ทำความรู้จักกับเฟมโตเลสิก (Femto LASIK) หรือที่เรียกกันว่า “เลสิกไร้ใบมีด”


เลสิก ไร้ใบมีด (Femto LASIK) คืออะไร? ดีไหม? ราคาเท่าไร? ที่ไหนดี? มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร? พักฟื้นกี่วัน? แตกต่างจากเลสิก PRK ReLEx Smile อย่างไร? กระจกตาบาง ทำได้ไหม? อ่านได้ที่นี่

HDmall สรุปให้!

ขยาย

ปิด

  • Femto LASIK เป็นการทำเลสิกโดยใช้เลเซอร์ทุกขั้นตอน ตั้งแต่การแยกชั้นกระจกตา ไปจนถึงการเจียระไนกระจกตา โดยไม่ใช้ใบมีด
  • การแยกชั้นกระจกตาด้วยเฟมโตเซคอนด์เลเซอร์ (Femtosecond laser) มีข้อดีคือ สามารถกำหนดความลึกของชั้นกระจกตาได้ มีความแม่นยำสูง ทำให้แยกชั้นความหนาของฝากระจกตาได้บาง ขอบแผลเรียบ และทำให้ผิวกระจกตาสมานได้เร็ว
  • การทำ Femto LASIK สามารถรักษาได้ทั้งสายตาสั้น ยาว และเอียง ผู้ที่สนใจควรเข้าพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจสุขภาพดวงตา และวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสม
  • เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจทำ Femto LASIK หรือแอดไลน์ @hdcoth

เฟมโตเลสิก (Femto Lasik) หรือที่นิยมเรียกกันว่า “เลสิกไร้ใบมีด” เป็นการทำเลสิกโดยใช้เลเซอร์ในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การแยกชั้นฝากระจกตา และการเจียระไนกระจกตา โดยไม่ใช้ใบมีด นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่น่าสนใจของการผ่าตัดรักษาสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์

สำหรับใครที่สนใจทำ Femto Lasik แล้วอยากศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับ Femto Lasik ไม่ว่าจะเป็นหลักการทำงาน ความแตกต่างระหว่างเลสิกแบบดั้งเดิม และ Femto Lasik ผู้ที่สามารถทำได้และทำไม่ได้ รวมถึงราคาการทำ Femto Lasik อ่านได้ที่บทความนี้เลย


หัวข้อน่ารู้เกี่ยวกับการทำ Femto LASIK


ทำความรู้จักกับเลสิก (LASIK) เกี่ยวข้องอย่างไรกับ Femto LASIK

การทำเลสิก (Laser-Assisted In Situ Keratomileusis: LASIK) เป็นวิธีการผ่าตัดรักษาสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์ที่นิยมในปัจจุบัน เพราะราคาไม่สูงมาก เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพ ช่วยรักษาได้ทั้งสายตาสั้น ยาว และเอียง

การรักษาสายตาผิดปกติด้วยเลสิกนั้น แพทย์จะแยกชั้นกระจกตาออกเป็นฝาก่อน แล้วใช้เลเซอร์เจียระไนกระจกตาเพื่อปรับความโค้งของกระจกตา แล้วปิดฝากระจกตากลับเข้าไปอีกครั้ง ซึ่งเทคนิคในการแยกชั้นกระจกตาของเลสิกมี 2 วิธีหลักๆ คือ

  1. เลสิกใบมีด (Blade LASIK) เป็นเลสิกแบบดั้งเดิม ใช้ใบมีดไมโครเคอราโตม (Microkeratome) ในการแยกชั้นกระจกตา
  2. เฟมโตเลสิก (Femto LASIK) แยกชั้นกระจกตาด้วยเฟมโตเซคอนด์เลเซอร์ (Femtosecond laser) เป็นการทำเลสิกที่ใช้เลเซอร์ทุกขั้นตอน โดยไม่ใช้ใบมีด จึงมีอีกชื่อเรียกหนึ่งว่า “เลสิกไร้ใบมีด (Bladeless Lasik)”

ด้วยเทคนิคในการแยกชั้นกระจกตาที่แตกต่างกัน จึงทำให้คลินิกและโรงพยาบาลเรียกการทำเลสิกด้วยชื่อที่แตกต่างกันตามไปด้วย เช่น เลสิก (Lasik), เลสิกใบมีด, SBK LASIK, เลสิกไร้ใบมีด หรือ FEMTO LASIK นั่นเอง

เฟมโตเลสิก (Femto Lasik) คืออะไร?

