ยาถ่ายพยาธิตัวตืด กินอย่างไรให้ปลอดภัย

พยาธิตัวตืด เป็นพยาธิที่พบได้ทั่วโลก ตัวมีลักษณะแบนคล้ายเส้นก๋วยเตี๋ยว ลำตัวเป็นปล้อง สีขาวขุ่น มีความยาวตั้งแต่ 2-10 เมตร หากอาศัยอยู่ในลำไส้ของคน จะทำให้คนเกิดการป่วยติดเชื้อ ตัวอ่อนของพยาธิชนิดนี้จะพัฒนาเป็นพยาธิตัวเต็มวัยและอาศัยอยู่ในลำไส้ของมนุษย์ได้นานถึง 30 ปี

รู้จักพยาธิตัวตืด

พยาธิตัวตืดชนิดที่บ่อยพบ ได้แก่

  • พยาธิตัวตืดหมู (Taenia Solium)
  • พยาธิตัวตืดวัว (Taenia Saginata)
  • พยาธิตัวตืดแคระ (Hymenolepis nana)

ซึ่งพยาธิตัวตืดวัวจะพบได้บ่อยกว่าพยาธิตัวตืดหมู และพยาธิตัวตืดแคระ ตามลำดับ

โดยเฉพาะในประเทศที่มีการเลี้ยงและนิยมรับประทานเนื้อหมู วัว และควาย การรักษาที่ทำได้ง่ายด้วยตนเองวิธีหนึ่งคือ กินยาถ่ายพยาธิตัวตืด อย่างไรก็ตาม การกินยาถ่ายพยาธิตัวตืดยังมีรายละเอียดที่ควรศึกษา เนื่องจากจำเป็นต้องใช้ตัวยาถ่ายพยาธิตัวตืดคนละอย่าง สำหรับพยาธิตัวตืดต่างชนิดกัน อีกทั้งระยะของการติดเชื้อพยาธิ ก็ทำให้ต้องได้รับยาถ่ายพยาธิตัวตืดแตกต่างกันไปด้วย

สาเหตุของการติดเชื้อพยาธิตัวตืด

มนุษย์สามารถติดเชื้อพยาธิตัวตืดได้ จากการที่พยาธิตัวตืดเข้าสู่ร่างกายผ่านทางอาหารหรือน้ำดื่มที่มีไข่หรือถุงพยาธิตัวอ่อนอยู่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบ ซึ่งมักพบอยู่ในส่วนกล้ามเนื้อของหมู วัว และควาย หรือการสัมผัสอุจจาระปัสสาวะของผู้ที่ติดเชื้อพยาธิตัวตืด เมื่อไข่หรือถุงพยาธิตัวอ่อนเข้าสู่ร่างกาย ตัวอ่อนก็จะเจริญเติบโตเป็นตัวเต็มวัย และใช้ส่วนหัวยึดเกาะกับผนังลำไส้ จากนั้นพยาธิตัวตืดจะเคลื่อนออกจากลำไส้ แล้วสร้างถุงน้ำหุ้มตัวอ่อนเป็นระยะตัวอ่อนเม็ดสาคูตามอวัยวะต่างๆ เช่น สมอง กล้ามเนื้อ หัวใจ หรือตา โดยทั่วไปผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิตัวตืดมักมีอาการที่ไม่รุนแรงมากนัก แต่การแพร่กระจายของตัวอ่อนอาจส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่ร้ายแรง และอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้หากไม่ได้รับการตรวจรักษาทันการณ์ นอกจากนี้ ในบางครั้งพยาธิตัวตืดจะสลัดปล้องสุกออกเป็นท่อนๆ ปนออกมากับอุจจาระ ซึ่งสามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า หรือบางครั้งปล้องพยาธิอาจไชออกมาจากรูก้น ทำให้คนไข้รู้สึกคันก้น ภายในปล้องพยาธิจะเต็มไปด้วยไข่พยาธิ เมื่อปล้องพยาธิแตกออก ไข่จะออกมาปนกับอุจจาระและกระจายอยู่ตามพื้นดิน เมื่อหมู วัว ควาย กินไข่เหล่านี้เข้าไป ก็จะเกิดการติดเชื้อ วนไปเป็นวัฏจักร

