gestational diabetes care 1

เบาหวานในหญิงตั้งครรภ์ คืออะไร? ควรกินอาหารอะไรเพื่อเสริม

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) สามารถเกิดขึ้นได้ทุกระยะของการตั้งครรภ์ เป็นหนึ่งในโรคที่จำเป็นต้องได้รับการดูแลรักษาอย่างใกล้ชิด เพราะสามารถส่งผลเสียต่อมารดา และทารกในครรภ์ได้ หญิงสาวที่กำลังวางแผนตั้งครรภ์ หรือกำลังตั้งครรภ์อยู่ ควรศึกข้อมูลเกี่ยวกับโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ตั้งแต่สาเหตุ วิธีการรักษา วิธีการป้องกัน เพื่อลดความเสี่ยงในการเกิดโรค และสามารถสังเกตอาการเบื้องต้นได้ด้วยตนเองอย่างถูกต้อง

สารบัญ

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์คืออะไร

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) เป็นโรคเบาหวานชนิดหนึ่งที่สามารถเกิดขึ้นได้ทุกระยะของการตั้งครรภ์ ส่วนใหญ่มักถูกวินิจฉัยในช่วงสัปดาห์ที่ 24-28 ของการตั้งครรภ์ เกิดจากภาวะน้ำตาลในเลือดสูง เนื่องจากร่างกายไม่สามารถผลิตฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ได้เพียงพอ สามารถส่งผลเสียต่อมารดา และทารกได้

อย่างไรก็ตาม โรคชนิดนี้สามารถป้องกันได้ หากเตรียมรับมือตั้งแต่ก่อนการตั้งครรภ์ หรือเมื่อเกิดโรคในขณะที่ตั้งครรภ์แล้ว หากเข้ารับการรักษากับแพทย์อย่างถูกวิธี ปฏิบัติตามคำแนะนำอย่างเคร่งครัด การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้กลับมาเป็นปกติหลังคลอด ป้องกัน หรือชะลอการเกิดโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ก็สามารถทำได้เช่นกัน

สาเหตุของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

  • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์เกิดขึ้น เมื่อร่างกายไม่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอกับความต้องการที่เพิ่มขึ้นระหว่างการตั้งครรภ์
  • อินซูลิน คือฮอร์โมนที่สร้างจากตับอ่อน มีหน้าที่ช่วยให้ร่างกายนำน้ำตาลกลูโคสไปใช้เป็นแหล่งพลังงาน และควบคุมระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดให้อยู่ในระดับปกติ
  • ระหว่างการตั้งครรภ์ รกจะมีการผลิตฮอร์โมนบางชนิดขึ้น เช่น human placental lactogen (hPL) ส่งผลให้มีการเปลี่ยนแปลงทำให้ร่างกายไม่สามารถนำอินซูลินไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรียกภาวะนี้ว่า “ภาวะดื้อต่ออินซูลิน”  เพื่อให้มีระดับน้ำตาลในเลือดสูงพอที่จะไปเลี้ยงทารกในครรภ์
    หญิงตั้งครรภ์ทุกคนจะมีภาวะดื้อต่ออินซูลินในช่วงท้ายของการตั้งครรภ์  แต่ส่วนใหญ่สามารถผลิตอินซูลินได้เพียงพอที่จะแก้ไขปัญหาได้ แต่บางรายที่ไม่สามารถทำได้ จะทำให้เกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ตามมา
  • หญิงตั้งครรภ์ที่มีน้ำหนักเกิน หรืออ้วนมาก่อน จะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ เพราะมีภาวะดื้อต่ออินซูลินก่อนที่จะตั้งครรภ์อยู่แล้ว  การตั้งครรภ์จะทำให้น้ำหนักตัวของหญิงคนนั้นมากกว่าเดิม จึงยิ่งเป็นปัจจัยส่งเสริมในการเกิดโรค
  • หากประวัติครอบครัวเป็นโรคเบาหวาน จะเพิ่มโอกาสที่หญิงตั้งครรภ์เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

อาการของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

โดยทั่วไป โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะไม่มีอาการใดๆ แต่สามารถสังเกตุอาการได้ คล้ายกับภาวะน้ำตาลในเลือดสูง ดังนี้

  • รู้สึกหิว
  • กระหายน้ำมากกว่าปกติ
  • ปัสสาวะบ่อยกว่าปกติ
  • รู้สึกเหนื่อย อ่อนเพลีย

ผลของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ต่อทารก

  • ทารกคลอดก่อนกำหนด
  • น้ำหนักทารกแรกคลอดมากกว่าปกติที่ควรจะเป็น เช่น ทารกมีตัวใหญ่มากขึ้นกว่าปกติ ทำให้คลอดยาก หรืออาจเกิดอันตรายขณะคลอด
  • ทารกมีระดับน้ำตาลในเลือดต่ำทันทีหลังคลอด
  • ทารกมีปัญหาเกี่ยวกับระบบหายใจ
  • ทารกอาจเสียชีวิตในครรภ์ได้
  • ทารกที่คลอดจากมารดาที่มีภาวะนี้จะมีโอกาสเป็นโรคอ้วน และอาจเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคตได้

ผลของโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ต่อมารดา

  • หญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะมีโอกาสเกิดภาวะครรภ์เป็นพิษ (Pre-eclampsia) ได้ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อร่างกายมีความดันโลหิตสูงร่วมกับมีโปรตีนรั่วในปัสสาวะมากกว่าปกติ พบในช่วงครึ่งหลังของการตั้งครรภ์
    ภาวะครรภ์เป็นพิษก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อมารดา และทารก วิธีเดียวที่จะหายจากภาวะครรภ์เป็นพิษ คือการคลอดทารกออกมา
    หากคุณมีภาวะครรภ์เป็นพิษ และมีอายุครรภ์ครบ 37 สัปดาห์ แพทย์อาจพิจารณาให้คลอดก่อนกำหนด แต่ถ้าหากมีอายุครรภ์ไม่ถึง 37 สัปดาห์ แพทย์จะพิจารณาทางเลือกอื่นในการช่วยให้ทารกมีพัฒนาที่เป็นปกติให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ก่อนที่ทารกจะคลอด
  • โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะเพิ่มความเสี่ยงทำให้ต้องการการผ่าท้องคลอดมากขึ้น เพราะว่าทารกอาจตัวใหญ่เกินกว่าจะคลอดปกติ
  • เมื่อเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะมีโอกาสพัฒนาเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้ในอนาคต
  • การมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงติดต่อกันเป็นระยะเวลานานจะส่งผลเสียต่อสุขภาพ เช่น เบาหวานขึ้นตา (Diabetic retinopathy) โรคหัวใจ โรคไต การทำลายของเส้นประสาท  เป็นต้น

เวลาที่ควรตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

  • การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ควรทำในช่วงอายุครรภ์ 24-28 สัปดาห์
  • หากมีความเสี่ยงต่อการพัฒนาเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ แพทย์จะตรวจคัดกรองโรคเบาหวานตั้งแต่ครั้งแรกที่มาฝากครรภ์

แพทย์จะวินิจฉัยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์อย่างไร

แพทย์จะนำเลือดไปตรวจค่าระดับน้ำตาลในเลือด เพื่อวินิจฉัยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ โดยจะมีการตรวจอยู่สองแบบ คือ แบบ 1 ขั้นตอน และ แบบ 2 ขั้นตอน ดังนี้

แบบ 1 ขั้นตอน ประกอบด้วยการทดสอบด้วยน้ำตาลกลูโคสขนาด 75 กรัม (75-g oral glucose tolerance test)

แพทย์จะให้ผู้ป่วยอดอาหารเช้ามาก่อน และเจาะเลือดเพื่อวัดระดับน้ำตาล จากนั้นให้ดื่มสารละลายที่มีน้ำตาลกลูโคส 75 กรัม และเจาะเลือดหลังจากดื่มไปแล้ว 1 และ 2 ชั่วโมงตามลำดับ

