common diabetes tests screening process

4 วิธีตรวจคัดกรองโรคเบาหวาน รู้ทัน ป้องกันเบาหวานได้!

เบาหวานเป็นโรคกลุ่มไม่ติดต่อเรื้อรังยอดฮิตของคนไทย โดยเฉพาะในคนมีอายุ คนชอบกินหวานเป็นชีวิต หรือคนอ้วน และโรคนี้ก็มักไม่มีอาการให้เราเห็น

การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานจึงจำเป็นอย่างมาก เพื่อให้เราได้หันกลับมาใส่ใจการกินอาหารและดูแลตัวเองมากขึ้น ความเสี่ยงเบาหวานจะได้ลดลง มาดูกันว่าวิธีตรวจคัดกรองเบาหวานมีอะไรบ้าง

โรคเบาหวาน (Diabetes) คืออะไร? 

โรคเบาหวานเป็นความผิดปกติของตับอ่อนที่ผลิตฮอร์โมนช่วยแปลงน้ำตาลไปเป็นพลังงานหรือฮอร์โมนอินซูลิน (Insulin) ไม่ได้หรือผลิตไม่เพียงพอ และร่างกายยังมีภาวะดื้ออินซูลินร่วมด้วย ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงกว่าระดับปกติอย่างต่อเนื่อง

อีกทั้งยังเสี่ยงต่อภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้ในระยะยาว อย่างโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคไต หรือโรคตา โดยมีปัจจัยเสี่ยงที่ก่อให้เกิดโรคหลายประการ ซึ่งถ้าตรงกับเราแม้ข้อเดียว ก็ควรไปตรวจคัดกรองเบาหวานโดยเร็ว เช่น

  • อายุ 35 ปีขึ้นไป
  • ประวัติคนในครอบครัวหรือญาติสายตรงเป็นโรคเบาหวานมาก่อน
  • ผู้ที่มีน้ำหนักเกิน มีภาวะอ้วนหรืออ้วนลงพุง โดยวัดจากค่าดัชนีมวลกายตั้งแต่ 25 หรือเส้นรอบเอวเกินมาตรฐาน ในผู้ชายจะมากกว่า 90 เซนิติเมตรขึ้นไป และมากกว่า 80 เซนติเมตรในผู้หญิง  
  • มีประวัติเป็นโรคเบาหวานในช่วงตั้งครรภ์
  • มีประวัติเป็นโรคความดันโลหิตสูง ไขมันในเลือดสูง โรคหัวใจและหลอดเลือด
  • มีประวัติคลอดทารกน้ำหนักแรกเกิดมากกว่า 4 กิโลกรัม
  • ชอบกินอาหารและเครื่องดื่มรสหวานเป็นประจำ
  • ไม่ค่อยออกกำลังกายหรือเคลื่อนไหวร่างกายในแต่ละวัน

4 วิธีตรวจคัดกรองโรคเบาหวานมีอะไรบ้าง? 

วิธีตรวจเบาหวานที่มักใช้กันจะมี 4 วิธี ล้วนเป็นการเจาะเลือดส่งตรวจในห้องปฏิบัติการ เพื่อตรวจวัดปริมาณน้ำตาลสะสมในเลือด 

แพทย์อาจตรวจด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีรวมกัน เพื่อผลการวินิจฉัยที่แม่นยำมากขึ้น โดยแต่ละวิธีจะมีขั้นตอนและการวัดผลที่ต่างกัน ดังนี้

1. วัดระดับน้ำตาลกลูโคสในพลาสมาหลังอดอาหาร (Fasting Plasma Glucose: FPG) 

เรียกกันในอีกชื่อว่า Fasting blood sugar (FBS) นิยมใช้คัดกรองเบาหวานในคนอายุ 35 ปีขึ้นไป แพทย์จะแนะนำให้อดอาหารและเครื่องดื่มทุกชนิดล่วงหน้า 8 ชั่วโมงก่อนเจาะเลือด ยกเว้นน้ำเปล่าดื่มได้ 

ผลลัพธ์ที่แปรออกมาในหน่วยมิลลิกรัมต่อเดซิลิตร (Mg/dL) จะช่วยคัดกรอง ประเมิน และติดตามได้ว่าผู้ป่วยมีความเสี่ยงโรคเบาหวานหรือไม่ ระดับน้ำตาลของผู้ป่วยอยู่ในเกณฑ์ใด

เกณฑ์การวัดผล

  • ระดับปกติจะมีน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ระดับเสี่ยงเบาหวานจะอยู่ที่ 100-125 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร หรือตั้งแต่ 100 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรขึ้นไป
  • ระดับเป็นเบาหวานจะมากกว่าหรือเท่ากับ 126 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร  

2. วัดระดับน้ำตาลกลูโคสในพลาสช่วงเวลาปกติ (Casual plasma glucose/ Random Blood Sugar) 

