acetylcysteine

Acetylcysteine (อะเซทิลซิสเทอีน)

Acetylcysteine (อะเซทิลซิสเทอีน) หรือที่รู้จักกันในชื่อ N–acetylcysteine (เอ็น–อะเซทิลซิสเทอีน) เป็นยาละลายเสมหะ ใช้รักษาอาการในทางเดินหายใจ และยังใช้รักษาภาวะพิษจากการใช้ยาพาราเซตามอลเกินขนาด

Acetylcysteine ใช้รักษาโรคอะไร 

  • ละลายเสมหะ: ทำให้เสมหะบางลง และขับออกได้ง่ายขึ้น ทำให้มีประสิทธิภาพในการรักษาโรคที่มีเสมหะข้นเหนียว เช่น หลอดลมอักเสบเรื้อรัง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (COPD) และโรคซิสติกไฟโบรซิส
  • รักษาพิษจากการกินยาเกินขนาด: ใช้รักษาพิษจากการกินยาอะเซตามิโนเฟน (Acetaminophen) เกินขนาด หรือรู้จักในชื่อยาพาราเซตามอล ซึ่งจะช่วยป้องกันความเสียหายต่อเซลล์ตับ
  • เพิ่มระดับกลูตาไธโอนในร่างกาย: เพิ่มการผลิตกลูตาไธโอน ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่สำคัญในร่างกาย จึงช่วยปกป้องเซลล์จากความเสียหายได้ 
  • รักษาอาการทางเดินหายใจ: อยู่ในรูปแบบยาพ่น เพื่อรักษาอาการจากทางเดินหายใจ เช่น หลอดลมอักเสบ ทั้งแบบเฉียบพลันและเรื้อรัง 
  • ลดการทำลายของเนื้อเยื่อ: ยานี้มีคุณสมบัติลดการทำลายของเนื้อเยื่อในบางสภาวะ เช่น โรคหัวใจ และโรคหลอดเลือดบางชนิด

กลไกการออกฤทธิ์ของ Acetylcysteine 

Acetylcysteine อยู่ในกลุ่มยาละลายเสมหะ โดยในโครงสร้างของยามีหมู่ซัลฟ์ไฮดริล (Sulfhydryl) อิสระเป็นองค์ประกอบ ซึ่งจะเปิดพันธะไดซัลไฟด์ (Disulfide bond) ของมิวโคโปรตีน (Mucoprotein) ในเสมหะ จึงส่งผลให้ความข้นหนืดของเสมหะลดลง

นอกจากนี้ Acetylcysteine ยังใช้เป็นยาแก้พิษของพาราเซตามอลได้ด้วย โดยจะทำหน้าที่เพิ่มจำนวน และทดแทนสารกลูตาไธโอน (Glutathione) ซึ่งออกฤทธิ์เป็นสารต้านอนุมูลอิสระที่คอยปกป้องตับ และเพิ่มการรวมตัวของเซลล์กับตัวยาพาราเซตามอลให้เป็นสารที่ไม่เกิดพิษ

ยา Acetylcysteine มีทั้งรูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ และแบบยารับประทาน อีกทั้งตัวยายังเป็นอนุพันธ์ของกรดอะมิโนแอลไลซีน (L–lysine) ซึ่งเป็นสารตั้งต้นในการผลิตกลูตาไธโอน (Glutathione) ซึ่งเป็นสารต้านอนุมูลอิสระภายในร่างกาย

รูปแบบและปริมาณการใช้ยา Acetylcysteine 

Acetylcysteine รูปแบบยารับประทาน เช่น ยาอม ยาแกรนูล ยาเม็ดฟู่ สำหรับละลายเสมหะ

  • เด็กอายุ 1 เดือน–2 ปี: ขนาดยา 100 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
  • เด็กอายุ 2–7 ปี: ขนาดยา 200 มิลลิกรัม วันละ 2 ครั้ง
  • เด็กอายุมากกว่า 7 ปีขึ้นไปและผู้ใหญ่: ขนาดยา 600 มิลลิกรัม วันละ 1 ครั้ง หรือแบ่งรับประทาน 3 ครั้ง

