เมื่อพูดถึงการฉีดวัคซีน HPV หรือที่นิยมเรียกว่า วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก ใครหลายคนคงนึกถึงวัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์หรือ 4 สายพันธุ์ แต่รู้ไหมว่า จริงๆ แล้วยังมีวัคซีน HPV อีกหนึ่งชนิดคือ วัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ที่มีประสิทธิภาพในการป้องกันโรคมากกว่า
สารบัญ
- ทำความรู้จักวัคซีน HPV 9 สายพันธ์ุ (GARDASIL 9)
- วัคซีน HPV 9 สายพันธุ์กับการป้องกันโรค
- ผู้ที่ไม่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์
- สิ่งที่ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์
- แนวทางการเข้ารับการฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์
- ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์
- ข้อควรรู้เกี่ยวกับวัคซีน HPV 9 สายพันธ์ุ
- หากเคยได้รับการฉีดวัคซีน HPV 2 สายพันธุ์ หรือ 4 สายพันธ์ุแล้ว สามารถรับการฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ได้หรือไม่?
- ไขข้อสงสัย ทำไมผู้หญิงทุกคนถึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีน HPV?
ทำความรู้จักวัคซีน HPV 9 สายพันธ์ุ (GARDASIL 9)
วัคซีนป้องกันเชื้อไวรัสเอชพีวี 9 สายพันธุ์ หรือเรียกด้วยชื่อทางการค้าว่า GARDASIL 9 เป็นวัคซีนสำหรับบุคคลอายุ 9-45 ปี เพื่อป้องกันโรคบางชนิดที่เกิดจากเชื้อไวรัสเอชพีวี (Human Papillomavirus: HPV) ประกอบด้วย สายพันธุ์ 6, 11, 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58
เชื้อไวรัสเอชพีวีนั้นเป็นเชื้อในตระกูลไวรัสพาพิลโลมา (Papilloma virus) ซึ่งมีมากกว่า 150 สายพันธุ์ เป็นเชื้อไวรัสที่เป็นสาเหตุสำคัญของการติดเชื้อที่เยื่อบุผิว และก่อโรคที่บริเวณอวัยวะเพศ รวมถึงทวารหนักทั้งในเพศชายและเพศหญิง
GARDASIL 9 ประกอบด้วยสายพันธุ์ที่ไม่ก่อให้เกิดมะเร็ง (Low risk type) แต่ทำให้เกิดโรคหูดหงอนไก่ได้ คือสายพันธุ์ 6 และ 11 และสายพันธุ์ที่ก่อให้เกิดมะเร็งได้ (High risk type) ได้แก่ 16, 18, 31, 33, 45, 52 และ 58
ด้วยความที่มีจำนวนสายพันธุ์มากกว่าวัคซีน HPV ชนิดอื่นๆ จึงทำให้วัคซีน HPV 9 สายพันธุ์สามารถป้องกันโรคได้มากกว่าวัคซีน HPV ชนิดอื่นๆ นั่นเอง
วัคซีน HPV 9 สายพันธุ์กับการป้องกันโรค
วัคซีน HPV 9 สายพันธุ์สามารถช่วยป้องกันการเกิดโรคร้ายได้ทั้งในผู้ชายและผู้หญิง มีรายละเอียดดังนี้
วัคซีน HPV 9 สายพันธุ์กับการป้องกันโรคในผู้หญิง
ในผู้หญิงอายุ 9-45 ปี วัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ ช่วยป้องกันโรคดังนี้
- มะเร็งปากมดลูก เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับที่ 2 ในผู้หญิงไทย
- มะเร็งปากช่องคลอด และช่องคลอด (Vulvar and vaginal cancers)
- รอยโรคก่อนเป็นมะเร็งปากมดลูก ปากช่องคลอด ช่องคลอด และทวารหนัก
- มะเร็งทวารหนัก (Anal cancer)
- หูดที่อวัยวะเพศ
วัคซีน HPV 9 สายพันธุ์กับการป้องกันโรคในผู้ชาย
ในผู้ชายอายุ 9-45 ปี วัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ ช่วยป้องกันโรคได้ ดังนี้
- มะเร็งทวารหนัก
- มะเร็งศีรษะและลำคอบางชนิด เช่น มะเร็งลำคอ มะเร็งบริเวณช่องปาก
- รอยโรคก่อนเป็นมะเร็งทวารหนัก
- หูดที่อวัยวะเพศ
ผู้ที่ไม่สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์
ผู้ที่มีอาการแพ้สารเหล่านี้ ซึ่งได้แก่
- วัคซีน HPV ชนิด 2 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์
- อาการแพ้ยีสต์รุนแรง
- สาร Amorphous aluminum hydroxyphosphate sulfate (AAHS)
- สาร Polysorbate 80
สิ่งที่ต้องแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนเข้ารับการฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์
เพื่อความปลอดภัยในการฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ หากคุณ…
- กำลังตั้งครรภ์ หรือวางแผนที่จะตั้งครรภ์
- มีปัญหาเกี่ยวกับภูมิคุ้มกัน เช่น โรคเอชไอวี (HIV) หรือมะเร็ง
- รับประทานยาที่มีผลต่อระบบภูมิคุ้มกัน
- มีไข้สูงกว่า 37.8 องศาเซลเซียส
- เคยมีอาการแพ้ต่อวัคซีน HPV ขนาดก่อนหน้า หรือวัคซีนชนิดอื่นๆ
- กำลังรับประทานยารักษาโรคประจำตัว วิตามิน หรือสมุนไพรอยู่
