น้ำหนักเกิน หรือ โรคอ้วน เป็นภาวะที่หลายๆ คนกำลังเผชิญ แม้จะพยายามลดน้ำหนัก จำกัดอาหาร ปรับพฤติกรรมหลายๆ อย่าง ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะทำได้สำเร็จ เพราะยังมีปัจจัยอื่นๆ อีกมากมายที่เป็นอุปสรรคต่อการลดน้ำหนัก เช่น ฮอร์โมนในร่างกาย อายุ ความเครียด พันธุกรรม โรคประจำตัว ฯลฯ
แต่ปัจจุบันมีตัวช่วยทางการแพทย์มากมายที่เข้ามามีบทบาทในการรักษาโรคนี้ เช่น การใช้ยา การผ่าตัด ซึ่งวิธีที่ว่านี้ มักใช้ต่อเมื่อพยายามรักษาด้วยวิธีอื่นๆ แล้วไม่ได้ผล
การใช้ยารักษาโรคอ้วน การผ่าตัดกระเพาะรักษาโรคอ้วน จำเป็นต้องอยู่ภายใต้การดูแลของแพทย์ เพราะแม้จะเป็นวิธีรักษาที่ได้ผล แต่ก็มีผลข้างเคียงตามมาด้วย อีกทั้งบางวิธีทำแล้วไม่สามารถย้อนกลับไปเป็นเหมือนเมื่อก่อนทำได้ จึงจำเป็นต้องชั่งน้ำหนักระหว่างข้อดีข้อเสียให้มั่นใจก่อนตัดสินใจเลือกหัตถการที่เหมาะสม
สารบัญ
- 1. รักษาโรคอ้วนด้วยการรับประทานยา
- 2. รักษาโรคอ้วนด้วยปากกาควบคุมความหิว
- 3. รักษาโรคอ้วนด้วยการส่องกล้องเย็บกระเพาะให้เล็กลง
- 4. รักษาโรคอ้วนด้วยวิธีผ่าตัดใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร
- 5. รักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดใส่ยางรัดกระเพาะ
- 6. รักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดบายพาสทางเดินอาหาร
- 7. รักษาโรคอ้วนด้วยการตัดกระเพาะแบบสลีฟ
- 8. รักษาโรคอ้วนด้วยการตัดกระเพาะแบบสลีฟร่วมกับบายพาส
1. รักษาโรคอ้วนด้วยการรับประทานยา
ผู้ที่ปรับพฤติกรรมการรับประทานอาหารร่วมกับออกกำลังกายแล้ว แต่ยังไม่ได้ผล แพทย์อาจแนะนำให้รับประทานยาร่วมด้วย โดยแพทย์จะพิจารณาตัวยาที่เหมาะสมกับแต่ละคนโดยดูจากประวัติสุขภาพ
การรักษาโรคอ้วนด้วยการรับประทานยาเป็นกระบวนการยาวนาน แพทย์อาจนัดตรวจติดตามเป็นระยะว่ายาได้ผลดีหรือไม่ หรือมีผลข้างเคียงที่ไม่พึงประสงค์อะไรหรือเปล่า ถ้ามี อาจแนะนำให้เปลี่ยนยาเป็นตัวอื่นแทน
ผลข้างเคียงที่เกิดขึ้นได้จากการรักษาโรคอ้วนด้วยยา ได้แก่ มีไขมันปนออกมากับอุจจาระ อุจจาระเพิ่มขึ้นหรือลดลง ในบางรายพบว่าเกิดผลข้างเคียงต่อระบบการหายใจ กล้ามเนื้อและข้อต่อ บางรายมีอาการปวดศีรษะตามมา
2. รักษาโรคอ้วนด้วยปากกาควบคุมความหิว
ปากกาควบคุมความหิว เป็นอุปกรณ์ทางการแพทย์รูปร่างคล้ายปากกา โดยส่วนปลายเป็นเข็มฉีดยาขนาดเล็ก ภายในบรรจุตัวยาลิรากลูไทด์ (Liraglutide) ซึ่งมีฤทธิ์ทำให้ร่างกายรู้สึกอิ่ม ลดความอยากอาหาร ทำให้อาหารย่อยช้าลง ตัวยานี้ตามปกติแล้วใช้สำหรับลดระดับน้ำตาลในเลือดเพื่อรักษาเบาหวานชนิดที่ 2
