แพ้ถั่วเหลือง

อาหารที่มีถั่วเหลืองผสม ผู้แพ้ถั่วเหลืองควรหลีกเลี่ยง

หลายคนคงทราบว่า ถั่วเหลืองเป็นหนึ่งในอาหารที่ทำให้เกิดอาการแพ้ได้ง่าย แต่อาจไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะหลีกเลี่ยงการรับประทานถั่วเหลือง เนื่องจากถั่วเหลืองจัดเป็นหนึ่งในส่วนประกอบสำคัญของอาหารหลายชนิดในภูมิภาคเอเชีย รวมถึงอาหารไทยด้วย

เราสามารถหาอาหารที่มีส่วนประกอบเป็นถั่วเหลืองได้ตั้งแต่อาหารสำเร็จรูปไปจนถึงอาหารปรุงใหม่ของเอเชียหลายเมนู และเพราะถั่วเหลืองจัดเป็นวัตถุดิบสำคัญของอาหารเอเชียหลายชนิด ด้วยเหตุนี้จึงทำให้มีผู้คนจำนวนมากเกิดอาการแพ้ถั่วเหลืองขึ้น เพราะไม่รู้มาก่อนว่า ในอาหารที่ตนเองรับประทานอยู่นั้น มีส่วนผสมของถั่วเหลืองอยู่ด้วย

ชื่ออื่นๆ ของถั่วเหลือง

นอกจากชื่อถั่วเหลือง หรือ “Soybean” ที่ทุกคนรู้จักทั่วไป ยังมีชื่อเรียกอื่นๆ ของถั่วเหลือง หรือาหารที่มีส่วนผสมของถั่วเหลืองที่คุณควรรู้อีก เช่น

  • เต้าหู้ (Bean curd)
  • ถั่วงอกถั่วเหลือง (Soy Bean Sprouts)
  • ถั่วแระญี่ปุ่น หรืออีดามามี (Edamame)
  • ผงถั่วเหลืองคั่วบด หรือคินาโกะ (Kinako)
  • ซอสถั่วเหลืองหมัก หรือซอสมิโสะ (Miso)
  • ถั่วเน่าญี่ปุ่น หรือนัตโตะ (Natto)
  • นิมาเมะ (Nimame) หรือ ถั่วเหลืองปรุงรส
  • กากถั่วเหลือง หรือโอการะ (Okara)
  • ซอสถั่วเหลืองโชยุ (Shoyu)
  • ซอสถั่วเหลือง (Soy Sauce)
  • ต้นถั่วเหลือง หรือโซยะ (Soya)
  • ซอสถั่วเหลืองทามาริ (Tamari)
  • อาหารหมักจากถั่วเมล็ดแห้ง (Tempeh)
  • เต้าหู้โทฟุ (Tofu)
  • ฟองเต้าหู้ หรือยูบะ (Yuba)

อาหารที่มักจะมีส่วนผสมของถั่วเหลือง

รายการอาหารต่อไปนี้มักจะมีถั่วเหลืองเป็นส่วนประกอบ ผู้ที่แพ้อาหารประเภทถั่วเหลืองต้องระมัดระวังเป็นพิเศษเพราะบางครั้งคุณจะไม่สามารถขอดูส่วนผสมทั้งหมดได้