แพทย์จะประเมินความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น และช่วยตัดสินใจว่าคุณหรือบุตรหลานของคุณควรได้รับวัคซีนหรือไม่
แนวทางการเข้ารับการฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์
รูปแบบการฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์เหมือนกับการฉีดวัคซีน HPV ชนิดอื่นๆ คือ มีทั้งแบบ 2 เข็ม และ 3 เข็ม โดยจำนวนเข็มที่ฉีดจะขึ้นอยู่กับอายุของผู้เข้ารับการฉีดวัคซีน มีรายละเอียดดังนี้
- ฉีดวัคซีน HPV 2 เข็ม สำหรับผู้ที่มีอายุ 9-14 ปี โดยเข็มแรกสามารถฉีดได้ทันที และฉีดเข็มที่ 2 หลังจากเข็มแรก 6-12 เดือน อย่างไรก็ตาม หากฉีดเข็มที่ 2 เร็วกว่า 5 เดือนหลังจากฉีดเข็มแรก จะต้องฉีดเข็มที่ 3 หลังจากฉีดเข็มที่ 2 ภายใน 4 เดือน
- ฉีดวัคซีน HPV 3 เข็ม สำหรับผู้ที่มีอายุ 15-45 ปี โดยเข็มแรกสามารถฉีดได้ทันที เข็มที่ 2 ฉีดหลังจากเข็มแรก 2 เดือน และเข็มที่ 3 ฉีดหลังจากเข็มแรก 6 เดือน
ผลข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้จากการฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์
ผลข้างเคียงที่พบบ่อยที่สุดจากการฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ ได้แก่ ปวดบวมแดง มีก้อนนูนบริเวณที่ฉีด ปวดหัว ไข้ คลื่นไส้ เวียนศีรษะ อ่อนเพลีย ท้องเสีย อาการปวดท้อง หรือเจ็บคอ เป็นอาการที่ไม่อันตรายและสามารถหายได้เอง
อย่างไรก็ตาม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบทันทีหากมีอาการแพ้วัคซีน ได้แก่ หายใจลำบากหรือหายใจไม่ออก (หลอดลมหดเกร็ง) ลมพิษ หรือผื่น
ข้อควรรู้เกี่ยวกับวัคซีน HPV 9 สายพันธ์ุ
- ผู้ที่เข้ารับวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ ไม่ว่าจะเป็นผู้ชายหรือผู้หญิงยังคงจำเป็นต้องตรวจคัดกรองความเสี่ยงในการเกิดโรคร้ายอยู่ ไม่ว่าจะเป็นมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลอด หรือมะเร็งทวารหนัก
- วัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ไม่สามารถป้องกันโรคที่เกิดจากสาเหตุอื่นๆ หรือเชื้อไวรัส HPV ที่นอกเหนือจากนั้น
- วัคซีน HPV ไม่สามารถรักษาการติดเชื้อไวรัสเอชพีวีในผู้ที่เคยได้รับการติดเชื้อก่อนรับการฉีดวัคซีนได้
หากเคยได้รับการฉีดวัคซีน HPV 2 สายพันธุ์ หรือ 4 สายพันธ์ุแล้ว สามารถรับการฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ได้หรือไม่?
ผู้ที่เคยเข้ารับการฉีดวัคซีน HPV 2 สายพันธุ์ และ 4 สายพันธุ์ สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีน HPV 9 สายพันธุ์ได้ โดยจะต้องเข้ารับการฉีดให้ครบจำนวนเข็มตามปกติ เพื่อกระตุ้นการสร้างภูมิคุ้นต่อสายพันธุ์ที่ยังไม่เคยได้รับ
อย่างไรก็ตาม ควรแจ้งให้แพทย์ทราบก่อนว่าเคยได้รับการฉีดวัคซีนมาก่อนแล้ว
นอกจากนี้แพทย์อาจแนะนำให้ตรวจแปปสเมียร์ (Pap Smear) หรือตรวจ DNA เพื่อหาเชื้อไวรัสเอชพีวี เพราะหากเคยได้รับเชื้อมาก่อนหน้านั้นแล้ว วัคซีนจะไม่สามารถช่วยป้องกันหรือรักษาโรคจากไวรัสนั้นๆ ได้
ไขข้อสงสัย ทำไมผู้หญิงทุกคนถึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีน HPV?
ข้อมูลจากสถาบันมะเร็งแห่งชาติ พบว่า โรคมะเร็งปากมดลูก (Cervical cancer) เป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับ 2 ของมะเร็งในสตรีไทย โดยพบผู้ป่วยรายใหม่ 10,000 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 27 คน และมีผู้ที่เสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกประมาณ 5,200 คนต่อปี หรือเฉลี่ยวันละ 14 คน
อย่างไรก็ตาม มะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่สามารถป้องกันได้มากกว่า 80% หากเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัส HPV ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดมะเร็งปากมดลูก
ดังนั้นผู้หญิงทุกคนจึงควรเข้ารับการฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสเอชพีวี โดยแนะนำให้ฉีดในช่วงอายุ 9-45 ปี หรือก่อนมีเพศสัมพันธ์ถึงจะมีประสิทธิภาพมากที่สุด
แต่สำหรับผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์แล้วก็สามารถเข้ารับการฉีดวัคซีน HPV ได้เช่นกัน แต่จะไม่สามารถรักษาหรือป้องกันเชื้อไวรัส HPV ที่ติดไปก่อนแล้ว ทั้งนี้ควรปรึกษาแพทย์ก่อนเข้ารับบริการ