วิธีใช้ คือ ผู้ป่วยจะต้องฉีดยาเข้าที่ใต้ชั้นไขมันร่างกายด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอตามที่แพทย์แนะนำ โดยแพทย์จะสอนวิธีฉีดยา และแนะนำปริมาณการฉีดที่เหมาะสมแก่ผู้ป่วยแต่ละคน และอาจนัดตรวจติดตามรวมถึงปรับเพิ่ม-ลดยาเป็นระยะ เพื่อให้แน่ใจว่าการรักษาเป็นไปด้วยดี
3. รักษาโรคอ้วนด้วยการส่องกล้องเย็บกระเพาะให้เล็กลง
การส่องกล้องเย็บกระเพาะ (Endoscopic Sleeve Gastroplasty) เป็นการผ่าตัดเย็บกระเพาะอาหารจากด้านในให้เหลือขนาดเล็กลง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอิ่ม กินได้น้อยลง ส่งผลให้น้ำหนักลดลงตามไปด้วย โดยทั่วไปการเย็บกระเพาะสามารถคลายรอยเย็บออก ให้กระเพาะกลับมีขนาดเท่าเดิมได้
4. รักษาโรคอ้วนด้วยวิธีผ่าตัดใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร
การผ่าตัดใส่บอลลูนในกระเพาะอาหาร (Intragastric Balloon) แพทย์จะผ่าตัดใส่บอลลูนขนาดเล็กเข้าไปในกระเพาะอาหาร จากนั้นเติมน้ำเข้าไปในบอลลูน เพื่อให้พื้นที่ในกระเพาะเหลือน้อยกว่าปกติ ผู้ป่วยจะรู้สึกอิ่มเร็วขึ้นแม้ว่าจะรับประทานอาหารน้อยลง
บอลลูนจะถูกทิ้งไว้ในกระเพาะในระยะเวลาประมาณ 6 เดือน จากนั้นแพทย์จะนำออกด้วยการผ่าตัดส่องกล้อง จากนั้นการรักษาอาจเสร็จสิ้น หรืออาจต้องแทนที่บอลลูนลูกเก่าด้วยบอลลูนลูกใหม่ หรือเปลี่ยนวิธีการรักษาเป็นวิธีอื่น ขึ้นอยู่กับว่าที่ผ่านมาการลดน้ำหนักสำเร็จเรียบร้อยตามแผนที่วางไว้หรือไม่
5. รักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดใส่ยางรัดกระเพาะ
การผ่าตัดใส่ยางรัดกระเพาะ (Gastric Band Surgery) เป็นการผ่าตัดติดตั้งยางซึ่งมีคุณสมบัติพองตัวได้ เข้าไปคล้องส่วนบนของกระเพาะอาหาร ยางนี้มีท่อเชื่อมไปยังพอร์ต (Port) และพอร์ตจะเป็นส่วนที่ให้แพทย์สามารถเติมของเหลวเข้าไปในปริมาณเหมาะสม เป็นการปรับยางรัดกระเพาะให้รัดแน่นขึ้นหรือคลายออก
ถ้ายางรัดแน่น พื้นที่กระเพาะที่จะให้อาหารเข้ามาพักอยู่ก็จะเหลือน้อยลง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น
การรักษาโรคอ้วนด้วยวิธีผ่าตัดใส่ยางรัดกระเพาะถือว่ามีผลข้างเคียงน้อยที่สุด เมื่อเปรียบเทียบกับการผ่าตัดกระเพาะเทคนิคอื่นๆ แต่ก็เป็นวิธีที่ลดน้ำหนักได้น้อยที่สุดเช่นกัน และผู้ที่รักษาด้วยวิธีนี้ยังจำเป็นต้องพบแพทย์บ่อยๆ เพื่อปรับความแน่น-หลวมของยางรัดกระเพาะ
อย่างไรก็ตาม ข้อดีของวิธีนี้คือสามารถนำอุปกรณ์ลดขนาดกระเพาะที่ติดตั้งเข้าไปแล้วออกได้ เพื่อให้กระเพาะกลับมามีขนาดเท่าเดิม
6. รักษาโรคอ้วนด้วยการผ่าตัดบายพาสทางเดินอาหาร
