ผู้ที่มีปัญหาน้ำหนักตัว เคยพยายามลดน้ำหนักด้วยตัวเองแล้วแต่ไม่ได้ผล อาจมองหาตัวช่วยทางการแพทย์อย่างการผ่าตัดกระเพาะ ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่สามารถช่วยลดน้ำหนักได้จริง และมักไม่กลับมาอ้วนใหม่ในระยะยาว
อย่างไรก็ตาม การผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักไม่ได้เหมาะสำหรับทุกคนที่ต้องการลดน้ำหนัก สิ่งแรกที่ควรทำความเข้าใจคือ การผ่าตัดนี้ทำเพื่อรักษาโรค ซึ่งมีสาเหตุมาจากน้ำหนักตัวที่มากเกินไป มากกว่าจะให้ผลเพื่อความสวยงาม
นอกจากนี้ที่หลายคนอาจไม่ทราบคือ การผ่าตัดกระเพาะก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายหลายประการ หลังผ่าตัดแล้ว ผู้ป่วยต้องมั่นใจว่าสามารถปรับเปลี่ยนพฤติกรรมได้อย่างเคร่งครัด เพื่อคงผลลัพธ์ของการผ่าตัดไว้ และไม่ให้เกิดปัญหาสุขภาพแทรกซ้อนตามมาภายหลัง
จากเหตุผลเหล่านี้ทำให้หลายๆ คนที่มีน้ำหนักตัวเกิน อยากทราบข้อมูลเพิ่มเติมว่า การผ่าตัดกระเพาะนั้น เหมาะกับตัวเองหรือไม่ ผลลัพธ์ชัดเจนมากน้อยแค่ไหน และปลอดภัยจริงหรือเปล่า เรามาหาคำตอบกันได้ในบทความนี้เลย
สารบัญ
BMI เกณฑ์ขั้นต้นของการผ่าตัดกระเพาะ
มีผลการศึกษาที่สนับสนุนว่า การผ่าตัดกระเพาะจะให้ประโยชน์และมีผลลัพธ์ที่ดี ในผู้ที่มีค่า BMI (Body Mass Index) อยู่ในช่วง 35-39.9 ร่วมกับมีภาวะสุขภาพที่รุนแรง เรื้อรัง อันมีต้นเหตุมาจากโรคอ้วน เช่น
- เบาหวานชนิดที่ 2
- ทางเดินหายใจอุดกั้นขณะนอนหลับ
- ความดันโลหิตสูง
- ข้อเสื่อม
ผู้ที่ค่า BMI เข้าเกณฑ์ผ่าตัดกระเพาะ ผ่าตัดได้ทุกคนใช่หรือไม่?
ค่า BMI เป็นเพียงหลักเกณฑ์เบื้องต้น และเนื่องจากการผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักจะเปลี่ยนแปลงทางเดินอาหารของผู้ป่วยอย่างถาวร หลังผ่าตัดผู้ป่วยจำเป็นต้องปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการรับประทานอาหารและการออกกำลังกายอย่างมีวินัย รวมถึงอาจต้องพบแพทย์เพื่อรับการตรวจติดตามภาวะสุขภาพเป็นเวลานาน ดังนั้นจึงไม่ใช่ทุกคนที่เหมาะสำหรับการลดน้ำหนักด้วยวิธีนี้
แพทย์จะเป็นผู้พิจารณาผู้ป่วยแต่ละคนว่าเหมาะสำหรับผ่าตัดกระเพาะหรือไม่ ถ้าผ่าได้ ควรผ่าตัดด้วยเทคนิคใด นอกจากนี้มักให้ผ่าตัดในผู้ป่วยที่พยายามลดน้ำหนักด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล หรือเมื่อพิจารณาภาวะของโรคที่กำลังเป็นอยู่ เปรียบเทียบกับผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นได้จากการผ่าตัดกระเพาะ แล้วพบว่าการผ่าตัดจะให้ประโยชน์มากกว่า
ผ่าตัดกระเพาะ มีแบบไหนบ้าง แบบไหนปลอดภัยที่สุด?