Femto LASIK คือ การทำเลสิกที่นำเทคโนโลยีเฟมโตเซคอนด์เลเซอร์ (Femtosecond laser) มาใช้ในการแยกชั้นกระจกตา สามารถกำหนดความลึกของชั้นกระจกตาได้ และมีความแม่นยำสูง ทำให้แยกชั้นความหนาของฝากระจกตาได้บาง ขอบแผลเรียบ และทำให้ผิวกระจกตาสมานได้เร็ว

โดยเฟมโตเซคอนด์เลเซอร์จะปล่อยพลังงานแสงความยาวคลื่น 1053 นาโนเมตรลงไปที่เนื้อเยื่อ เพื่อทำให้เกิดฟองอากาศ (Gas bubble) หลังจากนั้นฟองอากาศจะถูกดูดซับโดยเนื้อเยื่อข้างเคียงจนเหลือเป็นโพรงที่เรียกว่า “Cavitation bubbles” ซึ่งมีผลให้เกิดการแยกชั้นของเนื้อเยื่อโดยไม่ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น

ข้อดีของการทำ Femto LASIK

ข้อดีของการทำ Femto LASIK มีหลายประการ ดังนี้

  • แก้ไขค่าสายตาได้มากกว่าการทำเลสิกแบบดั้งเดิม เนื่องจากการแยกชั้นกระจกตาด้วยเฟมโตเซคอนด์เลเซอร์สามารถกำหนดความลึก ความหนา และลักษณะของฝากระจกตาได้
  • แยกชั้นฝากระจกตาได้บางกว่าเลสิกดั้งเดิม ประมาณ 90-120 ไมครอน ในขณะที่เลสิกแบบดั้งเดิมแยกชั้นกระจกตาได้บางสุดเพียง 130-150 ไมครอน
  • มีความแม่นยำกว่า ลดโอกาสเกิดการแยกชั้นกระจกตาไม่สมบูรณ์จากการใช้ใบมีดไมโครเคอราโตม
  • ภาวะหลังผ่าตัดตาแห้งน้อยกว่า
  • ขอบแผลเรียบ ทำให้ผิวกระจกตาสมานได้เร็ว
  • เกิดโอกาสติดเชื้อหลังผ่าตัดได้น้อยกว่าเลสิกแบบดั้งเดิม
  • การติดแน่นของฝากระจกตาแข็งแรงกว่า ทำให้เกิดโอกาสเคลื่อนของฝากระจกตาหลังผ่าตัดได้น้อยกว่า อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะเป็นเลสิกดั้งเดิม หรือเลสิกไร้ใบมีด ก็มีโอกาสเกิดฝากระจกตาเคลื่อนได้น้อยมากอยู่ดี

ข้อเสียของการทำ Femto LASIK

แม้ว่าจะมีข้อดีหลายประการ แต่การทำ Femto LASIK ก็มีข้อเสียเช่นกัน ดังนี้

  • มีโอกาสเกิดการอักเสบในชั้นของกระจกตา (Diffuse lamellar keratitis: DLK) มากกว่า คาดว่า เกิดจากการสะสมของฟองอากาศที่เกิดจากเฟมโตเซคอนด์เลเซอร์
  • เกิด Opaque bubble layer (OBL) เป็นภาวะที่ฟองอากาศเข้าไปสะสมในเนื้อเยื่อกระจกตา หรือรั่วเข้าไปในช่องหน้าม่านตา เกิดจากเนื้อเยื่อข้างเคียงดูดซับฟองอากาศไม่ทัน แต่ไม่มีผลต่อการรักษาในระยะยาว
  • เกิดอาการแพ้แสงชั่วคราว (Transient light-sensitivity syndrome: TLSS) เกิดจากการอักเสบของกระจกตา สามารถรักษาได้ด้วยการรับประทานยาแก้อักเสบ

