กินเค็มมากไป ไม่ใส่ใจสุขภาพ จุดจบอาจหยุดที่ “โรคไต”

“กินเค็มมากๆ ระวังเป็นโรคไตนะ” ประโยคนี้จริงมากน้อยแค่ไหน มีปัจจัยอะไรอีกที่ทำให้เราเสี่ยงเป็นโรคไต แล้วจะรู้ได้อย่างไรว่ากำลังจะป่วยเป็นโรคไต หากเป็นแล้วจะรักษาได้หรือไม่ ร่วมสำรวจข้อมูลที่ทุกคนควรรู้เกี่ยวกับโรคไต

โรคไตคืออะไร?

โรคไต (Kidney Disease) คือ ชื่อเรียกภาวะผิดปกติเมื่ออวัยวะไตไม่สามารถขับของเสียหรือสารพิษออกจากร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนส่งผลต่อระบบอื่นๆ ของร่างกายซึ่งมีความสัมพันธ์กับไต เช่น

  • ความสมดุลของน้ำและเกลือแร่ในร่างกาย
  • ความสมดุลของกรด-ด่างในเลือด
  • การกรองของเสีย สารพิษ สารเคมีจากยาออกจากร่างกาย
  • การทำงานของฮอร์โมนอีริโทรโพอิติน (Erythropoietin) ซึ่งทำหน้าที่เสริมสร้างเม็ดเลือดแดงให้เพียงพอ
  • การสร้างวิตามินดีซึ่งเป็นวิตามินสำคัญในการเสริมความแข็งแรงของมวลกระดูก
  • ความดันโลหิต
  • ระบบการทำงานของหัวใจและปอด

โรคไตมีอะไรบ้าง?

จริงๆ แล้วทุกความผิดปกติที่เกิดขึ้นกับไตสามารถนับเป็นโรคไตได้ทั้งนั้น เพียงแต่มีชื่อเรียกที่ต่างกันไปตามกลไกการเกิดโรค โดยโรคไตที่พบได้บ่อยๆ ได้แก่

  • โรคไตเรื้อรัง (Chronic Kidney Disease)
  • โรคไตวายเฉียบพลัน (Acute Kidney Failure)
  • โรคไตอักเสบ (Glomerular Disease)
  • โรคกรวยไตอักเสบ (Pyelonephritis)
  • โรคนิ่วในไต (Kidney Stones)
  • โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ (Cystitis)

โรคไตเกิดจากอะไร?

โรคไตชนิดต่างๆ เกิดได้จากหลายปัจจัย ดังนี้

  • โรคประจำตัวบางชนิด เช่น โรคเบาหวาน โรคความดันโลหิตสูง โรคพุ่มพวง โรคภูมิคุ้มกันทำลายตัวเอง
  • อายุที่มากขึ้น โดยผู้ที่อายุ 60 ปีขึ้นไปมักเสี่ยงเป็นโรคไตได้มากกว่าคนที่อายุน้อยๆ
  • มีประวัติผู้ใกล้ชิดทางสายเลือดเคยป่วยเป็นโณคไตมาก่อน
  • พฤติกรรมชอบกลั้นปัสสาวะ ซึ่งทำให้เสี่ยงติดเชื้อในทางเดินปัสสาวะได้ และทำให้ไตอักเสบจนนำไปสู่การเกิดโรคไตในภายหลัง
  • พบเนื้องอกหรือเชื้อมะเร็งในไต
  • การกินยาบางกลุ่ม หรือการกินสมุนไพรเป็นระยะเวลานานเกินไป
  • การกินอาหารรสเค็มหรือมีโซเดียมสูงมากเกินไป ทำให้ไตขับโซเดียมส่วนเกินไม่ทัน จนไปสะสมอยู่ในเลือด ทำให้ร่างกายกักเก็บน้ำเอาไว้มากขึ้น ไตจึงต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อขับน้ำที่เป็นส่วนเกินออกไปจากร่างกาย ซึ่งหากไตทำงานหนักอย่างต่อเนื่อง ก็จะนำไปสู่ความเสื่อมที่เร็วขึ้น และทำให้เกิดโรคไตตามนั่นเอง

โรคไตมีกี่ระยะ?

