ฟันคุด เป็นหนึ่งในปัญหาสุขภาพฟันที่พบบ่อย ผู้ที่มีฟันคุด ควรไปพบทันตแพทย์เพื่อทำการถอนหรือผ่าฟันคุดออก เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพฟันต่างๆ ตามมาได้
สารบัญ
ฟันคุด คืออะไร เกิดจากอะไร?
ฟันคุด คือฟันที่ไม่สามารถโผล่พ้นเหงือกออกมาเรียงตัวกับฟันซี่อื่นๆ ได้ตามปกติ หรืออาจโผล่ขึ้นมาได้เพียงบางส่วน โดยมักพบบริเวณฟันกรามแท้ซี่ที่สามล่าง (Lower third molar) ฟันกรามซี่สุดท้าย ฟันกรามน้อย หรือฟันเขี้ยว
ผู้ที่มีฟันคุดอาจมีจำนวนฟันคุดตั้งแต่ 1 ซี่ขึ้นไป และมักไม่รู้ตัวว่ามีฟันคุด จนกว่าฟันคุดจะโผล่ออกมาพ้นเหงือก หรือมีอาการปวดฟันมาก แล้วเมื่อไปพบทันตแพทย์ก็ตรวจพบเจอผ่านการเอกซเรย์
การเกิดฟันคุดมาจากมีฟัน เนื้อเยื่อ หรือกระดูกปิดขวางการงอกของฟันอยู่ จนทำให้ฟันไม่สามารถเติบโตพ้นเหงือกออกมาได้ แล้วกลายเป็นฟันคุดนั่นเอง
ผลกระทบจากฟันคุดต่อสุขภาพฟัน เป็นอย่างไร?
หลายคนอาจเคยได้ยินมาบ้างว่าถอนหรือผ่าฟันคุดนั้นทำให้เกิดความเจ็บปวด อย่างไรก็ตาม เมื่อตรวจพบว่ามีฟันคุดก็ควรไปพบทันตแพทย์ เพื่อถอนหรือผ่าตัดฟันคุดออก เพราะหากปล่อยทิ้งไว้อาจทำให้เกิดผลกระทบที่เป็นอันตรายได้ เช่น
- ส่งผลให้เหงือกบริเวณนั้นอักเสบ บวมแดง และหากไม่รักษาก็จะเกิดหนองขึ้นในที่สุด
- เกิดฟันซ้อนเกจากการที่ฟันคุดไปดันฟันซี่ข้างเคียง หรือกดบนเส้นประสาทที่อยู่ในขากรรไกรล่าง
- เกิดถุงน้ำรอบฟันคุด ซึ่งจะทำให้ฟันเคลื่อนผิดไปจากตำแหน่งเเดิม และละลายกระดูกอ่อนรอบฟันที่อาจเป็นอันตรายต่อฟันและเหงือกรอบๆ จนทำให้ฟันผุได้
- เกิดกลิ่นปาก จากการที่ฟันคุดซี่สุดท้ายขึ้นไปชนกับฟันกรามที่ติดกันทำให้เศษอาหารมาติด กลายเป็นซอกที่ทำความสะอาดได้ยาก
นอกจากผลกระทบดังกล่าวแล้ว การที่ฟันคุดไม่โผล่พ้นเหงือกโดยสมบูรณ์ยังทำให้เกิดการหมักหมมของเศษอาหารและเชื้อโรคจนเกิดคราบจุลินทรีย์ ซึ่งส่งผลให้เกิดปัญหาต่างๆ ตามมามากมาย เช่น
- ฟันผุ
- โรคเหงือกหรือโรคปริทันต์อักเสบ
- เหงือกคลุมฟันอักเสบ
- เซลล์เนื้อเยื่ออักเสบ
- ฝีที่ฟัน
- ซีสต์และเนื้องอก
เมื่อไหร่ที่ต้องไปพบทันตแพทย์?
