เด็กเลือกกินอาหาร เกิดจากอะไร มีวิธีรับมืออย่างไร


เด็กเลือกกินอาหาร

ปกติแล้ว เวลาที่เรารับประทานอาหารที่ชอบก็จะรู้สึกมีความสุข แต่หากต้องถูกบังคับให้รับประทานอาหารที่ไม่ชอบ ไม่อร่อย ก็มักจะรับประทานได้น้อยตามไปด้วย ทำให้เด็กเบื่ออาหาร เด็กวัยปฐมวัย (ช่วงอายุ 2-3 ขวบ) ก็เช่นกัน ซึ่งในวันนี้ เรามีคำแนะนำในการแก้ปัญหาเหล่านี้มาฝากคุณพ่อคุณแม่

8 สาเหตุที่ทำให้เด็กเลือกรับประทานอาหาร

1. พ่อแม่เคยบังคับให้ลูกรับประทานอาหาร

ผู้ใหญ่ไม่ชอบถูกบังคับ เด็กก็ไม่ชอบถูกบังคับเช่นกัน โดยการบังคับให้รับประทานอาหารอาจจะไม่ได้มาในรูปแบบของการจับยัดเข้าปาก แต่เป็นในรูปแบบของการใช้คำพูด หรือน้ำเสียงต่างๆ เช่น

  • กินอันนี้สิลูก อร่อยนะ (ใช้คำพูดไปบังคับให้ลูกกิน)
  • ทำไมไม่อยากกินละ กินอันนี้แล้วจะผิวสวยน่ารักนะ (ไปหลอกล่อให้ลูกกิน)
  • กินๆ เข้าไปเถอะลูก อย่าเรื่องมากเลย (ถากถางลูก)
  • ไม่กินก็อย่ากิน หิวจนปวดท้องอย่ามาร้องนะ (ลงโทษกับเรื่องกิน)

ประโยคเหล่านี้มักจะฝังลงไปในใจเด็ก ซึ่งในช่วงปฐมวัยนี้ เด็กจะเก็บข้อมูลทุกๆ อย่างเอาไว้แล้วเปลี่ยนเป็นประสบการณ์ต่างๆ ทั้งด้านที่ดี และไม่ดี ทำให้ลูกพยายามต่อต้าน

2. พ่อแม่ให้ลูกรับประทานอาหารมากเกินไป (กลัวไม่อิ่ม)

กระเพาะของเด็กและผู้ใหญ่แตกต่างกันมาก กระเพาะอาหารของเด็กในช่วงปฐมวัยนี้จะมีขนาดเล็ก ทำให้เด็กรู้สึกหิวระหว่างมื้ออาหารบ่อย

พ่อแม่หลายคนกลัวลูกจะหิว หรือกินไม่อิ่ม เลยให้ลูกรับประทานทั้งข้าว ทั้งนม เมื่อถึงมื้ออาหารถัดไปก็ยังบังคับให้ลูกรับประทานเพิ่มเข้าไปอีก ทั้งๆ ที่ยังอิ่มอยู่

ถ้าเด็กไม่ยอมรับประทานอาหารจะก็บังคับสารพัดทั้งคำพูด จับป้อน ฯลฯ ทำให้ลูกรู้สึกทรมาน (อึดอัด) เวลาต้องรับประทานอาหาร ทำให้ไม่ยอมรับประทานอาหาร

3. หน้าตาอาหารดูไม่น่ากิน และทำอาหารเดิมๆ ซ้ำๆ

การรับประทานอาหารเดิมๆ ซ้ำๆ ผู้ใหญ่ยังเบื่อ แถมหน้าตาอาหารดูเละๆ ยิ่งไม่กินเข้าไปใหญ่ แล้วคิดเหรอว่าเด็กจะไม่รู้สึกเหมือนกับผู้ใหญ่บ้าง

พ่อแม่บางคนกลัวลูกจะรับประทานอาหารลำบาก ก็เลยอาหารให้ลูกย่อยง่ายๆ (จนมันดูเละๆ ไม่น่ากิน) หรือทำแต่เมนูเดิมๆ เช่น ข้าวไข่เจียว แกงจืดเต้าหู้ ทำให้เด็กเบื่ออาหาร

พ่อแม่ควรที่จะเปลี่ยนเมนูอาหารให้ลูกเรื่อยๆ อย่าซ้ำเดิมมากเกินไป ควรเพิ่มความหลากหลายของอาหาร อาจจะมีทั้งเมนูอาหารแบบไทย จีน ฝรั่ง บ้างสลับกันไป