การผ่าตัดบายพาสทางเดินอาหาร (Gastric Bypass Surgery หรือ Roux-en-Y Surgery) เป็นการตัดต่อทางเดินอาหาร ให้อาหารผ่านทางเดินอาหารไปสู่กระเพาะปริมาณน้อยๆ แล้วลัดไปสู่ลำไส้เล็กส่วนปลาย ทำให้ร่างกายดูดซึมสารอาหารได้น้อยลง
ถึงแม้เทคนิคผ่าตัดบายพาสทางเดินอาหารจะทำกันมานานกว่า 50 ปีแล้ว และเป็นการผ่าตัดกระเพาะที่ค่อนข้างปลอดภัย รักษาโรคอ้วนได้ผล แต่วิธีนี้จะเปลี่ยนทางเดินอาหารไปอย่างถาวร ไม่สามารถทำให้กลับเป็นเหมือนเดิมได้ ดังนั้นผู้ป่วยที่รักษาโรคอ้วนด้วยวิธีนี้ จำเป็นต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษหลังผ่าตัดไปตลอดชีวิต
7. รักษาโรคอ้วนด้วยการตัดกระเพาะแบบสลีฟ
การตัดกระเพาะแบบสลีฟ (Gastric Sleeve) จะใช้เทคนิคผ่าตัดนำเอาส่วนกระพุ้งของกระเพาะออกไป เพื่อให้กระเพาะเหลือเนื้อที่รับอาหารปริมาณน้อยลง ผู้ป่วยจึงรู้สึกอิ่มเร็วขึ้น
การตัดกระเพาะเทคนิคนี้จัดว่าแพร่หลายและทำบ่อยที่สุด เมื่อเทียบกับการผ่าตัดกระเพาะด้วยเทคนิคอื่นๆ อีกทั้งเป็นวิธีที่โดยทั่วไปแล้วค่อนข้างปลอดภัย มีผลข้างเคียงน้อย สามารถผ่าตัดแบบส่องกล้องได้ ทำให้ร่างกายไม่บอบช้ำมากนัก
กระพุ้งกระเพาะที่ผ่าตัดออกไปแล้วไม่สามารถนำมาติดกลับหรือซ่อมแซมให้กลับมาเป็นเหมือนเดิมได้ ผู้ที่รักษาโรคอ้วนด้วยวิธีนี้ จำเป็นต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษหลังผ่าตัดไปตลอดชีวิต
8. รักษาโรคอ้วนด้วยการตัดกระเพาะแบบสลีฟร่วมกับบายพาส
การผ่าตัดกระเพาะอาหารแบบสลีฟร่วมกับบายพาส (Laparoscopic Sleeve Gastrectomy Plus Proximal Jejunal Bypass) เทคนิคนี้แพทย์จะผ่าตัดส่วนกระพุ้งกระเพาะออก เพื่อทำให้ขนาดกระเพาะเล็กลง จากนั้นตัด-ต่อลำไส้เล็กเพื่อสร้างทางเดินอาหารใหม่ ให้อาหารออกจากกระเพาะแล้วเข้าสู่ลำไส้เล็กส่วนกลาง ข้ามลำไส้เล็กส่วนต้น ซึ่งเป็นส่วนที่มีการดูดซึมอาหารมากที่สุดไป
วิธีนี้เป็นอีกวิธีหนึ่งที่เปลี่ยนทางเดินอาหารไปอย่างถาวร ไม่สามารถทำให้กลับเป็นเหมือนเดิมได้ ผู้ที่รักษาโรคอ้วนด้วยวิธีนี้ จำเป็นต้องดูแลตัวเองเป็นพิเศษหลังผ่าตัดไปตลอดชีวิตเช่นกัน
มีหลากหลายตัวช่วยทางการแพทย์ที่จะช่วยลดน้ำหนัก รักษาโรคอ้วนได้ ดังที่กล่าวไปแล้ว แต่ไม่ใช่ว่าทุกวิธีจะเหมาะกับทุกคน ผู้ป่วยจำเป็นต้องได้รับการตรวจและพิจารณาจากแพทย์ เพื่อหาวิธีลดน้ำหนักที่ปลอดภัย และเหมาะกับตัวเองที่สุด
ลดน้ำหนักวิธีไหนจะดีกับเรา? อยากขอความเห็นจากคุณหมอเฉพาะทาง เพื่อเลือกวิธีรักษาที่เหมาะกับเรามากที่สุด ติดต่อทีม HDcare ช่วยทำนัดเข้าปรึกษาคุณหมอ ดูแลกันตั้งแต่ต้นจบ ทำให้การผ่าตัดไม่ยุ่งยากและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด คลิกเลย