สายตายาว คืออะไร เทคนิคชะลอสายตายาวด้วยตัวเอง


คนเราจะมองเห็นได้ชัดเจนดี เมื่อสุขภาพตาเป็นปกติและสายตาปกติ เมื่อพูดถึงสายตาปกติ โดยทั่วไปเราจะนึกถึงโครงสร้างลูกตาที่สร้างมาได้รูป ช่วยให้แสงจากวัตถุที่อยู่ระยะไกลผ่านกระจกตาและเลนส์แก้วตาไปโฟกัสพอดีบนจอประสาทตา จากนั้นจอประสาทตาจะส่งภาพในรูปของคลื่นไฟฟ้าไปยังสมอง เพื่อแปลเป็นภาพที่เราเห็นได้ชัดเจน นี่คือสายตาปกติ เกิดจากการมีโครงสร้างลูกตาปกติ แต่กลไกนี้เป็นเพียงกลไกเพื่อการมองเห็นในระยะไกลทั่วๆ ไปในชีวิตประจำวัน เช่น เพื่อขับรถหรือดูภาพยนตร์เท่านั้น ทั้งนี้คนเราไม่ได้มีความจำเป็นแค่การมองไกลให้ชัดเจน การมองใกล้ให้ชัดเจนก็มีความสำคัญเช่นกัน

กลไกการมองเห็นในระยะใกล้ที่ชัดเจนเกิดขึ้นได้อย่างไร?

ดวงตาที่มีสายตาปกติจากโครงสร้างลูกตา เมื่อเปลี่ยนระยะโฟกัสจากไกล มามองใกล้ เช่น การอ่านหนังสือ หรือใช้โทรศัพท์มือถือ หากตาไม่ปรับโฟกัสจะมองไม่ชัด เพราะระยะโฟกัสจะเลยไปอยู่หลังระนาบของจอประสาทตา แต่ร่างกายมีกลไกที่เรียกว่า “การเพ่ง” โดยกล้ามเนื้อที่อยู่ภายในลูกตา (Cliliary muscles) ที่ยึดกับเลนส์แก้วตา (Lens) จะเกิดการเคลื่อนไหวขยับตัว ดึงให้เลนส์แก้วตาป่องออก เพื่อเป็นการเพิ่มกำลังเพ่งมองใกล้ ช่วยปรับระยะโฟกัสจากที่ยาวไกลเลยจอประสาทตาไป ให้กลับมาอยู่ตรงระดับจอประสาทตาพอดีอีกครั้ง เช่นเดียวกับกล้องถ่ายรูปที่มีการปรับระยะชัดได้โดยอัตโนมัติ

ซึ่งหากการมองใกล้นั้นไม่ปกติ เช่น มองใกล้ไม่ชัด เมื่อพยายามเพ่งให้เห็นชัดก็เกิดอาการปวดตามาก คุณอาจมีอาการที่เรียกว่า “สายตายาว”

สายตายาวเกิดจากอะไร มีประเภทไหนบ้าง?   

สายตายาว แยกเป็น 2 ประเภทตามสาเหตุ ได้แก่ สายตายาวที่เกิดจากปัญหาโครงสร้างลูกตา และสายตายาวที่เกิดจากความเสื่อมตามอายุ โดยแต่ละประเภทมีรายละเอียดดังนี้

1. สายตายาวที่เกิดจากปัญหาโครงสร้าง 

ปัญหาสายตายาวนี้อยู่ในกลุ่มเดียวกับสายตาสั้นและสายตาเอียง เพื่อป้องกันความสับสนกับสายตายาวอีกประเภท จึงขอเรียกว่า สายตายาวโดยกำเนิด (Farsightedness หรือ Hyperopia หรือ Hypermetropia) แม้ผู้มีปัญหาสายตายาวประเภทนี้อาจจะไม่ได้แสดงอาการตั้งแต่เกิด คนสายตายาวเกิดจากการมีกระจกตาที่แบนเกินไป หรือลูกตามีขนาดสั้นไป อาการแสดงของสายตายาวชนิดนี้มีได้หลากหลาย ขึ้นกับปริมาณค่าสายตาและอายุของเจ้าของดวงตา  เช่น

  • มองไกลปกติดี แต่เวลามองใกล้จะปวดตาง่ายมาก
  • มองไม่ชัดทั้งไกลและใกล้ ถ้าสายตายาวน้อยๆ มองไกลมักจะพอใช้ได้ แต่มองใกล้จะรู้สึกว่ามัวมากกว่า แต่ถ้าสายตายาวมาก การมองเห็นทั้งไกลและใกล้จะไม่ดีเลย (ต่างจากสายตาสั้น ที่จะกลับกัน คือตามัวเวลามองไกล แต่พอมองใกล้ ยิ่งใกล้มากๆ จะมองได้ดี)
  • ในเด็กเล็กอาจพบมีตาเหล่หรือตาเขร่วมด้วย ถ้าพบเด็กมีอาการตาเหล่ตาเข ให้รีบพาไปพบจักษุแพทย์ แม้แต่เด็กเล็กก็สามารถตรวจรักษาได้ ไม่ต้องรอจนโตเพราะอาจเกิดภาวะตาขี้เกียจ รักษาเมื่อโตก็สายเกินไป