  • อาหารเอเชีย เช่น ในประเทศเกาหลี ญี่ปุ่น จีน ไทย และอื่นๆ
  • ขนมอบและส่วนผสมของขนมอบ
  • ซุปก้อน
  • ลูกอม
  • ธัญพืชซีเรียล
  • ไก่ที่ผ่านการแปรรูปร่วมกับซุปไก่
  • ซุปไก่
  • ช็อกโกแลต
  • เนื้อสัตว์
  • ธัญพืชอัดแท่ง
  • ผลิตภัณฑ์ที่เลียนแบบผลิตภัณฑ์จากนม เช่น นมถั่วเหลือง ไอศกรีมสำหรับผู้ไม่รับประทานเนื้อสัตว์ (Vegan Ice cream)
  • นมสำหรับทารก
  • เนยเทียม
  • มายองเนส
  • ผลิตภัณฑ์จากเนื้อสัตว์ที่แปรรูป เช่น แฮมเบอร์เกอร์ ไส้กรอก
  • อาหารเสริมอัดเม็ด วิตามินเสริมอัดเม็ด
  • เนยถั่ว และผลิตภัณฑ์ทดแทนเนยถั่ว
  • ผงโปรตีน
  • ซอสน้ำเกรวี่ และน้ำซุป
  • น้ำผักปั่น
  • ซุปผัก
  • อาหารมังสวิรัติที่มีการเลียนแบบเนื้อสัตว์

ข้อควรระวังเกี่ยวกับการับประทานนมถั่วเหลือง

หลายคนมักเข้าใจผิดว่า หากแพ้นมวัวก็แสดงว่า แพ้น้ำตาลแลคโตส (Lactose) และให้หันไปรับประทานนมถั่วเหลืองแทน แต่ความจริงแล้ว คุณอาจแพ้โปรตีนนมวัวต่างหากซึ่งโปรตีนนมวัวก็เป็นส่วนผสมอยู่ในนมถั่วเหลืองเช่นกัน

ดังนั้นหากมีอาการแพ้นมวัว ให้ปรึกษาแพทย์ว่า สามารถรับประทานนมอะไรได้บ้าง จะเป็นวิธีที่ปลอดภัยที่สุด และควรเข้ารับการทดสอบภูมิแพ้อาหาร เพื่อให้ทราบว่ายังมีถั่วชนิดอื่นๆ ที่แพ้อีกหรือไม่

อาการของผู้แพ้ถั่วเหลืองและถั่วอื่นๆ 

อาการต่อไปนี้ไม่ใช่แค่ในผู้ที่แพ้ถั่วเหลืองเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงถั่วชนิดอื่นๆ ด้วย ได้แก่

  • ปวดท้อง
  • ท้องเสีย
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • หายใจลำบาก หรือหายใจไม่ออก
  • คันปาก
  • ผื่นขึ้นตามผิวหนัง
  • ใบหน้า แขน ขาบวม
  • จังหวะการเต้นของหัวใจผิดปกติ
  • ช็อกจากการแพ้ เป็นอาการที่มักจะพบเสมอในผู้ป่วยที่ภูมิแพ้ถั่ว

วิธีป้องกันอาการแพ้ถั่วเหลือง

  • วิธีที่ดีที่สุดสำหรับการป้องกันอาการแพ้ถั่วเหลืองคือ หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหาร หรือผลิตภัณฑ์ที่มีส่วนผสมของถั่วเหลืองทุกชนิด
  • เวลาไปรับประทานอาหารนอกบ้านให้สอบถามทางร้านให้แน่ใจก่อนว่า “อาหารที่ต้องการสั่งมีส่วนผสมของถั่วเหลืองหรือไม่”
  • หากมีลูก หรือเด็กเล็กในบ้านที่แพ้ถั่วเหลือง ให้แจ้งทางโรงเรียนเกี่ยวกับอาการแพ้ ประเภทอาหารที่เด็กสามารถรับประทานได้ด้วย
  • ระมัดระวังทุกครั้งที่ปรุงอาหาร เพื่อหลีกเลี่ยงวัตถุดิบ ซอส หรือส่วนผสมอื่นๆ ที่มีส่วนผสมของถั่วเหลือง

อาการแพ้ถั่วเหลืองแม้จะรุนแรงแต่สามารถป้องกันได้ เพียงต้องใส่ใจ เคร่งครัด และมีวินัยกับตนเองเสมอ ไม่หวั่นไหวกับอาหารที่มีส่วนผสมของถั่วเหลืองถึงแม้ว่าจะมีกลิ่น หน้าตา น่ารับประทานอย่างไร


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล

Scroll to Top