เส้นเลือดขอด เป็นภาวะที่พบได้ทั่วไป โดยเฉพาะในผู้ใหญ่ และมักเกิดในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย แม้ว่าโดยทั่วไปแล้วเส้นเลือดขอดจะไม่ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่อาจจะส่งผลต่อความมั่นใจของผู้ที่เป็นค่อนข้างมาก
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีหลากหลายเทคนิคที่ช่วยรักษาเส้นเลือดขอดอย่างได้ผล ตั้งแต่วิธีง่ายๆ อย่างปรับพฤติกรรมด้วยตนเอง รักษาด้วยการฉีดยาหรือใช้อุปกรณ์ทางการแพทย์ ไปจนถึงผ่าตัดเปิดเพื่อลอกเอาเส้นเลือดขอดออกไป บทความนี้จะมาบอกรายละเอียดทุกแง่มุมเกี่ยวกับเส้นเลือดขอดให้ทุกคนได้ทราบกัน
สารบัญ
เส้นเลือดขอด คืออะไร?
เส้นเลือดขอด (Varicose Veins) คือ ภาวะที่เส้นเลือดดำขยายโป่งขึ้นหรือมีรูปร่างบิดเบี้ยวไปจากปกติ เส้นเลือดขอดเกิดที่บริเวณไหนก็ได้ในร่างกาย แต่พบมากที่ผิวหนังบริเวณขา ข้อเท้า หรือเท้า เนื่องจากการลุกยืน เดิน เป็นการเพิ่มความดันเส้นเลือดดำบริเวณส่วนล่างของร่างกาย
ในทางการแพทย์ เส้นเลือดขอดไม่ใช่ภาวะอันตรายร้ายแรง พบได้ใน 1 ใน 3 ของประชากรวัยผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มักส่งผลกระทบต่อความมั่นใจเป็นหลัก หรือบางครั้งอาจมีอาการไม่สบายตัว ปวดขา เมื่อยขาได้ง่าย แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ ไม่ได้ทำการรักษา ก็มีโอกาสที่จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพที่รุนแรงขึ้นได้ ซึ่งจะกล่าวถึงในส่วนถัดไป
สาเหตุของภาวะเส้นเลือดขอด คืออะไร?
เส้นเลือดดำของคนเราเป็นทางลำเลียงเลือดเข้าสู่หัวใจ โดยจะมีลิ้น (Valve) อยู่เป็นระยะ คอยเปิด-ปิดให้เลือดไหลไปในทิศทางที่ถูกต้อง เมื่อไหร่ที่ลิ้นเหล่านี้เสื่อม อ่อนแอลง หรือเกิดความเสียหาย บริเวณนั้นก็จะเกิดภาวะเส้นเลือดขอดขึ้นได้
ทั้งนี้พฤติกรรมที่ทำให้ลิ้นในเส้นเลือดดำเสียหายและผนังหลอดเลือดดำอ่อนแอลง ได้แก่ นั่งหรือยืนนานๆ ต่อเนื่อง ความดันเลือดที่ขาจึงเพิ่มสูงขึ้น และส่งผลต่อหลอดเลือด จนกลายเป็นเส้นเลือดขอดในที่สุด
ปัจจัยอื่นๆ ที่ทำให้เสี่ยงเป็นเส้นเลือดขอด เช่น
- ภาวะน้ำหนักเกินหรือเป็นโรคอ้วน
- อายุที่มากขึ้น
- เพศหญิง
- การยื่นหรือนั่งเป็นเวลานานบ่อยๆ
- การบาดเจ็บที่ขา
- การตั้งครรภ์
- การสูบบุหรี่
- รับประทานยาคุมกำเนิด หรือยาทดแทนฮอร์โมน
อาการของเส้นเลือดขอด เป็นอย่างไร?
เส้นเลือดขอดสังเกตได้ด้วยตาเปล่า โดยมักมองเห็นเส้นเลือดใต้ผิวหนังมีลักษณะบวม คด โดยเส้นเลือดที่เห็นนั้นอาจเป็นสีออกม่วงหรือฟ้า
อาการเส้นเลือดขอดอื่นๆ เช่น
- รู้สึกเจ็บ แสบร้อน หรือรู้สึกหนักๆ ที่ขา และเป็นมากขึ้นหลังจากยื่นหรือนั่งนานๆ
- คันรอบๆ เส้นเลือดขอด
- ผิวหนังรอบๆ เส้นเลือดขอดเปลี่ยนสีไป
เส้นเลือดขอดที่รุนแรง ถ้าปล่อยทิ้งไว้นานๆ จะทำให้ขาบวม และเส้นเลือดมีโอกาสจะบวมปูดมากขึ้น ทำให้ผิวหนังบริเวณนั้นบางเป็นพิเศษ เมื่อถูกกระทบกระแทก จะทำให้เกิดการปริ แตก เป็นแผลเลือดออกได้ง่าย ซึ่งหากเป็นซ้ำๆ และดูแลแผลไม่ดี อาจจะนำไปสู่การติดเชื้อ เกิดเป็นแผลเรื้อรังตามมา
แม้ว่าโดยทั่วไป เส้นเลือดขอด ไม่ได้เป็นภาวะที่ก่ออันตรายร้ายแรงต่อสุขภาพ แต่อาการที่บ่งชี้ถึงเส้นเลือดขอดอาจใกล้เคียงกับภาวะสุขภาพอื่นๆ ดังนั้นถ้าไม่สบายใจจึงควรปรึกษาแพทย์ว่าสิ่งที่เป็นอยู่นั้นคือเส้นเลือดขอดใช่หรือไม่ และจำเป็นต้องรับการรักษาไหม
เป็นเส้นเลือดขอดมานาน อยากหาวิธีรักษาที่เหมาะกับเรา ปรึกษาแอดมิน หาแพ็กเกจราคาดีใกล้คุณได้ ที่นี่