การแก้ปัญหาสายตายาวโดยกำเนิด

ผู้ที่มีสายตายาวโดยกำเนิดตั้งแต่เด็ก ค่าสายตามักจะค่อยๆ ลดน้อยลงเมื่ออายุมากขึ้น (ตรงข้ามกับสายตาสั้นที่จะสั้นมากขึ้น) การแก้ไขก็ใช้วิธีเช่นเดียวกับสายตาสั้นและสายตาเอียง คือ สวมแว่นสายตา คอนแทคเลนส์ หรือ ใช้การผ่าตัดรักษาสายตา

คำถาม: เป็นไปได้หรือไม่ที่คนคนเดียว จะมีทั้งสายตาสั้น สายตายาว และสายตาเอียง?

คำตอบ: เป็นไปได้ โดนมีได้ 2 กรณีคือ กรณีแรก สายตาในตา 2 ข้างไม่เท่ากัน ข้างหนึ่งมีสายตาสั้นและ/หรือเอียง อีกข้างมีสายตายาวและ/หรือเอียง กับกรณีที่สอง มีสายตาผิดปกติประเภทโครงสร้าง โดยมีสายตาสั้นและเอียงตั้งแต่อายุน้อย เมื่ออายุมากขึ้นตั้งแต่ประมาณ 40 ปีขึ้นไป ก็จะมีสายตายาวอีกประเภทหนึ่งเข้ามาเยือน คือสายตายาวที่เกิดขึ้นตามอายุ โดยสายตายาวที่เกิดขึ้นมาภายหลังนี้ ไม่ได้หักลบให้สายตาสั้นหายไปหรือลดน้อยลง แต่กลายเป็นเพิ่มอีกปัญหาขึ้นมา

2. สายตายาวที่เกิดจากปัญหาความเสื่อมตามอายุ 

ปัญหาสายตายาวชนิดนี้มักเรียกกันว่า สายตายาวคนแก่ ซึ่งตามความจริง ปัญหานี้มักจะเริ่มมาเยือนเมื่ออายุประมาณ 40-45 ปีเท่านั้น คำเรียกที่น่าใช้มากกว่าคือ สายตายาวตามอายุ (Presbyopia) เพราะบ่งบอกว่า อาการสายตายาวชนิดนี้จะเพิ่มมากขึ้นทีละน้อยๆ ตามอายุที่เพิ่มขึ้นนั่นเอง ภาวะสายตายาวตามอายุนี้เกิดขึ้นกับทุกคน ไม่ว่าโครงสร้างลูกตาจะเป็นสายตาปกติหรือสายตาผิดปกติ

ในเด็กหรือคนวัยทำงานที่สามารถมองใกล้ได้ดีมาก เพราะกล้ามเนื้อตาและเลนส์แก้วตามีความยืดหยุ่น สามารถปรับโฟกัสเปลี่ยนระยะการมองให้ชัดเจนได้ฉับไวทันใจ เมื่ออายุมากขึ้น กล้ามเนื้อตาและเลนส์แก้วตาจะค่อยๆ สูญเสียความยืดหยุ่นไป อาการเริ่มต้นของการมีสายตายาวตามอายุคือสังเกตว่าเริ่มอ่านหนังสือตัวเล็กๆ ยากขึ้น เช่น การอ่านเมนูอาหาร หรือโทรศัพท์มือถือที่ตั้งขนาดตัวอักษรเล็กๆ ไว้ มักต้องใช้การยืดแขนออก ถือให้หนังสือมีระยะห่างดวงตาออกไป หรือต้องเพิ่มแสงไฟให้สว่างขึ้นจึงจะอ่านได้ ยิ่งเมื่ออายุมากขึ้น แม้แต่ตัวหนังสือขนาดใหญ่ก็อ่านลำบาก ยืดระยะไปไกลๆ ก็ไม่เห็น ต้องหาแว่นอ่านหนังสือมาช่วยสำหรับการมองใกล้ โดยเริ่มต้นจากแว่นกำลังน้อยๆ ก่อน เช่น + 50 +100 ยิ่งเมื่ออายุมากขึ้น กำลังแว่นก็ต้องเพิ่ม สวนทางกับกำลังกล้ามเนื้อตาที่ลดลง