ขั้นตอนการทำ Femto LASIK

  • เข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพดวงตา วางแผนการรักษา และรับคำแนะนำในการเตรียมตัวก่อนทำ Femto LASIK ในวันที่เข้ารับการทำเฟมโตเลสิก แนะนำให้สระผม งดแต่งหน้า งดใช้น้ำหอม สวมใส่เสื้อผ้าที่ง่ายต่อการถอด และพาญาติไปด้วย
  • เมื่อเข้าห้องผ่าตัด พยาบาลจะคลุมใบหน้าด้วยวัสดุปราศจากเชื้อ เปิดเฉพาะดวงตา แล้วหยอดยาชาข้างที่จะทำการผ่าตัด เมื่อยาชาออกฤทธิ์ถึงจะเริ่มทำ Femto LASIK
  • ใส่เครื่องถ่างตา แล้วใช้เครื่องเฟมโตเซคอนด์เลเซอร์แยกชั้นกระจกตา ในขั้นตอนนี้ผู้เข้ารับการทำ Femto LASIK จะต้องลืมตาให้กว้าง ไม่บีบตา และมองเข้าไปในช่องแสงของกล้องผ่าตัด
  • หลังจากนั้นจะใช้เครื่อง Ecimer laser เจียระไนปรับความโค้งของกระจกตา แล้วปิดฝากระจกตากลับเข้าที่ รอให้แนบติดกับที่ประมาณ 2-3 นาที แล้วนำเครื่องถ่างตาออก
  • ตรวจตาหลังการผ่าตัด แล้วใส่ครอบฝาปิดตาเพื่อป้องกันการขยี้ตา เป็นเวลา 1 คืน
  • เข้าพบแพทย์ตามนัดหมาย เพื่อตรวจติดตามผลหลังการทำ Femto LASIK ประมาณ 6 ครั้ง คือ 1 วัน 1 สัปดาห์ 1 เดือน 3 เดือน 6 เดือน และ 1 ปี
  • สำหรับผู้ที่จำเป็นต้องเดินไปทางไปต่างประเทศ ควรเข้ารับการตรวจอย่างน้อย 2 ครั้ง คือ 1 วัน และ 1 สัปดาห์ หลังจากนั้นจักษุแพทย์จะออกผลรายงานทางการแพทย์ให้ เพื่อนำไปตรวจกับจักษุแพทย์ที่ต่างประเทศต่อได้

คำแนะนำในการดูแลตนเองเบื้องต้น หลังทำ Femto LASIK

เพื่อความปลอดภัยในการทำ Femto LASIK ควรปฏิบัติตัวตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย โดยจักษุแพทย์อาจแนะนำใหดูแลตนเอง ดังนี้

  • หยอดยาปฏิชีวนะและแก้อักเสบ และน้ำตาเทียม ตามที่จักษุแพทย์แนะนำ
  • ใส่ฝาครอบตาเวลานอน เพื่อป้องกันการขยี้ตาโดยไม่รู้ตัว
  • ในช่วง 1 สัปดาห์แรก งดการล้างหน้า สระผม แต่งหน้า การออกกำกาย หรือกิจกรรมอื่นๆ ที่ทำให้น้ำ เหงื่อ ฝุ่น หรือควันเข้าตา
  • เช็ดทำความสะอาดดวงตาด้วยสำลีและน้ำเกลือสำหรับเช็ดตา
  • สวมใส่แว่นกันแดดเมื่อออกกลางแจ้ง เพื่อหลีกเลี่ยงแสงแดด ลม และฝุ่นละออง ประมาณ 1 เดือน
  • มาตรวจติดตามผลที่จักษุแพทย์นัดหมาย แต่ถ้าหากเกิดอาการผิดปกติ สามารถเข้าพบจักษุแพทย์ได้เลยทันที

สำหรับใครที่อยากอ่านข้อปฏิบัติตนหลังทำเลสิก และวิธีเช็ดทำความสะอาดดวงตาอย่างละเอียด อ่านเพิ่มเติมได้ที่ การปฏิบัติตัวหลังทำเลสิก (LASIK) รวมถึงการผ่าตัดรักษาสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์อื่นๆ