วิธีนี้สามารถเจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลในเวลาใดก็ได้ ไม่ต้องอดอาหารเหมือนวิธี FPG ซึ่งหากระดับน้ำตาลในเลือดมากกว่าหรือเท่ากับ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร

ร่วมกับมีสัญญาณอาการน้ำตาลในเลือดสูง (Hyperglycemia) อย่างเห็นได้ชัด ไม่ว่าจะเป็น กระหายน้ำหรือหิวมากขึ้น ปัสสาวะบ่อยครั้ง น้ำหนักตัวลดลง อ่อนเพลีย หรือมีปัญหาสายตา แพทย์จะวินิจฉัยว่าเป็นโรคเบาหวาน 

3. วัดน้ำตาลเฉลี่ยสะสมในฮีโมโกลบิน (Hemoglobin A1c: HbA1c)

ค่า HbA1c จะบ่งบอกเปอร์เซ็นต์ (%) ของฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) ในเม็ดเลือดแดงที่มีน้ำตาลไปจับอยู่ช่วง 3-4 เดือนก่อนหน้าหรือ 120 วันตามอายุขัยของเม็ดเลือด จึงช่วยวัดระดับน้ำตาลในเลือดโดยเฉลี่ยในช่วง 2-3 เดือนได้เป็นอย่างดี โดยไม่ต้องอดอาหาร 

เกณฑ์การวัดผล 

  • ระดับปกติหรือคนที่ไม่เป็นโรคเบาหวานต้องมีค่าน้ำตาลเฉลี่ยต่ำกว่า 5.7% 
  • ระดับเสี่ยงเป็นโรคเบาหวานจะอยู่ระหว่าง 5.7-6.4% 
  • คนที่เป็นเบาหวานจะมีค่าน้ำตาลเฉลี่ย 6.5% เป็นต้นไป   

4. ทดสอบความทนต่อน้ำตาลกลูโคส (Oral Glucose Tolerance Test: OGTT)

เป็นการตรวจระดับน้ำตาลโดยให้ดื่มเครื่องดื่มผสมน้ำตาลกลูโคส และเจาะเลือดวัดระดับน้ำตาลในอีก 2 ชั่วโมงถัดมา 

มักใช้ตรวจหาโรคเบาหวานขณะตั้งครรภ์ (Gestational Diabetes) คนที่เข้าข่ายโรคเบาหวานชนิดที่ 2 แต่ตรวจวัดหลังอดอาหารแล้วระดับน้ำตาลในเลือดยังอยู่ในเกณฑ์ปกติ รวมถึงภาวะก่อนเบาหวาน (Prediabetes) 

เกณฑ์การวัดผล 

  • ระดับปกติจะต้องมีน้ำตาลในเลือดต่ำกว่า 140 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ระดับเสี่ยงเบาหวานอยู่ระหว่าง 140-199 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตร
  • ระดับที่เป็นเบาหวานจะอยู่ที่ 200 มิลลิกรัมต่อเดซิลิตรเป็นต้นไป

อย่างไรก็ตาม หากตรวจแล้วระดับน้ำตาลในเลือดสูง มีความเสี่ยงที่จะเป็นโรคเบาหวาน แพทย์อาจมีการนัดแนะมาตรวจซ้ำ เพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยโรค

ก่อนไปตรวจคัดกรองเบาหวาน เตรียมตัวอย่างไร

การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานด้วยวิธีต่าง ๆ มีข้อแนะนำที่ต่างกัน จึงควรปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์เป็นหลัก 

เบื้องต้นก็ควรพักผ่อนให้เพียงพอ หากตรวจด้วยวิธี Fasting blood sugar ควรงดอาหาร หรืองดอาหารก่อนตรวจ 6-8 ชั่วโมงตามแพทย์สั่ง เพื่อป้องกันผลตรวจคลาดเคลื่อน ซึ่งอาจกระทบต่อประเมินโรคและการวางแผนรักษาได้

การตรวจคัดกรองโรคเบาหวานเป็นสิ่งที่เราทำได้ทันที ไม่จำเป็นต้องรอให้มีอาการก่อน โดยเฉพาะหากอยู่ในช่วงอายุเสี่ยง มีน้ำหนักเกินหรืออ้วน ชอบกินอาหารแต่ไม่ออกกำลังกาย หรือมีโรคประจำตัว เพราะยิ่งคัดกรองเร็ว ก็ยิ่งรู้ว่าถึงเวลาหันกลับมาใส่ใจร่างกายตัวเองได้แล้ว  

ก่อนหน้านี้ไม่เคยใส่ใจตัวเอง ไม่เคยตรวจร่างกายเลยก็ไม่เป็นไร เริ่มใหม่ตั้งแต่วินาทีนี้ สุขภาพดีมีได้แค่รักตัวเอง ค้นหาแพ็คเกจตรวจคัดกรองโรคเบาหวานที่ HDmall.co.th ได้ราคาโปรดี ๆ แถมส่วนลดเพิ่มทุกครั้งที่จอง คลิกเลย 

Scroll to Top