ในผู้ที่ป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง แพทย์จะแบ่งระยะของโรคนี้ออกเป็น 5 ระยะ โดยแบ่งตามประสิทธิภาพของอัตราการกรองของเสียของไต ได้แก่

  1. โรคไตเรื้อรังระยะที่ 1 มีค่าการทำงานของไต (eGFR) มากกว่า 90 มิลลิลิตรต่อนาที
  2. โรคไตเรื้อรังระยะที่ 2 มีค่าการทำงานของไต (eGFR) ประมาณ 60-89 มิลลิลิตรต่อนาที
  3. โรคไตเรื้อรังระยะที่ 3 มีค่าการทำงานของไต (eGFR) ประมาณ 59-30 มิลลิลิตรต่อนาที
  4. โรคไตเรื้อรังระยะที่ 4 มีค่าการทำงานของไต (eGFR) ประมาณ 15-29 มิลลิลิตรต่อนาที
  5. โรคไตเรื้อรังระยะที่ 5 มีค่าการทำงานของไต (eGFR) น้อยกว่า 15 มิลลิลิตรต่อนาที

ในช่วงระยะที่ 1 ของโรคไตเรื้อรัง ระบบการกรองของเสียและสารพิษของไตจะยังไม่ผิดปกติมากนัก แต่ผู้ป่วยก็ต้องรีบเข้ารับการรักษาตั้งแต่เนิ่นๆ เนื่องจากหากโรคไตเรื้อรังเข้าสู่ระยะที่ 4 หรือ 5 แล้ว บทสรุปของโรคนี้อาจจบลงที่ผู้ป่วยมีอาการไตวาย ต้องฟอกไต หรือปลูกถ่ายไตเพื่อชดเชยไตที่เสื่อมตัวจนไม่สามารถรักษาให้ดีขึ้นได้อีก

อาการของโรคไต

เมื่อไตไม่สามารถกรองของเสียหรือสารพิษออกจากร่างกายได้อีก และยังไม่สามารถซ่อมแซมตนเองให้กลับมาทำงานได้ตามปกติ ผู้ป่วยโรคไตจะเริ่มมีอาการแสดงที่ผิดปกติออกมา โดยอาการที่พบได้บ่อย ได้แก่

  • มีปัญหาด้านการนอนหลับ
  • อ่อนเพลีย ไม่มีแรง
  • น้ำหนักขึ้น
  • ตัวบวม ขาบวม
  • ผิวแห้งและมีอาการคัน
  • คลื่นไส้อาเจียน
  • ปากขมง่าย
  • เบื่ออาหาร
  • ปวดศีรษะ
  • ปวดหลัง สีข้าง หรือบั้นเอว
  • เป็นตะคริว
  • กล้ามเนื้ออ่อนแรง
  • ความดันโลหิตสูงขึ้น
  • ประจำเดือนมาไม่ปกติ
  • ความต้องการทางเพศลดลง
  • ปัสสาวะบ่อยในช่วงกลางคืน
  • ปัสสาวะมีสีขุ่นหรือมีเลือดปน

การวินิจฉัยโรคไต

การตรวจวินิจฉัยโรคไตสามารถทำได้หลายวิธี ขึ้นอยู่กับดุลยพินิจของแพทย์ โดยวิธีที่นิยมตรวจแบ่งออกได้ 2 วิธี ได้แก่

  • เจาะเก็บตัวอย่างเลือด เพื่อหาค่าของเสียที่เกิดจากการเผาผลาญของกล้ามเนื้อ (Creatinine) อาจรวมถึงเพื่อดูความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด แร่ธาตุและสารละลายในเลือด น้ำตาลในที่สะสมอยู่ในกระแสเลือดด้วย
  • เก็บตัวอย่างปัสสาวะ เพื่อหาค่าสารโปรตีนและเม็ดเลือดแดงซึ่งโดยทั่วไปจะไม่ปะปนอยู่ในปัสสาวะ แต่หากตรวจพบ ก็แสดงว่าไตคัดกรองของเสียไม่หมด จึงมีสารเหล่านี้เจือปนอยู่ในปัสสาวะด้วย
  • การตรวจอัลตราซวด์ เพื่อดูภาพความผิดปกติของไต รวมถึงอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ

โรคไตรักษาอย่างไร?

การรักษาโรคไตจะเป็นการรักษาแบบประคองอาการ เนื่องจากโรคนี้ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ โดยแบ่งออกได้ 2 แนวทางใหญ่ๆ ซึ่งผู้ป่วยบางรายอาจใช้การรักษาเพียง 1 แนวทางก็พอ หรืออาจต้องใช้ทั้ง 2 แนวทางร่วมกันเพื่อประคองอาการของโรคไตไม่ให้รุนแรงจนเกินไป ได้แก่

1. การรักษาเพื่อประคองความเสื่อมตัวของไต

เป็นการรักษาที่เน้นชะลอให้ไตที่เริ่มเสื่อมตัวอยู่ในระดับคงที่ โดยส่วนมากจะใช้วิธีดังต่อไปนี้

  • ใช้ยารักษาไปตามอาการหรือโรคประจำตัวที่ทำให้เกิดโรคไต เช่น ยาขับปัสสาวะ ยาลดความดันโลหิต ยาลดระดับไขมันในเลือด
  • ปรับกิจวัตรการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น งดสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กินอาหารที่มีประโยชน์ หลีกเลี่ยงกินอาหารที่มีโซเดียมให้น้อย ไม่กลั้นปัสสาวะ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ
  • ต้องลดน้ำหนักให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม หากน้ำหนักเกินเกณฑ์หรือมีภาวะอ้วน

