คลอโรฟิลล์ คือสารประกอบในพืชและสาหร่าย มีประโยชน์ในการใช้ระงับกลิ่นปาก รักษาอาการท้องผูก ขับสารพิษ และรักษาบาดแผลผ่าตัด นอกจากนี้ ทางการแพทย์ยังใช้คลอโรฟิลล์ฉีดเข้าเส้นเลือดเพื่อรักษาภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้อรังกลับซ้ำ (Chronic relapsing pancreatitis) ด้วย
สารบัญ
ประเภทของคลอโรฟิลล์
คลอโรฟิลล์ (Chlorophyll) เป็นสารประกอบอย่างหนึ่งที่พบมากในพืชหรือสาหร่าย ใช้สังเคราะห์แสง และมีสีเขียวตามธรรมชาติ
แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ
- ชนิดที่ละลายน้ำ
- ชนิดที่ละลายในไขมัน
คลอโรฟิลล์ตามธรรมชาติ มักพบในรูปแบบที่ละลายในไขมันและมีขนาดโมเลกุลค่อนข้างใหญ่ ทำให้ไม่สามารถดูดซึมเข้าสู่ร่างกายได้ หากนำมากินจึงไม่ได้ประโยชน์เท่าที่ควร
คลอโรฟิลล์ที่นำมาทำเป็นยาหรือผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นสารสังเคราะห์ที่มีชื่อว่า “โซเดียมคอปเปอร์คลอโรฟิลลิน (Sodium copper chlorophyllin)” ซึ่งเป็นการดัดแปลงโครงสร้างตามธรรมชาติ ทำให้ได้สารที่ยังคงมีสีเขียวอยู่ แต่ยังมีความคงตัว และสามารถละลายน้ำได้ดี ทำให้นำมาผสมในอาหาร และเครื่องดื่มได้
คลอโรฟิลล์ส่วนใหญ่ผลิตได้จากพืชหลายอย่าง เช่น สกัดจากหญ้าอัลฟาฟ่าหรือมูลของหนอนไหม
การดูดซึมคลอโรฟิลล์ของร่างกาย
หลังจากคลอโรฟิลล์ผ่านทางเดินอาหารและเข้าสู่กระเพาะอาหารที่มีสภาวะเป็นกรด คลอโรฟิลล์จะแตกตัวไปเป็นฟีโอไฟติน (Pheophytins) แล้วถึงถูกดูดซึมที่เซลล์ลำไส้เล็ก เพื่อเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตต่อไป
ประโยชน์ของคลอโรฟิลล์
คลอโรฟิลล์มีประโยชน์ต่อสุขภาพ ดังนี้
- บรรรเทาภาวะตับอ่อนอักเสบ (Pancreatitis) โดยการฉีดเข้าเส้นเลือดเพื่อบรรเทาอาการต่าง ๆ ของผู้ป่วยภาวะตับอ่อนอักเสบเรื้อรังกลับซ้ำ (Chronic relapsing pancreatitis)
- ชะลอวัย (Anti-aging remedy) ผลการศึกษาจากกลุ่มตัวอย่างขนาดเล็กพบว่า การใช้เจลทาผิวที่มีคลอโรฟิลลิน (Chlorophyllin) จะลดการทำลายผิวหนังที่ได้รับแสงแดดนานเกินไปได้ จึงสันนิษฐานว่าคลอโรฟิลล์อาจมีฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระ (Antioxidant effect) แต่ยังไม่มีข้อมูลเพียงพอยืนยันความปลอดภัยในการใช้และผลข้างเคียงอื่น ๆ
- ช่วยสร้างเซลล์เม็ดเลือดแดง (Blood-building properties) คลอโรฟิลล์มีโครงสร้างคล้ายคลึงกับฮีโมโกลบิน (Hemoglobin) จึงช่วยกระตุ้นการสร้างเม็ดเลือดแดง ทำให้หัวใจทำงานอย่างมีประสิทธิภาพ เพิ่มการไหลเวียนของออกซิเจนในร่างกาย ช่วยรักษาภาวะโลหิตจาง (Anemia) และธาลัสซีเมีย (Thalassemia)
- สมานแผล (Wound-healing properties) ทั้งสมานแผลผ่าตัดและป้องกันการติดเชื้อด้วย
