get rid of gas and bloating

วิธีไล่ลมในท้อง ลดแก๊สในท้อง ลดอาการท้องอืด

โดยเฉลี่ยแล้วผู้ใหญ่นั้นมีการขับแก๊สออกวันละ 13-21 ครั้งต่อวัน แก๊สในท้องเป็นเรื่องปกติของระบบย่อยอาหารแต่ถ้าหากมีแก๊สสะสมในลำไส้และคุณไม่สามารถขับออกได้ คุณอาจจะเริ่มรู้สึกแน่นท้องและไม่สบายตัว จนต้องหาวิธี วิธีไล่ลมในท้อง

อาการแน่นท้องจากแก๊ส ท้องอืด และผายลมบ่อย อาจจะถูกกระตุ้นได้จากอะไรก็ตามที่ทำให้เกิดอาการท้องเสียหรือท้องอืด นอกจากนั้นยังอาจเกิดได้จาก การรับประทานอาหารมากเกินไป, การกลืนอาหารระหว่างที่กินหรือดื่ม, เคี้ยวหมากฝรั่ง, การสูบบุหรี่ และการรับประทานอาหารบางชนิด

ควรไปพบแพทย์หากมีการมีแก๊สในท้องของคุณทำให้เกิดอาการต่อไปนี้ ทำให้แน่นท้อง, รู้สึกผิดปกติกับร่างกาย มีอาการท้องอืด ท้องเสีย หรือน้ำหนักลด

เลี่ยงอาหารที่ทำให้เกิดลมในกระเพาะ

  • อาหารที่มีไขมันสูง
  • อาหารทอดหรืออาหารเผ็ด
  • เครื่องดื่มอัดลม
  • สารปรุงแต่งที่มักจะพบในอาหารที่มีคาร์โบไฮเดรตต่ำและไม่มีน้ำตาล เช่น sugar alcohol, sorbitol และ maltitol
  • ถั่วต่างๆ
  • ผักที่เป็นดอก เช่น Brussels sprouts, ดอกกะหล่ำและบรอคโคลี่
  • ลูกพรุนหรือน้ำลูกพรุน
  • อาหารที่มีน้ำตาลแลคโตสเช่นนม ชีส และผลิตภัณฑ์จากนมอื่นๆ
  • อาหารในกลุ่มที่เรียกว่า fermentable oligosaccharides, disaccharides, monosaccharides and polyols (FODMAP) เป็นโมเลกุลที่พบในอาหารหลายชนิด เช่น หอมใหญ่และกระเทียมซึ่งอาจจะทำให้ย่อยยาก
  • อาหารที่มีเส้นใยอาหารสูง
  • เครื่องดื่มและอาหารเสริมที่มีเส้นใยอาหาร

เมื่อคุณทราบว่าอาหารใดที่ทำให้เกิดแก๊ส คุณก็สามารถปรับอาหารที่รับประทานเพื่อลดการรับประทานอาหารเหล่านี้ได้

วิธีไล่ลมในท้องด้วยตนเอง

ส่วนมากแก๊สนั้นเกิดจากอาการที่คุณรับประทานเข้าไป อาหารนั้นจะถูกย่อยในครั้งแรกที่ลำไส้เล็กและส่วนที่ไม่ถูกย่อยนั้นจะเกิดการหมักอยู่ในลำไส้ใหญ่ที่มีแบคทีเรีย เชื้อรา และยีสต์ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการย่อยอาหาร กระบวนการนี้จะทำให้เกิดแก๊สมีเทนและไฮโดรเจนซึ่งจะถูกขับออกมาเป็นการผายลม

ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ การเปลี่ยนนิสัยในการรับประทานอาหารนั้นก็เพียงพอที่จะลดแก๊สที่เกิดขึ้นและอาการอื่นๆ ที่เกิดร่วมกัน วิธีหนึ่งที่ช่วยระบุว่าอาหารใดเป็นอาหารที่ทำให้เกิดแก๊สก็คือการทำบันทึกอาหารที่รับประทาน

วิธีไล่ลมในท้องด้วยการปรับพฤติกรรม

  1. เคลื่อนไหวร่างกายให้มากขึ้น ออกกำลังกาย
  2. ปรับอาหารที่ทาน เลี่ยงอาหารที่เพิ่มลมในท้อง
  3. เคี้ยวอาหารให้ช้าลง เคี้ยวละเอียด
  4. ดื่มน้ำอุ่น เพื่อกระตุ้นระบบการย่อยอาหาร
  5. นวดท้องเบาๆ ช่วยกระตุ้นการขับลม

