ข้อดี-ข้อเสียของการผ่าคลอดคืออะไร


แม่กับทารกแรกเกิด-แม่หอมเท้าทารก-แม่รักทารก

HDmall สรุปให้

ขยาย

ปิด

  • การผ่าคลอดเหมาะกับคุณแม่ที่มีข้อบ่งชี้ทางสุขภาพไม่สามารถคลอดด้วยวิธีธรรมชาติได้ รวมทั้งคุณแม่ที่่มีความจำเป็นต้องคลอดอย่างเร่งด่วน
  • ข้อดีของการผ่าคลอด เช่น ทีมแพทย์สามารถวางแผนในการคลอดให้ปลอดภัยต่อคุณแม่และทารกได้มากขึ้น หากเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ระหว่างคลอด แพทย์สามารถแก้ไขและให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว
  • ข้อเสียของการผ่าคลอด เช่น ทารกจะขาดโอกาสในการรับแบคทีเรียชนิดดีจากช่องคลอดของแม่ ทากจะมีโอกาสกินนมแม่ได้ช้ากว่าทารกที่คลอดธรรมชาติ ซึ่งคำแนะนำโดยทั่วไประบุว่า ทารกควรได้กินนมแม่ให้เร็วที่สุด คือ ภายใน 30 นาที- 60 นาทีหลังคลอด
  • การผ่าคลอด หรือการผ่าตัดคลอด แม้จะมีข้อดีแต่ก็มีข้อเสียไม่น้อย ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ควรผ่าตัดคลอดเมื่อได้รับคำวินิจฉัยจากจากแพทย์แล้วจึงจะเหมาะสมที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าคลอดโดยไม่จำเป็น
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจฝากครรภ์และคลอดบุตร หรือแอดไลน์ @hdcoth

การผ่าคลอด หรือผ่าตัดคลอด เป็นวิธีคลอดที่แพทย์มักแนะนำสำหรับหญิงมีครรภ์ที่มีข้อบ่งชี้ทางสุขภาพโดยเฉพาะ รวมทั้งผู้ที่ไม่สามารถคลอดตามธรรมชาติได้ เนื่องจากการผ่าคลอด หรือผ่าตัดคลอดนั้น มีทั้งข้อดีและข้อเสียนั่นเอง

ใครที่อยากรู้ว่า การผ่าตัดคลอดมีทั้งข้อดี-ข้อเสีย อย่างไร อันตรายไหม เจ็บหรือเปล่า HDmall.co.th มีคำตอบ

ข้อดีของการผ่าคลอด

การผ่าคลอดเป็นการผ่าตัดเปิดช่องท้องบริเวณผนังมดลูกของคุณแม่เพื่อนำทารกออกจากถุงน้ำคร่ำ การผ่าคลอดเหมาะกับคุณแม่ที่มีข้อบ่งชี้ทางสุขภาพ ไม่สามารถคลอดด้วยวิธีธรรมชาติได้ เพราะอาจเป็นอันตรายต่อแม่และทาร

เช่น ทารกในครรภ์ไม่กลับศีรษะ คุณแม่มีอุ้งเชิงกรานแคบ คุณแม่มีโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 

อีกทั้งการผ่าคลอดยังเหมาะกับคุณแม่ที่มีความจำเป็นต้องคลอดอย่างเร่งด่วน เช่น มีภาวะรกเกาะต่ำ มีภาวะครรภ์เป็นพิษอย่างรุนแรง อยู่ในภาวะคลอดยาก หรือคลอดเนิ่นนานซึ่งหมายถึงคลอดด้วยวิธีธรรมชาติแล้ว แต่ไม่สามารถคลอดได้สำเร็จ รวมทั้งกรณีที่ทารกในครรภ์มีความผิดปกติ เช่น หัวใจเต้นผิดปกติ

