อาการปวดหัวไม่ว่าจะเกิดขึ้นที่บริเวณใดก็ตาม เช่น ขมับทั้ง 2 ด้าน ปวดด้านซ้ายหรือขวา หรือปวดหัวลามไปถึงบริเวณดวงตาหรือเบ้าตา ย่อมต้องมีสาเหตุและที่มาที่ไปของอาการ รวมถึงวิธีแก้ไขอาการปวดหัวข้างเดียว
การปวดหัวข้างขวาก็เช่นกันกับการปวดหัวบริเวณอื่น ซึ่งอาการปวดดังกล่าวอาจเกิดจากการปวดฟัน แล้วส่งผลกระทบมาถึงอาการปวดหัว หรือประสบปัญหาภาวะความเครียด ซึ่งผู้ป่วยจำเป็นต้องสังเกตตนเองอยู่เสมอ เพื่อจะได้ทราบว่าสาเหตุที่แท้จริงของการเจ็บหัวข้างขวานั้นเกิดจากอะไร และหาวิธีแก้ไขได้
สารบัญ
ลักษณะอาการปวดหัวข้างขวา
อาการปวดหัวซีกข้างขวาจะมีความรุนแรงและลักษณะที่แตกต่างกันไป โดยอาจเป็นไปตามต้นเหตุของโรค หรือความผิดปกติภายในร่างกาย ซึ่งสามารถแจกแจงได้ดังนี้
โรคไมเกรน (Migraine) เป็นโรคที่ทำให้เกิดอาการปวดหัวโดยอาจปวดเพียงข้างใดข้างหนึ่งเท่านั้น หรือปวดทั้ง 2 ข้างก็ได้ และอาจมีอาการปวดตุ้บๆ แปล๊บๆ เล็กน้อยร่วมด้วย หรือผู้ป่วยบางรายอาจรู้สึกปวดจี๊ดๆ เหมือนรู้สึกเจ็บเป็นจังหวะอยู่ในหัว และสุดท้ายก็จะปวดลามไปทั้งศีรษะ และอาจลามลงมาท้ายทอยได้อีกด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ โรคไมเกรนยังมักจะมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วยคือ ตาพร่ามัว อ่อนเพลีย คลื่นไส้ และหิวบ่อย แต่โรคไมเกรนจะไม่มีอาการปวดทั้งวัน โดยอาจปวดเป็นพักๆ แล้วหายไปภายใน 72 ชั่วโมง สาเหตุของโรคไมเกรนเกิดจากหลอดเลือดในสมองขยายตัว และสารเคมีในสมองหลั่งผิดปกติ
- หลอดเลือดที่ขมับอักเสบ
อาการหลอดเลือดที่ขมับอักเสบ มักเกิดกับผู้ที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป เป็นการปวดที่ขมับด้านใดด้านหนึ่ง หรือทั้ง 2 ด้านพร้อมกัน โดยจะเกิดขึ้นแบบฉับพลันและสามารถสังเกตได้จากการกดที่ขมับ แล้วมีอาการเจ็บไปตามแนวหลอดเลือดบริเวณกราม
นอกจากนี้ ผู้ป่วยยังอาจมีอาการอื่นๆ ร่วมด้วยก่อนที่จะมีอาการเจ็บปวดหัวข้างขวาจากสาเหตุนี้ เช่น ตาพร่ามัว มีไข้ และมีอาการอ่อนเพลีย
- ปวดแบบคลัสเตอร์
อาการปวดแบบคลัสเตอร์ (Cluster Headaches) เป็นอาการปวดหัวในช่วงเวลาเดิม เช่น ปวดช่วงเช้า หรือช่วงเย็นเป็นชุด ชุดละหลายครั้ง ระยะเวลาที่ปวดแต่ละครั้งจะประมาณ 1-3 ชั่วโมง และจะปวดนานติดต่อกันหลายสัปดาห์ หรืออาจเป็นเดือนก็ได้ และมักจะมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วย ดังนี้
- ปวดบริเวณขมับขวาหรือซ้าย
- น้ำตาและน้ำมูกไหล
- ลืมตาลำบาก
- รู้สึกกระสับกระส่าย
- ปวดหัวฝั่งข้างขวาพร้อมกับมีน้ำตาไหล
ปวดหัวฝั่งข้างขวาพร้อมกับมีน้ำตาไหล เป็นอาการปวดบริเวณขมับ หรือรอบๆ ดวงตาไม่นานมากจนถึง 10 นาที เกิดขึ้นบ่อยๆ ตั้งแต่จำนวน 20–100 ครั้งต่อวัน พร้อมๆ กับมีอาการน้ำตาไหล เป็นหวัด เปลือกตาบวม และหนังตาตก
วิธีแก้ บรรเทาอาการปวดหัวข้างขวาด้วยตนเอง
- นวดเบาๆ เพื่อผ่อนคลายบริเวณกล้ามเนื้อต้นคอหรือกดตรงขมับ จะช่วยให้อาการปวดทุเลาลงหรือผ่อนคลายได้
- พักสายตา จากการใช้สมาร์ทโฟน หรือคอมพิวเตอร์เป็นระยะๆ ด้วยการมองไปไกลๆ กระพริบตาถี่ๆ หรือเปลี่ยนอิริยาบถไปทำกิจกรรมอย่างอื่นบ้าง
- ออกกำลังกายเป็นประจำ สัปดาห์ละ 3–4 ครั้ง จะช่วยให้ร่างกายมีภูมิต้านทานโรคต่างๆ รวมทั้งอาการปวดศีรษะข้างขวาก็จะดีขึ้นตามไปด้วย
- พักผ่อนให้เพียงพอ การนอนหลับพักผ่อนที่เพียงพอต่ออย่างเหมาะสม อย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง จะช่วยป้องกันอาการปวดศีรษะอันเนื่องมาจากพักผ่อนน้อยได้
