เงาะ เป็นผลไม้เมืองร้อน ที่ลักษณะต้นเป็นไม้ยืนต้นขนาดกลางถึงใหญ่ มีถิ่นกำเนิดมาจากแถบอินโดนีเซีย เจริญเติบโตได้ดีในพื้นดินที่มีความชื้นค่อนข้างสูง ประมาณ 25-30 องศาเซลเซียส
นิยมปลูกกันมากบริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ของไทย เป็นพืชเศรษฐกิจ มีการส่งออกผลเงาะไปยังต่างประเทศ ทำรายได้ให้เกษตรกรอย่างมาก
สายพันธุ์เงาะที่นิยมปลูกในประเทศไทยเพื่อการค้ามีเพียง 3 สายพันธุ์ ได้แก่ เงาะสีทอง เงาะสีชมพู และเงาะโรงเรียน (เงาะนาสาร)
สารบัญ
เงาะแต่ละสายพันธุ์ต่างกันอย่างไร?
เงาะสีทอง เงาะสีชมพู และเงาะโรงเรียน มีลักษณะผลอ่อน ผลแก่ และเนื้อใน แตกต่างกันดังตารางด้านล่าง
ลักษณะ/สายพันธุ์ | เงาะนาสาร (เงาะโรงเรียน) |
เงาะสีชมพู | เงาะสีทอง |
ผลอ่อน | เปลือกสีเหลืองปนชมพู | เปลือกสีเหลือง | ขนาดใหญ่กว่าเงาะทั้สองสายพันธุ์ ผิวเปลือกสีเหลืองปนชมพู |
ผลแก่ | เปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ขนสีเขียว แต่ถ้าผลแก่มากๆจะเปลี่ยนเป็นสีแดงทั้งลูก | ผิวเปลือกค่อนข้างหนา จะเปลี่ยนเป็นสีชมพูปนเหลือง ถ้าแก่จัดจะมีสีชมพูอ่อน ปลายขนสีเขียว | เปลี่ยนเป็นสีแดงเข้ม ขนสีเขียว หากแก่จัดขนจะเปลี่ยนเป็นสีแดงปลายสีเขียว |
เนื้อใน | สีขาวขุ่น ย่นเล็กน้อย กรอบ เนื้อแห้งไม่ติดเมล็ด รสหวานฉ่ำ | มีลักษณะคล้ายเงาะนาสาร แต่เนื้อจะไม่ล่อนจากเมล็ด รสหวาน | เนื้อสีเหลือง ล่อนจากเมล็ดได้ง่าย แต่รสหวานอมเปรี้ยวต่างจากพันธุ์อื่นๆ |
ชื่อเงาะ นาสาร มาจากไหน?
หลายคนคุ้นเคยกับชื่อ เงาะนาสาร แต่น้อยคนที่จะรู้จักที่มาของชื่อนี้ คำว่า นาสาร เป็นชื่อตำบลหนึ่งในจังหวัดสุราษฏร์ธานี ซึ่งเป็นพื้นที่ที่อุดมไปด้วยพืชที่เกษตร สวนไม้ผล สวนยางพาราและเหมืองแร่ ด้วยแร่ธาตุต่างๆ ที่มีอยู่ในดิน จึงเป็นจุดกำเนิดของเงาะรสหวานกรอบ เปลือกบาง เนื้อร่อน แห้ง ไม่ติดเม็ด มีรสชาติอร่อย
แต่เดิมพันธุ์เงาะขึ้นชื่อนี้ปลูกอยู่ในพื้นที่โรงเรียนนาสาร จึงกลายเป็นชื่อที่หลายคนน่าจะเคยได้ยินว่า เงาะโรงเรียน จัดเป็นสายพันธุ์เงาะที่อร่อยและพันธุ์ดีที่สุดในประเทศไทย
เงาะ มีประโยชน์ต่อสุขภาพอย่างไร?