อาการแสดงเมื่อติดเชื้อพยาธิตัวตืด

ผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิตัวตืดในลำไส้ส่วนใหญ่มักไม่มีอาการใดๆ ปรากฎ แต่ในบางคนอาจมีอาการป่วยแสดงออกมา หากพยาธิเคลื่อนไหวอยู่ในลำไส้ อาการและความรุนแรงจะขึ้นอยู่กับชนิดของพยาธิตัวตืดและตำแหน่งที่พยาธิอาศัยอยู่ ดังนี้

  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิตัวตืดในลำไส้ อาจมีอาการคลื่นไส้ อาเจียน อุจจาระบ่อย มีไข้ต่ำ ลำไส้อุดตัน เหนื่อยล้า เบื่ออาหาร อาหารไม่ย่อย น้ำหนักลด ปวดท้อง ท้องเสีย ขาดสารอาหาร และหากแพ้พยาธิอาจมีผื่นคันขึ้นตามผิวหนังได้
  • ผู้ป่วยที่ติดเชื้อพยาธิตัวตืดในบริเวณอื่นๆ ของร่างกาย เกิดขึ้นเมื่อตัวอ่อนของพยาธิตัวตืดเคลื่อนที่ออกจากลำไส้แล้วไปสร้างถุงหุ้มตัวเองเป็นตัวอ่อนเม็ดสาคูตามเนื้อเยื่อต่างๆ ของร่างกาย จะทำให้ผู้ป่วยมีไข้ ติดเชื้อแบคทีเรีย มีถุงน้ำหรือก้อนเนื้อตามร่างกาย โดยอาจส่งผลให้อวัยวะต่างๆ ถูกทำลาย เช่น ดวงตา ตับ หัวใจ และสมอง โดยเฉพาะถ้ามีตัวอ่อนเม็ดสาคูในสมองและไขสันหลัง จะทำให้มีความผิดปกติของระบบประสาท รวมทั้งเกิดการชักได้ หากถุงตัวอ่อนไปฝังตัวตามกล้ามเนื้อจะทำให้เกิดหินปูนมาเกาะรอบๆ ทำให้มีอาการปวดกล้ามเนื้อรุนแรง และหากถุงตัวอ่อนไปฝังตัวที่อวัยวะภายใน ก็จะทำให้อวัยวะนั้นผิดปกติไปด้วย เช่น ถ้าพบถุงตัวอ่อน (Cyst) ที่สมอง ก็มักจะมีอาการปวดศีรษะรุนแรง การมองเห็นไม่ดี นอกจากนี้ หากถุงตัวอ่อนแตกออกจะทำให้ตัวอ่อนพยาธิกระจายเข้าสู่กระแสเลือด จนเกิดภาวะช็อกได้ หากมีถุงพยาธิตืดจำนวนมากในอวัยวะที่สำคัญอาจทำให้เสียชีวิต

การวินิจฉัยว่ามีการติดเชื้อพยาธิตัวตืดหรือไม่

แพทย์จะวินิจฉัยจากอาการแสดงของผู้ป่วย และส่งตรวจอุจจาระทางห้องปฏิบัติการ เพื่อหาไข่พยาธิด้วยการส่องกล้องจุลทรรศน์ นอกจากนี้ แพทย์อาจสั่งตรวจอื่นๆ เพิ่มเติม เช่น ตรวจหาตุ่มหรือถุงตัวอ่อนของพยาธิบริเวณใต้ผิวหนัง ตรวจเลือดเพื่อหาสารภูมิต้านทานต่อการติดเชื้อพยาธิตัวตืด ส่งตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ เอ็มอาร์ไอ หรืออัลตราซาวนด์ ในกรณีที่มีถุงน้ำหรือก้อนเนื้อตามอวัยวะของร่างกาย เพื่อตรวจหาการแพร่กระจายของพยาธิตัวตืด