วิธีไล่ลมในท้องด้วยอาหาร ยา และสมุนไพร

1.เปปเปอร์มิ้นท์

งานวิจัยพบว่าชาเปปเปอร์มิ้นท์หรืออาหารเสริมนั้นอาจจะช่วยลดอาการของโรคลำไส้แปรปรวนซึ่งรวมถึงการมีแก๊สในท้อง ควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้อาหารเสริม เปปเปอร์มิ้นท์สามารถขัดขวางการดูดซึมธาตุเหล็กและยาบางชนิดนี้ และอาจทำให้เกิดอาการแสบร้อนกลางหน้าอกในผู้ป่วยบางราย

เวลาที่รับประทานอาหารเสริมให้รับประทานตามคำแนะนำข้างฉลากผลิตภัณฑ์ หากรับประทานชาเปปเปอร์มิ้นท์ให้ดื่ม 1 แก้วก่อนการรับประทานอาหารแต่ละมื้อเพื่อให้ได้ผลดีที่สุด

2.ชาคาโมไมล์

ชาคาโมไมล์สามารถลดภาวะอาหารไม่ย่อย แก๊สที่อยู่ภายในท้องและอาการท้องอืดได้ การดื่มชาคาโมไมล์ก่อนอาหารและก่อนนอนนั้นอาจจะช่วยลดอาหารได้ในผู้ป่วยบางราย

3. ยา Simethicone

เป็นยาที่มีอยู่ภายใต้ชื่อการค้าหลายชื่อ โดยทำงานด้วยการรวบรวมแก๊สในกระเพาะอาหารเพื่อให้ขับออกง่ายขึ้น ควรรับประทานตามคำแนะนำบนฉลากยา และปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ยาหากคุณกำลังรับประทานยาอื่นหรือกำลังตั้งครรภ์

4. ผงถ่านชาร์โคล (Activated Charcoal)

Activated charcoal เป็นอีกชนิดหนึ่งที่สามารถช่วยกำจัดแก๊สที่อยู่ในลำไส้ใหญ่ได้ โดยให้รับประทานก่อนรับประทานอาหารและ 1 ชั่วโมงหลังทานอาหาร

5. น้ำส้มสายชู Apple Cider Vinegar

ให้เจือจางน้ำส้มสายชูจาก apple cider 1 ช้อนโต๊ะลงในเครื่องดื่มเช่นน้ำเปล่าหรือชาและดื่มก่อนรับประทานอาหารหรือวันละ 3 ครั้งตามต้องการเพื่อไล่ลมในท้อง

6. อาหารเสริมที่มีแลคเตส

น้ำตาลแลคโตสนั้นอยู่ในนม และผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตสนั้นจะไม่สามารถย่อยน้ำตาลชนิดนี้ได้ ดังนั้นการรับประทานอาหารเสริมที่มีแลคเตสอาจจะช่วยในการย่อยน้ำตาลแลคโตสได้

7. กานพลู

กานพลูนั้นเป็นสมุนไพรที่มีการนำมาใช้ทำอาหาร และน้ำมันจากกานพลูนั้นอาจจะช่วยลดอาการท้องอืดและแก๊สโดยการสร้างเอนไซม์ที่ช่วยในการย่อยอาหารได้ ให้ลองผสมน้ำมันจากกานพลู 2-5 หยดในน้ำดื่ม 1 แก้วและดื่มหลังอาหาร

การป้องกันการเกิดแก๊ส

หากคุณไม่ได้มีโรคที่ทำให้เกิดแก๊สในทางเดินอาหาร การป้องกันที่ดีที่สุดก็คือการปรับเปลี่ยนนิสัยการรับประทานและอาหารที่รับประทาน เช่น

  • นั่งระหว่างรับประทานอาหารและทานช้าๆ
  • พยายามอย่ากลืนอากาศเข้าไปมากระหว่างที่กินและพูด
  • หยุดเคี้ยวหมากฝรั่ง
  • หลีกเลี่ยงน้ำอัดสม
  • หยุดสูบบุหรี่
  • ออกกำลังกายเพิ่มขึ้น เช่นเดินหลังจากมื้ออาหาร
  • ไม่ทานอาหารที่รู้ว่าจะทำให้เกิดแก๊ส
  • หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มโดยใช้หลอด

โรคที่ทำให้เกิดลมในกระเพาะ

แก๊สส่วนเกินอาจเป็นสัญญาณเตือนของโรคบางอย่าง หากไล่ลมในท้องไม่ได้ผลหรือมีความผิดปกติร่วมด้วย ควรปรึกษาแพทย์เพื่อวินิจฉัย

  • โรคกระเพาะอาหารและลำไส้อักเสบ
  • ภาวะพร่องเอนไซม์แลคเตส
  • โรคเซลิแอค
  • โรคโครห์น (Crohn’s disease)
  • โรคเบาหวาน
  • โรคแผลในกระเพาะอาหาร
  • โรคลำไส้แปรปรวน