เงาะ เป็นผลไม้ที่อุดมไปด้วยแร่ธาตุและวิตามินที่สำคัญต่อร่างกาย เช่น ธาตุเหล็ก ฟอสฟอรัส โพแทสเซียม แคลเซียม วิตามินบีรวม
ยิ่งไปกว่านั้นยังมีวิตามินซีสูงถึง 4.9 มิลลิกรัม ช่วยให้ดูดซึมธาตุเหล็ก ซึ่งช่วยในการสร้างเม็ดเลือดแดงได้ดียิ่งขึ้น
วิตามินซีมีส่วนช่วยในการต้านอนุมูลอิสระ ต้านการเสื่อมของเซลล์ต่างๆ ก่อนถึงวัยอันควร และช่วยเพิ่มภูมิคุ้มกันได้เป็นอย่างดี เพียงรับประทานเงาะประมาณ 5-6 ผลต่อวัน
ส่วนเนื้อของเงาะอุดมไปด้วยไฟเบอร์ มีทั้งไฟเบอร์ชนิดละลายน้ำและไม่ละลายน้ำ
ไฟเบอร์แบบละลายน้ำในเนื้อเงาะช่วยเพิ่มเจลหรือสารเคลือบระบบทางเดินอาหาร ลดการดูดซึมไขมันเข้าสู้กระแส เลือด ช่วยชะลอการย่อย จึงช่วยให้อิ่มท้อง ลดความอยากอาหาร เหมาะสำหรับผู้ควบคุมน้ำหนัก
นอกจากนี้ช่วยให้แบคทีเรียที่อยู่ในลำไส้ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อร่างกายผลิตกรดไขมันสายสั้น อย่างแอกเทต (Actate) โพรพิโอเนต (Propionate) และบูทีเรต (Butyrate) มีผลช่วยลดอาการอักเสบ ลดอาการที่เกิดจากโรคลำไส้แปรปรวน รวมถึงโรคเรื้อรังในลำไส้ใหญ่ได้
ส่วนเส้นใยแบบไม่ละลายน้ำนั้นจะช่วยเพิ่มกากอาหารในลำไส้ใหญ่ ทำให้อุจจาระนุ่ม ช่วยให้ขับถ่ายง่าย ลดอาการท้องผูก ไม่ต้องออกแรงเบ่ง ช่วยลดความเสี่ยงการเกิดริดสีดวงทวาร
ในผู้มีอาการท้องเสียหรือเสียเกลือแร่มาก ก็สามารถชดเชยด้วยการรับประทานเงาะได้ เนื่องจากเงาะมีแร่ธาตุที่จำเป็นหลายชนิดอย่างที่กล่าวไปแล้ว
สารสำคัญอีกอย่างในเนื้อเงาะ ได้แก่ ฟลาโวนอยด์ (Flavonoids) ช่วยลดระดับคอเลสเตอรอลในร่างกาย เป็นสารสำคัญที่ช่วยต้านการเกิดโรคมะเร็ง
กินเงาะอย่างไรให้ปลอดภัย?
ในเงาะมีน้ำตาลจากธรรมชาติ เมื่อรับประทานเข้าไปสามารถทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูงได้
เช่นเดียวกับการรับประทานผลไม้อื่นที่มีรสหวาน เช่น มะม่วงสุก ลำไย ลองกอง หรือแตงโม
ดังนั้นจึงควรจำกัดปริมาณให้เหมาะสม ไม่ควรรับประทานเงาะเกิน10 ผลต่อวัน หรือหากต้องการปริโภคมากกว่านี้ ควรลดสัดส่วนการรับประทานของหวานอื่นๆ และเพิ่มการออกกำลังกาย ช่วยให้เผาผลาญน้ำตาลในร่างกายได้ดียิ่งขึ้น
ควรหลีกเลี่ยงการรับประทานเงาะกระป่๋อง เนื่องจากมีปริมาณน้ำตาลสูงและยังอาจมีสารกันบูดที่ส่งผลเสียต่อร่างกาย
ไขคำตอบ เมล็ดเงาะรักษาโรคเบาหวานได้จริงหรือ?
ปัจจุบันยังไม่มีงานวิจัยรับรองเรื่องดังกล่าว มีเพียงการวิจัยในสัตว์ทดลองที่ระบุว่า เมล็ดและเปลือกเงาะจะช่วยดุดซึมคาร์โบไฮเดรต ไม่ให้แตกตัวกลายเป็นน้ำตาล จึงช่วยลดระดับน้ำตาลในลำไส้ได้
ยังไม่มีการทดสอบในคน ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ประโยชน์จากเงาะในการรักษาผู้ป่วยเบาหวาน
เขียนบทความโดย ทีมแพทย์แผนไทยประยุกต์ HD