ผมหงอก เยอะมาก คัน กลางหัว เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง

ผมหงอก เยอะมาก คัน กลางหัว เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง?

เป็นเรื่องค่อนข้างปกติ ที่เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ผมจะขาวขึ้น เมื่อคุณอายุยังน้อย ผมยังดกดำอยู่ แต่เมื่ออายุมากขึ้น คุณอาจเริ่มสังเกตเห็นความบางลงของเส้นผมในบางบริเวณของศีรษะ รวมทั้งการที่ผมเปลี่ยนเป็นสีออกเทาหรือสีขาว

ทำไมผมหงอก

เนื่องจากตามปกติ ที่บริเวณเส้นขน รวมถึงเส้นผมของเรา มีเม็ดสีเมลานินเช่นเดียวกันผิวหนัง ทำให้เกิดสีของเส้นผมที่เข้มตามเชื้อชาติ เช่น ในคนไทยมักมีผมสีดำหรือน้ำตาล

เมื่อคนเราอายุมากขึ้น เซลล์ที่สร้างเม็ดสีเมลานินเหล่านี้ก็จะมีจำนวนน้อยลง ทำให้เส้นผมเกิดการสูญเสียเม็ดสีเมลานินไปหรือลดจำนวนลง ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสีผม ตั้งแต่กลายเป็นสีเทา สีเงิน และสุดท้ายอาจกลายเป็นสีขาวนั่นเอง

ผมขาวหรือผมหงอกมักมีแนวโน้มเกิดได้ในคนอายุตั้งแต่ 35 ปีขึ้นไป สำหรับในกลุ่มคนเชื้อชาติแอฟริกันนั้นมีแนวโน้มผมขาวช้ากว่าเชื้อชาติอื่นๆ เนื่องจากมีเซลล์ผลิตเม็ดสีเมลานินจำนวนมากกว่า

ในทางกลับกัน คนเชื้อชาติที่สีผิวขาวก็มีแนวโน้มผมขาวได้เร็วกว่านั่นเอง

นอกจากผมหงอกจะหมายถึงผมกลายเป็นสีขาวแล้ว ยังอาจมีลักษณะแห้ง เปราะ ขาดง่ายกว่าปกติด้วย เนื่องจากผมขาวมีส่วนเคลือบเส้นผม (Cuticle) บางกว่าปกติ ทำให้มีการปกป้องเส้นผมจากรังสีอัลตราไวโอเล็ต ความชื้น ความร้อน และสารเคมีต่างๆ ได้น้อยกว่าปกติ อีกทั้งยังมีการสูญเสียน้ำออกจากเส้นผมได้ง่ายกว่าปกติอีกด้วย

อายุยังไม่มากแต่มีผมหงอก เป็นเพราะอะไร?

ไม่ค่อยแปลกนักหากคนเราอายุมากขึ้นแล้วมีผมขาวขึ้น แต่มีคนจำนวนไม่น้อยที่มีผมขาวตั้งแต่วัยรุ่น โดยอาจพบผมหงอกหรือผมขาว 1-2 เส้น

สาเหตุที่พบได้บ่อยของผมขาวที่เกิดเร็วกว่าปกติ มีดังนี้

1. ปัจจัยทางกรรมพันธุ์

คุณอาจมีผมขาวเร็วกว่าคนอื่นๆ ได้ หากมีประวัติคนในครอบครัว โดยเฉพาะพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย ที่มีประวัติผมขาวตั้งแต่อายุยังน้อย

แน่นอนว่าคุณไม่อาจเปลี่ยนแปลงปัจจัยทางกรรมพันธุ์นี้ได้ ดังนั้นหากเกิดผมขาวหรือผมหงอกจากปัจจัยนี้ การพึ่งน้ำยาย้อมสีผมจึงอาจเป็นทางออก

2. ความเครียด

ความเครียดทั้งร่างกายและจิตใจ สามารถทำให้คุณมีผมขาวตั้งแต่อายุยังน้อยได้

ความเครียดเรื้อรังส่งผลได้อีกหลายอย่าง เช่น มีความกังวล เกิดปัญหาการนอนหลับ ความอยากอาหารเปลี่ยนแปลงไป หรือเกิดความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ก็ยังทำให้เกิดผมขาวได้

มีหลักฐานจากงานวิจัยว่า ความเครียดมีส่วนเกี่ยวข้องกับการลดลงของสเต็มเซลล์ (Stem cells) ที่อยู่ในขนของหนูทดลอง

