วอเตอร์เครส (Watercress) หรือคนไทยเรียกว่า “สลัดน้ำ” มีชื่อวิทยาศาสตร์ว่า Nasturtium officinale W.T. Aiton อยู่ในตระกูลกะหล่ำ (Cruciferae) ลักษณะเป็นผักใบเขียวคล้ายผักเป็ดไทย แต่จะต่างไปตรงที่วอเตอร์เครสมีความยาวมากกว่า นอกจากนี้ยังได้ชื่อว่าเป็น “ราชินีผักสำหรับคนรักสุขภาพ” เพราะอุดมไปด้วยสารอาหารหลายชนิด เช่น แคลเซียม โพแทสเซียม วิตามินซี วิตามินเอ ธาตุเหล็ก ฯลฯ และยังมีสารต้านอนุมูลอิสระ ที่สามารถยับยั้งและป้องกันการเกิดมะเร็งได้ จึงได้รับความสนใจอย่างมากในปัจจุบัน
สารบัญ
ถิ่นกำเนิดของวอเตอร์เครส
วอเตอร์เครสมีถิ่นกำเนิดในประเทศฝรั่งเศส ได้รับความนิยมอย่างมากในกลุ่มคนรักสุขภาพแถบประเทศในทวีปยุโรป นิวซีแลนด์ และอเมริกา ส่วนในประเทศไทยปลูกมากบริเวณภาคเหนือและภาคใต้
สายพันธุ์และการปลูกวอเตอร์เครส
วอเตอร์เครสสายพันธุ์ที่นิยมปลูกเพื่อรับประทานกันมีอยู่ 2 สายพันธุ์หลัก ได้แก่ พันธุ์สีเขียวกับพันธุ์สีแดง พันธุ์สีเขียวเป็นสายพันธุ์ที่เติบโตได้ดีในสภาพอากาศอบอุ่น ส่วนพันธุ์สีแดง (หรือสีน้ำตาล) เป็นสายพันธุ์ทนต่อสภาพที่มีอุณหภูมิต่ำได้ดี ติดดอกและเมล็ดค่อนข้างยาก
ส่วนใหญ่วอเตอร์เครสจะใช้วิธีปลูกแบบไฮโดรโพนิกส์ (Hydroponics) ไม่ชอบแดดจัดและชอบน้ำมาก หรือใช้วิธีปักชำ โดยเฉพาะช่วงแรกการขยายพันธุ์อาจเพาะเมล็ดหรือการปักชำ จะต้องให้รดน้ำทุกวัน รักษาหน้าดินให้มีความชุ่มชื้นตลอดเวลาเพื่อให้ลำต้นตั้งตัวและรากออกได้เร็ว และควรใช้มุ้งตาข่ายคลุมแปลงปลูก เพื่อป้องกันศัตรูพืชจำพวกหนอนใยผัก และด้วงหมัด
วิธีกินวอเตอร์เครส
วอเตอร์เครสสามารถรับประทานสดได้ โดยนิยมใส่ในสลัดกินสดๆ รับประทานจิ้มกับน้ำพริก สอดไส้แซนด์วิช หรือจะนำไปประกอบอาหารประเภทต้มจืด ต้มซุป หรือผัดกับน้ำมันก็ได้ รวมไปถึงใช้ตกแต่งอาหารทำให้น่ารับประทานยิ่งขึ้นก็ได้เช่นกัน
ประโยชน์ของวอเตอร์เครส
วอเตอร์เครส มีสารพฤกษเคมีในปริมาณสูงหลายชนิด หรือที่เรารู้จักคือไฟโตเคมิคอล (Phytochemicals) สารเคมีชนิดนี้พบได้ในพืช เกิดขึ้นเองตามธรรมชาติ ช่วยบำรุงสุขภาพ สามารถต่อต้านหรือป้องกันการเกิดโรคบางชนิดได้ โดยกลไกการทำงานของสารชนิดนี้คือ เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะเข้าไปช่วยให้เอนไซม์บางกลุ่มเช่นเอนไซม์ที่ช่วยทำลายสารก่อมะเร็งทำงานอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น