แบบ 2 ขั้นตอน ประกอบด้วยการคัดกรองด้วยน้ำตาลกลูโคส 50 กรัม และกลูโคส 100 กรัม

  1. การทดสอบด้วยน้ำตาลกลูโคส 50 กรัม  (Glucose Challenge Test)
    • เป็นการคัดกรองเบื้องต้น ในการทดสอบนี้ แพทย์จะให้คุณดื่มสารละลายน้ำตาลกลูโคส 50 กรัม และเจาะเลือดหลังรับประทาน 1 ชั่วโมงเพื่อไปตรวจ  โดยไม่ต้องงดน้ำและอาหาร
    • ถ้าระดับน้ำตาลที่ตรวจพบสูงกว่า 140 mg/dL  คุณจะต้องได้รับการตรวจซ้ำโดยวิธีการทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส ซึ่งการทดสอบนี้จะต้องอดอาหารก่อนการตรวจ (มาตรวจในวันอื่น)
    • ถ้าระดับน้ำตาลที่ตรวจมีค่าตั้งแต่ 200 mg/dL  คุณอาจกำลังเป็นเบาหวานชนิดที่ 2 อยู่แล้ว (overt diabetes mellitus)
  2. การทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส (Oral Glucose Tolerance Test: OGTT)
    • การทดสอบนี้จะวัดระดับน้ำตาลในเลือดหลังจากที่อดอาหารมาแล้วอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
    • วิธีการตรวจ แพทย์จะเจาะเลือดก่อน 1 หลอดแรก เพื่อหาระดับน้ำตาลในเลือดหลังอดอาหาร
    • จากนั้นจะให้รับประทานสารละลายน้ำตาลกลูโคส 100 กรัม และเจาะเลือดซ้ำที่ 1 2 และ 3 ชั่วโมง หลังรับประทานน้ำตาลเข้มข้นนี้ เพื่อนำผลระดับน้ำตาลในเลือดทั้งหมดมาประกอบการวินิจฉัยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์
    • ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดที่สูงอย่างน้อย 2 ค่าขึ้นไปจากทั้งหมด (ระดับน้ำตาลหลังอดอาหาร และระดับน้ำตาลหลังรับประทานน้ำตาลกลูโคสที่ 1 2 และ 3 ชั่วโมง) จะถือว่าเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์  ซึ่งแพทย์จะเป็นผู้อธิบายผลการทดสอบทั้งหมดกับผู้ป่วย
    • บางครั้งแพทย์อาจพิจารณาให้ตรวจความทนต่อน้ำตาลกลูโคสเลย โดยไม่จำเป็นต้องทดสอบด้วยน้ำตาลกลูโคส 50 กรัม

ปัจจัยเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

  • มีน้ำหนักเกิน
  • เคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อนในครรภ์ก่อนหน้า
  • ครอบครัวเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2
  • มีภาวะก่อนเป็นเบาหวาน ซึ่งหมายถึงมีระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดสูงกว่าปกติ แต่ไม่สูงพอที่จะวินิจฉัยว่า เป็นโรคเบาหวาน
  • เป็นโรคถุงน้ำในรังไข่หลายใบ (Polycystic Ovary Syndrome: PCOS)

วิธีลดความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

หากคุณกำลังวางแผนตั้งครรภ์ แต่มีน้ำหนักเกินกว่ามาตรฐาน สามารถลดความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ด้วยการลดน้ำหนักส่วนเกิน และเพิ่มการออกกำลังกายก่อนที่จะตั้งครรภ์ เพื่อทำให้ร่างกายสามารถนำอินซูลินไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทำให้ระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดอยู่ในระดับปกติ

