วิธีเลือกรองเท้าเพื่อสุขภาพ

วิธีเลือกรองเท้าเพื่อสุขภาพ

รองเท้า เป็นเครื่องใช้ที่มีการออกแบบขึ้นมาโดยมีวัตถุประสงค์เพื่อป้องกันเท้าจากสิ่งสกปรกและอันตราย มีให้เลือกหลายรูปแบบตามการใช้งาน เช่น รองเท้าแตะ รองเท้าผ้าใบ รองเท้าคัชชู รองเท้าส้นสูง รองเท้ากีฬา หรือรองเท้าเพื่อสุขภาพ เป็นต้น หากมีการเลือกใช้รองเท้าที่ไม่เหมาะสม ก็อาจเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรคหรือทำให้เกิดแผลที่เท้า ซึ่งอาจทำให้เกิดการติดเชื้อและอักเสบตามมา

รองเท้าเพื่อสุขภาพ คืออะไร?

รองเท้าเพื่อสุขภาพ คือรองเท้าที่ออกแบบมาเพื่อให้ผู้สวมใส่สามารถใส่ได้ทั้งวันโดยไม่เกิดอาการปวดเมื่อยบริเวณเท้าหรือข้อต่อ ที่อาจส่งผลกระทบถึงเข่าและหลัง รวมถึงไม่ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพเท้าอันไม่พึงประสงค์ซึ่งเกิดจากการอับชื้นและการสะสมของแบคทีเรียภายในรองเท้า เช่น ตาปลา การติดเชื้อราที่เล็บ เป็นต้น

รองเท้าเพื่อสุขภาพควรมีคุณสมบัติอย่างไร?

การเลือกซื้อรองเท้าเพื่อสุขภาพที่ดี ควรมีคุณสมบัติดังต่อไปนี้

1. มีความนิ่มและความหนาที่พอเหมาะ

รองเท้าเพื่อสุขภาพที่ดี จะต้องไม่นิ่มจนเท้ายุบแบนลงไป และไม่แข็งกระด้างจนเกินไป ควรรองรับน้ำหนักได้ดี แม้จะใช้งานเป็นเวลานานแต่ก็ยังสามารถคืนตัวกลับมาคงสภาพเดิมได้ เวลาเดินจะต้องไม่มีจุดที่แข็งจนเสียดสีจนเกิดแผลที่เท้า ความหนาของพื้นรองเท้าเพื่อสุขภาพก็ควรมีความพอดี สามารถรองรับแรงกระแทกที่สะท้อนมาตามแนวสันหลังขณะที่เดินบนพื้นที่แข็งได้ ซึ่งจะช่วยถนอมกระดูกข้อต่อต่างๆ เช่น ข้อเท้า ข้อเข่า ข้อสะโพก ไปจนถึงกระดูกสันหลัง

2. หัวรองเท้ามีหน้ากว้างและมีความยืดหยุ่นสูง

หัวรองเท้าเพื่อสุขภาพที่ดี จะต้องมีความยืดหยุ่นสูง และควรมีหน้ากว้าง เพื่อให้ปลายนิ้วเท้าเคลื่อนไหวได้อย่างเป็นธรรมชาติ หากหัวรองเท้าแน่นและอึดอัดเกินไป อาจทำให้กล้ามเนื้อนิ้วเท้าและเอ็นร้อยหวายต้องทำงานมากกว่าปกติ เมื่อเดินนานๆ จะทำให้ปวดเท้า และอาจทำให้เกิดการอักเสบขึ้นที่เท้า