นอกจากนี้ วอเตอร์เครสมีวิตามินเอและวิตามินซี ที่มีส่วนสำคัญต่อการทำงานของระบบภูมิคุ้มกันและเนื้อเยื่อต่างในร่างกาย รวมถึงมีวิตามินเคที่ช่วยให้เลือดแข็งตัว ทั้งยังอุดมไปด้วยแร่ธาตุ เช่น แคลเซียม ที่ช่วยเสริมสร้างกระดูก โพแทสเซียม ช่วยรักษาระดับความดันโลหิตให้เป็นปกติ ธาตุเหล็ก ช่วยผลิตเม็ดเลือดแดง และแมงกานีส ช่วยในการทำงานของสมองและระบบประสาท
ในบางรายงานวิจัยระบุว่าหากทานวอเตอร์เครสมากเพียงพอ จะช่วยลดความเสี่ยงต่อโรคมะเร็งได้ด้วย โดยควรทานประมาณ 5 ถ้วยหรือทัพพีต่อสัปดาห์
คุณค่าทางโภชนาการของวอเตอร์เครส
คุณค่าทางโภชนาการของวอเตอร์เครสต่อ 100 กรัม
- พลังงาน 11 กิโลแคลอรี
- โปรตีน 2.3 กรัม
- คาร์โบไฮเดรต 1.29 กรัม
- ไขมัน 0.1 กรัม
- เส้นใย 0.5 กรัม
- วิตามินเอ 160 ไมโครกรัม (20%)
- เบตาแคโรทีน 160 ไมโครกรัม (18%)
- ลูทีนและซีแซนทีน 5,867 ไมโครกรัม
- วิตามินบี 1 0.09 มิลลิกรัม (8%)
- วิตามินบี 6 0.129 มิลลิกรัม (10%)
- วิตามินบี 9 9 ไมโครกรัม (2%)
- วิตามินซี 43 มิลลิกรัม (52%)
- วิตามินเค 250 ไมโครกรัม (238%)
- ธาตุแคลเซียม 120 มิลลิกรัม (12%)
- ธาตุเหล็ก 0.2 มิลลิกรัม (2%)
- ธาตุฟอสฟอรัส 60 มิลลิกรัม (9%)
- ธาตุโพแทสเซียม 330 มิลลิกรัม (7%)
- ธาตุโซเดียม 41 มิลลิกรัม (3%)
หมายเหตุ: ในวงเล็บ คือ เปอร์เซนต์ร้อยละของปริมาณแนะนำที่ร่างกายต้องการในแต่ละวันสำหรับผู้ใหญ่ ข้อมูลจาก: USDA Nutrient database
วอเตอร์เครสรักษาโรคอะไรได้บ้าง ตามความเชื่อประเทศต่างๆ
ชาวยุโรปนิยมรับประทานวอเตอร์เครสแบบสลัดแบบสด หรือนำมาปรุงเป็นซุป เชื่อว่าสามารถต้านการอักเสบต่างๆ ในร่างกาย เนื่องจากเป็นผักที่มีสารต้านอนุมูลอิสระปริมาณมาก
ประเทศตุรกีนำวอเตอร์เครสมาใช้รักษาอาการปวดท้อง และรักษาโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ
ประเทศอินเดีย นิยมรับประทานใบวอเตอร์เครสสด และนำมาปรุงเป็นอาหารพื้นเมือง เชื่อว่าช่วยฟอกเลือด ช่วยกระตุ้นการทำงานของไต ปอด ช่วยขับเสมหะ รักษาภาวะขาดธาตุเหล็ก หรือคั้นน้ำมาพอกศีรษะ เชื่อว่าช่วยให้มีผมหนาขึ้น นอกจากนี้สามารถนำมาเป็นยาพอกบริเวณที่ต่อมน้ำเหลืองบวมโตได้อีกด้วย
งานวิจัยเกี่ยวกับวอเตอร์เครส
จากการศึกษาและสรุปผลทางงานวิจัยพบว่าวอเตอร์มีคุณประโยชน์ดังนี้
