ต่อมทอนซิล ต่อมอะดีนอยด์ คือต่อมน้ำเหลือง 2 กลุ่ม ที่ทำหน้าที่ป้องกันร่างกายจากเชื้อโรคและสิ่งแปลกปลอมต่างๆ แต่หากเกิดความผิดปกติขึ้น เช่น เกิดการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรีย ก็อาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ตามมา
หากปล่อยทิ้งไว้ ไม่รีบรักษา จากต่อมที่เคยทำหน้าที่ปกป้องร่างกาย อาจย้อนกลับมาทำให้เกิดโรครุนแรงได้ ฉะนั้นใครที่เริ่มพบความผิดปกติ แนะนำให้รีบพบแพทย์ และรักษา ซึ่งบทความนี้ ได้รวบรวมสัญญาณความผิดปกติ เกี่ยวกับต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์เอาไว้แล้ว
สารบัญ
ต่อมทอนซิลคืออะไร?
ต่อมทอนซิล (Tonsil) คือ กลุ่มเนื้อเยื่อน้ำเหลืองขนาดใหญ่ เป็นรูปวงรี ภายในมีเม็ดเลือดขาวหลายชนิด ทำหน้าที่ดักจับและกำจัดเชื้อโรคที่จะเข้าสู่ร่างกายผ่านทางจมูกและช่องปาก
ในร่างกายเราจะมีต่อมทอนซิลอยู่หลายตำแหน่ง แต่ตำแหน่งที่ใหญ่และเห็นเด่นชัดที่สุดคือ 2 ต่อมที่อยู่บริเวณช่องคอข้างลิ้นไก่และโคนลิ้น ด้านซ้ายและขวา เวลาอ้าปากจะเห็นชัดเจน
โดยทั่วไปการทำหน้าที่ของต่อมทอนซิลจะค่อยๆ ลดลงเมื่ออายุเพิ่มขึ้น จึงสังเกตได้ว่าวัยผู้ใหญ่จะมีอาการผิดปกติเกี่ยวกับต่อมทอนซิลน้อยกว่าวัยเด็ก
รวมสัญญาณความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมทอนซิล อาการเป็นอย่างไร?
เมื่อต่อมทอนซิลมีความผิดปกติ เช่น ต่อมทอนซิลอักเสบ ต่อมทอนซิลโต อาการที่มักแสดงให้เห็นเด่นชัด มีดังนี้
1. เจ็บคอ เสียงแหบ กลืนลำบาก อาจลามไปถึงหู
อาการเริ่มแรกที่พบได้บ่อย เมื่อต่อมทอนซิลเกิดความผิดปกติคือ ผู้ป่วยจะรู้สึกเจ็บคอ โดยเฉพาะบริเวณด้านข้างของช่องปากทั้งสองข้าง อาจมีเสียงแหบร่วมด้วย
นอกจากนี้เวลาดื่มน้ำ กลืนน้ำลาย หรือรับประทานอาหาร จะรู้สึกกลืนเจ็บ กลืนลำบาก ซึ่งอาจทำให้ความอยากอาหารลดลง บางรายความรู้สึกเจ็บนี้อาจลามไปถึงหู ทำให้รู้สึกปวดร้าวที่หูได้ด้วย
สำหรับผู้ป่วยที่เป็นเด็กหรือทารกที่ยังสื่อสารไม่ได้ ให้สังเกตจาก การดื่มนม ดื่มน้ำหรือกินอาหารที่น้อยลง ไม่อยากอาหาร น้ำลายไหลมากผิดปกติเพราะมีปัญหาการกลืน มีอาการงอแงผิดปกติ
2. มีไข้ ตัวร้อน ปวดศีรษะ เมื่อยเนื้อตัว
หากต่อมทอนซิลติดเชื้อ ไม่ว่าจะเป็นเชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย อาจทำให้ผู้ป่วยมีไข้ ซึ่งอาจเป็นไข้ต่ำๆ หรือไข้สูงก็ได้ ขึ้นอยู่กับความรุนแรงของเชื้อ นอกจากนี้อาจมีอาการปวดศีรษะ เมื่อยเนื้อเมื่อยตัวจากอาการไข้ร่วมด้วย
3. คอแดง ต่อมทอนซิลโต บวมแดง อาจพบฝ้าขาว หรือจุดหนอง
เมื่ออ้าปากจะพบว่า ต่อมทอนซิลมีลักษณะบวมแดงและโตกว่าปกติ อาจมองเห็นเป็นฝ้าสีขาวหรือสีเหลือง ลักษณะคล้ายเมือกเคลือบบริเวณต่อมทอนซิล ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อ
กรณีที่ติดเชื้อรุนแรง อาจมองเห็นจุดหนอง หรือเกิดฝีที่ต่อมทอนซิล โดยหากพบอาการนี้แล้วไม่รีบรักษา อาจลุกลามไปยังช่องคอ จนฝีอุดกั้นทางเดินหายใจ หรือฝีอาจจะแตก ทำให้หนองเข้าสู่ปอดและหัวใจ เข้าสู่กระแสเลือด จนติดเชื้อ และอาจรุนแรงถึงชีวิตได้