3. มีส่วนซัพพอร์ตอุ้งเท้าที่เหมาะสม

  • ส่วนซัพพอร์ตอุ้งเท้าของรองเท้าเพื่อสุขภาพที่อยู่บริเวณกลางฝ่าเท้าควรมีความแข็งแรงระดับหนึ่ง เพื่อช่วยกระจายแรงกดของร่างกายไปทั่วฝ่าเท้า ไม่ทำให้น้ำหนักมารวมอยู่ที่บริเวณฝ่าเท้าด้านหน้าและส้นเท้ามากเกินไป ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรครองช้ำได้ นอกจากนี้ยังช่วยพยุงอุ้งเท้าไม่ให้เท้าบิดเข้าด้านใน ซึ่งหากนานไปจะทำให้แนวกระดูกสันหลังเบี้ยวจนทำให้รู้สึกปวดหลังส่วนบั้นเอว
  • มีความนูนที่กลางฝ่าเท้าอย่างเหมาะสม ซึ่งในปัจจุบันนี้มีการผลิตความนูนของซัพพอร์ตให้เลือก 3 ระดับคือ ความนูนต่ำ ความนูนปกติและความนูนสูง รองเท้าที่มีความนูนต่ำเหมาะสำหรับผู้ที่มีเท้าแบน และมีอุ้งเท้าที่ปกติ ส่วนรองเท้าที่มีความนูนปกติ เหมาะสำหรับผู้ที่มีอุ้งเท้าปกติ รวมถึงผู้ที่มีเท้าแบนและผู้ที่มีอุ้งเท้าโก่งสูงบางกรณี และรองเท้าที่มีความนูนสูงเหมาะสำหรับผู้ที่มีอุ้งเท้าโก่งสูง

4. มีฮีลเคาน์เตอร์ (Heel counter)

ที่รองรับส้นเท้าของรองเท้าเพื่อสุขภาพต้องสามารถรองรับแรงกระแทกที่เกิดจากการเดิน เพื่อป้องกันการเกิดอาการรองช้ำบริเวณส้นเท้า และควรช่วยกำหนดทิศทางการลงน้ำหนักเวลาเดิน เพื่อป้องกันไม่ให้เท้าลื่นหลุดจากรองเท้าและทำให้เกิดความสมดุลขณะเดิน ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดข้อเท้าพลิก

5. ใช้วัตถุดิบที่มีคุณภาพสูงมาผลิต

โดยเฉพาะส่วนที่ต้องสัมผัสกับเท้าโดยตรง เช่น วัสดุที่ทำซับในหรือวัสดุที่ใช้ห่อหุ้มรองเท้าเพื่อสุขภาพ ควรใช้วัสดุที่ทนทาน ไม่ขาดง่าย มีน้ำหนักเบา ไม่ก่อให้เกิดการอับชื้น แต่ก็ต้องไม่แข็งกระด้าง เมื่อใช้แล้วไม่เกิดการเสียดสีจนผิวหนังเป็นแผล

6. มีการออกแบบที่เหมาะสมทันสมัย และเหมาะกับคนทุกวัย

สาเหตุหลักที่ทำให้คนทั่วไปไม่นิยมซื้อรองเท้าเพื่อสุขภาพ คือรูปแบบของรองเท้าที่ดูล้าสมัย เพราะฉะนั้นรูปแบบของรองเท้าเพื่อสุขภาพจึงเป็นสิ่งสำคัญไม่แพ้ส่วนอื่น อย่างน้อยก็ควรทันสมัย และตอบโจทย์การแต่งตัวตามไลฟ์สไตล์ของคนยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี

หากต้องการรองเท้าเพื่อสุขภาพที่ถูกหลักสรีระของร่างกายสักคู่หนึ่ง ควรไปสั่งตัดกับร้านตัดรองเท้าที่มีผู้เชี่ยวชาญด้านเท้าดูแลโดยเฉพาะ จะเป็นการดีที่สุด เนื่องจากร้านตัดรองเท้าเพื่อสุขภาพ จะมีเครื่องมือเก็บรายละเอียดรูปเท้าและทรงเท้ารายบุคคล จึงทำให้ได้รองเท้าเพื่อสุขภาพที่ดี และเหมาะสมกับเท้าตามคุณสมบัติทั้งหมดที่กล่าวมา


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top