Acetylcysteine รูปแบบยารับประทาน สำหรับแก้พิษยาพาราเซตามอล

  • เด็กและผู้ใหญ่: ความเข้มข้นของยา 5% ขนาดยาเริ่มต้น 140 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ตามด้วยขนาด 70 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ทุก 4 ชั่วโมง ปริมาณการรับประทานทั้งหมด 17 โดส

Acetylcysteine รูปแบบยาฉีดเข้าหลอดเลือดดำ สำหรับแก้พิษยาพาราเซตามอล 

  • เด็กน้ำหนักตัวน้อยกว่า 20 กิโลกรัม
    • ขนาดยาเริ่มต้น 150 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวทำละลาย 3 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม ระยะเวลาให้ยา 60 นาที
    • จากนั้นตามด้วยยาขนาด 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวทำละลาย 7 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม ระยะเวลาให้ยา 4 ชั่วโมง
    • และสุดท้ายให้ยาขนาด 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวทำละลาย 14 มิลลิลิตรต่อกิโลกรัม ระยะเวลาให้ยา 16 ชั่วโมง
  • เด็กที่มีน้ำหนักตัว 20–40 กิโลกรัม
    • ขนาดยาเริ่มต้น 150 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวทำละลาย 100 มิลลิลิตร ระยะเวลาให้ยา 60 นาที
    • จากนั้นตามด้วยยาขนาด 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวทำละลาย 250 มิลลิลิตร ระยะเวลาให้ยา 4 ชั่วโมง
    • สุดท้าย ให้ยาขนาด 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวทำละลาย 500 มิลลิลิตร ให้ยา 16 ชั่วโมง
  • ผู้ใหญ่ และเด็กน้ำหนักตัวมากกว่า 40 กิโลกรัม
    • ขนาดยาเริ่มต้น 150 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวทำละลาย 200 มิลลิลิตร ระยะเวลาให้ยา 60 นาที
    • จากนั้นตามด้วยยาขนาด 50 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวทำละลาย 500 มิลลิลิตร ระยะเวลาให้ยา 4 ชั่วโมง
    • และสุดท้าย ให้ยาขนาด 100 มิลลิกรัมต่อกิโลกรัม ในตัวทำละลาย 1 ลิตร ระยะเวลาให้ยา 6 ชั่วโมง

ข้อควรระวังในการใช้ยา Acetylcysteine 

  • ระวังการใช้ยานี้ในผู้ป่วยโรคหอบหืด มีประวัติภาวะหลอดลมเกร็งตัว มีประวัติเป็นโรคแผลในกระเพาะอาหาร รวมถึงผู้มีครรภ์ และผู้ที่ให้นมบุตร
  • ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการมองเห็นภาพไม่ชัด หากผู้ป่วยมีอาการดังกล่าว ไม่ควรขับขี่ยานพาหนะ หรือทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับการใช้เครื่องจักร
  • ไม่ควรใช้ยานี้ในผู้ป่วยที่สวมคอนแทคเลนส์ชนิดอ่อน

ถ้าลืมกินยา Acetylcysteine ต้องทำอย่างไร

ถ้าลืมรับประทานยา ให้รีบรับประทานทันทีที่นึกได้ตามจำนวนปกติ (เช่น ถ้าปกติรับประทาน 1 เม็ด ก็รับประทานเท่าเดิม ไม่ต้องเพิ่มเป็น 2 เม็ด) 

กรณีที่เพิ่งนึกได้ตอนใกล้รับประทานมื้อใหม่ ให้ข้ามมื้อที่ลืมไป และรอรับประทานมื้อถัดไปได้เลย ในจำนวนปกติเช่นกัน ไม่ต้องเพิ่มขนาดยา

การใช้ยา Acetylcysteine ในผู้มีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร

ตัวยาจัดอยู่ในกลุ่ม Category B คือ ยาค่อนข้างปลอดภัยต่อการใช้ในผู้มีครรภ์และผู้ที่ให้นมบุตร

ผลข้างเคียงจากยา Acetylcysteine

ยานี้อาจก่อให้เกิดอาการอันไม่พึงประสงค์ เช่น

  • หลอดลมหดเกร็ง
  • อาการบวม
  • เกิดผื่น ผิวหนังแดง
  • ความดันโลหิตผิดปกติ
  • คลื่นไส้ อาเจียน
  • มีไข้
  • เกิดอาการวูบ
  • เหงื่อออก
  • ปวดข้อ
  • มองเห็นภาพไม่ชัด
  • รบกวนการทำงานของตับ
  • เลือดเป็นกรด
  • อาการชัก
  • หัวใจหยุดเต้น
  • ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว
  • น้ำมูกไหล

ประเภทของยา Acetylcysteine ตามองค์การอาหารและยา ประเทศไทย 

ยาจัดอยู่ในกลุ่มยาทั่วไป (NDD: Non Dangerous Drug)

สิ่งที่ควรแจ้งแพทย์ เภสัชกร และพยาบาลในการสั่งใช้ยา Acetylcysteine

ก่อนใช้ยา Acetylcysteine ควรปรึกษาแพทย์ เภสัชกร หรือพยาบาลก่อนเสมอ โดยต้องแจ้งข้อมูลด้านสุขภาพให้ละเอียด เพื่อลดความเสี่ยง ให้ใช้ยาได้อย่างปลอดภัย และได้ผลดีที่สุด

  • แจ้งข้อมูลการใช้ยาทั้งหมด เช่น ยารักษาโรคประจำตัว ยาที่เพิ่งรับประทานไปก่อนหน้านี้ อาหารเสริมที่รับประทาน อย่างวิตามิน หรือสมุนไพร 
  • กรณีที่มียาประจำตัวหลายตัว ให้พกยามา แพทย์หรือเภสัชกรจะได้ตรวจสอบให้ก่อนจ่ายยาใหม่ เพื่อไม่ให้เกิดปฏิกิริยาอันตรายระหว่างยาใหม่และยาที่ใช้อยู่
  • แจ้งอาการแพ้ต่าง ๆ เช่น ประวัติการแพ้ยา อาการแพ้จากการใช้ยา ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร และอาหาร เพราะยาบางชนิดมีส่วนประกอบของไข่ขาว นม หรือยีสต์ รวมถึงอาการแพ้ที่เกิดขึ้นด้วย เช่น บวม ผื่นขึ้น หายใจลำบาก 
  • เวลาที่ไปใช้บริการสุขภาพ ให้นำบัตรแพ้ยาพกติดตัวไป และแสดงบัตรนี้ให้แพทย์หรือเภสัชกรตรวจสอบก่อนเสมอ  
  • แจ้งข้อมูลในกรณีที่ตั้งครรภ์ มีแผนจะตั้งครรภ์ หรือกำลังให้นมบุตร เนื่องจากยาบางชนิดส่งผลอันตรายต่อเด็กในครรภ์หรือขับออกทางน้ำนมได้
  • แจ้งข้อมูลด้านสุขภาพอื่น ๆ ที่จะส่งผลต่อการใช้ยา เช่น มีปัญหาการกลืนลำบาก มีปัญหาด้านการมองเห็นหรืออ่านฉลากยา เพื่อให้แพทย์หรือเภสัชกรช่วยแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้อง  

ยาทุกตัวที่คุณรับเข้าร่างกายล้วนส่งผลข้างเคียงที่ร้ายแรงได้หากใช้อย่างไม่เหมาะสม จึงควรให้แพทย์หรือเภสัชกรเป็นผู้จ่ายยาให้ และควรสอบถามวิธีใช้ยาอย่างถูกต้อง เพื่อให้ยารักษาอาการป่วยได้อย่างมีประสิทธิภาพและปลอดภัย

 

Scroll to Top