หากคุณตั้งครรภ์แล้ว อย่าพยายามที่จะลดน้ำหนักทันที เพราะว่าคุณจะมีน้ำหนักเพิ่มขณะตั้งครรภ์อยู่แล้ว เพื่อให้ทารกมีสุขภาพที่แข็งแรง อย่างไรก็ตาม หากน้ำหนักที่เพิ่มขึ้นระหว่างตั้งครรภ์นั้นมากและเร็วเกินไป อาจเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้ ดังนั้น ควรปรึกษาแพทย์ประจำตัวว่า น้ำหนักที่ควรจะเพิ่มขณะตั้งครรภ์ควรเป็นเท่าใด รวมถึงวิธีการออกกำลังกายระหว่างการตั้งครรภ์ใดที่เหมาะสมสำหรับตนเอง

วิธีรักษาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

การรักษาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์จะมุ่งไปที่การควบคุมระดับกลูโคสในเลือดจากอาหาร ด้วยการออกกำลังกาย และการรับประทานยา

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มีความคล้ายกับ เบาหวานประเภทที่ 2 เพราะจะเกิดขึ้นเมื่อตับ กล้ามเนื้อ และ เซลล์ไขมันตอบสนองต่ออินซูลินได้ไม่ดี (อินซูลิน คือฮอร์โมนที่ช่วยควบคุมกลูโคสในเลือด) ซึ่งจะเกิดขึ้นเมื่อตอนตั้งครรภ์เท่านั้น

โรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของร่างกาย การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนในระหว่างตั้งครรภ์ ซึ่งทำให้เกิดระดับกลูโคสในเลือดที่สูง และถ้าหากถูกปล่อยเอาไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจจะเป็นอันตรายต่อมารดาและบุตร ซึ่งอาจทำให้เสียชีวิตได้  อีกทั้งยังเพิ่มความเสี่ยงในการเป็นเบาหวานประเภทที่ 2 ให้กับทั้งสองคนในอนาคตอีกด้วย

หัวใจหลักของการรักษาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คือการควบคุมระดับกลูโคสในเลือดอย่างเข้มงวด โดยให้เปลี่ยนการใช้ชีวิตการรับประทานอาหารและการออกกำลังกาย บางครั้งอาจจะต้องใช้ยาควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดด้วยถ้าหากจำเป็น

อาหารที่เหมาะสำหรับสตรีที่ป่วยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

อาหารสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ จะเน้นไปที่อาหารที่มีไฟเบอร์สูงและสารอาหารสำคัญอื่นๆ ที่มีปริมาณไขมันและแคลอรี่ต่ำ ซึ่งได้แก่ ผัก ผลไม้ และธัญพืชขัดสีน้อย (Whole grains) รวมถึงหลีกเลี่ยงคาร์โบไฮเดรตขัดสีต่างๆ และน้ำตาลด้วย

นอกจากนี้จะมีอาหารพิเศษเพื่อสุขภาพ โดยมีนักโภชนาการเป็นผู้แนะนำ รวมถึงกำหนดให้มีการออกกำลังกาย ตามที่ The American Diabetes Association (ADA) ได้รายงานไว้

วารสาร Reviews in Obstetrics and Gynecology ได้รายงานเพิ่มเติมเอาไว้ว่า อาหารที่ช่วยให้ผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ควบคุมระดับกลูโคสในเลือดได้ดีที่สุด คืออาหารที่ 33%-40% ของแคลอรี่มาจากคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อน 35%-40% ของแคลอรี่มาจากไขมัน และ 20% มาจากโปรตีน ทั้งนี้ การกินอาหารมื้อเล็กๆ ตลอดวันก็สามารถช่วยควบคุมระดับกลูโคสให้คงที่ได้

การรักษาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ด้วยการออกกำลังกาย

โดยปกติแล้ว การออกกำลังกายมีความสำคัญมากในการช่วยควบคุมระดับกลูโคสในเลือด

The Centers for Disease Control and Prevention ได้ระบุไว้ว่า ผู้หญิงที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ควรออกกำลังกายแบบหนักปานกลางถึงหนักมาก อย่างน้อย 30 นาทีต่อวันเป็นประจำ 5 วันต่อสัปดาห์อาทิ การเดินเร็ว การว่ายน้ำ การเต้นแอโรบิคที่มีแรงกระแทกต่ำ หรือการเล่นกับเด็กๆ และควรหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่มีอันตรายสูง เช่น บาสเกตบอล และฟุตบอล เพราะมีโอกาสที่ลูกบอลจะกระแทกท้อง การขี่ม้า และการเล่นสกีลงเขา เป็นต้น