- การใช้ยา หากเป็นอาการปวดเพียงเล็กน้อย ผู้ป่วยสามารถรับประทานยาแก้ปวด หรือยาลดไข้ตามปกติได้ หรือหากเป็นเพราะโรคไมเกรน ก็ให้รับประทานยาแก้ไมเกรนตามอาการ หรือถ้าเป็นอาการปวดหัวแบบคลัสเตอร์ ให้ใช้ยากลุ่มทริปเทนต์ (Triptan) ร่วมกับการสูดดมออกซิเจน ก็จะช่วยบรรเทาอาการปวดหัวซีกข้างขวาได้เช่นกันแต่หากหลังรับประทานยาแล้วผู้ป่วยยังคงมีอาการต่อเนื่องหลายวัน และรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงมีอาการแทรกซ้อนอื่นๆ เช่น ตาพร่ามัว ปากเบี้ยว พูดไม่ชัด เดินเซ เกร็งชัก มีไข้ หนาวสั่น หมดสติ ผู้ป่วยจะต้องถูกรีบพาตัวไปพบแพทย์ทันที เพื่อรับการรักษาที่ถูกต้องโดยเร็วที่สุด
การรักษาด้วยสมุนไพรหรือสารสกัดจากธรรมชาติต่างๆ เพื่อช่วยบรรเทาอาการปวดหัวฝั่งข้างขวานั้น ควรได้รับคำแนะนำจากเภสัชกรหรือแพทย์เกี่ยวกับผลดีผลเสีย รวมทั้งอาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้
ซึ่งเราไม่ควรซื้อยามารับประทานเอง โดยปราศจากความรู้ความเข้าใจ เป็นการป้องกันไม่ให้เกิดผลกระทบกับสุขภาพตามมาภายหลัง
สิ่งที่ไม่ควรละเลยเมื่อปวดหัวข้างขวา
สิ่งที่ผู้มีอาการปวดศีรษะเป็นประจำไม่ควรละเลยคือ ต้องหมั่นสังเกตตัวเองอย่างละเอียดว่าเมื่อมีอาการปวดขึ้น แล้วมีอาการอย่างอื่นร่วมด้วยหรือไม่ เพื่อเป็นข้อมูลให้แพทย์วินิจฉัยได้ว่าอาการปวดศีรษะนั้นมาจากสาเหตุใด และจะได้ทำการรักษาอย่างถูกต้อง
เพราะการปวดหัวข้างขวา อาจหมายถึงสัญญาณของโรคร้ายบางชนิด เช่น โรคหลอดเลือดตีบตัน หรือโรคมะเร็ง
ทั้งนี้ อย่าวิตกกังวลจนเกินไป เพราะอาการปวดหัวที่เกิดขึ้นในหลายๆ ครั้งก็ไม่ได้เป็นอาการหรือสัญญาณที่ร้ายแรงขนาดนั้น มีวิธีแก้ไขอาการปวดได้หลายวิธี คุณสามารถดูปัจจัยดังต่อไปนี้ เพื่อตรวจเช็กว่าตนเองมีความเสี่ยงต่อโรคร้ายหรือความผิดปกติที่เป็นอันตรายหรือไม่
- อาการปวดศีรษะที่ถือว่ามีความเสี่ยงต่ำ ได้แก่
- อายุน้อยกว่า 30 ปี
- มีประวัติการปวดศีรษะแบบเดียวกันมาก่อน
- ตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติทางระบบประสาท
- ไม่มีการเปลี่ยนแปลงของแบบแผนการปวดศีรษะ หรือตรวจร่างกายไม่พบความผิดปกติใหม่
- ไม่มีโรค หรือภาวะร่วมที่ถือว่าเป็นความเสี่ยง เช่น การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี (Human Immunodeficiency Virus: HIV)
- อาการปวดศีรษะที่ถือว่ามีความเสี่ยง ได้แก่
- มีอาการของระบบอื่นร่วม เช่น มีไข้ ตาพร่ามัว น้ำหนักลด หรือหมดสติ
- มีโรคอื่นร่วม เช่น การติดเชื้อไวรัสเอชไอวี หรือโรคมะเร็ง
- มีอาการเกิดขึ้นอย่างเฉียบพลัน
- อาการเกิดขึ้นหลังอายุ 40 ปี
- มีการเปลี่ยนแปลงของแบบแผนการปวดศีรษะจากที่เคยเป็น
อาการปวดหัวข้างขวาเกิดได้จากหลายสาเหตุ ทั้งสาเหตุที่ร้ายแรง และไม่ร้ายแรง หากเกิดอาการติดต่อกันเป็นระยะเวลานาน หรือมีอาการตาพร่ามัว น้ำหนักลด หรือหมดสติร่วมด้วย ควรไปพบแพทย์เพื่อวินิจฉัยหาสาเหตุ และรับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ วิธีรักษาจะไม่ซับซ้อนมาก หากปล่อยทิ้งไว้ อาจทำให้อาการปวดหัวฝั่งข้างขวาร้ายแรงขึ้น รวมถึงสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการปวดพัฒนาจนกลายเป็นโรคร้ายแรงได้ และอาจทำให้รักษาอาการปวดหัวข้างขวายากขึ้น
รวมแพ็กเกจตรวจและรักษาปวดหัวข้างขวา
รวมแพ็กเกจตรวจและรักษาปวดหัวข้างซ้าย
เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ
คำถามเกี่ยวกับอาการปวดหัว