกครั้งเพื่อให้รู้สึกเจ็บน้อยที่สุด บางรายจักษุแพทย์อาจจะให้ใช้ยาสลบร่วมด้วย
- จักษุแพทย์จะลอกเนื้อเยื่อบุตาขาวในส่วนที่กลายเป็นต้อเนื้อออก โดยไม่ได้เย็บเนื้อเยื่อบุตาขาวในส่วนที่เหลือให้กลับมาเชื่อมกัน แต่จะรอให้เนื้อเยื่อส่วนนั้นฟื้นฟูตัวเองจนกลับมาเชื่อมกันเองตามธรรมชาติ
ขั้นตอนการผ่าตัดลอกต้อเนื้อพร้อมปลูกเนื้อเยื่อ
การผ่าตัดลอกต้อเนื้อพร้อมปลูกเนื้อเยื่อ มักใช้เวลาในการผ่าตัดประมาณ 30 นาที มีขั้นตอนหลักๆ ดังต่อไปนี้
- ผู้รับบริการได้รับการทำความสะอาดรอบดวงตา หยดน้ำตาเทียม หยอดยาชาและยาปฏิชีวนะเพื่อป้องกันการติดเชื้อ
- ผู้รับบริการได้รับการฉีดยาชาอีกครั้งเพื่อให้รู้สึกเจ็บน้อยที่สุด บางรายจักษุแพทย์อาจจะให้ใช้ยาสลบร่วมด้วย
- จักษุแพทย์จะลอกเนื้อเยื่อบุตาขาวในส่วนที่กลายเป็นต้อเนื้อออก
- พอนำก้อนต้อเนื้อออกแล้ว จักษุแพทย์จะเลาะเอาเนื้อเยื่อบุตาขาวบางส่วนที่อยู่ใต้เปลือกตาบนมาแปะลงบนส่วนที่ผ่าต้อเพื่อปลูกเนื้อเยื่อในบริเวณที่ต้อถูกลอกออกไป
- ในกรณีที่ไม่สามารถใช้เนื้อเยื่อบุตาขาวของผู้เข้ารับการรักษาได้ จักษุแพทย์จะใช้เนื้อเยื่อหุ้มรกซึ่งผ่านการเตรียมและเก็บรักษาไว้ มาแปะแทนเนื้อเยื่อบุตาขาวบนส่วนที่ผ่าต้อออกไป
- เย็บเนื้อเยื่อที่นำมาแปะแทนเนื้อเยื่อบุตาขาวที่ลอกออกด้วยไหมหรือใช้กาวติดเนื้อเยื่อ (Fibrin Glue)
- จักษุแพทย์นัดตัดไหมภายใน 7-10 วัน
การดูแลตัวเองหลังผ่าตัดต้อเนื้อ
การดูแลหลังผ่าตัดลอกต้อเนื้อ มีข้อปฏิบัติดังนี้
- ในกรณีที่ผ่าตัดต้อเนื้อโดยใช้ยาสลบ จักษุแพทย์จะให้รอดูอาการที่โรงพยาบาลก่อนหากมีความผิดปกติ แต่ถ้าฟื้นโดยไม่มีความผิดปกติใดๆ สามารถกลับบ้านได้เลย
- หลังการผ่าตัดจักษุแพทย์จะให้ปิดที่ครอบตาไว้ประมาณ 2 วัน เมื่อครบเวลาจึงถอดออกได้
- เริ่มหยอดยาและทำความสะอาดดวงตาหลังจากเปิดที่ครอบตาแล้ว
- ใช้ยาหยอดตาและน้ำตาเทียมตามที่จักษุแพทย์สั่งอย่างสม่ำเสมอ จนกว่าจะครบเวลาที่จักษุแพทย์แจ้ง เพื่อให้แผลหายเร็วขึ้น
- ใช้น้ำเกลือชุบสำลีปลอดเชื้อบิดหมาด เช็ดทำความสะอาดรอบดวงตาเป็นประจำ ระวังอย่าเช็ดแรงเกินไป ให้เช็ดตาแบบนี้ทุกวัน เป็นเวลาประมาณ 1-2 สัปดาห์
- สัมผัสดวงตาให้น้อยที่สุด ก่อนสัมผัสดวงตาทุกครั้งควรล้างมือให้สะอาดและเช็ดให้แห้งก่อน
- ระวังอย่าให้น้ำหรือฝุ่นละอองเข้าตาในช่วง 1-2 สัปดาห์แรกหลังผ่าตัด เพราะอาจทำให้แสบตา เกิดการอักเสบ หรือติดเชื้อได้
- ห้ามขยี้ตาหรือใช้ผ้าทุกชนิดเช็ดตา เพื่อป้องกันแผลแยกและติดเชื้อที่ตา เป็นเวลา 2 สัปดาห์
- ไปพบจักษุแพทย์ตามการนัดหมายทุกครั้ง เพื่อตรวจดูแผลหลังผ่าตัด
- ในกรณีที่หยุดยาไปก่อนการผ่าตัดต้อเนื้อ สามารถรับประทานยาต่อได้หลังทำผ่าตัดไปแล้วอย่างน้อย 3 วัน หรือตามคำสั่งแพทย์
- หลีกเลี่ยงแสงแดด ลม ฝุ่น และควัน เพื่อป้องกันการเป็นซ้ำของต้อเนื้อ
- หากมีอาการผิดปกติ เช่น ตาแดงมาก ตาบวมเป็นเวลานาน ตาพร่ามัว เกิดภาพซ้อน ปวดตามากแม้ทานยาแก้อักเสบแล้ว มีขี้ตามากกว่าปกติ อาเจียน ควรรีบแจ้งแพทย์โดยเร็ว