โดยปกติแล้ว ทันตแพทย์จะแนะนำให้เข้ารับการตรวจสุขภาพฟันทุกๆ 6 เดือน
อย่างไรก็ตาม หากมีอาการเจ็บปวดเหงือกและฟันอย่างรุนแรง หรือมีอาการที่กล่าวไปในข้างต้น ก็สามารถไปพบทันตแพทย์ได้เลย
หากทันตแพทย์พบว่าคนไข้มีฟันคุด ก็จะให้ทำการถ่ายภาพเอกซเรย์ ซึ่งจะทำให้ทันตแพทย์เห็นภาพตำแหน่งดังกล่าวได้อย่างชัดเจนเพื่อวางแผนการรักษาต่อไป
การเตรียมตัวก่อนถอนฟันคุด
การถอนฟันคุดอาจแตกต่างกันออกไปในแต่ละคน หากฟันคุดของคุณจำเป็นต้องรับการผ่าตัด ทันตแพทย์อาจทำงานร่วมกับศัลยแพทย์ช่องปาก และมีการใช้ยาระงับความรู้สึกขณะดำเนินการ ดังนั้นการเตรียมตัวที่สำคัญคือควรสอบถามการเตรียมตัวจากทันตแพทย์อย่างครบถ้วน โดยตัวอย่างข้อมูลที่ควรถาม อาจมีดังนี้
- การถอนฟันคุดนี้จะกระทบฟันซึ่อื่นไหม?
- หลังถอนฟันคุดแล้วต้องรักษาอะไรเพิ่มหรือไม่?
- จำเป็นต้องมีคนขับรถพากลับวันที่ถอนฟันคุดไหม?
- จำเป็นต้องงดอาหารหรือเครื่องดื่มใดๆ ก่อนไหม?
- จำเป็นต้องงดยาที่กินเป็นประจำหรือไม่?
การดูแลตัวเองหลังถอนฟันคุด
การถอนฟันคุดใช้เวลาพักฟื้นไม่นาน และหากดูแลตัวเองเป็นอย่างดี ปฏิบัติตามคำแนะนำของทันตแพทย์อย่างเคร่งครัด แผนก็จะหายได้ในไม่ช้า โดยคำแนะนำเบื้องต้นในการดูแลตัวเอง อาจมีดังนี้
- หลีกเลี่ยงการบ้วนปากมากเกินไป ในช่วงแรกๆ หลังถอนฟันคุดอาจมีเลือดซึมออกมาจากแผลบ้าง ทำให้หลายคนพยายามบ้วนปาก ซึ่งอาจทำให้ลิ่มเลือดหลุดออกจากแผลได้
- กินยาแก้ปวด หากมีอาการปวดสามารถกินยาแก้ปวดที่ทันตแพทย์แนะนำ หรืออาจประคบเย็บบริเวณขากรรไกรก็ช่วยบรรเทาอาการปวดได้เช่นกัน
- ประคบเย็นลดบวม ทันตแพทย์อาจแนะนำให้ประคบเย็นหากมีอาการบวมบริเวณแก้ม โดยอาการจะค่อยๆ ดีขึ้นใน 2-3 วัน
- หลีกเลี่ยงกิจกรรมหนักๆ อย่างน้อย 1 สัปดาห์ โดยเฉพาะวันแรกหลังการถอนฟันคุดเพราะอาจทำให้ลิ่มเลือดหลุดได้ ควรพักผ่อนให้เพียงพอ และค่อยๆ กลับไปใช้ชีวิตประจำวันตามปกติในวันถัดมา
- หลีกเลี่ยงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน รวมถึงเครื่องดื่มร้อนอย่างน้อย 24 ชั่วโมง เพราะอาจทำให้ลิ่มเลือดหลุดออกได้
- กินอาหารอ่อนๆ ในรอบ 24 ชั่วโมงแรกหลังถอนฟันคุด จากนั้นค่อยๆ สลับมากินอาหารที่เคี้ยวได้มากขึ้นเมื่ออาการบรรเทาลง แต่ยังควรหลีกเลี่ยงของแข็ง ของเผ็ด และของร้อน จนกว่าแผลจะหายดี