ในช่วงสามเดือนแรกของการตั้งครรภ์ คุณควรจะหลีกเลี่ยงการออกกำลังกายที่ต้องใช้หลัง ซึ่งอาจจะทำให้เกิดแรงกดบริเวณเส้นเลือดบางเส้น และทำให้เลือดไปเลี้ยงทารกได้โดยไม่ตั้งใจ ทางที่ดีควรปรึกษาแพทย์ก่อนทำการยกน้ำหนัก การวิ่งเหยาะๆ และการออกกำลังกายที่ช่วยเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อและกระดูกระหว่างตั้งครรภ์จะดีที่สุด

การสังเกตการณ์ระดับกลูโคสในเลือด

ไม่ว่าจะเป็นเบาหวานประเภทใด คุณควรจะหมั่นตรวจระดับกลูโคสในเลือดด้วยเครื่องตรวจวัดระดับกลูโคส ซึ่งหากคุณเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คุณควรตรวจระดับกลูโคสในเลือดในทุกๆ เช้า เป็นอันดับแรก จากนั้นให้ตรวจทุกๆ 1-2 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหารในแต่ละมื้อของทุกๆ วัน

สมาคม ADA ได้ระบุเอาไว้ว่า ระดับกลูโคสในเลือดที่เหมาะสมควรจะมีค่าดังนี้

  • 95 มิลลิกรัม ต่อเดซิลิตร (mg/dL)หรือต่ำกว่า เมื่อตรวจวัดหลังจากคุณตื่นนอน และก่อนรับประทานอาหาร
  • 140 mg/dL หรือต่ำกว่า เมื่อตรวจวัดหลังรับประทานอาหารแล้ว 1 ชั่วโมง
  • 120 mg/dL หรือต่ำกว่า เมื่อตรวจวัดหลังรับประทานอาหารแล้ว 2 ชั่วโมง

แม้ว่าคุณจะควบคุมอาหารและออกกำลังกายเพื่อควบระดับกลูโคสในเลือดแล้ว แต่หากตรวจวัดสังเกตการณ์แล้วพบว่าระดับกลูโคสในเลือดไม่ได้อยู่ในค่าที่เหมาะสม คุณอาจจะต้องใช้ยาร่วมด้วย เพื่อช่วยลดระดับกลูโคสในเลือด

การให้ยาสำหรับโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

การฉีดอินซูลินเป็นการให้ยาแบบมาตรฐานสำหรับโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ ซึ่งแพทย์อาจจะสั่งอินซูลินที่ออกฤทธิ์เร็ว หรืออินซูลินที่ออกฤทธิ์นาน (Basal) โดยจะให้ในช่วงก่อนนอนหรือตอนตื่นนอนในตอนเช้า

ยาทางเลือกนอกจากอินซูลินแล้ว แพทย์อาจจะสั่งยาสำหรับรับประทาน เช่น Glyburide และ Metformin โดยได้รับรองแล้วว่ายาทั้ง 2 ตัวนั้นมีความปลอดภัยในการใช้สำหรับโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

 

Q&A

จะรู้ได้อย่างไรว่าระดับน้ำตาลกลูโคสในเลือดอยู่ในช่วงเป้าหมายที่ควรจะเป็น

แพทย์จะแนะนำให้ใช้เครื่องตรวจวัดน้ำตาลในเลือดด้วยตนเองที่บ้าน ซึ่งเป็นเครื่องมือที่จะเจาะปลายนิ้วมือ เพื่อให้ได้เลือดปริมาณเล็กน้อยสำหรับตรวจวัดระดับน้ำตาล สามารถตรวจได้เป็นประจำทุกวัน ซึ่งระดับน้ำตาลในเลือดเป้าหมายที่แนะนำในหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ คือ

