ชีพจรขณะพัก คืออะไร วัดค่าชีพจรอย่างไร

ชีพจร หรืออัตราการเต้นของหัวใจ เป็นหนึ่งในสัญญาณสำคัญที่แพทย์ใช้ในการวินิจฉัยภาวะเกี่ยวกับโรคหัวใจและหลอดเลือด จัดอยู่ในกลุ่มค่าสัญญาณชีพ (Vital signs) โดยค่าที่บ่งชี้การมีชีวิตอยู่จะประกอบด้วย 4 ค่า ได้แก่ ชีพจร (อัตราการเต้นของหัวใจ) อุณหภูมิ การหายใจ และความดันโลหิต

ชีพจรนั้นจะสะท้อนถึงการทำงานของหัวใจและระบบการไหลเวียนของเลือด เพราะค่าชีพจรจะวัดจากการขยายตัวและหดตัวของหลอดเลือดแดงส่วนปลาย เป็นจังหวะตามคลื่นความดันที่มาจากหลอดเลือดแดงใหญ่ใกล้หัวใจ ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกครั้งที่หัวใจเต้น

โดยการวัดชีพจรจะวัดจากจำนวนครั้งของการเต้นของหัวใจใน 1 นาที ซึ่งในทุกๆ ครั้งที่หัวใจเต้น หมายถึง หัวใจได้ทำหน้าที่ในการสูบฉีดเลือดไปหล่อเลี้ยงทั่วร่างกายนั่นเอง

ทำความรู้จักชีพจรขณะพักหรือชีพจรปกติ

ชีพจรขณะพัก หรือ ชีพจรปกติ คือจำนวนครั้งของการเต้นของหัวใจใน 1 นาทีขณะพักเต็มที่ (ไม่ได้ออกกำลัง)

ค่าชีพจรขณะพักต่ำ หมายถึง สุขภาพหัวใจแข็งแรง เพราะการที่มีชีพจรต่ำแสดงถึงกล้ามเนื้อหัวใจมีความแข็งแรงมากขึ้น ส่งผลให้การสูบฉีดเลือดของหัวใจในแต่ละครั้งมีประสิทธิภาพมาก ไม่จำเป็นต้องสูบฉีดเลือดบ่อย

แต่ถ้าหากกล้ามเนื้อหัวใจไม่แข็งแรง ร่างกายจะต้องการการบีบตัวที่เร็วขึ้นเพื่อให้มีเลือดสูบฉีดไปเลี้ยงร่างกายในปริมาณเท่าเดิม ส่งผลให้มีค่าชีพจรขณะพักสูงขึ้นนั่นเอง

ข้อควรรู้เกี่ยวกับชีพจร

  • หน่วยของชีพจรเป็น ครั้ง/นาที
  • ผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพร่างกายแข็งแรงสามารถมีชีพจรต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที โดยนักกีฬาที่มีสุขภาพแข็งแรงสามารถมีชีพจรต่ำได้ถึง 40 ครั้ง/นาที
  • บุคคลทั่วไปที่มีสุขภาพดีจะมีชีพจรขณะพักอยู่ที่ 60-80 ครั้ง/นาที
  • ค่าเฉลี่ยของชีพจรขณะพักอยู่ที่ 60-100 ครั้ง/นาที
  • ชีพจรขณะพักอาจถูกกระทบด้วยยาบางชนิด เช่น ยาเบตาบล็อกเกอร์ (Beta blockers) ที่ทำให้ผู้รับประทานมีชีพจรต่ำกว่า 60 ครั้ง/นาที
  • การมีชีพจรที่สูงขึ้นเป็นตัวบ่งบอกถึงความเสี่ยงทางด้านหัวใจและหลอดเลือดที่เพิ่มขึ้น
  • ภาวะที่มีชีพจรเต้นช้าในกลุ่มคนที่ร่างกายไม่แข็งแรงจะแสดงอาการวิงเวียน หรือหายใจเหนื่อย หากมีอาการดังกล่าวควรรีบไปพบแพทย์

การวัดชีพจรขณะพัก

คุณควรวัดชีพจรขณะพักในตอนเช้าหลังตื่นนอนก่อนลุกจากเตียง วิธีง่ายๆ คือ คลำชีพจรเป็นเวลา 60 วินาที ทำทั้งหมด 3 ครั้งแล้วหาค่าเฉลี่ยก็จะได้ค่าชีพจรขณะพักโดยประมาณ

