hba1c blood test screening process scaled

HbA1c การตรวจน้ำตาลเฉลี่ยสะสม คืออะไร ต่างกับการตรวจน้ำตาล FBS อย่างไร

หนึ่งในวิธีการตรวจคัดกรองโรคเบาหวานที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อกันมาบ้างคงหนีไม่พ้น การตรวจค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดหรือ HbA1c

การตรวจนี้คืออะไร เหมาะกับใครบ้าง ขั้นตอนเป็นอย่างไร แล้วการตรวจ HbA1c ต่างกับการตรวจน้ำตาลแบบ FBS ไหม บทความนี้รวมสิ่งที่คุณควรรู้เกี่ยวการตรวจ HbA1c มาให้แล้ว 

HbA1c หรือการตรวจน้ำตาลเฉลี่ยสะสม คืออะไร

การตรวจฮีโมโกลบิน เอ วัน ซี (Hemoglobin A1c: HbA1c) เป็นการตรวจวัดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในเลือดช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมา แบบไม่ต้องอดอาหาร 

ต้องเกริ่นก่อนว่า ในเม็ดเลือดแดงจะมีโปรตีนชนิดหนึ่งชื่อว่า ฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ที่ทำหน้าที่ลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะส่วนต่าง ๆ เจ้าฮีโมโกลบินนี่เองที่จะถูกเกาะติดโดยน้ำตาลกลูโคส (Glucose) ส่วนเกินที่เราได้รับผ่านการกินอาหาร 

ยิ่งมีปริมาณน้ำตาลกลูโคสในเลือดเกินมามากเท่าไหร่ ปริมาณฮีโมโกลบินที่ถูกน้ำตาลกลูโคสเกาะติดก็จะยิ่งมากขึ้น ระดับน้ำตาลในเลือดก็จะสะสมสูงขึ้นเรื่อย ๆ

จึงพูดได้ว่าการตรวจ HbA1c ก็คือการตรวจน้ำตาลกลูโคสที่จับหรือเกาะติดกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง และเราสามารถตรวจค่าน้ำตาลเฉลี่ยสะสมย้อนหลังได้ถึง 2-3 เดือน ก็เป็นเพราะอายุขัยของเม็ดเลือดแดงยาวนานประมาณ 120 วัน ก่อนจะถูกกำจัดที่ตับและม้ามตามกระบวนการปกตินั่นเอง

การตรวจ HbA1c นอกจากใช้คัดกรองโรคเบาหวานแล้ว ยังบอกได้ว่าผู้ป่วยเบาหวานควบคุมระดับน้ำตาลได้ดีมากน้อยแค่ไหน แพทย์จะได้ปรับแผนการรักษาให้เหมาะกับแต่ละคน และผู้ป่วยเองจะได้ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนจากเบาหวานให้น้อยลงด้วย

การตรวจ HbA1c เหมาะกับใคร

แพทย์อาจแนะนำการตรวจ HbA1c เพื่อวินิจฉัย ประเมิน หรือติดตามโรค ให้กับกลุ่มคนดังต่อไปนี้

  • คนทั่วไปที่ต้องการตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน
  • คนที่มีสัญญาณเตือนระดับน้ำตาลในเลือดสูง เช่น กระหายน้ำมาก ปัสสาวะบ่อย มองเห็นภาพเบลอ หรืออ่อนเพลียตลอดเวลา
  • คนที่มีภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) ซึ่งเสี่ยงต่อการเกิดโรคเบาหวานและโรคหัวใจและหลอดเลือดได้สูง
  • คนที่เสี่ยงต่อเบาหวานชนิดที่ 1 และชนิดที่ 2 โดยเฉพาะคนที่มีความเสี่ยงสูง เช่น มีประวัติครอบครัวเป็นเบาหวาน อายุ 35 ปีขึ้นไป มีโรคอ้วน หรือไม่ออกกำลังกาย แพทย์อาจให้ตรวจ HbA1c ซ้ำ 2 ครั้ง หรือตรวจ HbA1c ร่วมกับวิธีตรวจเบาหวานอื่น ๆ
  • ผู้ป่วยโรคเบาหวานที่ต้องติดตามหรือปรับแผนการรักษา ซึ่งมักต้องตรวจซ้ำอย่างน้อย 2 ครั้งต่อปี หรือตรวจตามแพทย์สั่ง 

คุณเป็นหนึ่งในลิสต์ข้างบนหรือเปล่า? ถ้าใช่ก็ คลิกเลย HDmall.co.th รวมแพ็กเกจตรวจคัดกรองเบาหวานในราคาโปรโมชั่น ให้คุณรับส่วนลดเพิ่มเติม เปรียบเทียบราคา หรือดูรีวิว เว็บเดียวครบจบ!

ขั้นตอนการตรวจและผลตรวจ HbA1c 

การตรวจ HbA1c ไม่ต้องอดอาหารมาก่อน แนะนำว่าควรพักผ่อนให้เพียงพอก่อนตรวจในวันถัดไปจะเป็นการดีที่สุด ขั้นตอนการตรวจ HbA1c ใช้เวลาไม่นาน ขั้นตอนมีดังนี้

  1. เจ้าหน้าที่ทำความสะอาดผิวหนังบริเวณที่จะเจาะเลือดด้วยแอลกอฮอล์
  2. จากนั้นจะใช้เข็มเจาะบริเวณปลายนิ้วหรือข้อพับแขน เพื่อเก็บตัวอย่างเลือดจำนวนหนึ่ง
  3. นำเข็มออกและปิดแผลด้วยผ้าก๊อซหรือสำลีก้อนเป็นอันเสร็จสิ้น
  4. ตัวอย่างเลือดที่ได้จะถูกส่งไปตรวจในห้องปฏิบัติการ และแจ้งผลตรวจให้ผู้ป่วยทราบ

