ผดร้อน หรือผื่นคันในหน้าร้อน เป็นอาการที่เกิดได้ทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ มักพบในบริเวณข้อพับแขน ขา คอ รักแร้ เอว หรือใต้ราวนมที่มีการเสียดสี
สารบัญ
สาเหตุของผดร้อน
ผดร้อน เกิดจากรูขุมขนอุดตันและไม่สามารถขับเหงื่อออกมาได้จนทำให้รูขุมขนอักเสบ และเมื่อรูขุมขนอักเสบโดนเหงื่อก็จะเกิดการระคายเคือง และกลายเป็นตุ่มเม็ดเล็กๆ แดงๆ ตามมา
ผดร้อนนั้นมักพบในช่วงที่อากาศร้อนจัด เพราะเป็นช่วงที่ทำให้เกิดการขับเหงื่อออกมามากเป็นพิเศษ
ลักษณะอาการของผดร้อน
ลักษณะอาการของผดร้อน แบ่งตามระดับความรุนแรง ดังนี้
Miliaria crystallina
เป็นผดร้อนชนิดที่พบบ่อยในเด็ก แต่มีความรุนแรงน้อยที่สุด เกิดจากการอุดตันของท่อของต่อมเหงื่อที่ส่วนบนของชั้นหนังกำพร้า มีลักษณะเป็นตุ่มน้ำใส หรือมีสีขาวขนาดเล็กที่มีสารน้ำอยู่ภายใน แตกง่ายเมื่อสัมผัสหรืออาบน้ำ ไม่ทำให้เกิดอาการคัน ไม่เจ็บ
Miliaria rubra
เป็นผดร้อนชนิดที่พบบ่อยที่สุด มักพบในผู้ใหญ่มากกว่าเด็กและทารก และมีอาการรุนแรงมากกว่าชนิด Miliaria crystallina เพราะเกิดจากการอุดตันของท่อของต่อมเหงื่อที่ส่วนล่างของชั้นหนังกำพร้า
ผดร้อนชนิด Miliaria rubra นั้นมักพบที่บริเวณต้นคอ หน้าผาก หน้าอก หลังและข้อพับ โดยจะทำให้เกิดอาการดังนี้
- อาการคัน และคันมากขึ้นเวลาเหงื่อออก
- เป็นตุ่มแดงที่ผิวหนัง
- ไม่มีเหงื่อในบริเวณที่เป็น
- มีการอักเสบและเจ็บที่ผิวหนัง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถขับเหงื่อผ่านผิวหนังได้
- ผดร้อนชนิดนี้ หากเป็นมากและเป็นเวลานานเกินไปจะทำให้เกิดเป็นตุ่มหนอง หรือเกิดภาวะแทรกซ้อนของเชื้อแบคทีเรียจากการเกา เรียกว่า Miliaria pustulosa
Miliaria profunda
เป็นผดร้อนชนิดที่พบได้น้อยสุด เกิดจากการเป็นผดเรื้อรัง เป็นแล้วเป็นอีกอยู่เรื่อยๆ จนทำให้การอุดตันของท่อระบายเหงื่อลึกลงไปในระดับลึกสุด ผู้ที่มีผดชนิดนี้จะสังเกตเห็นผื่นที่มีขนาดใหญ่ขึ้น แข็ง และมีสีเนื้อ
เนื่องจากผดร้อนนั้นจะทำให้ร่างกายไม่สามารถขับเหงื่อได้ อาจทำให้ผู้ที่เป็นผดร้อนมีอาการคลื่นไส้และมึนศีรษะได้
การป้องกันตัวเองเบื้องต้นจากอาการผดร้อน ผื่นคัน
- พยายามให้ร่างกายมีเหงื่อออกน้อยที่สุด โดยการลดความร้อนทั้งจากภายในและภายนอก
- อาบน้ำบ่อยๆ หรือหาผ้าสะอาดชุบน้ำเช็ดเหงื่อที่ออก
- เลือกใส่เสื้อผ้าเนื้อบาง และไม่รัดจนเสียดสีกับผิวหนัง เพื่อลดความเสี่ยงของการเกิดผดร้อน ผื่นคัน
- งดใส่เครื่องประดับสร้อยคอที่เสี่ยงต่อการระคายเคืองผิวหนัง
- หลีกเลี่ยงการเกา และดูแลเล็บให้สะอาดและสั้นเสมอ เพราะเล็บสกปรกเมื่อเกาลงบนผิวหนังอาจทำให้เกิดการระคายเคืองในผดร้อนได้