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดต้อเนื้อ
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการผ่าตัดต้อเนื้อ ผู้เข้ารับการผ่าตัดอาจมีอาการดังต่อไปนี้
- มีโอกาสเกิดต้อเนื้อซ้ำ ในกรณีที่ไม่ได้ผ่าตัดต้อเนื้อด้วยการปลูกถ่ายเนื้อเยื่อ
- เนื้อเยื่อที่นำมาปลูกถ่ายอาจจะหลุดจากตำแหน่งเดิม ซึ่งอาจเกิดจากผู้เข้ารับการผ่าตัดเกา ขยี้ หรือสัมผัสดวงตาแรงจนเกินไป
- มองเห็นภาพซ้อนหลังการผ่าตัด เกิดได้ในกรณีที่พังผืดต้อเนื้อส่วนที่ตัดออกไม่หมดไปดึงรั้งกล้ามเนื้อตา ทำให้ดวงตาไม่สามารถขยับได้ตามปกติจนเกิดภาพซ้อนขึ้น
- อาการระคายเคืองจากแผลผ่าตัด
- แผลผ่าตัดเกิดการอักเสบ ติดเชื้อ
- เกิดฝ้าขาวที่กระจกตา ทำให้มองเห็นไม่ชัดเท่าที่ควร มักเกิดในกรณีที่เป็นต้อเนื้อมานานเกินไป อาการนี้ไม่สามารถรักษาได้ในขั้นตอนการผ่าตัดต้อเนื้อ หากมีอาการนี้ควรปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาต่อไป
ไม่ผ่าตัดต้อเนื้อได้ไหม?
การรักษาต้อเนื้อโดยไม่ต้องผ่าตัดสามารถทำได้โดยการใช้ยาหยอดตาซึ่งเป็นเพียงแค่การควบคุมอาการระคายเคืองและอาการอักเสบ แต่ไม่สามารถทำให้ก้อนต้อหายไปได้ หากต้องการให้ก้อนต้อหายไปและการระคายเคืองหายขาด จำเป็นต้องรักษาโดยการผ่าตัดลอกต้อเนื้อเท่านั้น และหากไม่ผ่าตัดต้อเนื้อก็จะทำให้มีอาการเคืองตา ตาอักเสบ ตาแดง อยู่เรื่อยๆ หรือมีเนื้อเยื่อของต้อเนื้อเข้าไปถึงกลางกระจกตาจนทำให้บดบังการมองเห็น และยังอาจส่งผลให้เกิดอาการตามัวจากการที่ต้อเนื้อดึงกระจกตาดำทำให้เกิดสายตาเอียงอีกด้วย
ผ่าตัดต้อเนื้อใช้เวลานานไหม?
การผ่าตัดต้อเนื้อโดยทั่วไปจะใช้เวลาไม่นาน โดยการผ่าตัดต้อเนื้อแบบปกติจะใช้เวลาเพียง 10-15 นาทีเท่านั้น ส่วนการผ่าตัดต้อเนื้อแบบปลูกเนื้อเยื่อจะใช้เวลาเพิ่มขึ้นเล็กน้อย คือประมาณ 30 นาที
ผ่าตัดต้อเนื้อเจ็บไหม?
การผ่าตัดต้อเนื้อจะมีการฉีดยาชาเฉพาะที่ ซึ่งก่อนฉีดจักษุแพทย์จะหยอดยาชาให้ก่อน ดังนั้นโดยทั่วไปจะไม่เจ็บมาก หลังจากยาชาออกฤทธิ์จะรู้สึกได้ว่าจักษุแพทย์กำลังทำอะไรบางอย่างกับดวงตา แต่จะไม่รู้สึกเจ็บ
ผ่าตัดต้อเนื้อพักฟื้นกี่วัน?
หลังผ่าตัดต้อเนื้อสามารถกลับไปพักฟื้นที่บ้านได้เลย โดยจักษุแพทย์จะใส่ที่ครอบตาปิดไว้ให้ประมาณ 2 วัน จึงจะเปิดตาได้ หลังจากนั้นโดยทั่วไปยังคงมีอาการระคายเคืองตา จนกว่าจะถึงวันนัดตัดไหมอีกประมาณ 7-10 วัน ระหว่างนี้ต้องระวังอย่าให้น้ำเข้าตาหรือขยี้ตา ผู้เข้ารับการผ่าตัดจะใช้ชีวิตได้ตามปกติหลังผ่าตัดไปแล้วประมาณ 2 สัปดาห์
ถึงแม้ว่าต้อเนื้อเป็นภาวะที่ไม่อันตรายร้ายแรงต่อดวงตา แต่ก็สามารถทำให้รู้สึกเคืองตา แสบตา ตามัวหรือตาแดง ส่งผลให้รู้สึกไม่สบาย เกิดผลกระทบกับการมองเห็น ทั้งยังเสียบุคคลิกภาพและอาจทำให้ขาดมั่นใจอีกด้วย ซึ่งอาการเหล่านี้สามารถรักษาให้หายขาดได้โดยการผ่าตัด