สูตรอาหารเบาหวาน 1600 แคลอรี

สูตรอาหารเบาหวาน 1,600 แคลอรี

การควบคุมพลังงานที่ได้จากอาหารแต่ละมื้อโดยเฉพาะน้ำตาล คาร์โบไฮเดรต และไขมันเป็นสิ่งสำคัญสำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน เพื่อป้องกันให้ระดับน้ำตาลในเลือดพอดี ไม่สูงและไม่ต่ำเกินไป และร่างกายได้รับสารอาหารที่จำเป็นในปริมาณที่พอเหมาะ

ดังนั้น การศึกษาเมนูอาหารที่ให้พลังงานและสารอาหารที่พอเหมาะจึงเป็นเรื่องจำเป็น เพื่อให้ผู้ป่วยได้กะปริมาณอาหารแต่ละมื้อได้ รวมถึงส่วนประกอบของอาหารว่าสามารถรับประทานอะไรได้บ้าง นอกจากนี้ ยังเป็นการให้ตัวเลือกอาหารที่หลากหลายแก่ผู้ป่วย ไม่ทำให้มื้ออาหารซ้ำซากจำเจ

สูตรอาหารสำหรับผู้ป่วยเบาหวานที่อร่อยและเหมาะสมใน 1 วัน

สำหรับผู้ป่วยโรคเบาหวาน แพทย์จะแนะนำให้รับประทานอาหารที่ให้พลังงานประมาณ 1,200-1,800 หรือโดยเฉลี่ยที่ 1,600 กิโลแคลอรี โดยพลังงาน 50% มาจากคาร์โบไฮเดรต และอีก 25% มาจากไขมัน ซึ่งหากสังเกตดีๆ จะเห็นว่าในแต่ละมื้อจะมีทั้งสารอาหารคาร์โบไฮเดรต โปรตีน และไขมันในปริมาณที่พอเหมาะ

ตัวอย่างต่อไปนี้ จะเป็นการยกตัวอย่างมื้ออาหารเช้า อาหารกลางวัน อาหารเย็น และขนมคบเคี้ยว ซึ่งมีแบบทั้งของไทยและแบบตะวันตก

มื้ออาหารเช้า 

มื้ออาหารเช้าแบบไทย

  • ข้าวต้มไก่
  • ไข่ลวก 1 ฟอง
  • มะละกอสุก 8 ชิ้น
  • น้ำส้มคั้น 1 แก้ว

ตัวเลือกมื้ออาหารเช้าแบบไทยอื่นๆ

  • โจ๊กหมูล้วนใส่ไข่ลวก 1 ชาม กับแตงโม 3 ชิ้น
  • แซนวิชทูน่าใส่ไข่ต้มครึ่งฟอง
  • ต้มจืดเต้าหู กับข้าวกล้อง 100 กรัม

มื้ออาหารเช้าแบบตะวันตก

  • แซนด์วิชผักโขม ไข่ และชีส
  • มัฟฟินทอดแบบอังกฤษ 1 ชิ้น
  • ผักโขมลวก ½ ถ้วย
  • ไข่ดาว 1 ฟอง
  • ชีสสวิส 1 แผ่น
  • เมล่อน 1 ถ้วย
  • กาแฟ ใส่นมและน้ำตาลที่ไม่มีไขมันย่างละ 1 ช้อนโต๊ะ

มื้ออาหารกลางวัน

มื้ออาหารกลางวันแบบไทย

  • ข้าวสวย 2 ทัพพี
  • แกงเขียวหวานปลากรายมะเขือยาว
  • สัปปะรด 6 ชิ้น

ตัวเลือกมื้ออาหารกลางวันแบบไทยอื่นๆ

  • กระเพาะปลาน่องไก่
  • เกาเหลาลูกชิ้นน้ำใส กับข้าวกล้อง 100 กรัม
  • ผัดบร็อคโคลี กับข้าวกล้อง 100 กรัม

มื้ออาหารกลางวันแบบตะวันตก

  • สลัดไก่และสตรอว์เบอร์รีพร้อมน้ำสลัด
  • แป้งพิตา (Pita) อบในเตาอบ 1 แผ่น
  • องุ่น 15-20 ลูก
  • น้ำเย็นหรือเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาล 8-12 ออนซ์

มื้ออาหารเย็น

มื้ออาหารเย็นแบบไทย

  • ข้าวสวย 2 ทัพพี
  • ต้มจับฉ่ายหมู
  • ปลาทูทอด 1 ตัว
  • น้ำปลาพริกมะนาว
  • กล้วยน้ำว้า 1 ผล