วิธีรักษาเส้นเลือดขอด มีวิธีไหนบ้าง
เส้นเลือดขอดที่เป็นไม่มาก สามารถรักษาได้ด้วยตนเอง เช่น ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ไม่นั่งเท่าเดิมต่อเนื่องเป็นเวลานาน ซึ่งจะเพิ่มความดันเลือดบริเวณขา อาจยกขาขึ้นสูงเมื่อนั่งหรือนอนในพื้นที่ที่สามารถทำได้ หรือสวมใส่ถุงน่องชนิดพิเศษที่ช่วยบรรเทาอาการเส้นเลือดขอด
นอกจากนี้ยังมีวิธีทางการแพทย์ที่ใช้รักษาเส้นเลือดขอดได้ ได้แก่
ฉีดยารักษาเส้นเลือดขอด
การฉีดยารักษาเส้นเลือดขอด (Sclerotherapy) เป็นการฉีดสารละลายของเหลวเข้าสู่เส้นเลือดดำบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอด ทำให้ผนังหลอดเลือดตีบแคบลงแล้วค่อยๆ กลายเป็นเนื้อเยื่อแผลเป็น เลือดจะเปลี่ยนทางไปไหลเข้าหลอดเลือดที่เลือดไหลเวียนได้ดีกว่า จากนั้นเส้นเลือดขอดก็จะสลายไปในที่สุด
รักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ RFA
เป็นการสอดอุปกรณ์เข้าไปบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอด จากนั้นแพทย์จะปล่อยคลื่นวิทยุออกมาจากอุปกรณ์ดังกล่าว ทำให้เส้นเลือดที่ขอดฝ่อและยุบไป
รักษาเส้นเลือดขอดด้วยเลเซอร์
วิธีการเหมือนกับรักษาเส้นเลือดขอดด้วยคลื่นวิทยุ แต่ใช้เลเซอร์แทนคลื่นวิทยุ
ฉีดโฟมรักษาเส้นเลือดขอด
วิธีนี้แพทย์จะสอดสายสวนเข้าไปในเส้นเลือดดำของผู้ป่วย แล้วฉีดโฟมเข้าสู่บริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอด โฟมจะเข้าไปปิดเส้นเลือดดังกล่าว ทำให้เส้นหลอดฝ่อและสลายไปในที่สุด
รักษาเส้นเลือดขอดด้วยกาวทางการแพทย์
วิธีนี้เป็นการปิดทางไหลเวียนเลือดบริเวณที่เป็นเส้นเลือดขอดเช่นกัน โดยฉีดกาวชนิดพิเศษเข้าไป ทำให้ผนังเส้นเลือดติดกัน วิธีนี้มีข้อเด่นคือทำแล้วไม่จำเป็นต้องพักฟื้น และไม่ต้องสวมถุงน่องรัดเส้นเลือดขอดหลังทำ เหมือนวิธีอื่นๆ
ผ่าตัดรักษาเส้นเลือดขอด
กรณีที่เป็นเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่ หรือผู้ป่วยต้องวิธีที่เห็นผลเร็ว และรักษาเพียงครั้งเดียว แพทย์อาจพิจารณาให้ผ่าตัด โดยมี 2 เทคนิคหลักๆ คือ ผ่าตัดเส้นเลือดขอดแบบเปิดผิวหนังแล้วลอกเส้นเลือดขอดออก กับผ่าตัดแบบเจาะผิวหนังแล้วใช้เครื่องมือดูดเส้นเลือดขอดออกนอกร่างกาย
ทั้งนี้ทั้งนั้น การเลือกวิธีรักษาเส้นเลือดขอดแบบไหน ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเส้นเลือดขอด บริเวณที่เป็น รวมถึงภาวะสุขภาพของผู้ป่วย แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาวิธีที่เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคน
การป้องกันเส้นเลือดขอด ทำได้ไหม?
เส้นเลือดขอด เป็นภาวะที่ป้องกันได้ด้วยวิธีต่อไปนี้
- ควบคุมน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ โดยอาจใช้วิธีคำนวณค่าดัชนีมวลกาย (BMI)
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ
- หลีกเลี่ยงการสวมใส่รองเท้าส้นสูงนานๆ
- พยายามหลีกเลี่ยงท่านั่งขัดสมาธิ ไม่นั่งท่าเดิมต่อเนื่องเป็นเวลานาน
- หลีกเลี่ยงการสวมใส่เสื้อผ้าที่คับเกินไป
ถ้าคุณเป็นเส้นเลือดขอด ไม่ว่าจะเป็นน้อยๆ หรือมีเส้นเลือดขอดขนาดใหญ่มานานแล้ว ก็มีหลากหลายทางเลือกให้เลือกรักษาได้ ถ้ายังไม่แน่ใจว่าเราเหมาะกับวิธีไหน หรืออยากรู้ค่าใช้จ่ายคร่าวๆ ก่อน
ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจรักษาเส้นเลือดขอด จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย