testicular injuries

อาการบาดเจ็บที่ลูกอัณฑะ Testicular Injuries

อาการบาดเจ็บที่ลูกอัณฑะอย่างรุนแรง เป็นเรื่องที่ไม่ควรมองข้าม แม้ว่าบางคนจะเคยโดนกระแทกมาก่อนและไม่พบปัญหา แต่หากเป็นการกระแทกอย่างรุนแรงถึงขั้นจุก เจ็บปวดเป็นชั่วโมง อาจเป็นสัญญาณของความเสียหายภายในร่างกายที่รุนแรงได้ หากปล่อยเอาไว้อาจมีอันตรายต่ออวัยวะภายใน

ทำไมถุงอัณฑะถึงบาดเจ็บได้ง่าย

อัณฑะเป็นอวัยวะที่ยื่นออกมาจากร่างกายและไม่มีกระดูกหรือกล้ามเนื้อป้องกันอย่างอวัยวะส่วนอื่นๆ ทำให้สามารถเกิดอุบัติเหตุทำให้เกิดอาการบาดเจ็บได้โดยง่ายเมื่อเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมต่างๆ

แม้อัณฑะจะมีความบอบบางมาก แต่ธรรมชาติก็สร้างอัณฑะมาให้สามารถปกป้องตัวเองได้ เนื่องจากอัณฑะนั้นยึดติดกับร่างกายเพียงหลวมๆ และทำมาจากเนื้อเยื่อที่มีลักษณะเหมือนฟองน้ำ ซึ่งสามารถซับแรงกระแทกส่วนใหญ่ไว้ได้ส่งผลให้ไม่เกิดความเสียหายอย่างถาวรต่ออวัยวะ ทั้งยังสามารถฟื้นตัวอย่างรวดเร็วเมื่อเกิดความเสียหายเล็กน้อยหรือเกิดอาการเจ็บปวด นอกจากนี้ อาการเจ็บปวดที่เกิดขึ้นหากไม่รุนแรงเกินไป จะไม่ก่อให้เกิดความเสียหายต่อสมรรถนะทางเพศหรือกระบวนการผลิตอสุจิ

หากเกิดอาการเจ็บปวดที่อัณฑะจะทำอย่างไร

หากเป็นการบาดเจ็บเล็กน้อยจากการกระแทกที่ไม่รุนแรง อาจทำให้จุก ปวด คลื่นไส้ อ่อนแรงช่วงระยะเวลาหนึ่ง อาการเจ็บปวดจะค่อยทุเลาลงภายใน 1 ชั่วโมง และอาการอื่นๆ ก็จะหายไปด้วย

เมื่อเกิดอาการบาดเจ็บ คุณสามารถช่วยเหลือตัวเองให้อาการทุเลาลงได้ เช่น กินยาแก้ปวด นอนพัก สวมกางชั้นในที่กระชับพอดีตัว หรือปะคบด้วยน้ำแข็ง เป็นต้น และเพื่อให้อาการหายดีควรงดกิจกรรมหนักๆ สักระยะหนึ่งและพักผ่อน 2-3 วัน

อย่างไรก็ตาม หากอาการปวดไม่ทุเลาลงหรือมีอาการปวดรุนแรงนานเกินกว่า 1 ชั่วโมง ร่วมกับการมีอาการบวมช้ำหรือมีบาดแผลและมีอาการคลื่นไส้อาเจียน รวมถึงมีไข้ร่วมด้วย คุณต้องรีบพบแพทย์โดยด่วน เนื่องจากอาการดังกล่าวเป็นสัญญาณของอาการบาดเจ็บที่รุนแรงที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

อาการบาดเจ็บรุนแรงที่อัณฑะ

ภาวะอัณฑะบิดตัว

ภาวะอัณฑะบิดตัว คือ การที่อัณฑะซึ่งปกติจะอยู่ในแนวดิ่งในถุงอัณฑะ เกิดการบิดตัวมาอยู่ในตำแหน่งตามแนวขวางในถุงอัณฑะ ทำให้อัณฑะขาดเลือด ซึ่งภาวะดังกล่าวสามารถเกิดขึ้นได้ไม่บ่อยนักและไม่ทราบสาเหตุที่ชัดเจน โดยบางครั้งอาจมีสาเหตุมาจากอาการบาดเจ็บรุนแรงหรืออุบัติเหตุจากการออกกำลังกายหรือการทำกิจกรรมต่างๆ

ภาวะอัณฑะบิดตัวเป็นภาวะที่ต้องได้รับการรักษาในทันที โดยอาการดังกล่าวมักเกิดขึ้นกับเด็กหนุ่มวัย 12 – 18 ปี ดังนั้น หากคุณสงสัยว่าอาจมีภาวะดังกล่าว คุณต้องเข้ารับการรักษาโดยด่วน หากแพทย์ทำการรักษาภายใน 4–6 ชั่วโมง หลังจากที่เริ่มมีอาการเจ็บ การรักษาจะมีประสิทธิผลสูงสุดโดยไม่ทิ้งความเสียหายใดๆ ต่ออัณฑะ แต่ถ้าการรักษาช้ากว่าเวลาดังกล่าว มีโอกาสเป็นไปได้ว่าคุณอาจต้องเสียอัณฑะข้างหนึ่งไปหรืออาจส่งผลให้การผลิตอสุจิมีปริมาณลดน้อยลงกว่าปกติได้ แพทย์จะทำการรักษาด้วยวิธีปกติก่อนโดยการหมุนปรับลูกอัณฑะ และหากวิธีการปกติดังกล่าวไม่ได้ผล แพทย์จะทำการรักษาด้วยการผ่าตัดต่อไป