การมีแก๊สในช่องท้องนั้นอาจจะทำให้เกิดอาการปวดได้ แต่มักจะไม่ได้เป็นอันตราย หากคุณรู้สึกว่าอาการนี้ส่งผลต่อคุณ ควรสังเกตอาหารที่รับประทานและวิธีการใช้ชีวิตเพื่อดูว่าสามารถปรับเปลี่ยนอะไรได้บ้าง ในผู้ป่วยส่วนใหญ่การปรับเปลี่ยนวิธีการใช้ชีวิตและอาหารที่รับประทานสามารถกำจัดภาวะนี้ได้ หากคุณมีอาการไม่ดีขึ้นหลังผ่านจากพยายามปรับเปลี่ยนอาหารและพฤติกรรมไปแล้วหลายสัปดาห์ควรไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจว่าอาการนี้เกิดจากโรคอื่นหรือไม่

คำถามเกี่ยวกับท้องอืดและลมในท้อง

ท้องแข็ง เรอบ่อยๆ กดท้องดูเหมือนมีลมอยู่ในท้อง กดก็เจ็บ หายใจไม่ค่อยอิ่ม ปวดอึแต่ถ่ายไม่ค่อยออก ปวดแสบร้อนท้อง วิธีไล่ลมในท้องไหม

จากอาการข้างต้นนั้นมีโอกาสที่จะเกิดได้จากหลายสาเหตุครับ เช่น

  • กรดไหลย้อน จะทำให้มีอาการจุกแน่นท้อง แสบร้อนกลางอก เรอบ่อย เรอเหม็นเปรี้ยวได้ โดยอาการจะเป็นมากหลังรับประทานอาหารอิ่มใหม่ๆ และจะเป็นในตอนนอนมากกว่าตอนนั่งหรือยืน
  • โรคกระเพาะ จะทำให้มีอาการปวดแน่น จุกเสียด แสบท้องที่บริเวณลิ้นปี่ อาจทำให้เกิดความรู้สึกอึดอัดเหมือนหายใจไม่สะดวกได้ โดยอาการมักเป็นมากหลังการรับประทานอาหารที่ไม่ตรงเวลา หรือรับประทานอาหารรสเผ็ดจัด เปรี้ยวจัด
  • อาการท้องผูก เมื่อมีอุจจาระค้างอยู่ในลำไส้มากๆ จะทำให้เกิดอาการท้องอืด อึดอัดแน่นท้องตามมาได้
  • มีก้อนผิดปกติในช่องท้อง เช่น เนื้องอกต่างๆ ซึ่งเนื้องอกเหล่านี้ก็อาจมีการกดเบียดและทำให้การทำงานของลำไส้ลดลงเกิดเป็นอาการท้องอืดแน่นท้องตามมาได้

หมอแนะนำว่าในกรณีนี้ควรไปพบแพทย์เพื่อตรวจประเมินอาการเพิ่มเติมให้ทราบสาเหตุที่แน่ชัดก่อน เพื่อที่จะได้ให้การรักษาที่เหมาะสมต่อไปครับ

ตอบโดย นพ. กันตณัฏฐ์ อยู่ตรีรักษ์

มีอาการลมในท้องเยอะตลอดเวลาค่ะ ย้ำว่าตลอดเวลา มันจะจุกและดันขึ้นมาตลอดทำให้หายใจไม่ออกเหมือนคนกะลังจะขาดใจ ไปหาหมอแล้วอาการยังไม่ดีขึ้นยังเป็นเหมือนเดิม ไปหาหมอหมอบอกว่าเป็นโรคกระเพาะกับกรดไหลย้อนควรรักษายังไง มีลมในท้องอยู่ตลอดเวลา ต้องทำอย่างไร

อาการดังกล่าวอาจเป็นการปวดท้องที่ทางการแพทย์เรียกว่า dyspepsia ค่ะ ผู้ป่วยมักมีอาการปวดท้องหรือไม่สบายท้องหรืออาหารไม่ย่อย ไม่ใช่โรคแต่หมายถึง กลุ่มอาการของระบบทางเดินอาหารส่วนบน

ลักษณะอาการที่สำคัญคือ มีอาการปวด หรืออึดอัดไม่สบายท้องที่บริเวณกลางท้องส่วนบน โดยอาการมักจะสัมพันธ์กับอาการอื่น ๆ ของทางเดินอาหารส่วนบน เช่น อาการแน่นท้อง อิ่มง่ายกว่าปกติ อืดท้อง มีลมมาก เบื่ออาหาร คลื่นไส้ อาเจียน แสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ หรือแสบร้อนขึ้นมาที่หน้าอก