4. ไอ มีเสมหะ มีกลิ่นปาก
นอกจากอาการเจ็บคอแล้ว ผู้ป่วยบางรายอาจมีอาการไอ ระคายคอ มีเสมหะข้นเหนียวร่วมด้วย และมักมีกลิ่นปากที่รุนแรงกว่าปกติ นอกจากนี้บางรายยังอาจมีอาการคัดจมูก มีน้ำมูกใสแต่ไม่มาก
5. ต่อมน้ำเหลืองที่คอโต
สำหรับผู้ป่วยบางรายที่อาการติดเชื้อค่อนข้างรุนแรง เมื่อคลำบริเวณต่อมน้ำเหลืองด้านหน้าลำคอส่วนบน จะพบว่าต่อมน้ำเหลืองทั้ง 2 ข้าง โตและบวม หากกดเบาๆ จะรู้สึกเจ็บ
หากพบอาการเหล่านี้ และเป็นต่อเนื่องนานกว่า 48 ชั่วโมง โดยไม่มีแนวโน้มทุเลาลง แนะนำให้ไปพบแพทย์ เพื่อตรวจวินิจฉัยให้แน่ชัด จะได้วางแผนรักษาอย่างเหมาะสม
แต่หากพบอาการผิดปกติ เช่น เริ่มหายใจลำบาก หายใจไม่สุด ไข้สูงไม่ลดลง เจ็บคออย่างรุนแรงจนไม่สามารถกลืนน้ำลาย ดื่มน้ำ หรือรับประทานอาหารได้ ต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน โดยเฉพาะในผู้ป่วยเด็ก เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อรุนแรง
ยังไม่แน่ใจใช่ไหม? ว่าอาการเหล่านี้ใช่โรคเกี่ยวกับต่อมทอนซิลหรือเปล่า รักษาอย่างไร รุนแรงถึงขั้นต้องผ่าตัดรึเปล่า ทักหาทีม HDcare ได้เลย พร้อมนัดคิวให้คุณปรึกษากับคุณหมอเฉพาะทาง วินิจฉัยโรคได้แม่นยำ วางแผนการรักษาได้เหมาะสม คลิกที่นี่เลย
ต่อมอะดีนอยด์คืออะไร?
ต่อมอะดีนอยด์ (Adenoid) คือ ต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในส่วนหลังของโพรงจมูก เป็นต่อมน้ำเหลืองประเภทเดียวกับต่อมทอนซิล ทำหน้าที่ดักจับและฆ่าเชื้อโรคที่หลุดเข้าไปโพรงจมูก พร้อมๆ กับผลิตเซลล์สร้างภูมิคุ้มกันในระบบทางเดินหายใจส่วนต้น
ต่อมอะดีนอยด์ เป็นต่อมน้ำเหลืองที่มีความสำคัญมากในเด็กอายุ 1-10 ปี เพราะจะช่วยป้องกันการติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจ รวมทั้งเป็นสัญญาณเตือนภัยของร่ายกาย เมื่อร่างกายเกิดการติดเชื้อ ต่อมอะดีนอยด์จะโตและอักเสบขึ้น
รวมสัญญาณความผิดปกติเกี่ยวกับต่อมอะดีนอยด์ อาการเป็นอย่างไร?
เมื่อต่อมอะดีนอยด์ผิดปกติ เช่น ต่อมอะดีนอยด์อักเสบ ต่อมอะดีนอยด์โต ร่างกายจะแสดงอาการดังต่อไปนี้
1. รู้สึกเจ็บบริเวณหลังโพรงจมูก
เนื่องจากต่อมอะดีนอยด์ เป็นต่อมน้ำเหลืองที่อยู่ในส่วนหลังของโพรงจมูก ฉะนั้นหากเกิดการอักเสบ หรือติดเชื้อเกิดขึ้น ผู้ป่วยมักจะรู้สึกเจ็บ หรือระคายเคืองบริเวณหลังโพรงจมูกเป็นอาการเริ่มแรก
2. หายใจลำบาก หายใจไม่สุด ทำให้ต้องหายใจทางปาก
หากต่อมอะดีนอยด์เริ่มโต อาจไปอุดกั้นทางเดินหายใจ ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าเริ่มหายใจลำบากขึ้น หายใจเข้า – ออก ไม่ค่อยสุด จนบางครั้งอาจจะต้องหายใจทางปากร่วมด้วย
3. นอนกรนผิดปกติ
เนื่องจากต่อมอะดีนอยด์โตขึ้นแล้วเบียดและอุดกั้นทางเดินหายใจ จนทางเดินหายใจตีบแคบลง จึงทำให้เกิดเป็นเสียงกรนขึ้น