- ใช้น้ำยาบ้วนปากแทนการแปรงฟัน ในรอบ 24 ชั่วโมงแรก หลังจากนั้นจึงค่อยแปรงฟันอย่างอ่อนโยน ทั้งนี้ระยะเวลาดังกล่าวขึ้นอยู่กับทันตแพทย์แนะนำ
- งดสูบบุหรี่ อย่างน้อย 72 ชั่วโมงหรือนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับทันตแพทย์แนะนำ เพราะอาจทำให้แผลหายช้า และเพิ่มโอกาสเกิดอาการแทรกซ้อนได้
อาการผิดปกติหลังถอนฟันคุด
หากเกิดอาการต่างๆ ดังต่อไปนี้ ควรปรึกษาทันตแพทย์ทันที เพราะอาจเป็นสัญญาณของการติดเชื้อ เส้นประสาทเสียหาย หรืออื่นๆ ดังนี้
- กลืนหรือหายใจลำยาก
- เลือดออกมากผิดปกติ
- มีไข้
- ปวดมากจนยาแก้ปวดไม่สามารถควบคุมได้
- บวมมากขึ้นใน 2-3 วัน
- รับรสชาติผิดปกติ
- มีหนองไหลจากแผล
- ชา สูญเสียความรู้สึก
ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการถอนฟันคุด
การถอนฟันคุดมักไม่มีความเสี่ยงในระยะยาว แต่ในบางกรณีอาจมีความเสี่ยงในระยะหลังผ่าตัดได้เช่นกัน ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการถอนฟันคุด
- อาจเกิดการติดเชื้อบริเวณแผลผ่าตัด จากทั้งแบคทีเรียหรือเศษอาหารที่เข้าไปติด
- อาจเกิดความเสียหายบริเวณฟันรอบๆ เส้นประสาท รวมถึงขากรรไกร
- อาจมีกระดูกเบ้าฟันอักเสบ
จะรู้ได้อย่างไรว่าต้องถอนฟันคุด หรือผ่าฟันคุด?
การถอนฟันคุด หรือผ่าฟันคุด จะขึ้นอยู่กับการประเมินของทันตแพทย์ โดยหากทันตแพทย์ประเมินว่าฟันคุดโผล่ออกมามากพอที่เครื่องมือถอนฟันจะเอาฟันคุดออกได้ ก็จะให้ทำการถอนฟันคุด วิธีนี้จะราคาถูกกว่าการผ่า อย่างไรก็ตาม ค่าถอนฟันคุดยังขึ้นอยู่กับระดับความยากในการถอนฟันคุดด้วย
กรณีที่ต้องผ่าฟันคุดเกิดจากฟันคุดอยู่ลึกลงไปใต้เนื้อเยื่อของเหงือก หรือฟันงอกขึ้นมาบางส่วนแต่มีลักษณะนอน ไม่ตั้งตรง ไม่สามารถดึงขึ้นมาได้ กรณีนี้ทันตแพทย์มักใช้วิธีผ่าเหงือก และอาจมีการตัดผ่าแบ่งฟันออกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วค่อยคีบนำฟันออกมาจากเบ้าฟัน
ราคาถอนฟันคุด ผ่าฟันคุด เป็นอย่างไร?
ราคาถอนฟันคุด ผ่าฟันคุด จะแตกต่างไปกันไปตามระดับความยาก ตัวอย่างราคาดังนี้
- ราคาถอนฟันคุด จำนวน 1 ซี่ เริ่มต้นที่ 450-2,000 บาท
- ราคาผ่าฟันคุด จำนวน 1 ซี่ เริ่มต้นที่ 850-5,500 บาท
อย่างไรก็ตาม ราคาดังกล่าวอาจยังไม่รวมค่าใช้จ่าย เช่น ค่ายาชา ค่าเอกซเรย์ หรือค่ายาเวชภัณฑ์ ควรสอบถามกับคลินิกทันตกรรม หรือโรงพยาบาลเพิ่มเติม