  • ก่อนมื้ออาหาร ก่อนนอน และระหว่างกลางคืน: 95 mg/dL หรือน้อยกว่า
  • 1 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร: 140 mg/dL หรือน้อยกว่า
  • 2 ชั่วโมงหลังรับประทานอาหาร: 120 mg/dL หรือน้อยกว่า

อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ถึงค่าเป้าหมายที่เหมาะสมสำหรับแต่ละบุคคล

ควรจดบันทึกผลระดับน้ำตาลในเลือด และนำไปให้แพทย์ดูทุกครั้งที่เข้าตรวจ เพื่อให้แพทย์สามารถตัดสินใจได้ว่า วิธีการรักษาเหมาะสมกับผู้ป่วยหรือไม่

จะรักษาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ได้อย่างไร ถ้าการควบคุมอาหาร การออกกำลังกายไม่เพียงพอ

ถ้าหากปฏิบัติตามโปรแกรมการรับประทานอาหาร และออกกำลังกายแล้ว แต่ยังไม่เพียงพอที่จะควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในช่วงเป้าหมายได้ อาจจำเป็นต้องได้รับยาฉีดอินซูลิน

ยาฉีดอินซูลินไม่เป็นอันตรายต่อร่างกาย และเป็นยาทางเลือกแรกสำหรับหญิงตั้งครรภ์ที่เป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์

หลังคลอดทารก จะรู้ได้อย่างไรว่า ป่วยเป็นโรคเบาหวานหรือไม่

ควรตรวจซ้ำเพื่อยืนยันภายในระยะเวลาไม่เกิน 12 สัปดาห์หลังคลอดลูก ถ้าระดับน้ำตาลในเลือดยังคงสูงอยู่ อาจเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2

ถ้าหากผลการตรวจอยู่ในระดับปกติ ก็ยังถือว่า มีความเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคตได้อยู่ ดังนั้น ควรได้รับการตรวจซ้ำทุก 3 ปี เพื่อคัดกรองการเป็นโรคเบาหวานในอนาคต

จะป้องกันหรือชะลอการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคตได้อย่างไร

คำแนะนำต่อไปนี้ จะช่วยป้องกันหรือชะลอการเป็นโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ในอนาคตได้ หากเคยเป็นโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์มาก่อน

  • ออกกำลังกายสม่ำเสมอ และรับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ เพื่อควบคุมน้ำหนัก
  • ให้นมบุตรด้วยตัวเอง การให้นมจะช่วยให้เผาผลาญพลังงานได้ดีขึ้น
  • หากผลตรวจมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคเบาหวานในอนาคต และคุณกำลังมีภาวะน้ำหนักเกิน แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ถึงปริมาณน้ำหนักที่ควรลดลง เพื่อลดความเสี่ยงดังกล่าว

จะดูแลลูกให้มีสุขภาพที่แข็งแรงได้อย่างไร

คุณสามารถดูแลให้ลูกมีสุขภาพที่แข็งแรงได้ โดยวิธีดังนี้

  • ให้ลูกเคลื่อนไหวร่างกาย และออกกำลังกายให้เหมาะสมตามวัย
  • จำกัดเวลาในการดูโทรทัศน์ เล่นเกม การใช้โทรศัพท์มือถือ หรือคอมพิวเตอร์ให้เหมาะสม
  • ให้รับประทานอาหารที่ดีต่อสุขภาพ
  • ควบคุมน้ำหนักตัวให้เป็นไปตามเกณฑ์มาตรฐานตามวัย

การปฏิบัติตามคำแนะนำข้างต้นจะช่วยให้ครอบครัวของคุณมีสุขภาพที่ดี ช่วยลดความเสี่ยงของลูกในการเกิดภาวะอ้วน และการเป็นโรคเบาหวานในอนาคต


เปรียบเทียบราคา แพ็กเกจตรวจเบาหวาน

Scroll to Top