- ป้องกันโรคมะเร็ง วอเตอร์เครสมีสารต้านอนุมูลอิสระอย่างสารฟีโนลิก (Phenolic) ฟลาโวนอยด์ (Flavonoid) และ ไอโซไทโอไซยาเนต (Isothiocyanate) ในปริมาณที่สูงมาก จึงสามารถยับยั้งและช่วยลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งได้ โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้ใหญ่ ได้ทั้ง 3 ระยะ คือ ระยะเริ่มต้น ระยะเจริญเติบโต และระยะแพร่กระจาย สามารถยับยั้งการแพร่กระจายของมะเร็งไปยังอวัยวะอื่น นอกจากนี้จากงานวิจัยรายงานผลการรับประทานวอเตอร์เครสวันละ 56.8 กรัม เป็นเวลา 3 วัน สามารถหยุดการเจริญเติบโตของโรคมะเร็งที่มีสาเหตุมาจากบุหรี่ได้ อีกทั้งยังช่วยกระตุ้นเซลล์ภูมิคุ้มกันในร่างกายให้ทำงานได้ดีขึ้น ช่วยป้องกันอาการแพ้สารต่างๆ และป้องกันการเปลี่ยนแปลงทางพันธุ์กรรม (DNA )ที่จะนำไปสู่การเกิดมะเร็ง
- มีฤทธิ์ต้านเชื้อจุลชีพ จากงานวิจัยพบว่า สารสกัดจากใบวอเตอร์เครสมีฤทธิ์ยับยั้งเชื่อแบคทีเรีย นอกจากนี้ยังสามารถยับยั้งเชื้อราได้อีกด้วย
- ลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด ในวอเตอร์เครสมีสารกลุ่มกลูโคซิโนเลต (Glucosinolates) ซึ่งในทางการแพทย์เคยถูกใช้เป็นยารักษาโรคเบาหวาน ช่วยลดระดับน้ำตาลในเส้นเลือด
- มีความเสี่ยงของโรคที่เกิดกับตับ วอเตอร์เครสมีฤทธิ์ต้านการเกิดโรควัณโรคและป้องกันการอักเสบของตับ และรักษาระดับการทำงานของตับให้ อยู่ในเกณฑ์ปกติ
ข้อควรระวังให้การกินวอเตอร์เครส
เพื่อความปลอดภัยในการบริโภควอเตอร์เครส ควรคำนึงถึงสิ่งต่อไปนี้
- การกินวอเตอร์เครสในปริมาณมากสามารถก่อให้เกิดอาการท้องไส้ปั่นป่วนหรือส่งผลเสียต่อไตได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผู้ป่วยโรคมะเร็งควรเข้ารับการรักษาจากแพทย์และปรึกษาแพทย์ก่อนรับประทาน เพื่อหวังสรรพคุณในการต้านโรคเสมอ ควรกินผักชนิดนี้แต่พอดีและคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นหลัก
- วอเตอร์เครสอาจทำให้หญิงตั้งครรภ์มีเลือดออกทางช่องคลอดหรือแท้งบุตรได้ หญิงที่อยู่ในช่วงให้นมบุตรก็ควรบริโภควอเตอร์เครสด้วยความระมัดระวัง เพราะปัจจุบันยังไม่มีหลักฐานยืนยันความปลอดภัยของผักชนิดนี้อย่างชัดเจน
- ในผู้ป่วยที่รับประทานยาป้องกันการแข็งตัวของเลือดจำพวกยาวาร์ฟาริน (Warfarin) ควรกินวอเตอร์เครสอย่างระมัดระวัง เนื่องจากผักชนิดนี้มีปริมาณวิตามินเคสูง อาจไปเสริมฤทธิ์ของยาจนเกิดอันตรายต่อร่างกายได้