ผู้หญิงจำนวนไม่น้อยมีความทุกข์เป็นประจำในทุกๆ เดือนจากอาการ “PMS (พีเอมเอส)” ย่อมาจาก “Premenstrual syndrome” ซึ่งเป็นอาการผิดปกติที่จะเกิดขึ้นราว 7-10 วัน ก่อนมีประจำเดือนในแต่ละรอบ อาการ PMS นี้รบกวนการใช้ชีวิตประจำวัน หรือการทำงานของผู้หญิงหลายคนเป็นอย่างมาก แล้วทำไมอาการบางอย่างถึงคล้ายกับคนท้อง
สารบัญ
PMS คืออะไร?
PMS ย่อมาจาก premenstrual syndrome หมายถึง อาการผิดปกติประมาณ 1 สัปดาห์ ก่อนมีประจำเดือนในแต่ละรอบ
ผู้หญิงราว 75 % โดยเฉพาะช่วงอายุ 25-40 ปี มีอาการ PMS ก่อนประจำเดือนจะมาประมาณ 5-11 วัน และอาการจะดีขึ้นหลังประจำเดือนมาได้ 4-7 วัน
อย่างไรก็ตาม ผู้หญิงบางคนก็มีอาการ PMS เป็นครั้งคราว ไม่ทุกรอบเดือน อาการ PMS เกิดได้ตลอดระยะเวลาที่มีประจำเดือน คือ ตั้งแต่เริ่มแรกของการมีประจำเดือนเมื่ออายุราว 15 ปีขึ้นไป และสิ้นสุดลงต่อเมื่อหมดประจำเดือนแล้ว เมื่ออายุราว 48 ปี ขึ้นไป นับว่าเป็นระยะเวลานานหลายสิบปีที่ผู้หญิงหลายคนต้องมีความทุกข์ทรมานจากกลุ่มอาการ PMS เนื่องจากเป็นอาการมีผลทั้งต่อสุขภาพกาย และสุขภาพใจ
อาการก่อนเป็นประจําเดือน (PMS)
1. อาการแสดงออกทางร่างกาย
- กระหายน้ำ
- สิวขึ้น
- หลงลืมง่าย
- นอนไม่หลับ
- รู้สึกร้อนวูบวาบ ใจสั่นเป็นครั้งคราว
- ปวดศีรษะ เวียนหัวง่าย
- ปวดท้อง
- คลื่นไส้ ท้องอืด กินมากกว่าปกติ
- ความอยากอาหารและความชอบอาหารเปลี่ยนไป เช่น อยากกินอาหารหวานจัด หรือเค็มจัด
- มักมีน้ำคั่งในตัวมาก ทำให้อึดอัด มือ เท้า และหน้าบวม
- เจ็บ หรือคัดตึงเต้านม
เมื่อประจำเดือนมาอาการเหล่านี้มักจะดีขึ้น บางคนอาจหายราวกับปลิดทิ้ง แต่อาการเหล่านี้จะกลับมาใหม่ในรอบเดือนต่อไป และเป็นอย่างนี้ไปเรื่อยๆ จนกว่าจะหมดประจำเดือน
2. อาการที่แสดงออกทางจิตใจ อารมณ์ และความรู้สึก
- อารมณ์แปรปรวนง่าย
- หงุดหงิด
- ฉุนเฉียว
- หุนหันพลันแล่น
- ซึมเศร้า ร้องไห้ง่าย
- กระวนกระวาย
- ไม่มีสมาธิ
กลุ่มอาการ PMS หรืออาการที่มีก่อนประจำเดือนจะมานั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้เจ้าตัวเดือดร้อนเท่านั้นแต่ยังมีผลกระทบกระเทือนต่อผู้คนรอบข้าง ทั้งคนรัก คนในครอบครัว ญาติพี่น้อง และคนในที่ทำงาน ประสิทธิภาพในการทำงานก็อาจจะลดลงด้วย บางคนมีอาการรุนแรงมาก บังคับตัวเองไม่อยู่
สาเหตุการเกิดอาการ PMS