2. การรักษาเพื่อทดแทนความเสื่อมตัวของไต

เป็นวิธีรักษาในกรณีที่ไตของผู้ป่วยเสื่อมตัวรุนแรงจนไม่สามารถทำงานล้างของเสียในร่างกายได้อีกต่อไป ในกรณีนี้แพทย์จะแนะนำให้ผู้ป่วยฟอกเลือดด้วยเครื่องฟอกไตเทียม เพื่อช่วยล้างของเสียหรือน้ำส่วนเกินที่ค้างอยู่ในร่างกายแทนไตที่ทำงานไม่ได้ หรือหากล้างด้วยเครื่องฟอกไตเทียมไม่ได้ ก็อาจเป็นการล้างไตทางช่องท้องแทน

หรืออีกวิธีก็คือ การปลูกถ่ายไต โดยแพทย์จะนำไตที่มีประสิทธิภาพจากผู้ที่บริจาคอวัยวะ แล้วผ่าตัดปลูกถ่ายทดแทนไตที่เสียหายให้กับผู้ป่วย

เป็นโรคไตห้ามกินอะไร?

เมื่อป่วยเป็นโรคไต ไม่ได้หมายความว่าผู้ป่วยจะต้องไม่กินอาหารที่มีรสเค็มเท่านั้น แต่ยังรวมถึงอาหารที่มีส่วนประกอบของโซเดียม ซึ่งอาจไม่ได้มีรสชาติเค็มเสมอไป โดยรายชื่ออาหารที่ผู้ป่วยโรคไตควรงดให้มากที่สุด ได้แก่

  • อาหารที่มีรสเค็ม
  • อาหารหมักดอง
  • เนื้อสัตว์แปรรูปหรือเนื้อสัตว์ปรุงรส เช่น ไส้กรอก หมูยอ แฮม หมูแผ่น
  • ขนมขบเคี้ยว ขนมอบกรอบ
  • อาหารกระป๋อง
  • ซอสปรุงรส น้ำจิ้ม น้ำแกงราดข้าว
  • อาหารที่มีส่วนประกอบของเนยนม ครีม
  • เนื้อสัตว์ติดมัน เช่น หมูสามชั้น คอหมูย่าง
  • อาหารที่มีไขมันอิ่มตัวสูงหรือมีคอเลสเตอรอลสูง
  • อาหารที่มีโพแทสเซียมสูง

โรคไตป้องกันได้ไหม?

เราสามารถป้องกันโอกาสเป็นโรคไตได้ง่ายๆ ผ่านการระมัดระวังพฤติกรรมการใช้ชีวิตอย่างเหมาะสม เช่น

  • กินอาหารทุกมื้ออย่างเหมาะสม โดยเฉพาะอาหารในกลุ่มที่มีโซเดียมสูงทุกชนิด ควรระมัดระวังไม่กินมากเกินปริมาณที่ร่างกายต้องการ หรืออยู่ที่ไม่เกิน 2,000 มิลลิกรัมต่อวันซึ่งโดยทั่วไป ประชากรชาวไทยมักรับโซเดียมเข้าร่างกายเกินกว่าปริมาณที่เหมาะสมอยู่แล้ว เนื่องจากเป็นประเทศที่มีการปรุงอาหารรสจัดจ้านและเผ็ดเป็นส่วนมาก จึงต้องมีการระมัดระวังที่เข้มงวดมากขึ้นไปอีก
  • ระมัดระวังไม่ให้สุขภาพตนเองเผชิญกับโรคประจำตัวอื่นๆ ที่เสี่ยงทำให้เกิดโรคไตในภายหลังได้ เช่น โรคเบาหวาน โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคกระเพาะปัสสาวะอักเสบ
  • เดินทางไปตรวจสุขภาพกับแพทย์ทุกปีไม่ให้ขาด เนื่องจากในรายการตรวจสุขภาพแทบทุกรูปแบบจะมีการเจาะเก็บตัวอย่างเลือดเพื่อตรวจดูค่าการทำงานและปริมาณสารต่างๆ ที่อยู่ในร่างกาย ซึ่งบ่งชี้ถึงความเสี่ยงการเกิดโรคต่างๆ ได้ รวมถึงโรคไตด้วย
  • หลีกเลี่ยงไม่กินยาชนิดใดชนิดหนึ่งมากเกินความจำเป็น โดยเฉพาะยาแก้ปวดลดการอักเสบ (Non-Steroidal Anti-Inflammatory: NSAIDs) ซึ่งหากกินสะสมอย่างต่อเนื่องก็สามารถกระทบต่อการทำงานของไตได้

Scroll to Top