ดังนั้นหากคุณพบว่าผมขาวมีจำนวนมากขึ้นเรื่อยๆ ความเครียดก็อาจเป็นสาเหตุ ทฤษฎีนี้เองอาจอธิบายได้ว่าทำไมผู้นำระดับโลกบางคนจึงค่อนข้างดูแก่ก่อนวัย หรือมีผมขาวเร็วกว่าคนที่มีความเครียดน้อยกว่า

นอกจากนี้ยังมีอีกคำอธิบายหนึ่งเกี่ยวกับความเครียดว่า อาจเป็นเหตุให้เกิดภาวะที่ทำให้เส้นผมเข้าสู่ระยะหลุดร่วง (Telogen effluvium) จึงร่วงเร็วกว่าปกติประมาณ 3 เท่า

ซึ่งหากเส้นผมมีรอบการหลุดร่วงและการงอกใหม่ที่เร็วขึ้นกว่าปกติ โดยเฉพาะเมื่อคนไข้อยู่ในวัยกลางคนด้วยแล้ว จึงอาจทำให้ผมที่งอกใหม่มีแนวโน้มเป็นผมขาวได้เร็วขึ้น

3. โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันต่อตนเอง

โรคเกี่ยวกับระบบภูมิคุ้มกันต่อตนเองสามารถทำให้เกิดผมขาวตั้งแต่อายุยังน้อยได้เช่นกัน โดยเกิดขึ้นเนื่องจากระบบภูมิคุ้มกันมีการโจมตีและทำลายเซลล์ปกติของร่างกาย

ดังเช่นในผู้ป่วยผมร่วงเป็นหย่อม (Alopecia areata) หรือด่างขาว (Vitiligo) ซึ่งเป็นโรคที่เกี่ยวข้องกับระบบภูมิคุ้มกันที่ทำให้เกิดการสูญเสียเม็ดสีเมลานินที่ผม ทำให้ผมขาวได้

แต่สำหรับผู้ป่วยผมร่วงเป็นหย่อมโดยทั่วไป ผมจะค่อยๆ กลับคืนสู่สีปกติ

4. โรคไทรอยด์

โรคไทรอยด์ ไม่ว่าจะเป็นภาวะที่ฮอร์โมนไทรอยด์สูงหรือต่ำกว่าปกติ สามารถทำให้เกิดผมขาวตั้งแต่อายุยังน้อยได้เช่นกัน

ต่อมไทรอยด์เป็นต่อมรูปคล้ายผีเสื้อที่อยู่บริเวณลำคอ ทำหน้าที่ควบคุมการทำงานหลายอย่างของร่างกาย เช่น กระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism)

การเกิดโรคของต่อมไทรอยด์สามารถทำให้สีผมของคนเราเปลี่ยนแปลงไปได้ โดยไม่ว่าจะเป็นการทำงานที่มากหรือน้อยเกินไปของต่อมไทรอยด์ก็สามารถทำให้ร่างกายผลิตเม็ดสีเมลานินน้อยลงได้เช่นกัน ทำให้เกิดผมขาว

5. ภาวะขาดวิตามินบี 12

การที่มีผมขาวตั้งแต่อายุยังน้อยอาจเกี่ยวข้องกับภาวะขาดวิตามินบี 12 ซึ่งวิตามินบี 12 นี้ทำหน้าที่สำคัญในร่างกาย โดยทำให้เกิดพลังงาน และทำให้การเจริญเติบโตของเส้นผมรวมทั้งสีผมปกติ

ภาวะขาดวิตามินบี 12 ยังอาจเกี่ยวเนื่องกับภาวะโลหิตจางบางอย่าง ที่เรียกว่าเพอร์นีเซียสแอนีเมีย (Pernicious anemia) ซึ่งเกิดเมื่อร่างกายไม่สามารถดูดซึมวิตามินบี 12 ได้ตามปกติ

โดยปกติร่างกายจะต้องการวิตามินบี 12 เพื่อให้เม็ดเลือดแดงมีความปกติดี และเม็ดเลือดแดงเป็นสิ่งที่จะนำออกซิเจนไปสู่เซลล์ต่างๆ ในร่างกาย รวมถึงเซลล์ของเส้นผมด้วย

ดังนั้นการขาดวิตามินชนิดนี้ จึงทำให้เกิดเซลล์เส้นผมอ่อนแอลง มีผลต่อการผลิตเม็ดสีเมลานินของเส้นผมในที่สุด