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสเผ็ดและร้อนจัดในช่วงที่มีอากาศร้อน เพราะจะยิ่งทำให้ขับเหงื่อมากยิ่งขึ้น
- ในบางรายผดร้อน หรือผื่นคันอาจเกิดจากสารก่อภูมิแพ้ ซึ่งการหลีกเลี่ยงสารก่อภูมิแพ้จะช่วยให้อาการดีขึ้นได้ หากเกิดผดร้อนหรือผื่นคันซ้ำๆ ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจภูมิแพ้ ซึ่งอาจช่วยให้พบสาเหตุได้
การรักษาผดร้อนในเบื้องต้น
ปกติแล้ว ผดร้อนทั่วไปจะสามารถหายได้เองภายในไม่กี่วัน โดยในช่วงนั้นให้หลีกเลี่ยงสิ่งที่จะกระตุ้นให้อาการรุนแรงขึ้น เช่น อากาศร้อนอบอ้าว การออกกำลังกาย และสวมใส่เสื้อผ้าสบายๆ รวมถึงทำความสะอาดร่างกายอยู่เสมอ
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการรุนแรงแรงขึ้น มีไข้ หนาวสั่น มีหนองออกจากตุ่ม ปวดมากขึ้น คันหรือแดงอักเสบมาก เกิดผดร้อนซ้ำๆ เป็นๆ หายๆ ก็ควรไปพบแพทย์ผิวหนังเพื่อทำการรักษาต่อไป ไม่ควรปล่อยทิ้งไว้จนอาการรุนแรงขึ้น
การรักษาผดร้อนด้วยสมุนไพรไทย
มีสมุนไพรพื้นบ้านมากมายที่มีฤทธิ์เย็น ช่วยลดอาการของผดร้อน หรือผื่นคันในหน้าร้อนได้ ตัวอย่างเช่น
แตงกวา
แตงกวาเป็นผักที่มีสรรพคุณที่ช่วยรักษาอาการจากผดร้อน ผื่น ลดการลุกลาม ลดอาการแสบร้อนของผิวหนังที่เกิดการอักเสบได้ เพียงหั่นแตงกวาเป็นแว่นบางๆ แล้วนำมาแปะบริเวณที่มีอาการจะช่วยบรรเทาอาการให้ดีขึ้น
ใบพลู
การใช้ใบพลูในการรักษาโรคลมพิษเป็นภูมิปัญญาของไทยที่มีมานานตั้งแต่โบราณ โดยการนำใบพลูแก่และข่าแก่ 1 หัว ตำให้ละเอียด ผสมกับเหล้าขาวเล็กน้อย ก่อนจะนำมาพอกบริเวณที่เป็นลมพิษ จะช่วยบรรเทาอาการได้
ขมิ้นชัน
เป็นสมุนไพรที่นิยมใช้ในการรักษาโรคผิวหนังแทบทุกอาการ สำหรับการแก้ผดร้อน ให้นำรากเหง้าของขมิ้นชันมาตำให้แตกจนมีน้ำออกมา จากนั้นจึงนำมาทาบริเวณที่มีอาการ
ขมิ้นชันเหมาะมากสำหรับคนที่มีอาการคันจนเกาแล้วเป็นแผล เนื่องจากมีสรรพคุณช่วยในเรื่องการสมานแผลให้เร็วขึ้นด้วย
ว่านหางจระเข้
กาบใบของว่านหางจระเข้มีสารที่ให้ความชุ่มชื้นแก่ผิวหนังได้ดีมาก โดยวิธีใช้คือ ปอกเปลือกสีเขียวของว่านหางจระเข้ออก และล้างยางสีเหลืองให้สะอาด เพราะยางของว่านหางจระเข้อาจทำให้เกิดการระคายเคืองผิวและคันได้
หลังจากนั้นนำเอาเนื้อวุ้นข้างในมาฝานบางๆ แล้วทา หรือแปะผิวหนัง ทำเช้าและเย็นจนกว่าอาการจะดีขึ้น
กล้วย
เปลือกกล้วยสุกด้านในที่เป็นเนื้อนุ่มสามารถนำเอามาทาบริเวณที่เป็นผื่นคัน เพื่อให้ความชุ่มชื้น และลดอาการคันได้ดี
การบรรเทาอาการด้วยสมุนไพรพื้นบ้านนั้น ควรทดลองทำแต่น้อยเพื่อสังเกตก่อนว่ามีอาการแพ้หรือไม่ อย่างไรก็ตาม หากการบรรเทาอาการด้วยตัวเองไม่ช่วยให้อาการดีขึ้น หรือมีอาการรุนแรงขึ้น ก็ควรไปพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อทำการรักษาต่อไป