ดังนั้น จึงไม่ใช่โรคแต่เป็นกลุ่มอาการที่สามารถเกิดจากสาเหตุได้หลายอย่าง เช่น แผลในกระเพาะอาหาร กรดไหลย้อน หลอดอาหารอักเสบ นิ่วในถุงน้ำดี มะเร็งทางเดินอาหารค่ะ ซึ่งการวินิจฉัยต้องอาศัยการตรวจพิเศษอื่นๆ เพิ่มเติมค่ะ เช่น อัลตราซาวน์ ส่องกล้องทางเดินอาหาร ถ้ากังวลและอาการไม่ดีขึ้น แนะนำพบแพทย์เพื่อตรวจเพิ่มเติมได้ค่ะ

ตอบโดย พญ. วิภา สุวรรณชีวะศิริ

ผมมีอาการท้องอืดหลังทานอาหารครับ คือ หลังทานอาหารเข้าไปก็จะรู้สึกแน่นท้องครับ บางครั้งเรอไม่ออกด้วย ลองทานยาบางตัวก็ช่วยได้ในช่วงแรกครับ หลังจากนั้นก็มีอาการเหมือนเดิม โดยอาการจะมากในช่วงเย็น หลังจากนั้นก็ลองทานน้ำขิงดูครับ ก็ช่วยได้ในช่วงแรกเช่นกันครับ แล้วอาการก็กลับมาเหมือนเดิม อีกอย่างคือผมไม่รู้สึกปวดถ่ายเลยครับ เวลาจะทำธุระต้องเบ่งมากๆเลยครับ ผายลมแทบไม่มี แต่ก็ถ่ายทุกวันนะครับ ทั้งที่บางครั้งเหมือนมีลมและอยากผายลม จะผายลมเป็นบางวันเท่านั้น นานๆที ไปหาหมอ หมอจะบอกว่ามีกรดเกินในกระเพาะ แล้วให้ยามาทาน ทุกครั้งที่ทานจะรู้สึกเหมือนกระเพาะหยุดทำงานเลยครับ นิ่ง ถ้าทานอะไรเข้าไปหลังทานยา ก็จะอืดท้องมากๆ ไม่ย่อย เหมือนกับกระเพาะมันไม่ทำงานอย่างงั้นล่ะครับ ไม่รู้สึกหิว ไม่เรอ ทุกวันนี้ไม่รู้จะทำยังไง หรือทานยาอะไรครับ อยากทราบว่าจะแก้ไขยังไง หรือทานยาอะไรดีครับ ขอบคุณครับ

สำหรับอาการดังกล่าวที่คณไปพบแพทย์มาแล้วนั่น แพทย์บอกว่าเป็นกรดเกินในกระเพาะ ในความเข้าใจผมคิดว่าน่าจะหมายถึง Dyspepsia หรือการย่อยอาหารที่ไม่สมบูรณ์ เพราะเป็นการวินิจฉัยอาการทีพบได้ทัวไปในทางปฏิบัติครับ ซึ่ง Dyspepsia นั้นก็มีหลายสาเหตุอีกเช่นเดียวกันครับ แต่สาเหตุที่พบได้บ่อย คือ functional dyspepsia(FD) ก็คือมีอาการของ dyspepsia แต่จากการส่องกล้องทางเดินอาหารแล้วไม่พบความผิดปกติหรือพบเล็กน้อยที่ไม่สามารถอธิบายอาการได้ แต่ทั้งนี้ต้องอาศัยการซักประวัติเพิ่มเติมด้วยครับ ว่าอาการของคุณมีสัญญาณอันตรายที่ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติม เช่น ส่องกล้องทางเดินอาหารหรือไม่ คือ

  1. กลืนลำบาก
  2. มีประวัติเลือดออกในทางเดินอาหาร
  3. น้ำหนักลดโดยไม่สามารถหาสาเหตุอธิบายได้
  4. อาเจียนต่อเนื่อง

ถ้ามีอาการเหล่านี้ควรได้รับการตรวจเพิ่มเติมครับ แต่ควรไปปรึกษาแพทย์ให้ตรวจอย่างละเอียดอีกครั้งก่อนนะครับ

ส่วนการรักษาหลักๆ ประกอบด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการรับประทานยา แนะนำว่าการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นสิ่งสำคัญครับ ถ้าหากคุณไม่ปรับเปลี่ยน การรับประทานยาก็จะช่วยอะไรได้ไม่มาก ซึ่งการปฏิบัติตัววิธีไล่ลมในท้องมีหลายวิธี ยกตัวอย่างเช่น อย่าทานอาหารที่มีรสจัด อย่าทานอาหารที่มีปริมาณเยอะมากเกินไป ควรทานแต่พอดี หลังทานอาหารไม่ควรนอน กินอาหารให้ตรงเวลา เป็นต้นครับ หลังจากนั้นถ้ากินยาไปได้สักระยะแล้ว ร่วมกับการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม แล้วอาการไม่ดีขึ้น ค่อยไปพบแพทย์อีกทีจะดีกว่าครับ

ตอบโดย นพ. สารินทร์ สีหมากสุก


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top