6. การสูบบูหรี่

การสูบบุหรี่มีความเกี่ยวข้องกับการมีผมขาวตั้งแต่อายุยังน้อย โดยเคยมีงานวิจัยเรื่องความสัมพันธ์ของคนที่ผมขาวตั้งแต่อายุน้อยกว่า 30 ปี กับการสูบบุหรี่ พบว่าผู้สูบบุหรี่มีความเสี่ยงผมขาวมากขึ้น 2.5 เท่า

การสูบบุหรี่จะทำให้เส้นเลือดเกิดการหดตัว ซึ่งเป็นการลดการไหลเวียนของเลือดที่ไปเลี้ยงบริเวณเส้นผม รวมถึงมีสารพิษส่งผลทำลายเซลล์ในร่างกาย ทำให้ผมทั้งบาง และเกิดผมขาวได้

ถ้าผมหงอกแล้วจะกลับมาดำได้ไหม?

ดังที่ได้กล่าวข้างต้นว่าสาเหตุของผมขาวมีหลายอย่าง การที่จะสามารถย้อนให้ผมกลับมาดำ หรือจะป้องกันไม่ให้ผมขาวเร็วกว่าที่ควรจะเป็น จึงขึ้นกับสาเหตุที่พบในแต่ละคน เช่น หากเป็นปัจจัยทางกรรมพันธุ์ก็อาจไม่สามารถป้องกันหรือทำให้ผมกลับมาดำได้ จึงอาจต้องพึ่งวิธีการย้อมสีผมดังกล่าวข้างต้น

แต่หากคุณสงสัยว่าผมขาวของคุณเกิดจากสาเหตุอื่นๆ ก็ควรปรึกษาแพทย์ที่โรงพยาบาล เพื่อตรวจร่างกายหรือตรวจเพิ่มเติมทางห้องปฏิบัติการ ในกรณีที่สงสัยภาวะใดที่เกี่ยวข้องกับการเกิดผมขาวในแต่ละราย

โดยแพทย์ที่สามารถให้คำปรึกษา รวมทั้งทำการรักษาโรคเกี่ยวกับเส้นผมได้ ได้แก่ แพทย์ผิวหนังเฉพาะทาง

หากเส้นผมที่ขาวขึ้นของคุณเกี่ยวข้องกับโรคทางกายบางอย่าง โดยทั่วไปเมื่อทำการรักษาเรียบร้อยแล้ว ก็อาจทำให้เส้นผมกลับมามีสีปกติได้ แต่ไม่ใช่ทุกราย

เช่น ภาวะผมขาวที่เกิดจากการทำงานที่ผิดปกติของต่อมไทรอยด์ พบหลักฐานจากงานวิจัยว่าเมื่อได้รับการรักษาฮอร์โมนไทรอยด์ให้เข้าสู่ภาวะปกติ ก็จะทำให้ผมขาวกลับมาดำ หรือการได้รับวิตามินบี 12 ในคนไข้ที่มีภาวะขาดวิตามินบี 12 ก็สามารถทำให้สีผมกลับมาปกติได้

แต่หากเกิดจากภาวะความเครียดต่างๆ หรือการสูบบุหรี่ ยังไม่มีหลักฐานสนับสนุนว่าผมจะสามารถกลับมาดำได้หลังจากภาวะความเครียดหมดไปหรือหยุดสูบบุหรี่

ผมขาว กินวิตามินช่วยได้หรือไม่?

หากผมขาวเกิดจากการขาดวิตามินบี 12 การเสริมวิตามินมักเป็นการแก้ปัญหาอย่างได้ผล ทำให้ผมกลับมาดำเหมือนเดิมได้

แต่หากปัญหามาจากสาเหตุอื่น วิตามินจะไม่ช่วยแก้ปัญหาผมหงอก

การดึงผมขาวบางเส้นออกไปช่วยอะไรหรือไม่?

ดังที่คุณอาจเคยสังเกตว่ามีบางคนชอบดึงผมขาวบางเส้นของตนออกไป แต่การดึงดังกล่าวไม่ได้ช่วยอะไร เพียงแค่อาจประวิงเวลาให้ผมเส้นนั้นค่อยๆ งอกออกมาใหม่

อีกทั้งการดึงผมขาวจะทำลายรากขนอย่างมาก และต่อไปอาจทำให้ผมบางลงได้ จึงเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ


เขียนบทความโดย พญ. นันทิดา สาลักษณ

Scroll to Top