การรักษาพยาธิตัวตืด

การรักษาพยาธิตัวตืด ต้องใช้ยาเฉพาะในการฆ่าพยาธิหรือยาถ่ายพยาธิตัวตืด ซึ่งจะออกฤทธิ์ทำให้ถุงห่อตัวอ่อนของพยาธิฝ่อลง และทำลายผิวของพยาธิ ทำให้พยาธิเป็นอัมพาต ปกติแพทย์จะจ่ายยาตามน้ำหนักตัวของคนไข้ และมักจะแนะนำให้คนไข้รับประทานยาก่อนนอน เพื่อลดผลข้างเคียงของยาที่เกิดขึ้นในคนไข้ได้ เช่น คลื่นไส้ อาเจียน ไม่สบายท้อง และวิงเวียน เป็นต้น สำหรับผู้ที่เป็นโรคพยาธิตัวตืดหมู ควรกินยาระบายพร้อมกันไปด้วยกับยาถ่ายพยาธิตัวตืด เพื่อลดโอกาสที่จะเกิดการขย้อนปล้องสุกของพยาธิกลับเข้าไปในกระเพาะอาหาร ซึ่งจะทำให้เป็นโรคถุงพยาธิตืดได้ ยาที่ใช้รักษาและยาถ่ายพยาธิตัวตืด ได้แก่

1. อัลเบนดาโซล (Albendazole)

อัลเบนดาโซล (Albendazole) สามารถใช้ได้ในเด็กและผู้ใหญ่

  • สำหรับรักษาโรคติดเชื้อพยาธิตืดหมู ให้ใช้ยาต่อเนื่อง 14 วัน พัก 14 วัน ติดต่อกัน 3 รอบ
    • สำหรับผู้ที่น้ำหนักน้อยกว่า 60 กิโลกรัม ให้รับประทาน 15 มิลลกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน โดยแบ่งเป็น 2 มื้อต่อวัน
    • สำหรับผู้ที่น้ำหนักมากกว่าหรือเท่ากับ 60 กิโลกรัม ให้รับประทาน 400 mg วันละ 2 ครั้ง ขนาดยาสูงสุด 800 mg/วัน
  • สำหรับรักษาโรคติดเชื้อพยาธิตืดหมูในระบบประสาท ควรใช้ยาสเตียรอยด์และยากันชักร่วมด้วย
    • สำหรับผู้ที่น้ำหนักน้อยกว่า 60 กิโลกรัม ให้รับประทานยา 15 มิลลิกรัม/น้ำหนักตัวเป็นกิโลกรัม/วัน แบ่งเป็น 2 มื้อต่อวัน ขนาดยาสูงสุด 800 mg/วัน ต่อเนื่อง 8-30 วัน
    • สำหรับผู้ที่น้ำหนักมากกว่าหรือเท่ากับ 60 กิโลกรัม ให้รับประทาน 400 mg วันละ 2 ครั้ง ขนาดยาสูงสุด 800 mg/วัน

คำแนะนำ

  • ควรรับประทานยาพร้อมอาหาร เพื่อลดผลข้างเคียงของยา
  • ไม่แนะนำให้ใช้ในหญิงมีครรภ์หรือให้นมบุตร ผู้ที่มีความผิดปกติของตับ ผู้ที่มีความผิดปกติของไตขั้นรุนแรง หากมีความจำเป็นควรปรึกษาแพทย์ก่อนใช้ทุกครั้ง
  • อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้น เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ ความดันของเยื่อหุ้มสมองสูงขึ้น อาจพบอาการผิดปกติทางสมอง
  • ห้ามใช้ในผู้ที่มีอาการแพ้ เนื่องจากยานี้หากมีอาการแพ้เกิดขึ้นมักมีความรุนแรงมาก

2. นิโคลซาไมด์ (Niclosamide)

นิโคลซาไมด์ (Niclosamide) มีผลออกฤทธิ์รบกวนไมโตครอนเดรียของพยาธิตัวตืด มีผลทำให้พยาธิขาดพลังงานในการดำรงชีวิต

