hernia laparoscopic treatment process

ผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง ผ่ายังไง ข้อดี ข้อจำกัด

เมื่อผู้ป่วยมาพบแพทย์ด้วยอาการของไส้เลื่อน หากแพทย์ตรวจวินิจฉัยและยืนยันผลตรวจแน่ชัดแล้ว โดยมากแพทย์มักแนะนำให้รักษาด้วยการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อน เพราะเป็นวิธีรักษาที่ตรงจุดที่สุด และเป็นการแก้ไขที่ต้นตอของโรค ลดโอกาสกลับมาเป็นซ้ำ

อย่างไรก็ตาม ผู้ป่วยหลายคนอาจกังวลใจ ไม่กล้าผ่าตัด เพราะกลัวว่าจะมีแผลเป็น กลัวเจ็บ หรือไม่อยากพักฟื้นนาน แต่ปัจจุบันมีเทคนิคการผ่าไส้เลื่อน ที่แผลมีขนาดเล็ก เจ็บน้อย และพักฟื้นหลังผ่าตัดไม่นาน คือ การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง 

ใครกำลังต้องเข้ารับการผ่าตัดไส้เลื่อน แต่ยังไม่มั่นใจ มาดูข้อดี-ข้อเสีย และขั้นตอนการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้องอย่างละเอียดได้ในบทความนี้

เปรียบเทียบการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนเทคนิคต่างๆ ข้อดี ข้อจำกัด ผลข้างเคียง อ่านต่อคลิกเลย (ลิงก์บทความ)

การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้องคืออะไร

การผ่าไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง (Laparoscopic Inguinal Hernia Repair) คือการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อนที่พัฒนามาจาก การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิด โดยแพทย์จะเจาะรูขนาดเล็ก ประมาณ 0.5-1 ซม. จำนวน 3-5 รู ที่ผิวหนังผู้ป่วย จากนั้นใช้อุปกรณ์ผ่าตัดขนาดเล็กและกล้องกำลังขยายสูงใส่เข้าไป เพื่อดึงไส้เลื่อนให้เข้าที่แล้วเย็บซ่อมแซมผนังช่องท้อง รวมถึงอาจเสริมความแข็งแรงด้วยตาข่ายทางการแพทย์ เพื่อลดโอกาสการเป็นไส้เลื่อนซ้ำ

การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง โดยทั่วไปแล้วใช้เวลาประมาณ 30-40 นาที ขึ้นอยู่กับบริเวณผ่าตัดและความซับซ้อนของโรค

บางกรณีที่ผ่าตัดไปแล้วเกิดปัญหาบางอย่างขึ้น แพทย์อาจเปลี่ยนเป็นผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิดแทน

การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้องเหมาะกับใคร

โดยทั่วไปการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง มักทำในกรณีที่ผู้ป่วยมีภาวะไส้เลื่อนที่ไม่รุนแรง ขนาดไม่ใหญ่ และเป็นชนิดที่ไม่ซับซ้อน แต่หากผู้ป่วยมีอาการค่อนข้างรุนแรง แพทย์มักแนะนำให้ผ่าตัดแบบเปิดแทน

ทั้งนี้ผู้ป่วยจำเป็นต้องให้แพทย์ตรวจประเมินร่างกายก่อนผ่าตัด ว่าเทคนิคนี้เหมาะสำหรับผู้ป่วยหรือไม่ 

ข้อดีของการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง

ข้อดีของการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง เมื่อเทียบกับการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบเปิด ได้แก่

  • แผลเล็ก ขนาด 0.5-1 ซม. เจ็บน้อย เสียเลือดน้อย
  • โอกาสติดเชื้อน้อยกว่า
  • รบกวนเนื้อเยื่อน้อย ลดโอกาสเกิดพังผืดในช่องท้อง
  • ระยะเวลาพักฟื้นหลังผ่าตัดน้อยกว่า

ข้อจำกัดของการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง

  • จำเป็นต้องระงับความรู้สึกผู้ป่วยระหว่างผ่าตัดด้วยวิธีวางยาสลบเท่านั้น
  • เหมาะกับการรักษาไส้เลื่อนบางกรณีเท่านั้น เช่น ขนาดไม่ใหญ่เกินไป โรคไม่ซับซ้อน ซึ่งต้องให้ศัลยแพทย์เป็นผู้ประเมิน
  • จำเป็นต้องทำโดยแพทย์ผู้ชำนาญด้านการผ่าตัดแบบส่องกล้องโดยเฉพาะ