ข้อดีของการผ่าคลอดได้แก่

  • คุณแม่สามารถกำหนดวันเวลา หรือฤกษ์ยามในการลืมตาดูโลกของลูกได้ ทำให้สามารถวางแผนการลางาน และการเตรียมการต่างๆ ได้ง่ายขึ้น
  • ทีมแพทย์สามารถวางแผนในการคลอดให้ปลอดภัยต่อคุณแม่และทารกได้มากขึ้น เพราะในบางกรณีอาจต้องมีแพทย์เฉพาะทางสาขาอื่นๆ เข้าร่วมสังเกตการณ์ด้วย เช่น อายุรแพทย์ด้านหัวใจ
  • ลดระยะเวลาในการเจ็บท้องคลอดลง เพราะไม่ต้องรอปากมดลูกเปิดกว้างจนได้ระยะที่เหมาะสม 
  • ใช้เวลาในการทำคลอดสั้นเพียง 45 นาที ถึง 1 ชั่วโมง คุณแม่ก็ได้เห็นหน้าลูกแล้ว
  • ลดการยืดหย่อนของเชิงกรานได้ เพราะแรงเบ่งในการคลอดแบบธรรมชาติจะส่งผลต่อการยืดของกระบังลมของเชิงกราน หรือเส้นเอ็นยึด แต่การผ่าคลอดคุณแม่ไม่จำเป็นต้องใช้แรงแบ่ง
  • ลดการเจ็บปวดขณะคลอด เพราะแพทย์จะวางยาสลบ หรือบล็อกหลัง ทำให้ในขณะผ่าคลอดคุณแม่จะไม่รู้สึกเจ็บปวด เพียงแต่ชาๆ เท่านั้น 
  • หากเกิดภาวะแทรกซ้อนต่างๆ ระหว่างคลอด แพทย์จะสามารถแก้ไขและให้ความช่วยเหลือได้อย่างรวดเร็ว
  • เป็นวิธีที่สามารถช่วยชีวิตคุณแม่และทารกให้รอดพ้นจากภาวะอันตรายต่างๆ ซึ่งเป็นข้อบ่งชี้ในการผ่าคลอดครั้งนี้ได้

ข้อเสียของการผ่าคลอด

ไม่ใช่เพียงแต่ข้อดีเท่านั้น การผ่าคลอดก็มีข้อเสียด้วยเช่นกันทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ผลเสียในระยะสั้น ได้แก่

  • มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้มากกว่าปกติ เช่น เสียเลือดมากกว่า มีโอกาสติดเชื้อเนื่องจากมีการผ่าตัด และมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนจากการรมยาสลบ หรือการบล็อกหลังได้
  • เจ็บแผลมากกว่า
  • หลังคลอดจำเป็นต้องดูแลแผลอย่างดี เพื่อป้องกันการติดเชื้อ
  • ทารกที่คลอดโดยการผ่าคลอดก็มีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อน ติดเชื้อ ต้องเข้ารักษาในหอผู้ป่วยวิกฤตมากขึ้น
  • ทารกจะขาดโอกาสในการรับแบคทีเรียชนิดดีจากช่องคลอดของแม่
  • ทารกมีโอกาสเกิดปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจได้ เนื่องจากยังมีของเหลวค้างอยู่ในปอด โดยปกติหากคลอดธรรมชาติ ของเหลวนี้จะถูกรัดออกมาในช่องที่คลอดผ่านช่องคลอด
  • ทารกจะมีโอกาสกินนมแม่ได้ช้ากว่าทารกที่คลอดธรรมชาติ ซึ่งคำแนะนำโดยทั่วไประบุว่า ทารกควรได้กินนมแม่ให้เร็วที่สุด คือ ภายใน 30 นาที- 60 นาทีหลังคลอด

ผลเสียในระยะยาว ได้แก่

  • แม่ที่เคยผ่าท้องคลอดจะมีแผลที่มดลูก หากตั้งครรภ์ที่ 2 ขึ้นไป แล้วรกไปฝังตัวตรงแผลเดิม รกจะกินลึกเข้าไปในกล้ามเนื้อมดลูกทำให้มีโอกาสตกเลือดได้ กรณีแบบนี้ที่เกิดขึ้นได้ทั่วโลก และเป็นสาเหตุสำคัญในการเสียชีวิตของแม่ นอกจากนี้บางรายหากรกย้ายตัวจากบริเวณแผลที่ผ่าคลอดไปเกาะต่ำลง ก็อาจเกิดภาวะรกเกาะต่ำ ซึ่งเป็นอันตรายต่อครรภ์ได้
  • เสี่ยงต่อการเกิดพังผืดที่ช่องท้องหลังการผ่าตัดได้ พังผืดนี้ยังอาจดึงรั้งอวัยวะภายในที่อยู่ใกล้เคียงมดลูกเข้ามาใกล้ยิ่งขึ้น เช่น กระเพาะปัสสาวะ ระบบทางเดินอาหาร เมื่อผ่าคลอดครั้งต่อๆ ไป อวัยวะเหล่านีัจึงมีความเสี่ยงได้รับการกระทบกระเทือน หรือบาดเจ็บจากการผ่าตัดได้
  • มีรอยแผลเป็นที่หน้าท้อง

ดังนั้นหากผ่าคลอดในกรณีที่ไม่มีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ หรือไม่มีความจำเป็นอันควร ย่อมมีผลเสียมากกว่าการคลอดตามธรรมชาติทั้งในระยะสั้นและระยะยาว

ผ่าคลอดอันตรายไหม?

