Tardive Dyskinesia คืออะไร ข้อมูลโรค อาการ รักษา

อาการยึกยือ (Tardive dyskinesia) เป็นกลุ่มอาการทางระบบประสาทที่ทำให้การเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อควบคุมไม่ได้ โดยเฉพาะใบหน้า ลิ้น ริมฝีปากและขากรรไกร ภาวะนี้มักเกิดจากการใช้ยาบางชนิดเป็นระยะเวลานาน

อาการยึกยือ เป็นอย่างไร?

อาการยึกยือ มักทำให้เกิดการเคลื่อนไหวผิดปกติแบบสุ่มของใบหน้า ลิ้น ริมฝีปาก หรือขากรรไกรที่ไม่สามารถควบคุมได้ ส่วนมากมักพบอาการ เลียริมฝีปาก ดูดปาก แลบลิ้นหรือหดลิ้น แสยะหน้า เคี้ยวซ้ำ และกะพริบตาเร็วๆ

บางกรณีอาจพบอาการที่นิ้ว แขน ขา และลำตัว ทำให้เกิดการเคลื่อนไหวรวดเร็วและเคลื่อนไหวช้ากว่าปกติ หรืออาจมีการเคลื่อนไหวตามการหายใจ

สาเหตุของการเกิดอาการยึกยือ

ภาวะนี้มักเกิดจากการใช้ยาเกี่ยวกับระบบประสาท ยาเหล่านี้มักใช้สำหรับการรักษาความผิดปกติทางจิตเวช และระบบประสาทบางประเภท ซึ่งออกฤทธิ์ไปยับยั้งตัวรับสารสื่อประสาท เช่น Dopamine ที่ทำหน้าที่ควบคุมความสุขของสมอง และควบคุมการทำงานของกล้ามเนื้อ

ยังไม่ทราบแน่ชัดว่าการเกิดอาการยึกยือ เริ่มต้นขึ้นได้อย่างไร แต่เชื่อว่ามีความเกี่ยวข้องกับการยับยั้งตัวรับสารสื่อประสาทเหล่านี้เป็นเวลานาน โดยยาในกลุ่มที่มักทำให้เกิดความผิดปกตินี้ ประกอบด้วย

  • Amoxapine
  • Compazine หรือ Compro (Prochlorperazine)
  • Haldol (Haloperidol)
  • Prolixin (Fluphenazine)
  • Reglan (Metoclopramide)
  • Sibelium (Flunarizine)
  • Stelazine (Trifluoperazine hydrochloride)
  • Thorazine หรือ Largactil (Chlorpromazine)

ผู้ที่ใช้ยาเหล่านี้ มักมีอาการยึกยือหลังใช้ยาเป็นเวลาหลายเดือนหรือหลายปี แต่บางคนอาจเริ่มมีอาการตั้งแต่ระยะ 6 สัปดาห์หลังการใช้ยาก็ได้

การวินิจฉัยอาการยึกยือ

อาการของอาการยึกยือ อาจเหมือนกับอาการผิดปกติทางการเคลื่อนไหวอื่นๆ เช่น โรคพาร์กินสัน (Parkinson’s disease) โรคฮันติงตัน (Huntington’s disease) ภาวะสมองพิการ (Cerebral palsy) กลุ่มอาการทูเร็ตต์ (Tourette syndrome) และอาการบิดเกร็งของกล้ามเนื้อ (Dystonia)

เพื่อเป็นการแยกผู้ที่มีอาการยึกยือ ในผู้ที่กำลังรับยาเกี่ยวกับระบบประสาทและประเมินความรุนแรงของอาการ แพทย์มักใช้การตรวจที่เรียกว่า Abnormal Involuntary Movement Scale (AIMS) เป็นตัวช่วยวินิจฉัย

ระหว่างการทดสอบ แพทย์จะทำการวัดการเคลื่อนไหวที่ผิดปกติทั่วร่างกาย และประเมินความรุนแรงโดยรวมของการเคลื่อนไหว ซึ่งระหว่างการทดสอบ แพทย์อาจขอให้ทำการเคลื่อนไหวต่างๆ เช่น อ้าปาก เหยียดและงอแขน หรือเดินไปรอบ ๆ เป็นต้น

การรักษาอาการยึกยือ

การรักษาอาการยึกยือจะขึ้นอยู่กับความรุนแรงของผู้ป่วยแต่ละคน ในขั้นแรก แพทย์จะแนะนำให้ลดหรือหยุดการใช้ยาเกี่ยวกับระบบประสาท หากไม่สามารถหยุดยาอย่างปลอดภัยได้ ก็อาจเปลี่ยนให้ใช้ตัวอื่นแทน โดยยา Xenazine (Tetrabenzine) เป็นยาเพียงตัวเดียวที่รับการอนุมัติจากองค์การอาหารและยาสหรัฐอเมริกาที่ให้ใช้สำหรับรักษาอาการยึกยือ แต่ยาตัวอื่นๆ เช่น Benzodiazepines และการฉีด Botox (Botulinum toxic) ก็อาจช่วยได้เช่นกัน

Scroll to Top