“คนแก่หลังโก่ง” เป็นภาพที่เห็นชินตา จนยอมรับกันว่าเป็นเรื่องธรรมดา เป็นส่วนหนึ่งของการเกิด แก่ เจ็บ ตาย กระดูกที่เคยค้ำลำตัวให้ตรงเป็นสง่ามานานเกินครึ่งศตวรรษ ถึงวาระที่สังขารล่อง กระดูกผุกร่อนลง ทานน้ำหนักที่เคยรับไว้ไม่ไหว หลังย่อมโค้งงอจนต้องหาไม้เท้ามาช่วยเสริมโครงร่างที่ชำรุดไปแล้ว
สัญญาณของกระดูกผุ
มาบัดนี้ นักโภชนาการกลับไม่ยอมรับว่า หลังจะต้องโค้งโก่งไปตามวัย คนแก่ที่หลังไม่โก่งก็มีที่ยังเดินเหินคล่องแคล่ว ทั้งไม่เคยต้องพึ่งพอไม้เท้าก็มีถมไป หลังโก่งกลายเป็นอาการที่บอกภาวการณ์ขาดสารอาหาร ปริมาณแคลเซี่ยม ซึ่งเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้กระดูกแข็งแกร่งพร่องไป กระดูกสันหลังจึงไม่สามารถรับน้ำหนักตัว หลังโค้งค่อมเป็นสัญญาณอันตรายบ่งชัดว่ากระดุกเริ่มกร่อนไม่เพียงเฉพาะกระดูกสันหลังเท่านั้น ที่ข้อมือ สะโพกและส่วนอื่นก็คงจะเปราะไปด้วย ไม่ช้าไม่นานกระดูกอาจจะหัก
เมื่อหกล้มเคยรู้สึกเพียงขัดยอก ซึ่งจะหายไปในเวลาอันสั้น ต่อไปนี้หกล้มเลื่อนไถลเพียงเล็กน้อยจะกลายเป็นเรื่องสาหัสถึงขั้นกระดูกหัก บางครั้งไม่ต้องรอให้หกล้ม กระดูกชิงหักโค่นเสียก่อนจึงทำให้ล้มลง ผู้ชราที่เคยดูแลตัวเองได้โดยไม่ต้องพึ่งพาลูกหลาน กลับกลายเป็นคนพิการ รักษาให้หายก็ยากและต้องพักฟื้นอยู่นาน ตามสถิติร้อยละยี่สิบของผู้ชราที่กระดูกหัก เสียชิตภายในหนึ่งปี เพราะมีโรคหรืออาการอื่นแทรกซ้อน
ในวัยเติบโต อัตราการสร้างสูงกว่าการรื้อ กระดูกจึงใหญ่ขึ้นและยึดยาวออกไปตามวัย เวลาประสบอุบัติเหตุกระดูกหัก เข้าเฝือกไว้จึงหายเร็วกว่าวัยอื่น ความยาวของกระดูกเพิ่มขึ้น ส่วนสูงจึงเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ จนกระทั่งอายุประมาณ 18 ปี
หลังจากนั้นส่วนสูงจะคงที่ ความยาวของกระดูกไม่เปลี่ยนแปลง แต่มีแคลเซี่ยมเกาะในกระดูกมากขึ้น และมากที่สุดเมื่ออายุ 25 ปี ในวัยหนุ่มสาวกระดูกจึงแน่นทึบมากและแข็งแกร่งที่สุดต่อเมื่ออายุ 35 ปีแล้ว อัตราการรื้อจะเริ่มสูงขึ้นกว่าอัตราการสร้าง เซลล์กระดูกเสียแคลเซี่ยมมากขึ้น สร้างเซลล์ใหม่ได้แต่ไม่ทันกระดูกจึงเริ่มเปราะ
นอกจากกระดูกและฟันแล้ว ร่างกายยังต้องการให้แคลเซี่ยมในการทำงานของกล้ามเนื้อ ทั้งระดับแคลเซี่ยมในเลือดจะต้องคงที่เสมอ หากไม่ได้รับจากอาหารอย่างเพียงพอ ย่อมต้องดึงออกจากกระดูกมาไว้ในเลือด กระดูกที่เคยแน่นทึบเริ่มกร่อนทีละน้อย มีโพรงและรูเหมือนเสาไม้ถูกปลวกกินทีละน้อย ทีแรกเป็นเพียงรูเล็ก ๆ เมื่อไม่หาทางป้องกันหรือแก้ไข เสาย่อมผุมากขั้นทุกที มีรูพรุนเต็มไปหมด รับน้ำหนักบ้านไว้ไม่อยู่ ค่อยซวนเซทรุดลงและพังโครมในที่สุด
การป้องกันโรคกระดูกเปราะเริ่มตั้งแต่วัยเด็ก
