เคยเป็นมั้ย ไอแล้วเจ็บใต้ซี่โครง หรือหายใจแล้วเจ็บหน้าอก อาการนี้เกิดได้ยังไง เป็นอันตรายหรือเปล่า บทความนี้จะพาไปทำความรู้จักกับอาการเจ็บซี่โครงกัน
กระดูกซี่โครง (Rib) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า “ซี่โครง” รูปร่างเป็นซี่ ๆ ตามชื่อ มีทั้งหมด 12 คู่ (24 ชิ้น) ช่วยปกป้องอวัยวะภายในทรวงอก ระหว่างกระดูกซี่โครงแต่ละซี่จะมีกล้ามเนื้อคอยยึดอยู่ทั้งด้านนอกและด้านใน พอกล้ามเนื้อเหล่านี้หดและคลายตัว อากาศจะเคลื่อนที่เข้าออก ทำให้กระดูกซี่โครงเคลื่อนที่ขึ้นลงได้
สารบัญ
อาการเจ็บซี่โครงเป็นยังไง
อาการเจ็บซี่โครงมีโอกาสเกิดได้กับซี่โครงทั้ง 2 ข้าง อาจเป็นอาการเจ็บแปลบ เจ็บตื้อ ๆ หรือปวด ในบริเวณหน้าอก ใต้ซี่โครง และเหนือสะดือ อาการอาจเกิดตามหลังการได้รับบาดเจ็บ หรืออาจเกิดโดยไม่ทราบสาเหตุ
สาเหตุทำให้เจ็บซี่โครง
สาเหตุพบบ่อยที่ทำให้เจ็บซี่โครงคือ การใช้กล้ามเนื้อหนักจนเกินไป หรือเกิดรอยช้ำบนซี่โครง ส่วนสาเหตุอื่น ๆ ที่ทำให้เจ็บซี่โครงได้ เช่น
- กระดูกซี่โครงหัก
- การได้รับบาดเจ็บที่หน้าอก
- เป็นโรคที่ส่งผลต่อกระดูก เช่น โรคกระดูกพรุน
- การอักเสบที่เยื่อบุด้านในปอด
- กล้ามเนื้อหดตัว
- กระดูกอ่อนที่ซี่โครงอักเสบ
อาการเจ็บซี่โครงอาจเกิดทันทีหลังการบาดเจ็บ หรือค่อย ๆ เจ็บมากขึ้นเรื่อย ๆ ภายหลังก็ได้ ดังนั้น หากมีอาการเจ็บซี่โครงที่ไม่สามารถบอกสาเหตุได้ ควรไปพบแพทย์ เพราะอาจเป็นอาการที่บ่งบอกถึงโรคบางโรคได้
เจ็บซี่โครงซ้าย ผู้หญิงและผู้ชาย เกิดจากอะไร
อาการเจ็บหน้าอกด้านซ้ายหรือเจ็บใต้ซี่โครง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
กล้ามเนื้อกระดูกซี่โครงอักเสบและกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ
เกิดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น นอนผิดท่า ยก ลาก ดึงของหนัก นั่งนาน ๆ หรือนั่งในท่าที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้กล้ามเนื้อและกระดูกอ่อนของซี่โครงอักเสบ
อาการหลัก ๆ คือ มักจะมีอาการไอนำมาก่อน เจ็บแปล๊บ ๆ บริเวณที่อักเสบ เจ็บจนหายใจเข้าได้ไม่สุด พอกดตรงตำแหน่งที่อักเสบจะรู้สึกเจ็บขึ้นมาทันที ปกติแล้ว อาการจะหายไปเองได้ภายใน 2 สัปดาห์ แต่ถ้าปวดมาก ๆ สามารถกินยาแก้อักเสบกับยาคลายกล้ามเนื้อช่วยได้
เจ็บหน้าอกจากโรคปอด
เจ็บหน้าอกจากโรคปอด ไม่ว่าจะเป็นปอดอักเสบจากการติดเชื้อ เยื่อหุ้มปอดอักเสบ หรือมีน้ำในเยื่อหุ้มปอด การติดเชื้อเหล่านี้มักจะมีอาการนำมาก่อน ได้แก่ ไอ หอบเหนื่อย มีเสมหะ เมื่อเป็นมานานและไม่ได้รักษา หรือกินยาไม่ต่อเนื่องจนทำให้ติดเชื้อมากขึ้น จะหายใจแล้วเจ็บ หายใจลึกสุดไม่ได้ สามารถตรวจวินิจฉัยได้จากการตรวจร่างกายและเอกซเรย์ปอด
เจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจ
เจ็บหน้าอกจากโรคหัวใจ เช่น เส้นเลือดหัวใจตีบ กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จะมีอาการเจ็บแน่นที่หน้าอก มักเป็นบริเวณอกซ้าย รู้สึกแน่นเหมือนมีอะไรมากดทับ บางทีอาจเจ็บร้าวขึ้นไหล่หรือฟันกรามได้ สามารถวินิจฉัยเบื้องต้นได้จากการตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
เจ็บใต้ซี่โครงขวา ผู้หญิงและผู้ชาย เกิดจากอะไร
อาการเจ็บหน้าอกด้านขวาหรือเจ็บใต้ชายโครง เกิดได้จากหลายสาเหตุ เช่น
- กล้ามเนื้อกระดูกซี่โครงอักเสบและกระดูกอ่อนซี่โครงอักเสบ พบได้บ่อย ๆ เกิดจากการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อด้วยสาเหตุต่าง ๆ เช่น นอนผิดท่า ยก ลาก ดึงของหนัก นั่งนาน ๆ หรือนั่งในท่าที่ไม่ถูกสุขลักษณะ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้กล้ามเนื้อและกระดูกอ่อนของซี่โครงอักเสบ
อาการหลัก ๆ คือ มักจะมีอาการไอนำมาก่อน เจ็บแปล๊บ ๆ บริเวณที่อักเสบ เจ็บจนหายใจเข้าได้ไม่สุด พอกดตรงตำแหน่งที่อักเสบจะรู้สึกเจ็บขึ้นมาทันที ปกติแล้ว อาการจะหายไปเองภายใน 2 สัปดาห์ แต่ถ้าปวดมาก ๆ สามารถกินยาแก้อักเสบกับยาคลายกล้ามเนื้อช่วยได้
- ปอดอักเสบติดเชื้อหรือปอดอักเสบ อาจเกิดการอักเสบของเยื่อหุ้มปอด หรือมีน้ำในเยื่อหุ้มปอด การติดเชื้อเหล่านี้มักจะมีอาการนำมาก่อน เช่น ไอ หอบเหนื่อย มีเสมหะ เมื่อเป็นระยะเวลานานโดยไม่ได้รับการรักษา หรือกินยาไม่ต่อเนื่องจนทำให้ติดเชื้อมากขึ้น จะมีอาการหายใจแล้วเจ็บ หายใจลึกสุดไม่ได้
- โรคลมรั่วในปอด บางรายเกิดขึ้นได้เองโดยไม่ทราบสาเหตุ มักจะมีอาการเหนื่อย แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก หายใจและเจ็บหน้าอก
- นิ่วในถุงน้ำดี จะทำรู้สึกปวดจุกแน่นที่ใต้ชายโครงขวา ปวดครั้งหนึ่งกินเวลานานเป็นชั่วโมง และจะเป็นมากขึ้นหลังกินอาหารอิ่มใหม่
- โรคเกี่ยวกับตับ เช่น ตับอักเสบ ตับแข็ง เนื้องอก จะทำให้เจ็บใต้ชายโครงขวา
- ท่อทางเดินน้ำดีอักเสบ หากติดเชื้อหรือเกิดการอักเสบ จะทำให้เจ็บบริเวณนี้
- โรคกระเพาะอาหารและโรคในทางเดินอาหาร เช่น กรดไหลย้อน
เจ็บซี่โครงแบบไหนควรไปพบแพทย์
อาการเจ็บซี่โครงอาจเกิดตอนอยู่นิ่ง ๆ หรือขยับตัวก็ได้ อาจเจ็บหน้าอกตอนหายใจเข้า หรือพอขยับตัวบางท่าก็เจ็บขึ้นมา ควรรีบพบแพทย์ทันทีหากมีอาการเหล่านี้
- เจ็บซี่โครงอย่างรุนแรง
- มีปัญหาในการหายใจ
- รู้สึกแน่นหน้าอกเหมือนมีสิ่งของมาทับ
อาการเหล่านี้อาจเป็นสัญญาณของโรคหัวใจขาดเลือด หัวใจล้มเหลว หรือหัวใจวายได้
การวินิจฉัยอาการเจ็บซี่โครง
แพทย์จะเริ่มซักประวัติก่อน ตั้งแต่อาการปวด ท่าที่ทำให้ปวดมากขึ้น ลักษณะของอาการปวด ตำแหน่งที่ปวด ซึ่งจะช่วยให้แพทย์เลือกตรวจเพิ่มเติม เพื่อช่วยในการวินิจฉัยได้แม่นยำขึ้น
ส่วนมาก ถ้าเจ็บแปล๊บ ๆ ขณะหายใจเข้าหรือหายใจออก มักจะเป็นอาการจากกล้ามเนื้อ แต่ถ้าปวดจากการได้รับบาดเจ็บ แพทย์อาจจะส่งไปเอกซเรย์ เพื่อให้รู้แน่ชัดว่ามีกระดูกหักหรือเกิดความผิดปกติเกิดขึ้นกับกระดูกหรือเปล่า
