cervical cancer symptoms treatment prevention scaled

11 ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูก สามารถเกิดได้จากหลายปัจจัย แต่โดยส่วนใหญ่มากเกิดจากไวรัส HPV จนกระทั่งพัฒนาไปเป็นมะเร็งปากมดลูก ดังนั้นก่อนที่จะทราบถึงปัจจัยที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก เราควรทำความรู้จักกับโรคนี้ให้ดีเสียก่อน

สาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก

เกิดจากการติดเชื้อแป๊ปปิโลมาไวรัส หรือเชื้อ HPV (Human Papilloma Virus) ซึ่งจะเกิดได้บ่อยกับเพศหญิงที่เริ่มต้นมีเพศสัมพันธ์ตั้งแต่อายุยังน้อย และหญิงที่มีบุตรหลายคน และหญิงที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ และยังมีปัจจัยเสี่ยงอื่นๆได้แก่ การไม่รักษาสุขอนามัย การติดเชื้อเอชไอวี

อาการของโรคมะเร็งปากมดลูก

ในระยะเริ่มต้น มะเร็งปากมดลูกมักจะไม่มีอาการ ในระยะท้ายจะมีอาการได้ดังนี้

  • มีเลือดผิดปกติจากอวัยวะเพศในช่วงมีประจำเดือน หลังจากมีเพศสัมพันธ์หรือเวลาตรวจภายใน ช่วงมีประจำเดือนอาจจะมีเลือดออกมากกว่าปกติและมีประจำเดือนเป็นเวลานาน และหญิงวัยทองบางรายก็อาจมีเลือดออกได้
  • มีตกขาวมากขึ้นกว่าปกติ
  • ปวดบริเวณหัวหน่าว
  • เจ็บระหว่างมีเพศสัมพันธ์์

แต่อย่างไรก็ตาม อาการข้างต้นอาจเกิดจากสาเหตุการติดเชื้อชนิดอื่นหรือโรคอื่นก็ได้ ควรปรึกษาแพทย์ร่วมด้วย

การวินิจฉัยโรคมะเร็งปากมดลูก

ระยะเวลาในการพัฒนาจากเซลล์ที่อาจเกิดเป็นมะเร็งไปสู่การเป็นโรคมะเร็งใช้เวลาประมาณ 10 ปี ในระหว่าง 10 ปีนี้เราสามารถตรวจพบระยะต้นของการเริ่มเป็นมะเร็งได้โดยใช้วิธีแป๊ปสเมียร์

ดังนั้นหญิงที่มีเพศสัมพันธ์แล้วทุกคนควรจะได้รับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก และควรตรวจซ้ำทุก 3 ปี และอาจตรวจทุก 5 ปีได้ถ้าผลการตรวจแป๊ปสเมียร์และผลการตรวจหาเชื้อ HPV นั้นปกติ

การรักษามะเร็งปากมดลูก

สูตินารีแพทย์สามารถให้การรักษาบริเวณปากมดลูกได้อาจใช้วิธีการผ่าตัดด้วยเลเซอร์ การผ่าตัดด้วยความเย็น (Cryosurgery Therapy) และการตัดปากมดลูกด้วยห่วงไฟฟ้า (LEEP)

วัคซีนสำหรับป้องกันมะเร็งปากมดลูก

ปัจจุบันมีวัคซีนสำหรับเชื้อ HPV บางสายพันธุ์แล้ว เช่น วัคซีนการ์ดาซิล สามารถป้องกันเชื้อได้ 4 สายพันธุ์ (Gardasil, Merck and Co) ซึ่ง 2 ใน 4 สายพันธุ์นั้นเป็นสาเหตุหลักของการเกิดมะเร็งปากมดลูกและอีก 2 สายพันธุ์นั้นเป็นเชื้อสาเหตุของหูดอวัยวะเพศ