การผ่าตัดทุกชนิดรวมทั้งการผ่าคลอดมีโอกาสเสี่ยงอันตรายเกิดขึ้นได้ ทั้งอันตรายต่อตัวผู้เข้ารับการผ่าคลอดเองและทารก ดังนี้

  • อันตรายจากการเสียเลือดมากเกินไป จนอาจตกเลือด ความดันโลหิตลดต่ำลง ช็อก หมดสติ และเสียชีวิตได้
  • อันตรายจากยาสลบ หรือยาระงับความรู้สึก 
  • อันตรายจากการติดเชื้ออักเสบ แผลปริ หรือฉีกขาด หากดูแลแผลผ่าตัดได้ไม่ดี
  • อันตรายจากการเกิดพังผืดในท้อง หากเคลื่อนไหวร่างกายหลังผ่าตัดน้อยเกินไป 

แต่หากแพทย์ประเมินแล้วว่า การผ่าคลอดนั้นมีประโยชน์มากกว่าความเสี่ยง หรืออันตรายที่มีโอกาสเกิดขึ้นตามมา เช่น สามารถรักษาชีวิตแม่และลูกไว้ได้ ลดโอกาสเกิดความพิการของทารกได้ แพทย์ก็เลือกที่จะเสี่ยงด้วยการผ่าคลอด

ผ่าคลอดเจ็บไหม?

วิสัญญีแพทย์จะเป็นผู้ให้ยาระงับความรู้สึกเฉพาะที่ด้วยการฉีดยาเข้าช่องเหนือช่องน้ำไขสันหลัง หรือฉีดยาเข้าช่องน้ำไขสันหลังโดยตรง อย่างที่เรียกว่า “บล็อคหลัง” วิธีนี้ทำให้คุณแม่ยังมีสติอยู่ในขณะคลอด ไม่ได้หลับเหมือนการดมยา

จากนั้นเจ้าหน้าที่จะใส่สายสวนปัสสาวะให้คุณแม่ ซึ่งอาจมีความรู้สึกเจ็บๆ ขัดๆ ที่อวัยวะเพศเล็กน้อย เมื่อยาเริ่มออกฤทธิ์ตั้งแต่ช่วงอกลงไปจะเริ่มชา ไม่รู้สึกอะไรอีกต่อไป แพทย์จึงเริ่มทำการผ่าตัดคลอด 

โดยทั่วไปใช้เวลาเพียง 10-15 ก็ทำคลอดสำเร็จแล้ว และใช้เวล่อีกประมาณ 30-40 นาทีในการคลอดรกและเย็บปิดมดลูก ก็แล้วเสร็จ โดยระหว่างนั้น คุณแม่จะรู้สึกถึงแรงกดเพียงเล็กน้อยเท่านั้น แต่จะไม่รู้สึกเจ็บแต่อย่างใด

หลังยาชาหมดฤทธิ์ คุณแม่จะรู้สึกเจ็บแผลผ่าตัดได้รวมทั้งเจ็บปวดจากการที่มดลูกยังมีการบีบรัดตัวเป็นระยะๆ ซึ่งถือเป็นเรื่องปกติ แต่อาการเจ็บปวดนี้ก็จะค่อยๆ ดีขึ้นตามลำดับ

การผ่าคลอด หรือการผ่าตัดคลอด แม้จะมีข้อดีแต่ก็มีข้อเสียไม่น้อย ดังนั้นหญิงตั้งครรภ์ควรผ่าตัดคลอดเมื่อได้รับคำวินิจฉัยจากจากแพทย์แล้วจึงจะเหมาะสมที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงอันตรายและความเสี่ยงจากการผ่าคลอด รวมทั้งการผ่าคลอดโดยไม่จำเป็น

ว่าที่คุณแม่สามารถ เปรียบเทียบราคาล่าสุดและแพ็กเกจฝากครรภ์และคลอดบุตร ที่ตรงใจ คุ้มค่ากับงบประมาณได้ที่นี่เลย หรือที่ไลน์ @hdcoth โดยมีจิ๊บใจดี เสียงใสคอยให้บริการข้อมูล สั่งซื้อแพ็กเกจ และจองคิวนัดหมายทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง! แอดเลยไม่ต้องรอ

ที่มาของข้อมูล

Brian Krans, C-Section (Cesarean Section) (https://www.healthline.com/health/c-section), 26 March 2021.

Hedwige Saint Louis, MD, MPH, FACOG, Cesarean Delivery (https://emedicine.medscape.com/article/263424-overview), 26 March 2021.

MedlinePlus, Cesarean Section (https://medlineplus.gov/cesareansection.html), 26 March 2021.

NHS, Caesarean section (https://www.nhs.uk/conditions/caesarean-section/), 26 March 2021.

@‌hdcoth line chat