รวมถึงการหั่นส่วนผสมให้พอดีคำ ไม่เล็กไปหรือใหญ่เกินไปสำหรับเด็ก เพราะหากเด็กต้องเคี้ยวมากเกินไปเด็กก็จะเบื่อการเคี้ยวอาหารด้วยเช่นกัน

4. พ่อแม่ไม่เคยฝึกลูกให้หัดเคี้ยวอาหาร

ในช่วงที่ฟันของลูกกำลังจะขึ้น (เริ่มประมาณ 9 เดือน) โดยธรรมชาติแล้วเด็กจะมีอาการคันเหงือก (หมั่นเขี้ยว) อยากจะเคี้ยวอาหาร พ่อแม่สามารถฝีกให้ลูกหัดเคี้ยวอาหารได้ง่ายๆ ด้วยการให้ลูกลองเคี้ยวขนมปังกรอบชิ้นเล็กๆ

เด็กจะมีความสุขในการเคี้ยว และเมื่อโตขึ้นก็ค่อยๆ เพิ่มขนาดของอาหารที่จะให้ลูกเคี้ยว ซึ่งสามารถปรับเป็นผักที่มีความกรอบ เนื้อสัตว์ที่นุ่ม (แต่มีขนาดพอดีคำ)

5. ลูกกำลังมีปัญหาสุขภาพ

หากลูกไม่สบาย หรือปวดฟัน ความอยากอาหารจะลดน้อยลง ซึ่งพ่อแม่ต้องเข้าใจด้วยว่า เป็นธรรมชาติของเด็กที่ไม่สบายก็มักจะไม่อยากอาหารใดๆ

6. ลูกกินขนม หรือนมจนอิ่ม

บ่อยครั้งที่ระหว่างมื้ออาหาร เด็กในช่วงปฐมวัยจะมักหิว (เพราะไปเล่นมาจนเหนื่อย) พ่อแม่บางคนก็ให้ลูกกินขนม รวมถึงกินนม ซึ่งบางครอบครัวให้ลูกกินนมเยอะแทบจะแทนน้ำ

ให้เวลาถึงมื้ออาหารจริงๆ ลูกไม่ได้อยากรับประทานอาหาร เพราะยังไม่หิวมาก

7. เล่นสนุกจนลืมหิว หรือเหนื่อยเกินไป

เวลาที่ผู้ใหญ่ทำอะไรที่มีความสุข สนุกสนาน เพลินๆ ส่วนมากจะไม่รู้สึกหิว เด็กในช่วงปฐมวัยก็เช่นกัน

หลายครั้งที่เด็กเล่นจนเพลินจนไม่รู้สึกหิวเลยก็มี จนบางครั้งพ่อแม่ก็กังวลว่า เดี๋ยวลูกจะหิวก็รีบบังคับให้ลูกกิน ณ เวลานั้นทันที ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อลูกเลย

รวมถึงบางครั้งพ่อแม่หลายคนมักจะปล่อยให้ลูกเล่นไปเรื่อยๆ พอถึงเวลา (มื้ออาหาร) ก็เรียกลูกมากินอาหาร ซึ่งการปล่อยให้ลูกเล่นมากเกินไปจนลูกเหนื่อย เมื่อเหนื่อยแล้วจะให้มากินอาหารทันทีเลยจะยากกว่ามาก

8. พ่อแม่ก็เลือกที่จะกินอาหารเหมือนกัน

ปัญหาพ่อแม่ไม่กินผัก หรือกินอาหารประเภทใด ลูกๆ ก็มักจะไม่กินอาหารประเภทนั้นตามไปด้วย เพราะลูกจะจดจำสิ่งที่พ่อแม่ทำ ดังนั้นอย่าแปลกใจว่า ทำไมลูกของเราถึงไม่กินอาหารที่คุณเลือกไว้

วิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาอาการลูกเบื่อ หรือเลือกกินอาหาร

พ่อแม่สามารถป้องกันและแก้ไขปัญหาอาการลูกเบื่อหรือเลือกกินอาหารได้ง่ายๆ ดังนี้

1. รับประทานอาหารพร้อมหน้าพร้อมตา

เวลาที่พ่อแม่ลูกได้ล้อมวงกินอาหารในแต่ละมื้อ ได้พูดคุย ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เป็นการสร้างบรรยากาศที่ลูกจะซึมซับความสนุกสนาน รวมถึงควรจะกินอาหารเป็นเวลา (ตามมื้ออาหาร) อย่างสม่ำเสมอ