การแก้ปัญหามองใกล้ไม่ชัดจากสายตายาวตามอายุ

สามารถแก้ได้ด้วยวิธีต่อไปนี้

  1. สวมแว่นสายตา
    1. แว่นอ่านหนังสือ มีลักษณะเป็นแว่นที่มองชัดระยะเดียว ใช้สวมเพื่อช่วยให้เห็นสิ่งที่อยู่ใกล้ๆ หรือตัวอักษรขนาดเล็กได้เห็นชัดขึ้น แว่นประเภทนี้มีขายทั่วไป ราคาย่อมเยา สังเกตได้คือจะมีตัวเลข Power แว่นติดไว้ เช่น +1.00 +2.50
    2. แว่นเลนส์สองระยะ มีลักษณะเป็นเลนส์ที่มีระยะโฟกัสต่างกัน เลนส์ส่วนบน (ส่วนใหญ่) ช่วยให้มองไกลชัด เลนส์ส่วนล่างมีขนาดเล็กกว่า ช่วยให้มองใกล้ชัด สังเกตได้จากมีเส้นแบ่งส่วนมองไกลและใกล้ให้เห็นอย่างชัดเจน เลนส์ประเภทนี้ไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะมองแล้วรู้ได้ทันทีว่ามีสายตายาวตามอายุแล้ว
    3. แว่นเลนส์ไร้รอยต่อ หรือ โปรเกรสซีฟเลนส์ (Progressive lens) ที่จริงเป็นเลนส์ชนิดเดียวกับเลนส์สองระยะ เพียงแต่รอยต่อระหว่างเลนส์ทั้งสองระยะจะไม่เห็นเป็นเส้น ปัจจุบันได้รับความนิยมมาก มีหลากหลายแบรนด์ให้เลือก
  2. ใช้คอนแทคเลนส์
    1. คอนแทคเลนส์แบบหลายระยะ (Multifocal contact lens) คือ ในคอนแทคเลนส์หนึ่งชิ้น มีทั้งค่าสายตาที่มองไกลและค่าสายตามองใกล้
    2. คอนแทคเลนส์แบบโมโนวิชัน (Monovision) การใส่คอนแทคเลนส์ชนิดนี้เป็นการใส่คอนแทคเลนส์ธรรมดาทั่วไป แต่เลือกใช้เลนส์แก้ค่าสายตาโดยมีเป้าหมายระยะการมองต่างกัน โดยตาข้างหนึ่งจะใส่ Power คอนแทคเลนส์ตามค่าสายตาเพื่อให้มองไกลชัด แต่ตาอีกข้างหนึ่งใส่คอนแทคเลนส์ที่มี Power ทำให้มองระยะใกล้หรือระยะกลางให้ชัด เมื่อลืมตาทั้ง 2 มองพร้อมกัน สมองจะทำหน้าที่เลือกภาพ เมื่อมองไกลจะรับภาพจากตาข้างมองไกลชัด แต่พอมองใกล้ จะเลือกรับภาพจากตาอีกข้างที่มองใกล้ชัดกว่า เทคนิคนี้นำมาใช้กับการผ่าตัดรักษาสายตา ในคนสายตาผิดปกติโดยโครงสร้างที่มีสายตายาวตามอายุร่วมด้วย แต่ต้องเป็นผู้ที่ปรับตัวรับการใช้สายตาแบบโมโนวิชันได้ ซึ่งจะทราบได้โดยรับการทดสอบโมโนวิชันเทสต์ (Monovision test) โดยจักษุแพทย์ หรือ นักทัศนมาตร
  3. การผ่าตัดรักษาสายตายาวตามอายุ
    จนถึงปัจจุบันยังไม่มีการผ่าตัดวิธีใดเลยที่สามารถรักษาสายตายาวตามอายุได้อย่างแท้จริง เพราะการแพทย์ยังไม่สามารถหาวิธีทำให้กลไกการเพ่งที่ประกอบด้วยกล้ามเนื้อภายในลูกตาและเลนส์แก้วตากลับคืนสู่ความยืดหยุ่นตามธรรมชาติของวัยเยาว์ได้

    เทคโนโลยีการผ่าตัดรักษาสายตายาวตามอายุที่พบเห็นในปัจจุบัน ล้วนแต่ใช้วิธีทางอ้อม ได้แก่ การทำเลเซอร์รักษาสายตา หรือการเปลี่ยนเลนส์แก้วตา โดยใช้หลักการแบบโมโนวิชัน หรือหลายระยะ  (Multifocal) การรักษาโดยวิธีทางอ้อมเหล่านี้ช่วยให้มองเห็นได้ทั้งใกล้และไกลโดยลดการพึ่งพาแว่น แต่ไม่ควรคาดหวังว่าจะได้ผลการมองเห็นที่ดีเยี่ยมหรือคงอยู่ตลอดไป เพราะเมื่ออายุมากขึ้น ร่างกายย่อมเปลี่ยนแปลงไปในทางเสื่อมลง

ผู้ที่เกิดมาโชคดีมีสายตาปกติ ไม่เคยตรวจสุขภาพตาเลย อย่างน้อยเมื่อเริ่มมีสายตายาวตามอายุ ควรได้รับการตรวจสุขภาพตาบ้าง และปรับแว่นสายตาช่วยอ่านหนังสือให้มีกำลังเหมาะสมทุกๆ 2-3 ปี

รวมแพ็กเกจทำเลสิก (Lasik)


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • Machat J, Slade S, and Probst L. The Art of LASIK.2rd Ed. SLACK Incorporated, 2000
  • 2018-2019 Basic and Clinical Science Course, Section 03 Clinical Optics ebook. American Academy of Ophthalmology
  • 2018-2019 Basic and Clinical Science Course, Section 13 Refractive Surgery ebook. American Academy of Ophthalmology
@‌hdcoth line chat