ระยะเวลาในการพักฟื้นหลังทำ Femto LASIK

การทำ Femto LASIK ใช้ระยะเวลาพักฟื้นประมาณ 2-3 วัน โดยในระหว่างนั้นอาจมีอาการเคืองตาและน้ำตาไหลได้บ้าง

อย่างไรก็ตาม แม้จะผ่านพ้นช่วงพักฟื้นไปแล้วก็ควรปฏิบัติตามคำแนะนำของจักษุแพทย์อย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการเกิดผลข้างเคียงที่เป็นอันตราย

เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่าง PRK, LASIK, SBK LASIK, Femto LASIK และ ReLEx

การทำ PRK, LASIK, SBK LASIK, Femto LASIK และ ReLEx จัดอยู่ในกลุ่มการผ่าตัดรักษาสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์ โดยมีข้อแตกต่างกันดังนี้

  • PRK (Photorefractive keratectomy) เป็นการรักษาสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์รุ่นแรก ใช้เลเซอร์เจียระไนกระจกตาโดยตรง ไม่มีการแยกชั้นกระจกตา ทำให้มีแผลถลอกที่ผิวตาประมาณ 3-5 วัน จึงใช้เวลาพักฟื้นนานกว่าวิธีอื่นๆ
  • LASIK พัฒนามาจาก PRK มีการแยกชั้นกระจกตาก่อนที่จะใช้เลเซอร์เจียระไนกระจกตา ช่วยลดการระคายเคืองตาและลดระยะเวลาในการพักฟื้น โดยการเปิดฝากระจกตาแบ่งเป็น 2 รูปแบบ คือ แบบใช้ใบมีด และแบบใช้เลเซอร์
  • SBK LASIK พัฒนาจากเลสิกใบมีดดั้งเดิม โดยเปลี่ยนจากการใช้ใบมีดไมโครเคอราโตม เป็นใบมีดชนิดพิเศษที่ชื่อว่า “Sub Bowman keratomileusis (SBK)” มีความแม่นยำ และแยกชั้นกระจกตาได้บางใกล้เคียงกับการทำ Femto LASIK
  • Femto LASIK ใช้เฟมโตเซคอนด์เลเซอร์ในการแยกชั้นกระจกตาแทนการใช้ใบมีด เครื่องเลเซอร์สามารถกำหนดความลึกของชั้นกระจกตาได้ มีความแม่นยำสูง ขอบแผลเรียบ และทำให้ผิวกระจกตาสมานได้เร็ว
  • ReLEX เป็นเลสิกแบบไร้ฝา โดยจะแยกชั้นกระจกตาออกเป็นชิ้นเล็กๆ แล้วเจาะรูเล็กๆ เพื่อนำออกมา ช่วยปรับความโค้งกระจกตาได้โดยไม่ต้องเปิดฝากระจกตา ลดความเสี่ยงในการเกิดฝากระจกตาเคลื่อน

ผู้ที่เหมาะสำหรับการทำ Femto LASIK

Femto LASIK สามารถทำได้ทั้งในผู้ที่มีสายตาผิดปกติ เช่น สายตาสั้นไม่เกิน 1,200 สายตายาว หรือเอียง ไม่เกิน 600

นอกจากนี้ผู้ที่มีสายตาสั้นมาก หรือความหนาของกระจกตาไม่เพียงพอที่จะเข้ารับการทำเลสิกดั้งเดิมได้ ก็อาจทำ Femto LASIK ได้เช่นกัน อย่างไรก็ตาม แนะนำให้เข้าพบจักษุแพทย์ เพื่อตรวจสุขภาพดวงตา และวางแผนการรักษาอย่างเหมาะสมก่อน

ผู้ที่ไม่ควรทำ Femto LASIK

ข้อห้ามในการทำ Femto LASIK เหมือนกับการทำเลสิกทั่วไป ดังนี้

  • ผู้ที่เป็นโรคหลอดเลือดที่ยังควบคุมโรคไม่ได้
  • ผู้ที่เป็นโรคแพ้ภูมิต้านทานตนเองที่ยังควบคุมโรคไม่ได้
  • ผู้ที่มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง หรือได้รับยา หรือการรักษาที่กดภูมิคุ้มกันของร่างกาย
  • หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร หรือวางแผนจะตั้งครรภ์ภายใน 6 เดือน นับจากวันที่ผ่าตัด
  • ผู้ที่เป็นโรคต้อกระจก โรคต้อหิน
  • ผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี (HIV)

ทำ Femto LASIK ที่ไหนดี ราคาเท่าไร?