ถ้าเอกซเรย์แล้วเจอปัญหา เช่น กระดูกผิดปกติ แพทย์อาจส่งตรวจอีกครั้งเพื่อดูเนื้อเยื่อเพิ่มเติมด้วยการเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้เห็นรายละเอียดของกระดูกซี่โครงและเนื้อเยื่อโดยรอบรวมถึงอวัยวะภายในได้ชัดเจนขึ้น
กรณีมีอาการปวดเรื้อรัง เป็นไปได้ว่าอาจเกิดจากมะเร็งกระดูก แพทย์อาจสั่งตรวจสแกนกระดูก (Bone scan) ซึ่งเป็นวิธีที่เห็นผลชัดเจนกว่าการเอกซเรย์ ช่วยในการชี้ตำแหน่งกระดูกที่เป็นปัญหา และยังตรวจได้ตั้งแต่กะโหลกศีรษะจนถึงปลายเท้า หากเจอกระดูกผิดปกติหลายตำแหน่ง จะต้องตรวจเลือดเพิ่มด้วย เพื่อหาต้นเหตุให้เจอก่อนรักษาให้ตรงสาเหตุ
การรักษาอาการเจ็บซี่โครง
วิธีรักษาอาการเจ็บซี่โครงจะแตกต่างกันออกไปตามสาเหตุของอาการ
- ถ้าเกิดจากการบาดเจ็บเล็ก ๆ น้อย ๆ เช่น ใช้งานกล้ามเนื้อมากไป หรือกล้ามเนื้อมีรอยช้ำ ให้ประคบเย็นตรงบริเวณที่เจ็บ เพื่อลดอาการบวมภายใน 24 ชั่วโมงแรก
- ถ้าปวดเรื้อรังนาน ๆ ให้ประคบร้อนและกินยาแก้ปวด อย่างพาราเซตามอล หรือยาคลายกล้ามเนื้อ เพื่อช่วยบรรเทาอาการได้
- ถ้ากินยาดังกล่าวแล้วยังไม่หายปวด ควรให้แพทย์ประเมินเพื่อสั่งยาตัวอื่นให้ หรืออาจใช้ผ้ารัดกล้ามเนื้อ (Compression wrap) เป็นการใช้ผ้ายืดขนาดใหญ่พันรอบหน้าอก ที่จะช่วยป้องกันไม่ให้บาดเจ็บเพิ่มและลดอาการปวดลงได้ แต่วิธีนี้ไม่ค่อยเป็นที่นิยมเท่าไรนัก เพราะทำให้หายใจลำบาก แถมยังเพิ่มความเสี่ยงต่อการเป็นโรคปอดอักเสบด้วย
- ถ้ายืนยันแล้วว่าอาการปวดเกิดจากมะเร็งกระดูก แพทย์จะอธิบายแนวทางการรักษาแบบต่าง ๆ ตามตำแหน่งของมะเร็ง การแพร่กระจายตัว พร้อมตรวจสอบว่ามีความผิดปกติอื่น ๆ ด้วยหรือเปล่า พร้อมทั้งแนะนำวิธีการรักษาที่เหมาะสมกับแต่ละบุคคล เช่น ผ่าตัดส่วนที่เป็นปัญหาออก ใช้ยาเคมีบำบัด หรือใช้การฉายแสง
วิธีป้องกันอาการเจ็บซี่โครง
- ป้องกันการเจ็บซี่โครงจากกล้ามเนื้ออักเสบได้โดยการยืดกล้ามเนื้อ
- ใช้อุปกรณ์ออกกำลังกายอย่างเหมาะสม ถูกวิธี
- ปรับอิริยาบถในการเคลื่อนไหวให้เหมาะสม
- หลีกเลี่ยงท่าทางที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บของกล้ามเนื้อและซี่โครง
- อย่าอยู่นิ่งในท่าใดท่าหนึ่งนาน ๆ เช่น นั่งจ้องคอมพิวเตอร์นานเกินไป
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ
- ถ้าไม่สบายจนเจ็บซี่โครง ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และปฏิบัติตามคำแนะนำของแพทย์อย่างเคร่งครัด
อาการเจ็บซี่โครงแบบต่าง ๆ โดยเฉพาะเจ็บใต้ซี่โครงซ้าย ผู้หญิงที่เกิดได้บ่อย อาจเกิดได้จากสาเหตุที่ไม่ร้ายแรงและร้ายแรง จึงควรหมั่นสังเกตตนเอง ลักษณะอาการที่เกิดขึ้น แต่หากมีความเจ็บปวดมาก หรือมีปัญหาเกี่ยวกับการหายใจ แนะนำให้รีบไปพบแพทย์เพื่อรับการรักษาทันที