testicular torsion

บาดแผลที่อัณฑะ

บาดแผลที่อัณฑะเป็นอาการบาดเจ็บที่พบได้ไม่บ่อยนัก อาการเช่นนี้จะเกิดขึ้นเมื่ออัณฑะถูกกระแทกโดยตรงอย่างแรงหรือเมื่ออัณฑะถูกกดทับไปยังกระดูกเชิงกรานส่งผลให้มีเลือดออกในถุงอัณฑะ ทำให้มีอาการเจ็บปวดอย่างรุนแรง อัณฑะบวม คลื่นไส้ และอาเจียน เช่นเดียวกับภาวะอัณฑะบิดตัว ดังนั้น การรักษาจึงจำเป็นต้องพึ่งการผ่าตัดเท่านั้น

วิธีรักษาโดยแพทย์

เมื่อคุณมีอาการปวดและเข้าพบแพทย์ อันดับแรกแพทย์จะสอบถามระยะเวลาที่คุณมีอาการปวดและความรุนแรงของอาการปวด และเพื่อการวินิจฉัยอาการที่ถูกต้องและหาสาเหตุของอาการปวด แพทย์จะทำการตรวจบริเวณท้องน้อยและขาหนีบ

นอกจากนี้แพทย์จะตรวจเช็คบริเวณถุงอัณฑะเพื่อดูอาการบวม สีของอัณฑะ และบาดแผลที่ผิวหนัง เนื่องจากการติดเชื้อของระบบสืบพันธุ์หรือระบบทางเดินปัสสาวะก็เป็นสาเหตุของอาการเจ็บปวดที่อัณฑะได้เช่นกัน โดยแพทย์จะทำการตรวจปัสสาวะเพื่อตรวจการติดเชื้อระบบทางเดินปัสสาวะหรือระบบสืบพันธุ์ร่วมด้วย

เราจะป้องกันอาการบาดเจ็บที่อัณฑะได้อย่างไร

เพื่อหลีกเลี่ยงอาการบาดเจ็บ คุณควรใช้ความระมัดระวังเมื่อคุณเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือเมื่อทำกิจกรรมเสี่ยงต่างๆ เคล็ดลับเหล่านี้จะช่วยปกป้องอัณฑะอันบอบบางของคุณได้

  • ปกป้องอัณฑะของคุณ พยายามสวมเครื่องป้องกันส่วนสำคัญของคุณทุกครั้งที่เล่นกีฬาหรือเมื่อทำกิจกรรมเสี่ยง เครื่องป้องกันหรือกระจับมักผลิตจากพลาสติกใช้สวมใส่บริเวณขาหนีบเป็นอุปกรณ์ที่ดีที่จะช่วยป้องกันอัณฑะอันบอบบางของคุณได้ กระจับมักถูกใช้เมื่อคุณเล่นกีฬาที่เสี่ยงต่ออัณฑะของคุณ เช่น ฟุตบอล ฮอกกี้ หรือคาราเต้ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีอุปกรณ์ที่เรียกว่า jock strap ที่มีลักษณะเป็นชุดชั้นในชาย ใช้สวมใส่เพื่อป้องกันอัณฑะของคุณระหว่างการเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือการทำกิจกรรมเสี่ยงต่างๆ
  • เลือกขนาดให้เหมาะสม คุณต้องแน่ใจว่าอุปกรณ์ป้องกันจุดสำคัญของคุณมีขนาดที่เหมาะสมกับคุณ เพราะอุปกรณ์ที่เล็กหรือใหญ่เกินไปจะไม่สามารถปกป้องอัณฑะอันบอบบางของคุณได้อย่างมีประสิทธิภาพ
  • แจ้งให้แพทย์ทราบ หากคุณเป็นนักกีฬาหรือเล่นกีฬาเป็นประจำ คุณอาจมีการพบแพทย์เฉพาะทางเพื่อตรวจร่างกาย และเมื่อคุณมีอาการปวดที่อัณฑะ แม้จะเกิดขึ้นเพียงครั้งคราว คุณก็จำเป็นต้องแจ้งให้แพทย์ทราบ
  • ตระหนักถึงความเสี่ยงของกีฬาหรือกิจกรรมที่ทำอยู่ ถ้าคุณเล่นกีฬาหรือมีส่วนร่วมในกิจกรรมที่มีความเสี่ยงสูงที่อาจบาดเจ็บได้ แนะนำให้ปรึกษาโค้ชหรือแพทย์เกี่ยวกับอุปกรณ์ป้องกันที่คุณควรใช้

การเล่นกีฬา ออกกำลังกาย หรือทำกิจกรรมกลางแจ้งต่างๆ เป็นวิธีการที่ดีที่ช่วยให้คุณมีสุขภาพที่แข็งแรงและลดความเครียดได้ แต่อย่าลืมว่าอัณฑะอันบอบบางของคุณก็ต้องการการปกป้องเช่นกัน ดังนั้น คุณจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์ป้องกันเสมอเพื่อที่คุณจะได้สนุกกับกิจกรรมนั้นๆ ได้อย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวลเกี่ยวกับการบาดเจ็บใดที่อาจเกิดขึ้น


ที่มาของข้อมูล

Scroll to Top