ตัวเลือกมื้ออาหารเย็นแบบไทยอื่นๆ

  • ปลาเผาหรือปลานึ่ง กับผักต้ม
  • สเต็กปลาดอลลี่ กับสลัดผัก
  • ก๋วยเตี๋ยวลุยสวน

มื้ออาหารเย็นแบบตะวันตก

  • สเต็กเนื้อที่ไม่ติดมัน (เช่นเนื้อสัน) ย่าง 3 ออนซ์
  • มันหวานอบ 1 ที่
  • ถั่วและเห็ดลวก 1 ถ้วย
  • ซอสแอปเปิลแบบไม่หวาน ½ ถ้วย
  • น้ำเย็นหรือเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาล 8-12 ออนซ์

ขนมคบเคี้ยว (ให้พลังงานประมาณ 80-150 กิโลแคลอรี)

  • ชีสปราศจากไขมัน 1 แผ่น
  • แครกเกอร์โฮลวีต 4 ชิ้น
  • น้ำเย็นหรือเครื่องดื่มที่ไม่มีน้ำตาล 8-12 ออนซ์
  • ฟักทองนึ่ง 1 ชิ้นใหญ่
  • แก้วมังกร 8 ชิ้น
  • ส้มเขียวหวาน 1 ผล
  • กล้วยหอมหรือกล้วยน้ำว้า 1 ลูก
  • น้ำเต้าหู้หวานน้อย หรือไม่ใส่น้ำตาล

วิธีวางแผนมื้ออาหารสำหรับโรคเบาหวาน

การนับคาร์โบไฮเดรต

วิธีนี้จะทำการนับปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่รับประทานในแต่ละวัน เมนูอาหารเบาหวานส่วนมากจะมีคาร์โบไฮเดรตประมาณ 45-60 กรัมต่อมื้อ และควรปรึกษาแพทย์หรือนักโภชนาการเกี่ยวกับปริมาณคาร์โบไฮเดรตที่สามารถรับประทานได้ในแต่ละวัน ซึ่งคุณอาจต้องการการจดบันทึกเพื่อจดปริมาณที่รับประทานตลอดทั้งวัน

วิธีการใช้จาน

วิธีนี้สะดวกกว่าการจดปริมาณคาร์โบไฮเดรต โดยประเมินจากสัดส่วนอาหารใน 1 จานอาหารทั่วไป

สำหรับอาหารเช้า ควรรับประทานอาหารจากแป้งประมาณ ½ จาน และที่เหลือเป็นโปรตีนไม่ติดมันและผลไม่อย่างละครึ่ง

ส่วนอาหารกลางวันและอาหารเย็น จะแบ่งครึ่งหนึ่งของจานสำหรับผักที่ไม่มีแป้ง และอีกครึ่งจากสำหรับแป้งและโปรตีนไม่ติดมัน วิธีนี้จำเป็นต้องรู้ว่าอาหารประเภทไหนมีแป้งเป็นส่วนประกอบบ้าง สำหรับมื้อกลางวันและมื้อเย็นอาจเพิ่มนมไม่มีไขมัน นมไขมันต่ำ หรือแป้งอื่นๆ และผลไม้อีก 1 ที่ได้

อีกเคล็ดลับสำหรับการวางแผนมื้ออาหารของผู้ป่วยโรคเบาหวานก็คือ “ลดหวาน ลดมัน ลดเค็ม” เพราะน้ำตาล ไขมัน โซเดียม ล้วนเป็นสารอาหารที่มีส่วนให้อาการของโรคเบาหวานรุนแรงขึ้น และอาจทำให้เกิดโรคแทรกซ้อนเพิ่มขึ้น ฉะนั้นเมื่อคุณเลือกเมนูอาหาร หรือวางแผนมื้ออาหารในแต่ละวัน ให้คำนึงถึงความหวาน ความมัน และรสชาติเค็มของอาหารว่ามีปริมาณเหมาะสมหรือไม่ หรืออาจปรึกษาร่วมกับแพทย์หรือนักโภชนาการอาหารก็ได้ เพื่อให้มื้ออาหารของคุณมีสารอาหารที่เพียงพอกับร่างกาย

นอกจากนี้สมาคมโรคเบาหวานแห่งสหราชอาณาจักรแนะนำว่าไม่มีอาหารใดที่ผู้ป่วยเบาหวานรับประทานไม่ได้ เพียงแต่รับประทานด้วยความระมัดระวังมากขึ้น และให้เข้มงวดกับการนับพลังงานที่ได้ในแต่ละวัน รวมถึงการออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอทำให้ลดการเกิดภาวะแทรกซ้อนของโรคเบาหวานได้อีกด้วย


ตรวจสอบความถูกต้องโดย นพ. พิสุทธิ์ พงษ์ชัยกุล

Scroll to Top