  • ยาถ่ายพยาธิตัวตืดสำหรับพยาธิตัวตืดวัว
    • ผู้ใหญ่ รับประทานยาถ่ายพยาธิตัวตืด 1 กรัม หลังอาหารเช้า และอีก 1 กรัมใน 1 ชั่วโมงถัดไป
    • เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี รับประทานยาถ่ายพยาธิตัวตืด 250 มิลลิกรัม หลังอาหารเช้า และอีก 250 มิลลิกรัม ในอีก 1 ชั่วโมงถัดไป
    • เด็กอายุ 2-6 ปี รับประทานยาถ่ายพยาธิตัวตืด 500 มิลลิกรัม หลังอาหารเช้า และอีก 500 มิลลิกรัม ในอีก 1 ชั่วโมงถัดไป
  • ยาถ่ายพยาธิตัวตืดสำหรับพยาธิตัวตืดหมู
    • ผู้ใหญ่ รับประทานยาถ่ายพยาธิตัวตืด 2 กรัม หลังมื้อเช้าเบาๆ เพียงครั้งเดียว
    • เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี รับประทานยาถ่ายพยาธิตัวตืด 500 มิลลิกรัม เด็กอายุ 2-6 ปี รับประทานยาถ่ายพยาธิตัวตืด 1 กรัม หลังมื้อเช้าเบาๆ เพียงครั้งเดียว
  • สำหรับกำจัดพยาธิตัวตืดแคระ
    • ผู้ใหญ่ รับประทาน 2 กรัม ในวันแรก ตามด้วยวันละ 1 กรัม นาน 6 วัน
    • เด็กอายุน้อยกว่า 2 ปี รับประทาน 500 มิลลิกรัม ในวันแรก ตามด้วยวันละ 250 มิลลิกรัม นาน 6 วัน
    • เด็กอายุน้อยกว่า 2-6 ปี รับประทาน 1 กรัม ในวันแรก ตามด้วยวันละ 500 มิลลิกรัม นาน 6 วัน

คำแนะนำ

  • หากผู้ป่วยมีอาการคลื่นไส้อาเจียนหลังรับประทานยาถ่ายพยาธิตัวตืด ควรรับประทานยาถ่ายพยาธิตัวตืดพร้อมอาหารเพื่อลดผลข้างเคียงดังกล่าว
  • ไม่ควรรับประทานยาถ่ายพยาธิตัวตืดพร้อมแอลกอออล์ เพราะมีผลเพิ่มอาการข้างเคียงของยาถ่ายพยาธิตัวตืด
  • อาการข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นของยาถ่ายพยาธิตัวตืด เช่น คลื่นไส้ อาเจียน เวียนศีรษะ มีอาการคันตามตัว

 3. พราซิควันเทล (Praziquantel)

พราซิควันเทล (Praziquantel) สำหรับผู้ใหญ่และเด็กที่มีอายุมากกว่า 4 ปีขึ้นไป

  • สำหรับรักษาโรคที่เกิดจากไข่พยาธิไปอยู่ตามอวัยวะภายใน ให้รับประทานขนาด 20 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ทุก 4-6 ชั่วโมง ติดต่อกัน 3 ครั้ง หรือรับประทานขนาด 40-60 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ครั้งเดียว
  • สำหรับถ่ายพยาธิตัวตืดที่ลำไส้ ตับ ปอด รับประทานยาถ่ายพยาธิตัวตืดขนาด 25 มิลลิกรัม/กิโลกรัม วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 1-2 วัน หรือรับประทานยาถ่ายพยาธิตัวตืดขนาด 40 มิลลิกรัม/กิโลกรัม ครั้งเดียว

คำแนะนำ

  • ควรรับประทานยาถ่ายพยาธิตัวตืดพร้อมอาหาร
  • ให้กลืนยาถ่ายพยาธิตัวตืดลงไปทั้งเม็ด โดยห้ามบดหรือเคี้ยวเม็ดยาถ่ายพยาธิตัวตืด
  • ห้ามรับประทานร่วมกับยาไรแฟมพิน (Rifampin) เพราะมีผลลดฤทธิ์ของยาพราซิควันเทล

ข้อควรระวังในการใช้ยารักษาพยาธิตัวตืดหรือยาถ่ายพยาธิตัวตืด

  • ควรแจ้งแพทย์และเภสัชกรถึงประวัติโรคที่เป็น และประวัติการแพ้ยา เพื่อหลีกเลี่ยงอาการแพ้ยาและผลเสียต่างๆ ที่อาจเกิดจากการใช้ยา
  • หากวางแผนตั้งครรภ์ กำลังตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร ควรปรึกษาแพทย์หรือเภสัชกรทุกครั้งก่อนใช้ยา

เปรียบเทียบราคาแพ็กเกจตรวจสุขภาพ

Scroll to Top