ปัจจุบันยังไม่ทราบว่า อะไรเป็นสาเหตุที่ทำให้ผู้หญิงบางคนมีอาการ PMS ในขณะที่ผู้หญิงอีกจำนวนหนึ่งไม่เคยมีอาการดังกล่าวเลย สันนิษฐานว่า อาจเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของระดับฮฮร์โมนเพศหญิง และสารเคมีบางอย่างในแต่ละรอบเดือน
1. ความไม่สมดุลของสารเคมี และฮอร์โมนหลายตัวในระยะที่ไข่สุกแล้ว
อาจแบ่ง 28 วัน ของหนึ่งรอบประจำเดือนเป็น 2 ระยะ ระยะแรก คือ ระยะที่ไข่เติบโต ในระยะนี้ไม่มีอาการผิดปกติเกิดขึ้น ระยะที่สองเป็นระยะที่ไข่สุก เมื่อไข่ตกจากรังไข่ไปรอการผสมพันธุ์ที่มดลูกจึงมีอาการ PMS เกิดขึ้น
โดยอาการ PMS นั้นเกิดจากความไม่สมดุลของสารเคมี และฮอร์โมนหลายตัวในระยะที่ไข่สุกแล้ว โดยสารที่เป็นต้นเหตุ ได้แก่ เอสโตรเจน (estrogen) โปรเจสเตอร์โรน (Progesterone) เอนดรอฟิน (endrophin) และระดับเซโรโทนิน (serotonin) ในสมอง
ดังนั้นจึงแนะนำให้แก้ความไม่สมดุลของฮอร์โมนด้วยการให้ฮอร์โมนเป็นยา แต่ก็ไม่สามารถช่วยบรรเทาอาการ PMS ของผู้หญิงทุกคนได้ แสดงว่า อาการนี้ไม่ได้เกิดจากความไม่สมดุลของฮอร์โมนเท่านั้น
2. ปัจจัยด้านพันธุกรรม
ผู้ที่เคยมีประวัติคนในครอบครัวเป็น PMS มาก่อน ก็อาจมีความเสี่ยงเกิดอาการ PMS ได้เช่นกัน โดยพบว่า ในคู่ฝาแฝดมีโอกาสสูงที่จะเป็น PMS ได้ทั้งคู่ โดยมีปัจจัยทางด้านสิ่งแวดล้อมร่วมด้วย
นอกจากนี้ยังพบอีกว่า มีความสัมพันธ์ของอาการของรอบประจำเดือนระหว่างแม่ และลูกสาว และระหว่างพี่สาว และน้องสาว ซึ่งสนับสนุนเรื่องปัจจัยด้านพันธุกรรมมีผลต่อเกิด PMS
อย่างไรก็ตาม ปัจจัยทางด้านพันธุกรรมถือเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งเท่านั่น ยังมีอีกหลายปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น ลักษณะเฉพาะบุคคล ระดับความเครียด กลไกการเลียนแบบพฤติกรรม ซึ่งยังมีหลักฐานจากการศึกษาน้อยในการสนับสนุนสมมติฐาน
3. การดื่มแอลกอฮอล์
ผู้หญิงที่เป็น PMS ดื่มแอลกอฮอล์มากกว่าผู้หญิงปกติ และในผู้หญิงที่มีประวัติอาศัยอยู่ในครอบครัวที่มีคนติดแอลกอฮอล์ มักมีอาการของ premenstrual anxiety และอาการทางพฤติกรรมอื่นๆ มากกว่า
วิธีปฏิบัติสำหรับผู้มีอาการก่อนเป็นประจําเดือน
- ออกกำลังกายให้เหมาะสมและสม่ำเสมอ
- ฝึกสมาธิให้จิตใจสงบ
- พักผ่อนให้เพียงพอ
- บริโภคอาหารที่มีประโยชน์และให้ถูกหลักโภชนาการ
- เน้นรับประทานคาร์โบไฮเดรตที่มี่ไฟเบอร์สูงมากขึ้น เช่น ข้าวโพด ข้าวโอ๊ต ขนมปังโฮลวีท เพราะอาหารเหล่านี้ใช้เวลาย่อยนานกว่า ช่วยรักษาระดับน้ำตาลในเลือดให้คงที่