การผ่าตัดกระเพาะ เป็นหนึ่งในวิธีลดน้ำหนักทางการแพทย์ที่ทำอย่างแพร่หลายมานาน โดยทั่วไปจัดว่าปลอดภัย แต่เป็นปกติของการผ่าตัดที่อาจเกิดผลข้างเคียงหรืออาการแทรกซ้อนขึ้นได้
ตัวอย่าง 3 เทคนิคผ่าตัดกระเพาะเพื่อลดน้ำหนักที่เป็นที่นิยม ได้แก่
1. ผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟ
เป็นการผ่าตัดเอาส่วนกระพุ้งกระเพาะออกไปจากร่างกาย แล้วเย็บปิดให้กระเพาะเหลือขนาดเล็กลง และมีลักษณะเรียวยาวคล้ายผลกล้วย
เมื่อเทียบกันใน 3 เทคนิค การผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟเป็นเทคนิคที่ทำมานานที่สุด จึงมีงานศึกษาออกมาจำนวนมาก ผลข้างเคียงจากการผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟที่ชัดเจนคือ เพิ่มความเสี่ยงเป็นกรดไหลย้อน
2. ผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส
เป็นการผ่าตัดปรับแต่งทางเดินอาหาร โดยเย็บกระเพาะส่วนรับอาหารให้เหลือเป็นกระเปาะเล็กๆ แล้วตัดต่อลำไส้เล็กส่วนกลางให้มารับอาหารต่อจากกระเปาะนี้ เป็นเทคนิคที่ทำให้รับอาหารจากการกินแต่ละครั้งได้น้อยลง และทางเดินอาหารข้ามส่วนต้นของลำไส้เล็ก ซึ่งเป็นส่วนที่ดูดซึมสารอาหารมากที่สุดไป
การผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาสมีช่วงแผลตัดต่อ เพื่อนำลำไส้เล็กมาต่อกับกระเพาะ ซึ่งเป็นคนละอวัยวะ จึงถือว่าเป็นการผ่าตัดที่ซับซ้อนกว่าเทคนิคอื่นๆ
ผลข้างเคียงเด่นชัดของการผ่าตัดเทคนิคนี้ คือ Dumping Syndrome หรือกลุ่มอาการที่เกิดจากอาหารออกจากกระเพาะไปสู่ลำไส้เล็กเร็วเกินไป เช่น คลื่นไส้ ท้องเสีย เป็นตะคริว เกิดภาวะน้ำตาลตก แต่ผลข้างเคียงเหล่านี้มักบรรเทาลงเมื่อเวลาผ่านไป และร่างกายเริ่มปรับตัวได้
3. ผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟพลัสบายพาส
เป็นเทคนิคใหม่ ซึ่งนำข้อดีของการผ่าตัดแบบสลีฟมารวมกับการผ่าตัดแบบบายพาส ทำให้ขนาดกระเพาะเล็กลงโดยไม่ตัดส่วนหูรูดกระเพาะออก ร่วมกับตัดต่อสำไล้เล็ก ให้ข้ามส่วนเจจูนัมซึ่งดูดซึมสารอาหารได้มาก ให้ไปสู่ลำไส้เล็กส่วนกลาง ทำให้ร่างกายรับสารอาหารได้น้อยลง
ด้วยความที่เป็นเทคนิคใหม่กว่าการผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟและแบบบายพาส ทำให้มีผลการศึกษาเกี่ยวกับผลข้างเคียงจากการผ่าตัดในระยะยาวมีน้อยกว่า
มีงานศึกษาในสหรัฐอเมริกาในปี 2018 ซึ่งเปรียบเทียบการผ่าตัดกระเพาะ 3 เทคนิค ได้แก่ ผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟ ผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส และผ่าตัดใส่ยางรัดกระเพาะ (Gastric Band) ในคนจำนวนมากกว่า 65,000 คน พบว่า การผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟนั้นก่อให้เกิดผลข้างเคียงน้อยที่สุด โดยอัตราเกิดผลข้างเคียงจากการผ่าตัดภายใน 30 วันของการผ่าตัด 3 เทคนิคออกมาเป็นดังนี้
- 5% สำหรับการผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส
- 2.9% สำหรับการผ่าตัดใส่ยางรัดกระเพาะ
- 2.6% สำหรับการผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟ
มีอีกงานศึกษาในปี 2021 ที่เปรียบเทียบความปลอดภัยของการผ่าตัดกระเพาะระหว่างแบบสลีฟกับแบบบายพาส ในผู้รับการผ่าตัดกระเพาะเพื่อรักษาโรคอ้วนจำนวนมากกว่า 95,000 คน ระยะเวลาศึกษา 5 ปี ผลการศึกษาพบว่าการผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟมีความเสี่ยงน้อยกว่าที่จะเกิดอาการแทรกซ้อนหลังผ่าตัด แต่ผู้ทำการศึกษามีข้อสังเกตด้วยว่า การผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟนั้นมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่จะต้องผ่าตัดซ้ำ โดยบางกรณีเป็นการเปลี่ยนจากผ่าตัดกระเพาะแบบสลีฟมาเป็นผ่าตัดกระเพาะแบบบายพาส
สิ่งที่ควรสอบถามแพทย์ เมื่อจะผ่าตัดกระเพาะ
เพื่อให้รู้ข้อมูลครบถ้วน ผู้ป่วยอาจเตรียมคำถามเหล่านี้ไปถามแพทย์ก่อนพิจารณาผ่าตัดกระเพาะ
- เราเหมาะกับการรักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดกระเพาะหรือไม่
- การผ่าตัดนี้ใช้เทคนิคใด และเป็นการผ่าตัดแบบเปิดหรือส่องกล้อง
- เมื่อพิจารณาจากร่างกายของเรา สามารถผ่าตัดกระเพาะด้วยเทคนิคอื่นๆ ได้หรือไม่ ข้อดี-ข้อเสีย ของแต่ละเทคนิคคืออะไร เทคนิคไหนเหมาะสมที่สุด
- หลังผ่าตัดแล้วน้ำหนักจะลดกี่กิโลกรัม ภายในระยะเวลานานแค่ไหน
- ผู้ป่วยอื่นๆ ที่เคยผ่าตัดด้วยเทคนิคนี้ ผลลัพธ์เป็นอย่างไร เกิดผลข้างเคียงอะไรบ้าง มากน้อยแค่ไหน
- ความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นจากการผ่าตัดมีอะไรบ้าง มีอะไรเสี่ยงเป็นพิเศษสำหรับเราหรือไม่
- ก่อนผ่าตัดต้องเตรียมตัวอย่างไร
- ต้องพักฟื้นในโรงพยาบาลกี่วัน พักฟื้นต่อที่บ้านอีกกี่วันถึงจะกลับไปทำงานหรือใช้ชีวิตประจำวันได้ตามปกติ
- หลังผ่าตัดต้องปรับพฤติกรรมอะไรบ้าง และกินเวลายาวนานเท่าใด
- หลังผ่าตัด ผิวหนังจะหย่อนคล้อยลงมากไหม จำเป็นต้องตัดแต่งผิวหนังเพิ่มเติมด้วยหรือเปล่า
- เป็นไปได้ไหมที่การผ่าตัดจะไม่ได้ผล ถ้ามี จะเกิดได้เพราะอะไรบ้าง
- การผ่าตัดจะส่งผลกระทบต่อโรคประจำตัวที่เราเป็นอยู่หรือไม่ อย่างไร
- ทางเลือกอื่นๆ นอกเหนือจากการผ่าตัดมีหรือไม่ มีอะไรบ้าง
ไม่ใช่เพียงเตรียมคำถามเพื่อถามแพทย์เท่านั้น ผู้ป่วยเองก็ควรเตรียมข้อมูลประวัติสุขภาพเพื่อแจ้งให้แพทย์ทราบอย่างครบถ้วนและถูกต้อง เพื่อจะได้วางแผนการผ่าตัดหรือพิจารณาทางเลือกอื่นๆ อย่างเหมาะสม เป็นการป้องกันความเสี่ยง หรือผลข้างเคียงจากการผ่าตัดที่อาจเกิดขึ้นได้
การผ่าตัดกระเพาะไม่ได้เหมาะกับทุกคน และไม่ได้ทำเพื่อความสวยงาม แต่เป็นการรักษาโรคอ้วน โดยเฉพาะในผู้ที่มีอาการรุนแรง รักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล การผ่าตัดกระเพาะถือเป็นทางเลือกที่ให้ผลลัพธ์ชัดเจน เมื่อร่วมกับการที่ผู้ป่วยปรับพฤติกรรมตัวเองอย่างเคร่งครัดหลังผ่าตัด ก็มักลดน้ำหนักไปได้อย่างถาวร และไม่กลับมาอ้วนอีก
อ่านแล้วยังไม่แน่ใจว่าการตัดกระเพาะเหมาะกับเราหรือเปล่า แต่สนใจวิธีนี้เพราะลองลดความอ้วนด้วยหลายวิธีแล้วก็ไม่ได้ผล ลองปรึกษาคุณหมอเฉพาะทางก่อนได้เลย แค่ทักมาหา HDcare สะดวกรวดเร็ว นัดคิวคุณหมอฉับไว ไม่ต้องคอยนาน คลิกเลย