นอกจากนี้ยังมีอุปกรณ์ที่สามารถวัดชีพจรได้ เช่น เครื่องวัดชีพจรรูปแบบสายรัดข้อมือ หรือนาฬิกาสมัยใหม่บางชนิดที่ใช้ LED sensor ในการวัดชีพจร ซึ่งจะสามารถบอกได้ทั้งชีพจรขณะพักและชีพจรในเวลาที่คุณต้องการ หรือใช้แอปพลิเคชันวัดอัตราการเต้นของหัวใจ (Instant heart rate) เช่น อะซูมิโอะ (Azumio) ที่จะใช้แสงแฟลชจากโทรศัพท์มือถือเป็นตัววัดชีพจร

ค่าชีพจรปกติในแต่ละช่วงวัย

  • ทารกแรกเกิด–1 เดือน ประมาณ 120-160 ครั้งต่อนาที
  • 1-12 เดือน ประมาณ 80-140 ครั้งต่อนาที
  • 12 เดือน–2 ปี ประมาณ 80-130 ครั้งต่อนาที
  • 2-6 ปี ประมาณ 75-120 ครั้งต่อนาที
  • 6-12 ปี ประมาณ 75-110 ครั้งต่อนาที
  • วัยรุ่น-วัยผู้ใหญ่ ประมาณ 60-100 ครั้งต่อนาที

หากคุณมีค่าชีพจรที่แตกต่างจากนี้ และมีอาการผิดปกติอื่นๆ ร่วมด้วย เช่น หายใจสั้น วิงเวียนศีรษะ หรือหน้ามืด ควรรีบไปหาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุความผิดปกติ ไม่ควรเพิกเฉย เพราะอาจเกี่ยวข้องกับโรคหัวใจและหลอดเลือดด้วย

โดยแพทย์จะใช้วิธีการตรวจสอบต่างๆ เช่น การตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ (Electrocardiogram: ECG) หรือการตรวจอัลตราซาวด์หัวใจ (Echocardiogram) ซึ่งคุณสามารถไปตรวจได้ที่โรงพยาบาลที่มีศูนย์ดูแลหัวใจให้บริการ

หากคุณกำลังมองหาโรงพยาบาลเพื่อตรวจหัวใจ หรือตรวจสุขภาพประจำปี สามารถเปรียบเทียบราคาแพ็กเกจได้ ที่นี่ หรือแอดไลน์ @hdcoth เพื่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมหรือนัดคิวตรวจหัวใจได้เลย

ค่าชีพจรขณะพักในหญิงตั้งครรภ์

ปกติแล้ว หญิงตั้งครรภ์จะมีอัตราการสูบฉีดเลือดเพิ่มขึ้น 30-50% จากปกติ ทำให้หญิงตั้งครรภ์มีค่าชีพจรขณะพักสูงกว่าปกติ เช่น ก่อนตั้งครรภ์มีค่าชีพจรขณะพักอยู่ที่ 70 ครั้ง/นาที แต่เมื่อตั้งครรภ์ก็อาจมีค่าชีพจรขณะพักสูงขึ้นประมาณ 80-90 ครั้ง/นาที ก็ได้

การฟื้นตัวหลังออกกำลังกายและการฝึกฝนที่มากเกินไป

นักกีฬามักจะมีการติดตามชีพจรขณะพักอยู่เสมอ เพื่อดูว่าพวกเขากลับสู่สถานะปกติแล้วหรือยัง การที่มีชีพจรขณะพักอยู่ในค่าสูงอาจเป็นหนึ่งในอาการของการฝึกฝนที่มากเกินไป

โดยชีพจรขณะพักมักจะเพิ่มขึ้นในช่วงวันแรกหลังการออกกำลังกายอย่างหนัก เช่น การวิ่งระยะ 10 กิโลเมตร หรือการวิ่งมาราธอนระยะสั้น (Half marathon) ดังนั้น คุณอาจจำเป็นต้องเว้นช่วงการออกกำลังกายอย่างหนักจนกว่าชีพจรขณะพักกลับมาสู่ค่าปกติ หรือเลือกออกกำลังกายที่มีความหนักน้อยลงไปก่อน


เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจโรคหัวใจ

เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

Scroll to Top