อาการนี้ถือเป็นอาการที่ไม่ควรมองข้าม เพราะจะส่งผลให้ร่างกายได้รับออกซิเจนไม่เพียงพอ จนอาจเกิดผลกระทบร้ายแรงตามมา เช่น เกิดภาวะหยุดหายใจขณะนอนหลับ ไม่มีสมาธิ รู้สึกไม่สดชื่น ง่วงตลอดเวลา และหากภาวะนี้เกิดขึ้นในเด็ก จะทำให้เด็กมีพัฒนาการช้าลง ผลการเรียนแย่ลง และมีโอกาสเสี่ยงเป็นโรคสมาธิสั้นเพิ่มขึ้น
4. เจ็บคอ คอแห้ง โดยเฉพาะช่วงเช้าหลังตื่นนอน
เป็นผลมาจากการนอนกรน ซึ่งระบบร่างกายพยายามรับออกซิเจนทางปาก ทดแทนทางจมูกที่ถูกต่อมอะดีนอยด์อุดกั้น ส่งผลให้เวลาตื่นนอน ผู้ป่วยรู้สึกเจ็บคอ และคอแห้ง เพราะต้องนอนอ้าปากตลอดทั้งคืน
5. หูอื้อ หรือหูหนวกชั่วคราว จากการที่หูชั้นกลางอักเสบ
ผู้ป่วยที่ต่อมอะดีนอยด์โต หรืออักเสบเรื้อรัง อาจสูญเสียการได้ยินชั่วคราว จากภาวะหูน้ำหนวก เนื่องจากต่อมอะดีนอยด์อยู่บริเวณหลังเยื่อบุโพรงจมูก ซึ่งเป็นจุดที่มีรูเปิดของหูชั้นกลาง โดยต่อมอะดีนอยด์อาจมีโอกาสโตจนไปปิดกั้นรูเปิดดังกล่าว ทำให้น้ำที่อยู่ในหูชั้นกลางระบายออกไม่ได้ และขังจนกลายเป็นหูน้ำหนวกและอาจสูญเสียการได้ยินชั่วคราวได้
6. มีไข้ คัดจมูก น้ำมูกไหลเรื้อรัง หรือไอ
การที่ต่อมอะดีนอยด์ติดเชื้อและเกิดการอักเสบเรื้อรัง มักส่งผลให้เกิดไซนัสอักเสบ อาการที่ตามมาคือ ผู้ป่วยจะมีไข้ คัดจมูก น้ำมูกไหลตลอดเวลา และเป็นเรื้อรัง บางรายอาจมีอาการไอร่วมด้วย
แม้ว่าความผิดปกติของต่อมอะดีนอยด์มักเกิดขึ้นในเด็กเป็นส่วนใหญ่ แต่ก็สามารถเกิดขึ้นในผู้ใหญ่ได้เช่นกัน และหากเป็นเรื้อรังจนส่งผลต่อคุณภาพชีวิต ก็ควรไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ก่อนอาการจะรุนแรงขึ้น
นอนกรน คัดจมูก น้ำมูกไหลตลอดเวลา สงสัยว่าเป็นหวัด หรือเป็นอะไรกันแน่ อาการเหล่านี้ใช่โรคเกี่ยวกับต่อมอะดีนอยด์หรือเปล่า รักษาอย่างไร รุนแรงถึงขั้นต้องผ่าตัดรึเปล่า ทักหาทีม HDcare ได้เลย พร้อมนัดคิวให้คุณปรึกษากับคุณหมอเฉพาะทาง วินิจฉัยโรคได้แม่นยำ วางแผนการรักษาได้เหมาะสม คลิกที่นี่เลย
ทั้งนี้การรักษาต่อมทอนซิลและต่อมอะดีนอยด์ ในผู้ที่เกิดการอักเสบเรื้อรัง คือการผ่าตัด แต่หลายคนอาจกังวลใจว่า หากผ่าตัดออกแล้ว ภูมิคุ้มกันในร่างกายจะลดลงหรือไม่ จะติดเชื้อต่างๆ ง่ายขึ้นไหม เพราะหน้าที่หลักของต่อมน้ำเหลืองทั้งสองชนิดนี้คือดักจับเชื้อโรค
แต่จริงๆ แล้ว หากเกิดการอักเสบบ่อยๆ เนื้อเยื่อของต่อมที่ทำหน้าที่สร้างภูมิคุ้มกันจะถูกแทนที่ด้วยเนื้อเยื่อพังผืด (Fibrosis) ทำให้ต่อมทำหน้าที่ได้น้อยลงเรื่อยๆ อยู่แล้ว
ขณะเดียวกันร่างกายยังมีต่อมน้ำเหลืองอีกจำนวนมาก ที่ทำหน้าที่ดักจับเชื้อโรค ดังนั้นการผ่าตัดต่อมทอนซิล หรือ การผ่าตัดต่อมอะดีนอยด์ออก หรือแม้แต่การผ่าตัดทั้งสองต่อมออกพร้อมกัน จึงไม่ทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลง แต่กลับทำให้คุณภาพชีวิตของผู้ป่วยดีขึ้น และลดโอกาสเกิดโรคร้ายแรงอื่นๆ ตามมาด้วย
หากเช็กอาการแล้วพบสัญญาณเสี่ยงของโรคเกี่ยวกับต่อมทอนซิล ต่อมอะดีนอยด์ แล้วยังไม่มั่นใจ? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจผ่าตัดต่อมทอนซิล ต่อมอะดีนอยด์ จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย