birth control sterilization disease faq scaled

14 คำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการคุมกำเนิดหญิง การทำหมันหญิง

สำรวจคำถามที่พบบ่อยเกี่ยวกับการทำคุมกำเนิดและการทำหมันผู้หญิงได้ที่นี่ พร้อมคำตอบเคลียร์ๆ ที่จะทำให้คุณมั่นใจในการวางแผนมีบุตรได้ง่ายขึ้น

สารบัญ

1. คุมกำเนิดผู้หญิงแบบชั่วคราว มีกี่วิธี

ตอบ: วิธีคุมกำเนิดผู้หญิงแบบชั่วคราว แบ่งออกได้หลายวิธี โดยวิธีที่เป็นที่นิยมในปัจจุบัน ได้แก่

  • การใส่ถุงยางอนามัย เพื่อป้องกันไม่ให้เซลล์อสุจิจากฝ่ายชายหลั่งเข้าสู่ช่องคลอดไปปฏิสนธิกับไข่ได้
  • การกินยาคุมกำเนิด ช่วยระงับไม่ให้มีการตกไข่ ทำให้ผนังมดลูกบางลง และเพิ่มความเหนียวข้นของมูกที่ปากมดลูก ทำให้อสุจิว่ายไปปฏิสนธิกับไข่ได้ยาก
  • การฝังยาคุมกำเนิด มีลักษณะเป็นแท่งยาขนาดเท่าไม้ขีดไฟ มีกลไกป้องกันการตั้งครรภ์เหมือนกับยาคุมกำเนิดแบบกิน
  • การแปะยาคุมกำเนิด มีลักษณะเป็นแผ่นแปะคล้ายกับพลาสเตอร์ปิดแผล ตัวยาจะซึมผ่านผิวหนังเข้าสู่กระแสเลือดไปยับยั้งการตั้งครรภ์ โดยตัวยาจะมีกลไกการทำงานเหมือนกับยาคุมกำเนิดแบบกินเช่นกัน
  • การใส่ห่วงคุมกำเนิด มีลักษณะเป็นแท่งขนาดเล็กคล้ายตัว T ตัว U หรือตัว Y ซึ่งจะฝังไว้ที่โพรงมดลูก ตัวห่วงคุมกำเนิดจะเคลือบยาฮอร์โมนหรือสารทองแดงซึ่งมีคุณสมบัติเพิ่มความเหนียวข้นให้มูกที่ปากมดลูก และยังทำให้ผนังมดลูกไม่อยู่ในสภาพที่เหมาะต่อการฝังตัวของตัวอ่อนได้

เช็กลิสต์วิธีคุมกำเนิดผู้หญิง ทำได้กี่วิธี แบบไหนใช่ที่สุด อ่านต่อคลิกเลย

2. คุมกำเนิดผู้หญิงแบบชั่วคราวแต่ละวิธี ทำตอนไหนดี?

ตอบ: ระยะเวลาที่เหมาะสมในการคุมกำเนิดผู้หญิงแบบชั่วคราวแต่ละวิธี มีดังต่อไปนี้

  • การใส่ถุงยางอนามัย ควรใส่ทุกครั้งก่อนเริ่มมีเพศสัมพันธ์ และควรใช้ถุงยางที่มีคุณภาพ เพื่อลดโอกาสถุงยางรั่วหรือฉีกขาดระหว่างมีเพศสัมพันธ์
  • การกินยาคุมกำเนิด ควรเริ่มกินภายใน 3-5 วันแรกของการมีประจำเดือน และให้กินยาทุกวันตามคำแนะนำของแพทย์อย่าเคร่งครัด หากกินยาช้ากว่าภายใน 5 วันแรกของการมีประจำเดือน ให้งดมีเพศสัมพันธ์ 7 วันหลังกิน หรือใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น ใส่ถุงยางอนามัย
  • การฝังยาคุมกำเนิด ควรเริ่มฝังยาภายใน 5-7 วันแรกของการมีประจำเดือน
  • การแปะยาคุมกำเนิด ควรแปะยาคุมกำเนิดในวันแรกที่ประจำเดือนมา และเปลี่ยนแผ่นแปะทุก 1 สัปดาห์เป็นเวลา 3 สัปดาห์ จากนั้นเว้น 1 สัปดาห์เพื่อให้ประจำเดือนมา หลังจากนั้นเมื่อครบ 1 สัปดาห์ที่ประจำเดือนมาก็ให้เริ่มแปะยาแผ่นใหม่ ในกรณีที่ยังต้องการคุมกำเนิดต่อ
  • การใส่ห่วงคุมกำเนิด สามารถใส่ตอนไหนก็ได้ตามแต่ผู้รับบริการสะดวก  รวมถึงใส่ได้ในระหว่างที่กำลังมีประจำเดือนเช่นกัน นอกจากนี้ยังทำให้เจ็บได้น้อยกว่าด้วย เนื่องจากช่วงที่มีประจำเดือนเป็นช่วงที่ปากมดลูกขยายตัวมากที่สุด

3. หลังคุมกำเนิดผู้หญิงชั่วคราว เริ่มมีเพศสัมพันธ์ได้เมื่อไร?

ตอบ: 

  • การใส่ถุงยางอนามัย: หากใส่ถุงยางอนามัยเรียบร้อยแล้ว ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เลย
  • การกินยาคุมกำเนิด: ยาคุมกำเนิดจะออกฤทธิ์ตั้งแต่วันแรกที่กินยา ซึ่งหากกินยาในช่วง 5 วันแรกของการมีประจำเดือน เมื่อประจำเดือนหมดก็สามารถมีเพศสัมพันธ์ได้เลย แต่หากกินยาหลังวันที่ 5 ของการมีประจำเดือนเป็นต้นไป ใน 1 สัปดาห์แรกที่กินยา ให้หลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์ไปก่อน หรือใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นร่วมด้วย เช่น ใส่ถุงยางอนามัย
  • การฝังยาคุมกำเนิด: หากฝังยาคุมในช่วง 1-5 วันแรกที่มีประจำเดือน เมื่อประจำเดือนหมด ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์เลย แต่หากฝังยาคุมช้าไปกว่านั้น ใน 1 สัปดาห์แรกที่กินยา ควรมีเพศสัมพันธ์โดยใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นๆ ควบคู่กัน
  • การแปะยาคุมกำเนิด: หากเริ่มแปะยาในวันแรกที่มีประจำเดือน เมื่อประจำเดือนหมด ก็สามารถมีเพศสัมพันธ์เลย แต่หากแปะยาช้าไปกว่านั้น ใน 1 สัปดาห์แรกที่กินยา ควรมีเพศสัมพันธ์โดยใช้วิธีคุมกำเนิดอื่นๆ ควบคู่กัน
  • การใส่ห่วงคุมกำเนิด: สามารถมีเพศสัมพันธ์หลังใส่ห่วงคุมกำเนิดครบ 24 ชั่วโมงแล้ว ส่วนสาเหตุที่งดมีเพศสัมพันธ์ในช่วง 24 ชั่วโมงแรก ก็เพื่อป้องกันโอกาสติดเชื้อในช่วงแรกหลังใส่ห่วงคุมกำเนิด

4. คุมกำเนิดผู้หญิงแบบชั่วคราว ป้องกันการตั้งครรภ์มากแค่ไหน?

ตอบ: ยังไม่มีวิธีคุมกำเนิดผู้หญิงแบบชั่วคราวที่สามารถป้องกันการตั้งครรภ์ได้ 100% อย่างไรก็ตาม แต่ละวิธีก็สามารถป้องกันโอกาสตั้งครรภ์ได้ค่อนข้างสูง ดังต่อไปนี้

  • การใส่ถุงยางอนามัย: ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 98% และยังป้องกันโอกาสติดเชื้อ HIV ได้มากถึง 70-90% หากใช้ถุงยางอนามัยอย่างถูกต้อง
  • การกินยาคุมกำเนิด: หากกินยาคุมกำเนิดสม่ำเสมอไม่มีขาด ประสิทธิภาพการป้องกันการตั้งครรภ์ของตัวยาจะสูงถึง 93%
  • การฝังยาคุมกำเนิด: ป้องกันการตั้งครรภ์ได้ประมาณ 98-99% จัดเป็นวิธีการคุมกำเนิดที่ให้ประสิทธิภาพสูง ผู้รับบริการมีโอกาสตั้งครรภ์ไม่เกิน 0.05-0.1%
  • การแปะยาคุมกำเนิด: ป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงถึงประมาณ 93-99%
  • การใส่ห่วงคุมกำเนิด: ป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูงถึงประมาณ 99%

วิธีคุมกำเนิดแบบไหนเหมาะกับเรามากที่สุด ควรคุมกำเนิดแบบชั่วคราว หรือทำหมันถาวรไปเลย ถ้ามีข้อสงสัย ตัดสินใจไม่ได้และอยากทำนัดปรึกษาคุณหมอ คลิกที่นี่ได้เลย

5. ใช้วิธีคุมกำเนิดแบบหลั่งข้างนอก มีโอกาสท้องมากแค่ไหน?

ตอบ: การมีเพศสัมพันธ์แบบหลั่ง เป็นวิธีที่มีความเสี่ยงสูง ในสถานพยาบาลหลายแห่งไม่นับการหลั่งนอกเป็นวิธีคุมกำเนิด เนื่องจากมีโอกาสทำให้เกิดการตั้งครรภ์ได้สูงมาก

หลายคนอาจเข้าใจว่า หากมีเพศสัมพันธ์ และฝ่ายชายถอนอวัยวะเพศออกมาหลั่งข้างนอกได้ทัน ก็จะไม่ทำให้มีโอกาสตั้งครรภ์ แต่ความจริงแล้ว อสุจิสามารถปะปนอยู่ในสารคัดหลั่งที่ฝ่ายชายหลั่งออกมาเป็นน้ำหล่อลื่นตั้งแต่ก่อนหน้านั้น และสามารถว่ายไปปฏิสนธิกับไข่จนเกิดการตั้งครรภ์ได้อยู่ดี

ดังนั้นผู้ที่ยังไม่พร้อมมีบุตรจึงไม่ควรใช้วิธีนี้ในการคุมกำเนิด เนื่องจากมีประสิทธิภาพในการป้องกันต่ำมาก

6. ทำหมันผู้หญิง ตัดส่วนไหนออก?

ตอบ: การทำหมันผู้หญิงคือ การตัดและผูก ‘ท่อนำไข่’ เพื่อป้องกันไม่ให้อสุจิว่ายไปปฏิสนธิกับไข่ได้ จึงไม่เกิดการตั้งครรภ์ เป็นวิธีคุมกำเนิดที่มีผลถาวร มีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์ได้สูง เหมาะกับผู้ที่ไม่ต้องการมีบุตรอีกต่อไป ปัจจุบันมี 2 เทคนิค คือ การผ่าตัดทำหมันแบบเปิด และการผ่าตัดทำหมันแบบส่องกล้อง

7. ทำหมันผู้หญิง ยังมีประจำเดือนอยู่ไหม?

ตอบ: หลังทำหมัน ผู้หญิงยังคงมีประจำเดือนตามปกติทุกอย่าง และไม่ทำให้ร่างกายมีการเปลี่ยนแปลงใดๆ เนื่องจากร่างกายยังมีไข่ตก มีการผลิตฮอร์โมนตามปกติ ทำให้มีเยื่อบุโพรงมดลูกหนาตัวขึ้นตามรอบเดือน และหลุดลอกออกมาทุกเดือนเป็นประจำเดือน

8. ทำหมันผู้หญิง ทำให้สมรรถภาพทางเพศลดลงหรือไม่?

ตอบ: ไม่ส่งผลใดๆ ผู้รับบริการจะยังมีความรู้สึกทางเพศและมีสมรรถภาพทางเพศตามปกติเช่นเดียวกับก่อนผ่าตัดทุกประการ

9. ทำหมันผู้หญิง เจ็บไหม?

ตอบ: ระหว่างผ่าตัดทำหมัน ผู้รับบริการจะได้รับยาสลบหรือการฉีดยาชา ซึ่งจะไม่ทำให้รู้สึกเจ็บตลอดช่วงระยะเวลาผ่าตัด แต่หลังจากยาหมดฤทธิ์ อาจมีอาการปวดแผลและปวดท้องน้อยได้บ้างประมาณ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นอาการจะค่อยๆ ดีขึ้น และหายไปเอง

10. ทำหมันผู้หญิง ต้องนอนโรงพยาบาลไหม?

ตอบ: ขึ้นอยู่กับเทคนิคการผ่าตัด หากเป็นการผ่าตัดแบบเปิด ผู้รับบริการมักนอนดูอาการที่โรงพยาบาลประมาณ 2-3 คืน แต่หากเป็นการผ่าตัดแบบส่องกล้อง โดยส่วนมากจะนอนโรงพยาบาลเพียง 1 คืนหรือเดินทางกลับบ้านได้เลยในวันผ่าตัด ขึ้นอยู่กับการประเมินจากแพทย์

11. ทำหมันผู้หญิง มีเพศสัมพันธ์ได้ตอนไหน?

ตอบ: หลังทำหมันผู้หญิง ควรงดมีเพศสัมพันธ์ประมาณ 6 สัปดาห์หรือตามระยะเวลาที่แพทย์แนะนำ

12. ทำหมันผู้หญิง ยังต้องใส่ถุงยางอนามัยไหม?

ตอบ: การทำหมันผู้หญิงช่วยป้องกันการตั้งครรภ์ได้ แต่ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ เพื่อความปลอดภัย จึงยังควรให้คู่นอนใส่ถุงยางอนามัยก่อนมีเพศสัมพันธ์ทุกครั้ง

13. ทำหมันผู้หญิง มีผลข้างเคียงอะไรบ้าง?

ตอบ: ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นหลังผ่าตัดทำหมันผู้หญิง ได้แก่

  • ภาวะแพ้ยาชา  ภาวะแพ้ยาสลบ หรือผลกระทบจากยาสลบ เช่น อ่อนเพลีย เวียนศีรษะ คลื่นไส้อาเจียน
  • มีเลือดไหลออกจากแผล
  • ภาวะแผลติดเชื้อ ทำให้มีอาการแผลบวมแดง มีของเหลวหรือน้ำหนองไหล มีไข้สูง
  • อาการปวดเจ็บแผล
  • อวัยวะที่อยู่ใกล้รังไข่ได้รับบาดเจ็บ เช่น ลำไส้ กระเพาะปัสสาวะ เส้นเลือดใหญ่ แต่มีโอกาสเกิดได้น้อย

14. ทำหมันผู้หญิง ทำให้เสี่ยงตั้งครรภ์นอกมดลูกหรือไม่?

ตอบ: มีโอกาสเกิดขึ้น แต่ความเป็นไปได้ต่ำ 

อย่างไรก็ตาม หากผู้ที่ทำหมันผู้หญิงไปแล้วพบว่า ประจำเดือนขาด หรือมีอาการคล้ายกับกำลังตั้งครรภ์ ให้รีบตรวจการตั้งครรภ์กับแพทย์ เนื่องจากหากเกิดการตั้งครรภ์หลังทำหมันไปแล้ว มีโอกาสที่จะเป็นการตั้งครรภ์นอกมดลูกได้

จากลิสต์คำถามที่พบบ่อย เราจะเห็นได้ว่าการคุมกำเนิดสำหรับผู้หญิงนั้นมีหลากหลายวิธี นอกจากนี้ยังมีประสิทธิภาพในการป้องกันการตั้งครรภ์สูงแทบทั้งหมด 

อย่างไรก็ตาม หากคุณยังไม่มั่นใจหรือมีคำถามเกี่ยวกับการคุมกำเนิดที่เหมาะกับไลฟ์สไตล์ของตนเอง ก็สามารถติดต่อแพทย์ที่สถานพยาบาลใกล้บ้านเพื่อขอรับคำปรึกษาเกี่ยวกับวิธีคุมกำเนิดได้

ยังมีข้อสงสัยเพิ่มเติมใช่ไหม? ไม่รู้จะถามใครดี ปรึกษาทีม HDcare ได้เลย เราพร้อมเป็นผู้ช่วยส่วนตัวดูแลสุขภาพคุณ สอบถามข้อมูลเบื้องต้นกับคุณหมอเฉพาะทาง ทำนัดปรึกษาคุณหมอได้รวดเร็วที่คลินิกใกล้คุณได้ทันที คลิกที่นี่เลย

Scroll to Top