ราคาการทำ Femto LASIK หรือเลสิกไร้ใบมีด เริ่มต้นที่ประมาณ 55,000-80,000 บาท ซึ่งส่วนใหญ่มักรวมค่ายากลับบ้าน ค่าตรวจประเมินสภาพตาก่อนผ่าตัด และตรวจติดตามผลหลังการผ่าตัดแล้ว ทั้งนี้ควรสอบถามรายละเอียดกับคลินิก หรือโรงพยาบาลที่เข้าใช้บริการก่อน

สำหรับใครที่สนใจทำ Femto LASIK แต่ยังไม่รู้ว่าควรไปทำที่ไหนดี HDmall.co.th ได้รวบรวมแพ็กเกจทำ Femto LASIK จากโรงพยาบาลชั้นนำในราคาพิเศษมาให้คุณแล้ว ด้านล่างนี้เลย!

การทำเลสิก ไม่ว่าจะเป็นเลสิกดั้งเดิม หรือเลสิกไร้ใบมีด จะต้องคำนวณเนื้อของกระจกตาที่ไม่ได้ถูกแยกชั้นและไม่ได้บางลงจากเลเซอร์อย่างแม่นยำ เพื่อป้องกันการเกิดภาวะกระจกตาโก่งหลังทำเลสิก ซึ่งจะส่งผลให้การมองเห็นผิดปกติอย่างถาวร จึงควรทำเลสิกกับจักษุแพทย์ผู้ชำนาญการเท่านั้น

สำหรับใครที่อยากเข้ารับการรักษาสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์อื่นๆ เช่น PRK, LASIK, SBK LASIK หรือ ReLEx SMILE เปรียบเทียบราคาและแพ็กเกจได้ ที่นี่ เลย หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมที่ไลน์ @hdcoth มีแอดมินใจดีคอยให้บริการทุกวัน ตั้งแต่เวลา 9 โมงเช้าถึงตีหนึ่ง แอดเลยไม่ต้องรอ!

*ราคาและโปรโมชันการทำ Femto LASIK อาจมีการเปลี่ยนแปลงได้ ควรศึกษารายละเอียดก่อนสั่งซื้อแพ็กเกจ หรือสอบถามได้ที่ไลน์ @hdcoth


บทความที่เกี่ยวข้อง


ที่มาของข้อมูล

ขยาย

ปิด

  • รศ.นพ. ปริญญ์ โรจนพงศ์พันธุ์ และรศ.พญ. งามจิตต์ เกษตรสุวรรณ, การแก้ไขสายตาผิดปกติ (สั้น-ยาว) ด้วยเลเซฮร์แบบ “Bladeless Laser” ด้วยเครื่อง “Femtosecond Laser” (เครื่องแยกชั้นกระจกตาด้วยเลเซอร์ โดยไม่ใช้ใบมีด) (http://www.wongkarnpat.com/upfilepat/จุฬาปริทัศน์%20413.pdf), 11 มีนาคม 2564.
  • ศ.พญ.สมสงวน อัษญคุณ, เฟมโตเลสิค (Femto- LASIK): เลสิคไร้ใบมีด ทางเลือกใหม่ของเลสิค (https://w1.med.cmu.ac.th/eye/index.php?option=com_content&view=article&id=338:femto-lasik&catid=17:knowleadge&Itemid=394), 11 มีนาคม 2564.
  • อ.พญ. ฉันทกา สุปิยพันธุ์, การแก้ไขสายตาผิดปกติด้วยเลเซอร์ (http://umcvajira.com/files/pct/จักษุ/Laser%20vision%20correction.pdf), 11 มีนาคม 2564.
@‌hdcoth line chat