- ลดอาหารเค็มจัด หรือมีเกลือสูง จะช่วยลดน้ำที่คั่งในตัวได้อาการบวมจึงน้อยลง
- ลดเครื่องดื่มที่มีกาเฟอีน เช่น โกโก้ น้ำอัดลมบางประเภท
- ลดเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์
- พยายามหลีกเลี่ยงความเครียด หรือหาวิธีผ่อนคลายความเครียด
- ลดน้ำหนักให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
อาการคนท้องกับก่อนมีประจำเดือน ต่างกันอย่างไร
อาการคัดเต้านม ผลจากฮอร์โมนโพรเจสเทอโรน จะทำให้เต้านมตึง ขยายใหญ่ขึ้น ส่งผลให้รู้สึกไม่สบายตัว คัดตึงมากในช่วงแรก
- คัดเต้านมก่อนประจำเดือน จะหยุดคัดตึงในวันที่ประจำเดือนเริ่มมา
- คัดเต้านมจากการตั้งครรภ์ ต่อเนื่องนานหลายเดือน อาจตั้งแต่ 3 เดือนขึ้นไป
เลือดจากอวัยวะเพศ
- ก่อนมีประจำเดือน ประจำเดือนเล็กน้อยในช่วงแรก เพิ่มในช่วงมีประจำเดือน
- ตั้งครรภ์ เลือดจากไข่ปฎิสนธิในเยื่อบุโพรงมดลูก เลือดออกมาเล็กน้อยในช่วง 3 วันแรก เรียกว่า เลือดล้างหน้าเด็ก
อาการปวดท้อง
- ก่อนมีประจำเดือน ปวดบริเวณหน้าท้อง หลังส่วนล่าง อาจปวดมาก
- ตั้งครรภ์ ปวดบริเวณท้องน้อย หลังส่วนล่าง ไม่ค่อยรุนแรง
ความอยากอาหาร
- ก่อนมีประจำเดือน อยากอาหารมากกว่าปกติ ส่วนใหญ่เป็นอาหารทั่วไปที่เป็นของหวาน แป้ง หรือรสจัด
- ตั้งครรภ์ อยากอาหารที่ต่างจากปกติ โดยเฉพาะของดองหรือกลิ่นแรง
สภาพร่างกาย เหนื่อยล้า
- ก่อนมีประจำเดือน อ่อนล้าบ้าง นอนไม่หลับ ง่วงซึม แต่หายตอนเริ่มมีประจำเดือน
- ตั้งครรภ์ เหนื่อยล้ายาวนาน อาจช่วงตั้งท้อง 3 เดือนหรือไปจนถึงช่วงคลอด
สภาพอารมณ์
- ก่อนมีประจำเดือน หงุดหงิด วิตกกังวล อารมณ์เสียง่าย หายช่วงประจำเดือนหมด
- ตั้งครรภ์ อารมณ์อ่อนไหวทั้งด้านบวกและลบ ทั้งอารมณ์ดีหรือเกิดภาวะซึมเศร้าได้ อาจเป็นต่อเนื่องไปถึงคลอด
หากลองปฏิบัติตามคำแนะนำเหล่านี้แล้ว แต่สุดท้ายแล้วในช่วงวันนั้นของเดือน คุณ หรือคนที่คุณรักก็ยังอยู่ในโหมดนางมารร้ายอยู่ดี นั่นหมายความว่า อาการพีเอ็มเอสยังไม่ดีขึ้น ควรปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ หรือรับการตรวจวินิจฉัยต่อไป
นอกจากนั้น ในบางรายยังอาจพิจารณาพบจิตแพทย์เพื่อพูดคุยถึงความวิตกกังวล ความเครียด หรือปัญหาที่มีอยู่ในจิตใจ เพราะอาจช่วยแก้ปัญหา หรือแบ่งเบาสิ่งที่เกิดขึ้นได้
คำถามที่เกี่ยวข้อง