ลูกจะซึมซับว่า เวลานี้คือเวลาที่ต้องกินข้าวแล้ว (เพราะพ่อแม่ก็จะมากินอาหารด้วย)

นอกจากนั้น การให้โอกาสเด็กได้มีส่วนร่วมในแต่ละมื้ออาหารก็ทำให้เด็กรู้สึกสนุกไปกับการกินด้วย เช่น ให้ลูกหัดเป็นคนหยิบช้อนอาหารจากที่เก็บไปที่โต๊ะอาหาร หรือจัดโต๊ะอาหาร เตรียมน้ำดื่ม ฯลฯ

ในระหว่างมื้ออาหารไม่ควรเปิดโทรทัศน์ไปด้วย เพราะโทรทัศน์จะเป็นตัวดึงความสนใจของเด็กและพ่อแม่ออกจากกัน

2. อาหารชิ้นเล็กดีกว่าชิ้นใหญ่

การเตรียมอาหารให้มีขนาดชิ้นเล็กพอดีคำ เคี้ยวง่าย เป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้เด็กอยากกินอาหารหรือไม่ นอกจากนั้น ควรจะทำอาหารให้ครบทั้ง 5 หมู่

หลีกเลี่ยงการให้เครื่องดื่มปริมาณมากในระหว่างมื้อ เพราะจะทำให้เด็กอิ่มก่อน

3. พ่อแม่ต้องเป็นตัวอย่างที่ดี

ลูกจะเลียนแบบพ่อแม่ แม้กระทั่งเรื่องรับประทานอาหาร ถ้าพ่อแม่กินอาหารทุกอย่างด้วยความอร่อย เด็กก็จะกินตาม

พ่อแม่ไม่ควรจะบอกลูกว่า พ่อไม่กินอันนั้น แม่ไม่กินอันนี้ เพราะเด็กจะจดจำและปฏิบัติตาม เพราะเด็กจะเห็นตัวอย่างจากพ่อแม่

ที่สำคัญ การตักอาหาร พ่อแม่ก็ไม่ควรเลือกอาหารให้ลูกเห็น เช่น เวลาตักอาหารที่มีต้นหอมก็อย่าเขี่ยต้นหอมออกให้ลูกเห็น

4. ปริมาณอาหารในแต่ละมื้อก็สำคัญ

เวลาที่จะตักอาหารให้ลูก ควรตักแต่น้อย เพื่อให้ลูกรับประทานหมดได้ เมื่อลูกรับประทานจนหมดก็จะมีความภูมิใจ หากยังไม่อิ่มค่อยตักเพิ่มทีละน้อย ให้ลูกรู้สึกว่า เขาสามารถรับประทานอาหารได้หมด

5. เมนูที่หลากหลาย

การจะหัดให้ลูกรับประทานอาหารใหม่ๆ ผัก หรือผลไม้แบบใหม่ ควรจะค่อยๆ เริ่มทีละน้อย

โดยเวลาที่เราให้ลูกรับประทานก็ควรบอกลูกว่า สิ่งนี้ชื่ออะไร อาจจะใช้ตัวละครในนิทานมาเล่าเรื่องเกี่ยวกับอาหาร หรือผลไม้ที่กำลังจะรับประทานนั้นๆ

6. การใช้ภาชนะที่น่าสนใจ

การใช้ภาชนะที่ช่วยดึงดูดความสนใจ จะทำให้เด็กสนใจในการรับประทานอาหารมากขึ้น ภาชนะบางอย่างอาจเป็นของเล่นไปในตัว เช่น ช้อนส้อมที่เป็นรูปรถ

7. ควรจัดให้มีพื้นที่สำหรับรับประทานอาหาร

ไม่ควรใช้พื้นที่เดียวกันกับการเล่น เด็กจะเริ่มเรียนรู้ว่าเป็นเวลาสำหรับรับประทานอาหาร

การรับประทานอาหารในปริมาณที่พอเหมาะ ไม่มาก ไม่น้อยเกินไป จะช่วยให้ลูกของคุณไม่เบื่ออาหารง่ายๆ นอกจากนี้ พ่อแม่ควรเป็นตัวอย่างในการรับประทานอาหารที่ดี ไม่เลือกกิน ไม่เล่นระหว่างมื้ออาหาร และทำให้ลูกรู้สึกว่า การรับประทานอาหารเป็นกิจกรรมสำคัญของครอบครัว


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ


บทความแนะนำ


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

@‌hdcoth line chat