มีบางงานวิจัยที่เชื่อว่าใช้บำบัดรักษาบางโรคได้ แต่ยังไม่มีงานวิจัยรองรับที่มากพอ เช่น มะเร็งผิวหนัง มะเร็งปอด โรคงูสงัด แผลจากไวรัสเริม เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม สรรพคุณของคลอโรฟิลล์บางข้อมีการศึกษาจำนวนไม่มาก หรือบางข้อก็ได้ผลการศึกษาไม่เป็นไปในทางเดียวกัน จำเป็นต้องศึกษาเพิ่มเติมและติดตามผลในระยะยาว หากต้องการใช้ผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับคลอโรฟิลล์ ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเสมอ เพื่อความปลอดภัย
ปริมาณคลอโรฟิลล์ที่ควรใช้
- ผู้ใหญ่ กินได้ในปริมาณ 100–300 มิลลิกรัม/วัน
- เด็กอายุ 2 ขวบขึ้นไป กินได้ในปริมาณ 90 มิลลิกรัมต่อวัน
ปริมาณในการใช้คลอโรฟิลล์ที่เหมาะสมของแต่ละคนขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น อายุ สุขภาพของผู้ใช้ จึงควรอ่านคำแนะนำบนฉลากของผลิตภัณฑ์อยู่เสมอ หรืออาจปรึกษาเภสัชกร แพทย์ และบุคลากรทางการแพทย์ก่อนใช้ก็ได้
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้คลอโรฟิลล์
การกินอาหารและอาหารเสริมที่มีคลอโรฟิลล์มักไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่ไม่ควรกินมากเกินไป โดยเฉพาะรูปแบบอาหารเสริม และบางรายที่แพ้หรือไวต่อสิ่งกระตุ้นในคลอโรฟิลล์ อาจทำให้ปัสสาวะและอุจจาระมีสีเขียว ลิ้นเปลี่ยนเป็นสีเหลืองเกือบดำ และทำให้ท้องเสียได้
ส่วนการฉีดเข้าเส้นเลือดหรือทาบนผิวหนังควรดูแลโดยผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพที่ผ่านการฝึกฝนมาแล้ว
คลอโรฟิลล์อาจทำให้ผิวหนังอ่อนไหวต่อแสงมากขึ้น ถ้าเป็นคนผิวสีอ่อนแล้วใช้คลอโรฟิลล์ ควรทาครีมกันแดดก่อนออกนอกอาคารควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรก่อนเสมอเพื่อความปลอดภัยต่อสุขภาพ
คำเตือนและข้อควรระวังจากการใช้คลอโรฟิลล์
- สตรีมีครรภ์และสตรีที่ให้นมบุตรควรหลีกเลี่ยงการกินคลอโรฟีลล์ และคลอโรฟีลลินเสริม
- ผู้ที่แพ้หรือไวต่อสิ่งกระตุ้นที่มีคลอโรฟิลล์และคลอโรฟิลลินเป็นส่วนประกอบ ห้ามใช้คลอโรฟิลล์เด็ดขาด
การใช้คลอโรฟิลล์ร่วมกับยาชนิดอื่น
ควรระมัดระวังการใช้คลอโรฟิลล์ร่วมกับยาที่กระตุ้นความไวต่อแสง (Photosensitizing drugs) เพราะคลอโรฟิลล์เองก็เพิ่มความไวต่อแสงได้เหมือนกัน
ถ้าทั้งกินยาและใช้คลอโรฟิลล์ด้วยกัน อาจจะยิ่งเพิ่มโอกาสให้โดนแดดเผาได้ง่าย เกิดตุ่มหนองหรือผื่นขึ้นบริเวณผิวที่โดนแดด แนะนำให้สวมเสื้อผ้าที่ปกปิดร่างกาย และทาครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ
โดยตัวยาที่เพิ่มความไวต่อแสง เช่น Amitriptyline, Ciprofloxacin, Norfloxacin, Lomefloxacin, Ofloxacin, Levofloxacin, Sparfloxacin, Gatifloxacin, Moxifloxacin, Trimethoprim/Sulfamethoxazole, Tetracycline, Methoxsalen และ Trioxsalen