กระดูกที่สร้างไว้อย่างแข็งแกร่งและแน่นทึบย่อมไม่ผุง่าย เป็นที่รู้กันว่าเด็กต้องกินนมเพื่อให้ได้แคลเซี่ยมไปสร้างกระดูกและฟัน นมเป็นอาหารที่ให้แคลเซี่ยมมากที่สุด เด็กกินนมไม่เพียงพอจึงมักขาดแคลเซี่ยม เนื่องจากต้องพึ่งอาหารอื่นที่มีแคลเซี่ยมน้อยกว่านม เช่น ผักใบเขียว ถั่วเมล็ดแห้ง ปลาทั้งกระดูก เป็นต้น เด็กขาดแคลเซี่ยมเป็นปัญหาโภชนาการที่สำคัญอย่างหนึ่งของไทย
พ่อแม่ที่พอมีกำลังทรัพย์สามารถซื้อนมไว้เป็นเครื่องดื่มประจำบ้าน มักจะดูแลให้ลูกหลานดื่มนมอย่างเพียงพอ ครั้งเมื่อลูกโตเป็นหนุ่มสาวแล้วมักจะเลิกราไป เพราะเข้าใจผิดว่าเมื่อร่างกายหยุดเติบโตแล้วจะไม่ต้องการแคลเซี่ยมอีก ส่วนสาวรุ่นใหม่มักเลิกดื่มนมเพราะกลัวอ้วน จึงพลาดโอกาสที่จะสะสมแคลเซี่ยมไว้ในกระดูกให้ได้มากที่สุด ผู้ใหญ่ส่วนมากก็ไม่ชอบนม หลายคนไม่เคยกินนมอีกหลังจากหย่านมแม่ บางคนกลัวคอเลสตอรอลในนม บางคนกินนมแล้วท้องเสียเพราะไม่มีน้ำย่อยน้ำตาลในนม จึงสรุปว่าคนไทยส่วนใหญ่ขาดแคลเซี่ยม
อนึ่ง ผู้หญิงสูญเสียแคลเซี่ยมในกระดูกได้รวดเร็วกว่าผู้ชาย ผู้หญิงแก่หลังโก่ง จึงมีมากกว่าผู้ชายแก่หลังโก่ง โดยเฉพาะเมื่อหมดประจำเดือนแล้ว เข้าใจกันว่าเพราะรังไข่หยุดผลิตฮอร์โนเอสโตรเจน ฉะนั้นในสหรัฐอเมริกาจึงใช้ฮอร์โมนป้องกันโรคกระดูกผุ เนื่องจากฮอร์โมนนี้อาจทำให้เกิดมะเร็งในมดลูก จึงต้องใช้อย่างระมัดระวัง หรือใช้ผสมกับฮอร์โมนโปรเจสเตอร์โรน
แคลเซี่ยมชนิดเม็ด
ตัวยาในแคลเซี่ยมชนิดเม็ดได้แก่ แคลเซี่ยมคาร์บอเนต ซึ่งเหมือนกับชอล์กเขียนกระดาน แคลเซี่ยมแลคเตต และแคลเซี่ยมกลูโคเนต ร่างกายดูดซึมด้วยยาทั้งสามอย่างได้ในปริมาณใกล้เคียงกัน จะเลือกตัวยาใดก็ได้ ควรกินอย่างน้อยวันละ 500 มิลลิกรัม อย่าซื้อแคลเซี่ยมที่ทำจากกระดูกสัตว์ หรือเปลือกหอยป่น เพราะอาจได้รับอันตรายจากพิษตะกั่ว
นอกจากกินแคลเซี่ยมเสริมแล้ว ควรออกกำลังกายช่วยอีกแรงหนึ่ง น่าสังเกตว่า ตราบใดที่กระดูกต้องแบกน้ำหนัก กระดูกมักจะแข็งแรงและถนอมแคลเซี่ยมไว้ในเซลล์อย่างมีประสิทธิภาพ เมื่อล้มหมอนนอนเสื่อ เซลล์กระดูกจะสูญเสียแคลเซี่ยมอย่างรวดเร็ว เช่นเดียวกับนักอวกาศสูญเสียแคลเซี่ยม เมื่ออยู่ในสภาพปราศจากน้ำหนัก คนอ้วนซึ่งบังคับให้กระดูกแบบน้ำหนักมากกว่าคนผอมจึงมีกระดูกที่แข็งแรงกว่า คนอ้วนที่หลังโก่งจึงหายาก ทั้งนี้มิได้หมายความว่าจะชักชวนกันให้อ้วน แต่ใคร่ชักชวนให้ออกกำลังกายที่กระดูกต้องแบกน้ำหนักไว้ เช่น เดิน วิ่ง ขึ้นบันได กระโดดเชือก เป็นต้น การว่ายน้ำไม่มีผลต่อกระดูกเพราะน้ำพยุงตัวไว้ ผู้ชราที่ยังพอขึ้นบันไดไหว เพียงหมั่นขึ้นบันไดวันละหลายเที่ยว ก็เป็นการช่วยป้องกันการสูญเสียแคลเซี่ยมได้มาก