การตรวจ HbA1c สามารถรู้ผลตรวจได้ในวันเดียวกัน โดยแปรผลออกมาเป็นหน่วยเปอร์เซ็นต์ (%) ซึ่งมาจากค่าเฉลี่ยของน้ำตาลที่ไปจับกับฮีโมโกลบินในเม็ดเลือด แบ่งเป็น 3 ระดับตามเกณฑ์ต่อไปนี้

  • ระดับปกติ = ค่า HbA1c น้ำตาลเฉลี่ยสะสมต่ำกว่า 5.7%
  • คนเสี่ยงเป็นเบาหวาน = ค่า HbA1c น้ำตาลเฉลี่ยสะสมระหว่าง 5.7-6.4% 
  • คนเป็นเบาหวาน = ค่า HbA1c น้ำตาลเฉลี่ยสะสมตั้งแต่ 6.5% ขึ้นไป

คนที่เพิ่งตรวจครั้งแรกแล้วมีค่า HbA1c สูงกว่า 5.7% แนะนำให้ปรึกษาแพทย์ เพื่อตรวจระบบอวัยวะอื่น ๆ เพิ่มเติม หรือรับการรักษาที่เหมาะสม พร้อมทั้งปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเสี่ยงก่อนจะกลายเป็นเบาหวาน

สำหรับคนที่ป่วยเป็นโรคเบาหวานแล้ว แพทย์จะแนะนำให้ควบคุมค่า HbA1c ให้อยู่ระดับปกติที่ 7% หรือต่ำกว่านั้น เพื่อลดความเสี่ยงของโรคแทรกซ้อนในระยะยาว และมีคุณภาพชีวิตที่ขึ้น

ปัจจัยที่ส่งผลต่อการตรวจ HbA1c

ปัจจัยบางประการอาจส่งผลต่อความแม่นยำของค่า HbA1c ทำให้คลาดเคลื่อนไปจากความจริงได้ เช่น

  • การตั้งครรภ์
  • เม็ดเลือดแดงผิดปกติจากกรรมพันธุ์ 
  • เพิ่งสูญเสียเลือดจำนวนมากหรือเพิ่งบริจาคเลือดมา
  • ปัญหาสุขภาพบางอย่าง เช่น โรคเลือด โลหิตจาง ธาลัสซีเมีย โรคไต หรือโรคตับ  
  • ยารักษาและอาหารเสริม เช่น ยากดภูมิคุ้มกัน ยาต้านเอชไอวี (HIV) ยาโอปิออยด์ (Opioids) หรืออาหารเสริมธาตุเหล็ก 
  • ปัญหาการดื่มสุราผิดปกติ (Alcohol use disorders)
  • ข้อผิดพลาดขณะเก็บตัวอย่างเลือด นำส่ง หรือกระบวนการแปรผล  

ความต่างของการตรวจน้ำตาลในเลือดแบบ HbA1c และ FBS

หลายคนอาจสับสนระหว่างการตรวจแบบ FBS และ HbA1c ว่าเป็นอย่างเดียวกัน แต่จริง ๆ ทั้ง 2 วิธีนั้นต่างกันในหลายด้าน เปรียบเทียบให้เห็นภาพง่าย ๆ ตามรายละเอียดด้านล่าง 

การตรวจน้ำตาลกลูโคสหลังอดอาหาร (Fasting Blood Sugar: FBS) 

  • ต้องอดอาหารก่อนตรวจเลือดอย่างน้อย 8 ชั่วโมง
  • วัดระดับน้ำตาลในเลือด ณ ขณะนั้นหรือ 1-2 วันที่ผ่านมา
  • ติดตามและประเมินการควบคุมระดับน้ำตาลในระยะสั้น
  • ตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้

การตรวจน้ำตาลเฉลี่ยสะสม (HbA1c)

  • ไม่ต้องอดอาหารก่อนตรวจ
  • วัดระดับน้ำตาลเฉลี่ยสะสมย้อนหลัง 2-3 เดือน
  • ติดตามและประเมินการควบคุมน้ำตาลในระยะยาว
  • ไม่สามารถตรวจวัดระดับน้ำตาลในเลือดต่ำได้

จะเห็นว่า FBS และ HbA1c มีความต่างในรายละเอียด แต่มีประโยชน์ต่อการวัดระดับน้ำตาลทั้งในระยะสั้นและระยะยาว แพทย์จึงมักแนะนำให้ตรวจด้วย FBS และ HbA1c ควบคู่กันไป เพราะจะช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมระดับน้ำตาลได้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

การตรวจ HbA1c เป็นหนึ่งในวิธีคัดกรองเบาหวานและติดตามระดับน้ำตาลในเลือดที่มีส่วนช่วยวางแผนการรักษาและป้องภาวะแทรกซ้อนอย่างมาก หากพบสัญญาณน้ำตาลสูงก็ควรปรึกษาแพทย์ตั้งแต่เนิ่น ๆ เพราะแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำในการตรวจ ความถี่ที่ควรไปตรวจ รวมถึงการปรับพฤติกรรมและดูแลตัวเอง เพื่อให้ค่าน้ำตาลอยู่ในระดับปกติในระยะยาว  

3 เดือนที่แล้ว ระดับน้ำตาลเราเป็นยังไงนะ… เสี่ยงเบาหวานหรือเปล่า… เลิกกังวลแล้วทักหาแอดมิน ที่นี่ ได้เลย! เปรียบเทียบแพ็กเกจตรวจคัดกรองเบาหวานราคาโปรที่ HDmall.co.th มีส่วนลดเพิ่มทุกครั้งที่จองด้วยนะ  

Scroll to Top