คำถามเกี่ยวกับสรรพคุณของคลอโรฟิลล์
การดื่มน้ำคลอโรฟิลล์ทดแทนการกินผักผลไม้สด และช่วยต่อต้านอนุมูลอิสระได้
ประโยชน์ของคลอโรฟิลล์ในชั้นของใบพืชที่มีประโยชน์ในเรื่องของการต่อต้านอนุมูลอิสระได้ แต่จะดีที่สุดเมื่ออยู่ในสภาพไม่ละลายในน้ำเท่านั้น
การนำคลอโรฟิลด์มาชงละลายน้ำดื่มจึงไม่ค่อยมีประโยชน์เท่าที่ควร การรับประทานผัก หรือผลไม้สด จะได้รับสารอาหารอื่น ๆ รวมทั้งวิตามินและเกลือแร่ที่จำเป็นต่อร่างกายได้ดีกว่ามาก
คลอโรฟิลล์ช่วยเพิ่มออกซิเจนในร่างกายได้
คลอโรฟิลล์ไม่ได้เป็นสารตั้งต้นของเม็ดเลือดแดง และไม่มีสรรพคุณในการเพิ่มออกซิเจนให้ร่างกายแต่อย่างใด
โครงสร้างระดับโมเลกุลของคลอโรฟิลล์และส่วนประกอบสำคัญของฮีโมโกลบินในเม็ดเลือดแดง คล้ายคลึงกันมาก หลายคนจึงเรียกคลอโรฟิลล์ว่าเป็น “เลือดของพืช”
แต่องค์ประกอบของทั้งสองอย่างมีความแตกต่างกัน ทั้งเรื่องโครงสร้างและหน้าที่ เนื่องจากคลอโรฟิลล์ช่วยให้พืชสังเคราะห์แสง แต่ฮีโมโกลบินช่วยลำเลียงออกซิเจนไปหล่อเลี้ยงทุกส่วนของร่างกาย
คลอโรฟิลล์ช่วยลดกลิ่นปาก
มีงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่เปรียบเทียบระหว่างคนกินยาเม็ดคลอโรฟิลล์กับยาหลอก พบว่าคนที่กินเม็ดคลอโรฟิลล์จะลดกลิ่นอุจจาระได้มากกว่าอีกกลุ่ม แต่ยังไม่มีรายงานหรือการทดลองใด ๆ ในการลดกลิ่นปาก
นอกจากนี้ อาหารเสริมที่วางขายอยู่ทั่วไปยังมีปริมาณความเข้มข้นของคลอโรฟิลล์ไม่มากพอที่จะช่วยดับกลิ่นได้ ผู้ผลิตหลายรายเลือกใช้วิธีแต่งสีให้ดูน่ากินขึ้น แต่ไม่ได้มีประโยชน์อะไรต่อร่างกายหรือช่วยลดกลิ่นปากแต่อย่างใด
คลอโรฟิลล์ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรียได้
คลอโรฟิลล์มีประสิทธิภาพในการยับยั้งเชื้อบางชนิดได้จริง แต่น้อยมาก ๆ ถ้าเปรียบเทียบกับยาฆ่าเชื้อชนิดอื่น ๆ
นอกจากนี้ แม้ว่าคลอโรฟิลล์จะยับยั้งเชื้อได้บางประเภท แต่ก็อาจทำให้เชื้อแบบอื่นเติบโตขึ้นมาแทนที่ได้ การดื่มน้ำคลอโรฟิลล์เพื่อฆ่าเชื้อจึงไม่แนะนำ เพราะไม่อาจเห็นผลเท่าไรนัก
คลอโรฟิลล์ช่วยขับสารพิษ ทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่ง
คลอโรฟิลล์ไม่ได้มีลักษณะเป็นเส้นใยตามธรรมชาติ จึงเพิ่มปริมาณอุจจาระไม่ได้ และช่วยดูดซับสารพิษออกจากร่างกายในรูปของของเสียไม่ได้
นอกจากนี้ ก็ยังไม่มีผลวิจัยใด ๆ ชี้ว่าคลอโรฟิลล์จะชะล้างพิษในร่างกายและทำให้ผิวพรรณเปล่งปลั่งได้
ถึงอย่างนั้น หลาย ๆ คนก็อาจจะชอบดื่มน้ำคลอโรฟิลล์มากกว่าน้ำเปล่า จึงทำให้ดื่มน้ำเปล่าได้เยอะขึ้นกว่าเดิม ซึ่งก็อาจช่วยให้ขับถ่ายดีขึ้นได้ เมื่อระบบขับถ่ายดี มีสารพิษตกค้างน้อย ก็อาจทำให้ผิวดูสดใสขึ้นได้บ้าง
ตรวจสอบความถูกต้องโดย ทีมแพทย์ HD