วัคซีนเซอร์ราวิค (Cervarix, Glaxo Smith Kline Beecham) สามารถป้องกันการติดเชื้อได้ 2 สายพันธุ์ ซึ่งสายพันธุ์ต่างๆในวัคซีนเหล่านี้เป็นสาเหตุหลักของกว่า 70% ของการเป็นโรคมะเร็งปากมดลูกทั้งหมด แต่ถึงแม้จะเคยรับวัคซีนแล้วก็ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองแป๊ปสเมียร์ด้วยเช่นกัน

ซึ่งช่วงอายุที่เหมาะสมของการรับวัคซีนคือก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรก ซึ่งโดยทั่วไปจะให้ในเด็กหญิงอายุ 12-13 ปี แต่วัคซีนสามารถให้ได้ในเพศหญิงอายุตั้งแต่ 9-45 ปี แต่หากได้รับวัคซีนหลังจากเคยเพศสัมพันธ์ไปแล้ว วัคซีนจะไม่มีผลป้องกันเชื้อที่อาจจะได้รับก่อนหน้านั้นได้ ซึ่งทำให้ยังมีความเสี่ยงอยู่

การฉีดวัคซีนแนะนำให้ฉีดทั้งหมด 3 เข็ม การฉีดเข็มที่ 2 และ 3 จะฉีดหลังจากเข็มแรก 1 และ 6 เดือน ตามลำดับ โดยเชื้อ HPV ยังสามารถก่อโรคมะเร็งอื่นได้อีก เช่น มะเร็งทวารหนัก มะเร็งอวัยวะเพศหญิง หรือ มะเร็งลำคอ ซึ่งการได้รับวัคซีนก็สามารถป้องกันมะเร็งเหล่านี้ได้ด้วย

11 ปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูก

มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งเพียงชนิดเดียวที่เราสามารถป้องกันการเกิดโรคได้อย่างสิ้นเชิง แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากการขาดความรู้และขาดการคัดกรองที่ดี โรคมะเร็งปากมดลูกก้ยังคงแพร่กระจายอยู่ทั่วไป ซึ่งปัจจัยเสี่ยงต่างๆมีดังนี้