ผลข้างเคียงของการผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง

โดยทั่วไปการผ่าไส้เลื่อนไม่ก่อให้เกิดผลข้างเคียงร้ายแรง แต่เป็นธรรมดาของการผ่าตัดที่มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงขึ้นได้ แต่โอกาสค่อนข้างน้อย เช่น

  • อาการแพ้ยาสลบ
  • เส้นประสาทบริเวณผ่าตัดถูกทำลาย ทำให้ชาบริเวณผิวหนังใกล้แผลผ่าตัด
  • เกิดลิ่มเลือดหรือแผลติดเชื้อบริเวณที่ผ่าตัด
  • อวัยวะข้างเคียงบาดเจ็บ
  • อาการปวดเรื้อรังที่แผลผ่าตัด

การผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง วิธีนี้ดีที่สุดสำหรับเราจริงมั้ย? อยากขอความเห็นที่สอง จากคุณหมอเฉพาะทาง เพื่อเลือกวิธีรักษาที่เหมาะกับเรามากที่สุด ติดต่อทีม HDcare ช่วยทำนัดเข้าปรึกษาคุณหมอ ดูแลกันตั้งแต่ต้นจบ ทำให้การผ่าตัดไม่ยุ่งยากและไม่น่ากลัวอย่างที่คิด คลิกเลย

วิธีการรักษาไส้เลื่อนด้วยการผ่าตัดแบบส่องกล้อง

  1. วิสัญญีแพทย์ระงับความรู้สึกของผู้ป่วยด้วยวิธีวางยาสลบ
  2. ศัลยแพทย์เจาะรูที่ผิวหนังผู้ป่วย บริเวณที่เป็นไส้เลื่อน เช่น ถ้าเป็นไส้เลื่อนขาหนีบ แพทย์จะเจาะรูขนาดประมาณ 0.5-1 เซนติเมตร บริเวณหัวหน่าว จำนวน 3-5 จุด รูดังกล่าวใช้เป็นช่องทางสำหรับสอดเครื่องมือผ่าตัดและกล้องกำลังขยายสูงขนาดเล็กเข้าสู่บริเวณที่เป็นไส้เลื่อน
  3. แพทย์จะอัดแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์เข้าสู่บริเวณที่จะทำการผ่าตัด เพื่อขยายพื้นที่ให้แพทย์เห็นอวัยวะภายในได้ชัดเจนขึ้น ภาพอวัยวะต่างๆ จะถูกฉายทางจอภาพขนาดใหญ่ในห้องผ่าตัด
  4. แพทย์ใช้อุปกรณ์ดึงลำไส้ผู้ป่วยให้กลับสู่ตำแหน่งที่ถูกต้อง (เป็นการดึงจากด้านใน ต่างกับการผ่าตัดเปิดที่จะดันเข้าจากด้านนอก) แล้วเย็บซ่อมแซมผนังช่องท้อง รวมถึงอาจเสริมความแข็งแรงผนังช่องท้องด้วยตาข่ายทางการแพทย์
  5. แพทย์นำเครื่องมือผ่าตัดต่างๆ ออก และไล่แก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ออกช่องท้องทั้งหมด
  6. เย็บปิดแผล เป็นอันเสร็จ

การผ่าไส้เลื่อนแบบส่องกล้อง เป็นหนึ่งในเทคนิคการผ่าตัดรักษาไส้เลื่อน ที่ได้รับความนิยมค่อนข้างมากในปัจจุบัน เพราะแผลเล็ก เจ็บน้อย ฟื้นตัวเร็ว เมื่อเทียบกับการผ่าไส้เลื่อนแบบเปิด 

อย่างไรก็ตาม แต่ละวิธีผ่าตัดอาจไม่ได้เหมาะกับผู้ป่วยไส้เลื่อนทุกคน ขึ้นอยู่กับบริเวณที่เป็น ความรุนแรง ขนาดไส้เลื่อน ภาวะสุขภาพ รวมถึงงบประมาณของผู้ป่วยเองด้วย ควรสอบถามแพทย์ถึงทางเลือกต่างๆ ให้ครบถ้วน เพื่อตัดสินใจเลือกวิธีรักษาได้อย่างเหมาะสมที่สุด

อาการแบบเราผ่าตัดไส้เลื่อนแบบส่องกล้องได้ไหม? ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็ว หรือค้นหาแพ็กเกจตรวจคัดกรองโรค จาก รพ. หรือคลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top