โรค G6PD หรือโรคพร่องเอนไซม์ G6PD หรือโรคแพ้ถั่วปากอ้า เชื่อว่าอาจเป็นชื่อที่ไม่คุ้นหูของใครหลายคน แล้วโรค G6PD คืออะไร สาเหตุเกิดจากอะไร อาการเหมือนกับอาการแพ้ถั่วหรือเปล่า และอันตรายต่อร่างกายมากน้อยแค่ไหน ทุกคำถามที่ว่ามานี้ หาคำตอบได้ในบทความนี้เลย
สารบัญ
โรค G6PD คืออะไร เกิดขึ้นได้ยังไง?
โรค G6PD หรือ โรคพร่องเอนไซม์ G6PD หรือ โรคแพ้ถั่วปากอ้า เป็นโรคทางพันธุกรรมที่มีการกลายพันธุ์ของยีนที่สร้างเอนไซม์ G6PD (Glucose-6-Phosphate Dehydrogenase) ทำให้ร่างกายมีระดับของเอนไซม์ G6PD ต่ำกว่าปกติ เอนไซม์ชนิดนี้พบได้ในเม็ดเลือดแดง ทำให้เม็ดเลือดแดงคงตัว และป้องกันไม่ให้เม็ดเลือดแดงแตกง่ายจากการทำลายของสารอนุมูลอิสระ (Oxidants)
การเกิดโรค G6PD มาจากความผิดปกติของพันธุกรรมที่เกิดจากยีนด้อยของโครโมโซมชนิด X (X-linked recessive Inheritance) ส่วนใหญ่จะพบการถ่ายทอดจากแม่ไปสู่ลูกชาย ทำให้ผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ชายมากผู้หญิง ส่วนผู้หญิงมักจะเป็นพาหะของโรค ซึ่งบางคนก็ไม่รู้ตัวมาก่อนว่าตัวเองเป็นโรคนี้ เพราะไม่ได้มีการตรวจคัดกรองตั้งแต่แรกเกิด ผู้ที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ส่วนใหญ่จะไม่แสดงอาการและสามารถดำรงชีวิตได้ตามปกติตลอดชีพ เว้นแต่จะได้รับสิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดอาการ เช่น การที่ร่างกายได้รับสารหรือยาบางกลุ่มที่มีสารอนุมูลอิสระมาก
จากผลการสำรวจพบผู้มีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ราว ๆ 200-400 ล้านคนทั่วโลก พบมากในแถบแอฟริกา ลาตินอเมริกา ตะวันออกกลาง และเอเชีย โดยในประเทศไทยพบผู้ชายเป็นโรคนี้ประมาณ 12% ส่วนผู้หญิงพบประมาณ 2%
อาการของโรค G6PD เป็นอย่างไร?
อาการของโรค G6PD จะแตกต่างกันในเด็กและผู้ใหญ่ เพราะเป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติทางพันธุกรรม จึงจะแสดงอาการตั้งแต่แรกเกิด
อาการในเด็ก
ทารกแรกเกิดอายุ 1-4 วัน จะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง นานกว่าเด็กทั่วไป เพราะมีภาวะเม็ดเลือดแดงแตกง่ายอย่างเฉียบพลัน ร่วมกับตรวจเลือดพบค่าสารเหลืองมากเกินปกติ โดยพบว่า 1 ใน 3 ของเด็กที่ต้องรับการส่องไฟจะเป็นโรคพร่องเอนไซม์ G6PD หากพบว่าเด็กมีอาการตัวเหลือง ตาเหลือง แพทย์ก็จะเจาะเลือดเพื่อดูเอนไซม์ G6PD ซึ่งจะทำให้ทราบตั้งแต่ตอนนั้นว่าเด็กเป็นโรคนี้หรือไม่
อาการในผู้ใหญ่
ผู้ป่วยจะมีอาการเมื่อได้รับยาหรือสารต้องห้าม เพราะไม่รู้มาก่อนว่าเป็นโรคพร่องเอนไซม์ G6PD เมื่อเม็ดเลือดแดงแตกจะเกิดภาวะซีดจากการที่เม็ดเลือดแดงแตกอย่างเฉียบพลัน (Acute Hemolytic Anemia) ทำให้รู้สึกเหนื่อย เพลีย โดยจะมีอาการ 1-2 วันหลังจากได้รับสารต้องห้าม นอกจากนี้ปัสสาวะจะเปลี่ยนเป็นสีโค้กหรือสีน้ำปลาจากการที่มีเม็ดเลือดแดงแตก ส่งผลให้เกิดการตกตะกอนที่ไต และทำให้ปัสสาวะเปลี่ยนสี รวมถึงปริมาณปัสสาวะน้อยจนอาจนำไปสู่ภาวะไตวายเฉียบพลัน ซึ่งหากมีอาการเหล่านี้ควรรีบมาพบแพทย์
สิ่งกระตุ้นที่ทำให้เกิดโรค G6PD
ถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับประทานอาหารต้องห้าม ยา หรือสารกระตุ้นก็จะไม่มีอาการใด ๆ เกิดขึ้น จึงจำเป็นต้องรู้ว่าจะต้องหลีกเลี่ยงอะไรบ้าง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดอาการ เช่น
อาหาร เช่น ถั่วปากอ้า โดยเฉพาะถั่วปากอ้าสดซึ่งมีสารอนุมูลอิสระหลายชนิด จะทำให้เม็ดเลือดแดงแตกได้ง่ายกว่าการรับประทานถั่วปากอ้าที่ผ่านการปรุงสุกมาแล้ว ส่วนอาหารประเภทอื่นที่ต้องระวัง เช่น เชอร์รี่ บลูเบอร์รี่ โยเกิร์ตบางชนิดที่มีถั่ว ไวน์แดง นอกจากอาหารแล้วสิ่งที่เติมลงในอาหาร ไม่ว่าจะเป็นสารถนอมอาหาร เช่น สารประเภทซัลไฟต์ (ที่ใส่ในขนมขบเคี้ยว อาหารหรือน้ำผลไม้บรรจุกระป๋อง ไส้กรอก เป็นต้น)
การติดเชื้อโรค ไม่ว่าจะเกิดจากแบคทีเรีย ไวรัส หรือรา ล้วนทำให้เซลล์เม็ดเลือดขาวหลั่งสารอนุมูลอิสระมากขึ้น โรคติดเชื้อที่เป็นสาเหตุและพบบ่อย เช่น โรคไวรัสตับอักเสบเอ โรคไวรัสตับอักเสบบี โรคปอดอักเสบ
ยาบางกลุ่มและสารเคมี
- กลุ่มยาต้านการอักเสบ (NSAIDs) บางชนิด
- ยาแอสไพริน
- ยาปฏิชีวนะบางชนิด เช่น ยากลุ่มซัลฟา (Sulfonamides) หรือยาไนโตรฟูแรนโทอิน (Nitrofurantoin)
- ยารักษาโรคมาลาเรียบางชนิด เช่น ควินิน (Quinine) หรือควินิดีน (Quinidine)
- สารเคมีอื่น ๆ เช่น ลูกเหม็น
การรักษาโรค G6PD
โรคภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD เป็นโรคที่ไม่ได้มีอันตรายถ้าผู้ป่วยไม่ได้รับสาร ยาบางกลุ่มหรืออาหารต้องห้าม การรักษาจึงเป็นการรักษาแบบประคับประคอง
การรักษาในเด็ก
ทาแรกเกิดรักษาด้วยการส่องไฟ (Phototherapy) เพื่อให้แสงไฟทำปฏิกิริยากับสารเหลืองที่อยู่บริเวณผิวหนังกลายเป็นสารเหลืองที่สามารถขับออกจากร่างกายได้ หลังกลับบ้านทารกที่มีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD ส่วนใหญ่จะมีสุขภาพแข็งแรงดี ดูแลเหมือนทารกปกติทั่วไป แม้เป็นโรคทางพันธุกรรมที่ไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ แต่ไม่มีอันตรายร้ายแรงถ้ารู้จักหลีกเลี่ยงสิ่งกระตุ้น หรือเมื่อมีอาการเจ็บป่วย มีไข้ให้รีบมาพบแพทย์
การรักษาในผู้ใหญ่
ผู้ป่วยมีอาการเหนื่อยเพลีย หน้ามืด เป็นลม ปัสสาวะเป็นสีโค้ก เมื่อไปถึงโรงพยาบาล แพทย์จะให้น้ำเกลือ เพื่อขับสารให้ออกจากร่างกายโดยเร็ว หลังจากนั้นเม็ดเลือดแดงก็จะหยุดการแตกตัวได้ภายใน 7-10 วัน
ข้อควรระวัง และคำแนะนำสำหรับผู้ป่วยโรค G6PD
- หลีกเลี่ยงจากสิ่งกระตุ้นที่จะทำให้เม็ดเลือดแดงเกิดการแตกตัว ไม่ว่าจะเป็นยา อาหาร หรือสารเคมีต้องห้าม
- หากต้องเข้ารับการรักษาหรือต้องได้รับยา จะต้องแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลให้ทราบทุกครั้ง
- ดูแลสุขภาพร่างกาย ป้องกันการติดเชื้อ หากมีไข้หรือไม่สบายให้รีบเข้ารับการรักษา พร้อมทั้งแจ้งแพทย์และเภสัชกรให้ทราบว่าตนเองมีภาวะพร่องเอนไซม์ G6PD เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับยาที่อาจเป็นอันตราย
- หากมีอาการผิดปกติที่สงสัยว่าอาจเกิดจากเม็ดเลือดแดงแตก โดยเฉพาะหลังการรับประทานยา เช่น ปัสสาวะมีสีคล้ำ เกิดภาวะซีด หายใจหอบ ให้รีบไปพบแพทย์เพื่อประเมินอาการและปรับเปลี่ยนยา หากเกิดจากยา อาการจะดีขึ้นเมื่อหยุดใช้ยานั้น
- ควรรับประทานอาหารที่มีประโยชน์และครบถ้วน ไม่เลือกเฉพาะอาหารที่ชอบ เพราะจะขาดความสมดุลของสารอาหาร
- หลีกเลี่ยงการดื่มแอลกอฮอล์มากเกินไป และการสูบบุหรี่
- ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ ไม่หนักจนเกินไป เพราะการออกกำลังกายอย่างหักโหม อาจกระตุ้นให้อาการของโรคกำเริบได้
หากคู่ของคุณกำลังเตรียมตัวเป็นคุณพ่อคุณแม่มือใหม่ ยังไม่แน่ใจว่าป่วยเป็นโรค G6PD หรือเปล่า ตรวจก่อน ลูกน้อยจะได้ไม่เสี่ยง ค้นหาแพ็กเกจตรวจสุขภาพก่อนแต่งและมีบุตรในราคาโปรโมชั่น ได้ที่ HDmall.co.th คลิกเลย หรือสอบถามแพ็กเกจตรวจสุขภาพอื่น ๆ แชทถามแอดมินได้ ที่นี่