  1. การติดเชื้อ HPV เป็นปัจจัยเสี่ยงที่สำคัญที่สุด ซึ่งเชื้อ HPV โดยปกติจะติดต่อผ่านทางเพศสัมพันธ์โดยเชื้อมีหลายหลายสายพันธุ์ แต่เชื้อสายพันธุ์สำคัญที่ก่อมะเร็งได้แก่ HPV 16, HPV 18, HPV 31, HPV 33, HPV 45
  2. การสูบบุหรี่ หญิงที่สูบบุหรี่จะมีความเสี่ยงสูงกว่าหญิงที่ไม่สูบบุหรี่ โดยมีข้อมูลว่าบุหรี่หรือยาสูบ สามารถทำลายสารพันธุกรรมในเซลล์ปากมดลูกได้ซึ่งนำไปสู่การพัฒนาเป็นเซลล์มะเร็งต่อไป และการสูบบุหรี่ยังทำให้ภูมิคุ้มกันต่ำลงซึ่งทำให้ติดเชื้อ HPV ได้ง่ายขึ้น
  3. การติดเชื้อคลาไมเดีย นอกจากเชื้อ HPV แล้ว เชื้อแบคทีเรียคลาไมเดีย ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งซึ่งแบคทีเรียชนิดนี้สามารถทำลายอวัยวะสืบพันธุ์และติดต่อผ่านเพศสัมพันธ์ได้
  4. ภูมิคุ้มกันต่ำ ผู้ป่วยที่ติดเชื้อเอชไอวี (Human immunodeficiency virus, HIV) มีความเสี่ยงที่จะเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงเนื่องจาก เชื้อเอชไอวีทำลายระบบภูมิคุ้มกันของผู้ป่วยลงทำให้ร่างกายไม่สามารถต่อสู้กับเซลล์มะเร็งได้ ในบางกรณีหญิงที่ติดเชื้อเอชไอวี มะเร็งปากมดลูกจะพัฒนาและมีความรุนแรงขึ้นได้เร็วและง่ายกว่าในหญิงปกติ ดังนั้นผู้ป่วยโรคเอดส์จึงมีความเสี่ยงสูงต่อมะเร็งปากมดลูก ผู้ที่เปลี่ยนอวัยวะก็เช่นกัน ในผู้ที่เปลี่ยนอวัยวะจะมีภูมิคุ้มกันที่ต่ำกว่าปกติซึ่งจะทำให้เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งปากมดลูกได้
  5. การขาดสารอาหาร เพศหญิงที่รับประทานอาหารที่ไม่มีประโยชน์ ได้รับสารอาหารไม่เพียงพออาจจะเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้ และภาวะอ้วนก็เช่นกัน
  6. ผู้หญิงที่ใส่ห่วงคุมกำเนิด (Intrauterine device, IUD) มีการศึกษาพบว่าห่วงคุมกำเนิดไม่ได้ช่วยเป็นตัวขัดขวางการเข้ามาของเชื้อ HPV ได้แต่จะเป็นตัวกักเชื้อไว้แทนนำไปสู่การเป็นมะเร็งปากมดลูกได้
  7. มีบุตรหลายคน เหตุผลรับรองยังไม่ชัดเจนนักแต่คาดว่าจะเกิดมาจากการมีเพศสัมพันธ์ที่ไม่ได้มีการป้องกันทำให้ผู้ที่มีบุตรหลายคนนั้น สัมผัสกับเชื้อ HPV ซ้ำๆ จึงทำให้เสี่ยงกับการติดเชื้อและการทีระบบฮอร์โมนเปลี่ยนแปลงไปในหญิงตั้งครรภ์ทำให้ติดเชื้อได้ง่ายขึ้น
  8. การตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุน้อย เด็กหญิงที่ตั้งครรภ์ตั้งแต่อายุน้อย (น้อยกว่า 17 ปี) มีความเสี่ยงสูงที่จะติดเชื้อสูงกว่าหญิงที่ตั้งครรภ์หลังจากอายุ 25 ปี
  9. ความยากจน เป็นปัจจัยสำคัญอีกอย่างหนึ่ง เนื่องจากในผู้ที่มีรายได้น้อย การเข้าถึงระบบสาธารณะที่มีคุณภาพก็น้อยลงเช่นกัน รวมถึงการเข้าถึงการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย
  10. การใช้ยาฮอร์โมน เช่น ยา Diethylstilbestrol (DES) ซึ่งคือยาฮอร์โมนที่ให้ในเพศหญิงเพื่อป้องกันการแท้ง หรือบหญิงที่แม่เคยใช้ยา Diethylstilbestrol ขณะตั้งครรภ์อยู่ อาจจะก่อให้เกิดมะเร็งอวัยวะเพศหรือปากมดลูกชนิดเคลียร์เซลล์อะดีโนคาร์ซิโนมา (clear-cell adenocarcinoma) โดยอัตราในการเกิดจะประมาณ 1 ใน 1000 ของหญิงที่เป็นมะเร็ง
  11. ประวัติครอบครัว หากคนในครอบครัวคือ แม่ พี่สาว มีประวัติเป็นมะเร็งปากมดลูก ความเสี่ยงจะสูงขึ้นกว่าคนปกติถึง 2-3 เท่าเมื่อเทียบกับคนไม่มีประวัติครอบครัวเป็นมะเร็งปากมดลูก

ถึงโรคมะเร็งปากมดลูกจะมีความเสี่ยงสูง แต่สามารถคัดกรองและฉีดวัคซีนป้องกันเพื่อลดความเสี่ยงในการเป็นมะเร็งได้ จึงควรพบแพทย์เพื่อขอรับคำปรึกษาเรื่องมะเร็งตามความเหมาะสม


เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจฉีดวัคซีนมะเร็งปากมดลูก (HPV)

Scroll to Top