วัคซีน HPV คือ วัคซีนที่ใช้ป้องกันเชื้อไวรัส HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดโรคมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง รวมถึงโรคหูดหงอนไก่และมะเร็งทวารหนักในผู้ชาย
ฉีดวัคซีน HPV ลดความเสี่ยงมะเร็งปากมดลูกได้ตั้งแต่อายุ 9 ขวบ
สารบัญ
วัคซีน HPV 2 สายพันธุ์ 4 สายพันธุ์ ต่างกันอย่างไร?
- ไวรัส HPV ทั้งหมดมีมากกว่ากว่า 100 สายพันธุ์ ประมาณ 40 สายพันธุ์ส่งผลต่ออวัยวะสืบพันธุ์
- วัคซีน HPV 2 สายพันธุ์ (Bivalent vaccine: Cervarix) คือ วัคซีนที่ป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้ 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 16 และ 18 ซึ่งทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
- ส่วนวัคซีน HPV 4 สายพันธุ์ (Quadrivalent vaccine: Gardasil ) คือ วัคซีนที่ป้องกันเชื้อไวรัส HPV ได้ 4 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ 6, 11, 16 และ 18 ซึ่งสายพันธุ์ 6 และ 11 ทำให้เกิดหูดหงอนไก่
วัคซีน HPV ฉีดตรงไหน ฉีดกี่ครั้ง
- การใช้วัคซีน HPV จะฉีดเข้ากล้ามเนื้อบริเวณต้นแขน
- เด็กช่วงอายุ 9-14 ปีควรได้รับวัคซีน 2 เข็ม โดยเว้นระยะห่างแต่ละเข็มที่ 6 เดือน
- หากอายุ 15 ปีขึ้นไป ควรได้รับวัคซีน 3 เข็ม ที่ 0, 1 และ 6 เดือน
ฉีดวัคซีน HPV ได้ ไม่ต้องตรวจภายในก่อน
ไม่จำเป็นต้องตรวจภายในก็ฉีดวัคซีน HPV ได้เลย แต่หากติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ใดไปแล้ว การฉีดวัคซีนไม่สามารถช่วยรักษาหรือป้องกันการเกิดโรคจากไวรัสชนิดนั้นๆ ได้ ทำได้เพียงป้องกันเชื้อสายพันธุ์ที่ยังไม่ติดเท่านั้น
ดังนั้นเพื่อให้วัคซีนมีประสิทธิภาพสูงสุด ควรฉีดก่อนมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก สามารถฉีดได้ตั้งแต่อายุ 9-26 ปี เมื่ออายุเกิน 26 ปีไปแล้วอาจไม่ได้ผลนัก สามารถปรึกษาแพทย์ดูก่อนได้ว่าควรรับวัคซีนหรือไม่
อย่างไรก็ตาม วัคซีนสามารถป้องกันเชื้อได้เพียงบางสายพันธุ์ ดังนั้นคุณจึงยังมีความเสี่ยงเป็นมะเร็งปากมดลูกได้จากเชื้อ HPV สายพันธุ์อื่นๆ ตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกอย่างสม่ำเสมอเมื่ออายุ 25 ปีขึ้นไปเป็นทางหนึ่งที่ช่วยค้นหาเชื้อตั้งแต่ระยะเริ่มต้น เพื่อการรักษาอย่างทันท่วงที
ผู้ชายก็ควรฉีดวัคซีน HPV
เนื่องจากเชื้อ HPV สามารถก่อโรคในผู้ชายเช่นกัน เช่น โรคมะเร็งทวารหนัก หูดที่อวัยวะเพศ และผู้ชายที่ติดเชื้อยังอาจเป็นพาหะไวรัส HPV ส่งต่อเชื้อยังผู้หญิงคู่นอน ในผู้ที่มีคู่นอนหลายคนได้ ดังนั้นจึงควรฉีดวัคซีน HPV ด้วย
ทำไมการฉีดวัคซีน HPV จึงสำคัญ?
ไวรัส HPV นั้นพบเจอได้ง่าย ติดต่อกันได้ทางเพศสัมพันธ์ (ทุกช่องทาง ทั้งอวัยวะเพศ ปาก และทวารหนัก) หลายคนเคยรับเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ไม่ก่อให้เกิดโรคร้ายแรงเข้าสู่ร่างกาย แล้วเชื้อถูกกำจัดออกไปเองโดยไม่ต้องรักษา
แต่คนส่วนหนึ่งติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ที่ร่างกายไม่สามารถกำจัดออกได้เอง ทำให้เกิดเนื้อเยื่อผิดปกติเจริญเติบโตในร่างกาย หากไม่ได้รับการรักษาทันท่วงที อาจกลายเป็นโรคมะเร็ง และแพร่เชื้อให้คู่นอนต่อไป
ที่สำคัญ โดยมากแล้วแม้ติดเชื้อ HPV ก็มักไม่แสดงอาการ การป้องกันไว้ก่อนจึงดีที่สุด
ประสิทธิภาพของวัคซีน HPV
การศึกษาในปัจจุบันพบว่า วัคซีนนี้สามารถป้องกันการติดเชื้อ HPV ได้ราว 70% อย่างน้อย 10 ปี
มะเร็งปากมดลูก มะเร็งทวารหนัก หูดหงอนไก่ ที่เกิดจากเชื้อ HPV บางสายพันธุ์สามารถป้องกันได้ด้วยวัคซีน แต่อย่างไรอย่าลืมว่าโรคเหล่านี้สามารถเกิดจากเชื้อสายพันธุ์อื่นนอกเหนือจากที่มีในวัคซีนได้ ดังนั้นการป้องกันตัวเช่น สวมถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธุ์ ตรวจสุขภาพ ตรวจคัดกรองโรคมะเร็ง จึงยังเป็นสิ่งที่ควรปฏิบัติควบคู่กันไปด้วย
ตรวจสอบความถูกต้องโดย พญ. นิศารัตน์ สุนทราภา แพทย์เฉพาะทางด้านสูติศาสตร์และนรีเวชวิทยา/เวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ โรงพยาบาลนครธน